สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเงินโลกสะเทือน หนี้ยุโรปจุกอก ไร้ทางออก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีซที่ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรป เจ็บตัวไปตามๆ กันเท่านั้น แต่ยังจะลากเอาประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้เจ็บหนักตามๆ กันไปด้วย

เพราะทุกประเทศทั่วโลกล้วนเกี่ยวข้องถึงยุโรปกันหมด โดยมีระบบกลไกหนึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงร้อยเรียงแต่ละประเทศ เข้าไว้ด้วยกัน

ระบบที่ว่าก็คือ ระบบการเงินการธนาคาร ที่ขณะนี้กำลังโดนโจมตีอย่างหนักหน่วงจากวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซน เพราะธนาคารทั่วโลกล้วนไปลงทุนทำกำไรอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)

เป็นวิกฤตที่ นักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักทั่วโลกถึงกับกุมขมับ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยากที่จะรับมือเหลือเกิน

แม้กระทั่งสองปรมาจารย์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2554 นี้ อย่างคริสโตเฟอร์ ซิมส์ และโทมัส ซาร์เจน ยังยอมรับเลยว่า วิกฤตในครั้งนี้หนักหนาสาหัสอย่างมากจนยากที่จะหาทางออกได้ในเร็ววัน

 

ขณะที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนในแวดวงวอลสตรีตถึงกับตะโกนออกมาแบบสุด เสียงด้วยความอัดอั้นตันใจว่า ยังไม่เห็นทางออกจากปัญหาในครั้งนี้เลย

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า ยุโรป ถือเป็นแหล่งลงทุนทำเงินมหาศาลให้กับนักลงทุน และนักเก็งกำไรในวอลสตรีตของสหรัฐมาโดยตลอดในช่วงไม่กี่ปีให้หลังที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551

การที่หนี้สาธารณะของยูโร กำลังลุกลามคุกคามภาคการเงินของภูมิภาค ทำให้เกิดความเสี่ยงที่นักลงทุนในวอลสตรีตบอกได้คำเดียวว่า “ไม่ขอเสี่ยง”

เมื่อไม่อยากเสี่ยง ก็ต้องถือเงินเก็บไว้รอดูสถานการณ์ ทำให้กลายเป็นผลร้ายต่อระบบทุนนิยม ที่จำเป็นต้องให้มีเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง จนทำให้เศรษฐกิจเดินหน้ามีการเติบโตต่อไป

เท่ากับว่า เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐก็ไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าหากว่า หนี้สาธารณะของยุโรป โดยเฉพาะในกรีซ ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย

เพราะมีเงินแต่ไม่มีหนทางลงทุนให้เงินนั้นงอกเงยต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ

ขณะที่ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีของโลก ผู้ได้รับฉายาพ่อมดทางการเงินยังต้องออกมายอมรับว่า การที่ยุโรปยังคงมืดมนไร้ทางออก จนทำให้เงินไม่มีที่ไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่สามารถเขย่าระบบการเงินโลกทั้งระบบให้พังครืนลงมา ได้อย่างง่ายดาย

ผลกระทบร้ายแรงดังกล่าว ส่งผลให้บรรดาผู้นำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างส่งเสียงเร่งให้อียูลงมือหาทางแก้ไข หรือทำอะไรสักอย่าง เดี๋ยวนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ทั้งนี้ แม้ว่าบรรดาผู้นำในอียูจะตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกัน แต่จนแล้วจนรอด พอถึงเวลาเข้าจริงๆ แต่ละประเทศก็ยังไม่วายคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง

เห็นได้จากการลงมติอนุมัติเพิ่มเงินกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินแห่ง ยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) เพื่อล้อมคอกปกป้องสถาบันทางการเงินและธนาคารของภูมิภาค ที่กว่าจะลงมติกันได้ก็เล่นเอาหุ้นในตลาดวูบแล้ววูบอีก ขณะที่ประเทศที่ต้องลงมติเป็นรายล่าสุดอย่างสโลวะเกีย ก็ยังอุตส่าห์มีเงื่อนไขและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทว่า ปัญหาการไขว่คว้าหาประโยชน์เข้าตัวดูจะเทียบไม่ได้กับความจริงที่น่าหวั่นใจ ที่ว่า ในเวลานี้ อียูมีกลไกหรือเครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาอยู่ไม่มากนัก แถมเครื่องมือที่มีอยู่ก็ไม่สามารถจะรับประกันได้ว่าจะช่วยให้รอดพ้นจาก วิกฤตทางการเงินในครั้งนี้ได้ในสภาพปลอดภัยหรือไม่

เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับวิกฤตการเงินแบบเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2551 กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารเกือบทุกประเทศทั่วโลก ต่างเร่งเสริมกำแพงป้องกัน ด้วยการเพิ่มเงินกองทุนช่วยเหลือ สั่งเพิ่มเงินทุนสำรองของธนาคาร พร้อมๆ กับเพิ่มเงื่อนไขจำกัดการให้กู้ยืม

แม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่เมื่อธนาคารปิดประตูแน่น ก็ทำให้ธุรกิจบริษัทที่ขับเคลื่อนภายใต้ระบอบทุนนิยม เน้นผลิตเน้นบริโภคก็ไม่มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนเพื่อประคองธุรกิจ หรือเพื่อขยายงาน

เท่ากับว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ประเทศซึ่งประสบกับ ปัญหาหนี้สิน และหวังให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวช่วยนำมาลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสิทธิที่จะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย

นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการยอมเพิ่มเงินกองทุนอีเอฟเอสเอฟตามที่ได้ตกลงกันไว้จนค่อยๆ เรียกความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนให้กลับคืนมาได้บ้าง แต่การแก้ปัญหาหนี้กรีซที่ให้ธนาคารเจ้าหนี้ต้องยอมลดมูลค่าของสินทรัพย์ที่ ถืออยู่ หรือก็คือ พันธบัตรรัฐบาลกรีซ ลงถึง 50% ก็ส่งผลกระทบต่อธนาคารอย่างหนักเช่นกัน

เพราะการที่ธนาคารต่างๆ ต้องดำเนินงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อรักษาผลกำไรให้ได้มากที่สุด ธนาคารบางแห่งจำเป็นจะต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด ซึ่งรวมถึงการปลดพนักงานออก

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดาธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐ เช่น แบงก์ออฟอเมริกา คอร์ป ได้ปลดพนักงานออกถึง 3 หมื่นตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่หลายธนาคารในยุโรปก็เตรียมจะปรับลดคนออกภายในปีนี้เช่นกัน

ผลที่ได้ก็คือ ตัวเลขคนตกงานมากขึ้น เป็นภาระให้กับรัฐบาล ขณะที่ธุรกิจเองก็ไม่มีความเคลื่อนไหว เพราะคนไม่ยอมใช้จ่าย จนซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลงมากกว่าเดิม

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างพูดกันว่า สิ่งที่ยุโรปต้องทำตอนนี้ ก็คือ จัดตั้งสถาบันเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับยูโรโซนทั้งหมด เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงิน และปรับปรุงแก้ไขแผนการเติบโตในระยะยาว

แต่ทว่าพอเอาเข้าจริง ทุกอย่างที่เกริ่นมาข้างต้นเป็นแนวคิดที่ยังไม่สามารถเคาะในรายละเอียดได้ ว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วทำแบบไหนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

ด้านที่ปรึกษาทางธุรกิจอีกส่วนหนึ่งก็มองว่า ต้องมีการผสมผสานเครื่องมือหลายประการเข้าไว้ด้วยกันจึงจะประสบผลสำเร็จ

จอร์จ แม็กนัส ที่ปรึกษาอาวุโสของธนาคารเพื่อการลงทุนยูบีเอส เสนอว่า อียูจำต้องยืดระยะเวลาชำระหนี้กรีซ ควบคู่ไปกับการให้เงินทุนสนับสนุนธนาคารกรีซและธนาคารประเทศอื่นๆ ด้วยการซื้อพันธบัตรผ่านอีซีบี

แต่เท่ากับว่า ธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอาจจะต้องยอมเสียสภาพคล่อง และอาจเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่กับภาคธนาคาร เท่ากับว่า แม้จะรอดจากการล้มครืนมาได้ แต่ก็อยู่ในอาการปางตาย

เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเลือกไปทางไหนเพื่อใช้เป็นทางออก ภาคการเงินการธนาคารก็มิวายเจ็บตัวอยู่ดี เสียแต่ว่าจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยก็เท่านั้น

หรือพูดให้ง่ายเข้า ยุโรปในวันนี้ ยังคงไร้ทางออก

แต่ในขณะเดียวกัน การปล่อยให้วิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังลุกลามภาคการเงินในครั้งนี้ยืดเยื้อออก ไปโดยไม่ยอมหาทางแก้ไขป้องกัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตาย

ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือต้องลองเดินหน้าผ่าทางตันลูกเดียว


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : การเงินโลกสะเทือน หนี้ยุโรปจุกอก ไร้ทางออก

view