สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนโลก นิรโทษกรรม ทางออกแก้ขัดแย้งสังคมไทย?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศึกษารูปแบบและประสบการณ์ "นิรโทษกรรม" จากนานาประเทศ ก่อนร่วมกันค้นหาคำตอบ เป็นทางออกก้าวข้ามความขัดแย้งของสังคมไทยได้จริงหรือไม่
ท่ามกลางบรรยากาศการเรียกหา "ความปรองดอง" ในบ้านเมืองของเรา มีข้อเสนอหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง คือ "การนิรโทษกรรม" แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอ เพราะแม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ทำให้สังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งร้ายแรงนี้ไปได้ แต่ก็มีอีกบางฝ่ายที่ปักใจว่าเป็นเรื่องทางการเมืองเพื่อมุ่งช่วยเหลือ "คนบางคน"

ทว่าคำถามก็คือ แท้ที่จริงแล้วเรามองการนิรโทษกรรมแค่เพียงมิติเดียวหรือเปล่า เพราะจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติชี้ว่า การนิรโทษกรรมสามารถทำได้หลายวิธี หลายมิติ ส่วนจะเหมาะสมกับประเทศไทยและสถานการณ์ ณ ปัจจุบันหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยกันหาคำตอบ

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. มีเวทีเสวนาเรื่อง "นิรโทษกรรมกับการปรองดอง" หรือ Dialogue on Amnesty and Reconciliation ที่ห้องจุมพฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายอารี บาสซิน (Ari Bassin) ผู้จัดการภูมิภาคเอเชียของศูนย์ระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (International Center for Transitional Justice ; ICTJ) เป็นวิทยากรหลัก และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายอารี ตั้งประเด็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การนิรโทษกรรมจะนำไปสู่การปรองดองในประเทศไทยได้จริงหรือเปล่า และหากจะมีการนิรโทษกรรมจริง จะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างสำหรับประเทศไทย

นายอารี อธิบายว่า การนิรโทษกรรมแตกต่างจากการอภัยโทษ กล่าวคือ การอภัยโทษนั้นเป็นการลดโทษ แต่ความผิดยังมีอยู่ ส่วนการนิรโทษกรรมคือการระบุว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และไม่ต้องรับโทษใดๆ เลย

สำหรับประเภทของการนิรโทษกรรมมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

1.Self amnesty หรือการนิรโทษกรรมตัวเอง ตัวอย่างเช่นในประเทศเปรู คนที่เป็นคนกระทำความผิดคือรัฐบาลได้นิรโทษกรรมตัวเองจากการฆ่าครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1991

2.Blanket amnesty หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุม กว้างขวาง หมายถึงไม่กำหนดว่าเป็นการนิรโทษให้กับคนใดคนหนึ่งหรืออาชญากรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยประเทศที่นำมาใช้คือ เซียรา เลโอน

3.Conditonal amnesty หรือการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เคยใช้ในประเทศแอฟริกาใต้ วิธีการคือผู้ที่กระทำผิดต้องบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและสิ่งที่ตนเองทำว่าได้ทำผิดอะไรบ้าง จึงจะนิรโทษกรรมให้

4.De facto amnesty หรือการนิรโทษกรรมในแง่ข้อเท็จจริง หมายถึงว่ากฎหมายไม่ได้เขียนให้นิรโทษกรรมผู้ใด แต่กำหนดในเรื่องอื่นไว้ เช่น อายุความ หากไม่ยื่นฟ้องภายใน 60 วันก็ไม่สามารถฟ้องได้ เท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมกลายๆ ประเทศที่นำมาใช้คืออาร์เจนติน่า

สำหรับแนวทางการนำเรื่องนิรโทษกรรมมาใช้ในประเทศไทยนั้น นายอารี ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือขัดกับหลักกฎหมายไทยหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ และต้องดูด้วยว่าขัดกับหลักกฎหมายหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือเปล่า โดยเฉพาะสนธิสัญญาที่คุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะอาชญากรรมบางประเภทที่รุนแรงมากๆ ก็ไม่ยอมรับให้มีการนิรโทษกรรม

สิ่งสำคัญคือคำถามที่ว่า การนิรโทษกรรมในประเทศไทยจะนำมาสู่ความสงบสุขหรือปรองดองที่ยั่งยืนหรือไม่ เพราะในหลายๆ ประเทศที่มีประสบการณ์ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าการนิรโทษกรรมอาจไม่ได้สร้างความสุขสงบที่ยั่งยืน โดยเฉพาะจากมุมมองของผู้ตกเป็นเหยื่อซึ่งต้องการความยุติธรรม เพราะตราบใดที่ผู้เป็นเหยื่อยังไม่ได้รับความยุติธรรม ก็สามารถฟ้องร้องคดีได้ตลอด แม้เรื่องจะจบไปนานมากแล้วก็ตาม เหมือนอย่างกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา

กระนั้นก็ตาม หากนำการนิรโทษกรรมมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย นายอารี เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

1.การกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญาประเภทไหน ฐานความผิดอะไร

2.ผลกระทบจากการนิรโทษกรรมจะส่งผลต่อการปรองดองในชาติแค่ไหน อย่างไร และหากจะมีการนิรโทษกรรมจริง รัฐบาลต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ไม่ใช่ไปเจรจากันบนโต๊ะระหว่างคู่ขัดแย้งแล้วนิรโทษกรรมตัวเองโดยที่เหยื่อยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

3.การนิรโทษกรรมจำเป็นจริงหรือเปล่าสำหรับประเทศไทย เพราะยังมีทางเลือกอื่นอีกหลายทาง เช่น การขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่สำหรับคดีที่ผู้เสียหายยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือใช้การอภัยโทษแทนนิรโทษกรรม หรือใช้ยุติธรรมชุมชน ซึ่งสำเร็จมากในติมอร์ตะวันออก โดยให้ผู้กระทำผิดไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม

4.หาแนวทางลดผลลบที่อาจเกิดจากการนิรโทษกรรม เช่น นิรโทษเฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่โดนละเมิดสิทธิทางการเมืองจริงๆ อาจจะแค่ไปร่วมชุมนุมอย่างสงบ ไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่ถูกจับกุม คือจำกัดวงการนิรโทษเฉพาะบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีเท่านั้น เป็นต้น

แต่ไม่ว่าสังคมไทยจะเลือกแนวทางนิรโทษกรรมเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้หรือไม่ บทสรุปของ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ควรมองข้าม...

"การนิรโทษกรรมของไทยที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือของรัฐในการลบล้างความผิดเท่านั้น ไม่เคยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความปรองดองในสังคมเลย"

 


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : บทเรียนโลก นิรโทษกรรม ทางออก แก้ขัดแย้งสังคมไทย

view