สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ข้อเท็จจริงจากฝั่งแบงก์ชาติ

 

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สัมภาษณ์




หลัง จากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" มีการนัดพบกับขุนคลัง "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเคลียร์ 4 โจทย์ใหญ่ที่ช่วยลดแรงเสียดทาน 2 หน่วยงาน ตั้งแต่ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท รวมถึงการล้วงเงินในบัญชีแบงก์ชาติมาจ่ายหนี้แทนรัฐ ก็ยังไม่มีข้อสรุป แถมต้องทำการบ้านเพิ่ม ผู้ว่าการแบงก์ชาติได้เปิดใจเป็นครั้งแรก

- ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯจะทำอย่างไร

รัฐบาล ควรจะจัดงบฯออกไปให้ยาวขึ้น เช่น 30 ปี คือฝั่งการคลังด้านหนึ่งจะมีรายจ่าย แต่อีกด้านก็มีรายได้ ซึ่งก๊อกหนึ่งของรายได้ก็มาจากการทำงานของแบงก์ชาติ ถ้าปีปกติก็จะมีรายได้ลงบัญชี แต่พอดีช่วงหลัง ๆ ค่าเงินบาทแข็งก็เข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งก็ทำให้แบงก์ชาติต้องลงบันทึกทางบัญชีตามมูลค่าราคาตลาด (mark to market) ทำให้ขาดทุนทางบัญชี จึงไม่ได้มีการนำส่งเงินให้กระทรวงการคลัง

- คลังจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้ ธปท.

เรื่อง นี้อธิบายให้คนข้างนอกเข้าใจลำบาก เพราะเรากำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งสถานการณ์ 2540 ถึงจุดหนึ่งแบงก์ชาติต้องหารือคลังว่าสถาบันการเงินมีปัญหา สถาบันการเงินจะเอายังไง ถ้าด้านหนึ่งปล่อยให้ล้ม สังคมเป็นไง ประเทศเป็นไง ซึ่งก็เอาเข้า ครม.และถ้าดูสำเนาสัญญา LOI ฉบับที่ 3 และ 4 ที่ทำกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็มีเงื่อนไขระบุว่า ภายใต้รัฐบาลจะต้องเอาหนี้กองทุนฟื้นฟูมาเป็นหนี้ทางการคลัง ซึ่งปรากฏชัดในหลาย ๆ ที่ว่านี่เป็นหนี้การคลัง ไม่ใช่หนี้ของแบงก์ชาติ สะท้อนผ่านมติ ครม.ในปี 2540-2541 ที่ให้รัฐบาลรับ ถือเป็นหนี้ทางการคลัง ซึ่งตอนนั้นมี พ.ร.ก. ให้อำนาจคลังออกพันธบัตรในปี 2541, 43 และ 45 ก็แสดงว่า รัฐรับเป็นหนี้ทางการคลัง

แต่มีช่วงหนึ่งตอนออก พ.ร.ก.มีการเจรจาให้เอารายได้ ธปท. ที่นำส่งคลังแต่ละปีอย่างน้อย 90% มาใช้ชำระ เงินต้น แต่พอมีแบบนี้เกิดขึ้นคนก็เข้าใจว่านี่เป็นหนี้แบงก์ชาติ

- ทางออกที่ดีควรทำอย่างไร

วิธีแก้ที่ตรงไปตรงมาคือ รัฐกันงบฯ ปีละนิดละหน่อยไปเรื่อย ๆ ถ้าไปถึงวันข้างหน้า หนี้นี้ก็จะเป็นน้ำหนักที่น้อยลงและถูกเงินเฟ้อกินเข้าไป หนี้ก็จะเล็กลง เพียงแต่ระหว่างทางก็ต้องแก้กันไป

การที่จะเขียนกฎหมายโอนหนี้มาให้ แบงก์ชาติมีข้อเสียเชิงหลักการและฐานะ ข้อเสียเชิงหลักการคือ หนี้กองทุนฟื้นฟู 1 ล้านล้านบาทเป็นหนี้รัฐ อยู่ดี ๆ โอนออกไป ก็เหมือนมีใครต้องไปให้เงินรัฐ ซึ่งก็คือ แบงก์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานไม่มีอำนาจเก็บภาษีใครได้ ก็กลายเป็นต้องพิมพ์เงินออกมาให้รัฐใช้ เมื่อมีพิมพ์เงินครั้งแรกก็จะเกิดครั้งต่อ ๆ ไป

ข้อเสียในเชิงฐานะ การเงินคือ ถ้าแบงก์ชาติพิมพ์เงินออกไป ก็จะมีภาระในการดูดเงินด้วยการออกพันธบัตร จะมีภาระดอกเบี้ย กลายเป็นแบงก์ชาติที่มีภาระหลังแอ่นอยู่แล้วก็แอ่นหนักไปอีก

- หนี้ 1.1 ล้านล้านบาท อันตราย ?

ก็ ไม่ได้แบบว่าอันตราย เพราะหนี้นี้ก็อยู่กับเรามานาน 10 กว่าปีแล้ว ยังกินขนมหวานได้ก็ไม่ได้ทำให้คลังท้องเสีย และถ้าดูภาวะเงินเฟ้อในข้างหน้า หนี้ก้อนนี้ถูกเงินเฟ้อกินจะเล็กลง แต่แน่นอนระหว่างทางก็อาจจะลำบากหน่อย ถ้าจะแก้ให้ตรงตามตำรา ก็กันงบฯใส่เข้าไปเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือ ผ่านมาหลายรัฐบาลไม่มีใครทำตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องสร้างโดยอดีต ไม่มีคนในปัจจุบันที่จะมาคิดแก้ปัญหาให้คนในอดีต

และสิ่งที่พอมอง เห็นว่าเป็นสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูที่มีอยู่ ก็หุ้นของธนาคารกรุงไทยที่เข้าไปเพิ่มทุนมหาศาล ส่วนหนึ่งมาจากที่กองทุนฟื้นฟูเข้าไปรับเพราะเป็นเครื่องมือของรัฐในช่วง วิกฤต ซึ่งก็เป็นรายจ่ายการคลัง ซึ่งทางคลังก็สามารถโอนสินทรัพย์นี้ไปไม่ต้องรอให้เลิกกองทุนฟื้นฟูในปี 2556 ตรงนี้อาจจะได้เงินซัก 1 แสนกว่าล้านบาท

- โจทย์การบ้านที่รับใหม่อีก 3 ข้อ

โจทย์ นี้เบากว่าเยอะ เรื่องอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตั้งใจจะอนุญาตอยู่แล้ว แต่บริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ของต่างประเทศกำลังขอแบงก์ชาติทำอยู่ ซึ่งถ้าอนุญาตจะทำให้เป็นเสือติดปีกได้เปรียบ บล.ไทยจึงต้องมีการหารือกันก่อน ส่วนการให้ตลาดอนุพันธ์มีสินค้าใหม่ "ฟิวเจอร์สเงินสกุลดอลลาร์" ได้คุยกันเบื้องต้นขออย่าเพิ่งเปิดกว้างนักลงทุนต่างประเทศ เพราะเป็นกลุ่มเฮดจ์ฟันด์มาก ถ้าเข้ามาจะทำให้หนักพอควร และเรื่องเปิดให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ซึ่งไฟแนนเชียล มาสเตอร์แพลนมีขั้นตอนอยู่แล้ว และได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปิดใจ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ข้อเท็จจริง ฝั่งแบงก์ชาติ

view