จาก โพสต์ทูเดย์
“คนปากน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะชินค่ะกับเมื่อน้ำขึ้นโดยเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันพระ ทุกคืนน้ำก็ไหลท่วมเข้ามาในบ้าน "
น.ส.นพ ลักษณ์ ธนันประดิษฐ์กุล พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 23 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า อาศัยอยู่ในซอยท้ายบ้าน 40 อ.เมือง จ.สมุทรปราการ บ้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยง โดยเฉพาะบริเวณหลังบ้านชั้นล่างซึ่งเป็นครัวอยู่ตรงข้ามแม่น้ำ เมื่อน้ำขึ้นก็จะท่วมเข้าบ้าน บ้านทุกๆ หลังในซอยนี้จึงต้องมีเครื่องสูบน้ำ บ้านละ 1 เครื่องเกือบทุกหลัง
“คนปากน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะชินค่ะกับเมื่อน้ำขึ้นโดยเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันพระ ทุกคืนน้ำก็ไหลท่วมเข้ามาในบ้าน ความยากลำบากของบ้านหลังนี้ซึ่งคงย้ายหนีไปไหมไม่ได้ด้วยค่ะ บ้านสร้างอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นอากง เพื่อทำธุรกิจเรือประมงออกทะเลจึงต้องอยู่ริมน้ำกันมา 3 รุ่นแล้วค่ะ” นพลักษณ์ บอก และเล่าให้ฟังต่ออีกว่าการรับวิกฤตน้ำท่วม 2554 ที่ปีนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านมา คือการโยกย้ายครอบครัวไปอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม ย่านพระราม 4
“ถ้ามองโลกในแง่บวกก็ถือเป็นความโชคดี ที่หลายปีก่อนไปซื้อคอนโดฯ ทิ้งไว้ตั้งแต่ราคาไม่แพงมากนัก เป็นห้องชุด 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว ก็เลยอพยพคนแก่ อาม่า ไปอยู่ที่นั่นก่อนส่วนพวกลูกหลานก็ต้องอยู่โยงเฝ้าบ้านปากน้ำ การรับวิกฤตที่ครอบครัวเราพอทำได้ คือ ตอนนี้ต้องตุนอาหาร น้ำดื่ม ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเครียดของคุณป้าที่เดินเข้าโลตัสแล้วเห็นน้ำดื่ม มาม่า ไข่ หมดชั้นวางขาย ก็ยิ่งกระตุ้นให้เราไปซื้อข้าวของบริโภคเหล่านี้มาสะสมไว้เป็นเสบียง” นพลักษณ์ บอกเล่า
ส่วนถุงกระสอบทรายป้องกันน้ำ นพลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าคนบ้านริมน้ำก็ต้องพอมีกันไว้อยู่แล้ว แต่คงไม่ถึงกับก่ออิฐบล็อกขึ้นมากั้นน้ำอย่างตึกพาณิชย์ริมถนนสุขุมวิทในเว นี้ที่มีหลายๆ บ้านทำกันหลายรายแล้ว
“ปีหน้าถ้าน้ำมาแรงกว่านี้ก็ ไม่เครียดเท่านี้นะคะ เพราะรู้สึกว่าปีนี้แรงที่สุดแล้วค่ะ เรารู้วิธีป้องกันแล้วคงไม่ปล่อยให้น้ำเข้าบ้านอย่างไม่รู้ตัวกันอีก เทคนิกป้องกันน้ำถ้าคลิกเข้าไปในดูในเฟซบุ๊ค จะได้ความรู้มากๆ เลยค่ะ เช่น เทคนิกของฝรั่งคนหนึ่งสูบน้ำท่วมเข้าท่อน้ำที่ยืดหยุ่นได้ กั้นน้ำได้ดีกว่ากระสอบทราย แล้วการที่มีอินเตอร์เนต อีกเมลออฟฟิศที่เราทำด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็จะได้รับข้อมูลจากบริษัท ข้ามชาติที่ทำธุรกิจกับเรา ส่งบอกข่าวมาเร็วมากๆ ซึ่งมีบริษัทค้าปลีกระดับชาติแห่งหนึ่งบอกว่า น้ำอาจจะท่วมเท่ากับตึก 1 ชั้น วันนั้นที่ออฟฟิศเรียกประชุมเตรียมรับด่วน และให้รอดูสถานการณ์จนถึงวันอังคารที่ 18 ตค.นี้ ถ้ากรุงเทพฯ ป้องกันน้ำจากปริมณฑลได้ สถานการณ์ก็คลี่คลายลง” นพลักษณ์ ให้ข้อมูล
และ น้ำข่าวสารเหล่านี้มารวมแชร์กับเพื่อนๆ ในออฟฟิศ เช่น ช่างภาพที่มีบ้านอยู่บางซื่อ ก็จะรู้ระดับน้ำและนำมาบอกต่อเพื่อนๆ ทุกวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การตั้งรับสถานการณ์ได้อย่างเข้าถึง
ชาวสุขุมวิท 101 เตรียมรับสถานการณ์น้ำ
ชาวสุขุมวิท 101 แม้อยู่กรุงเทพฯชั้นใน ก็เตรียมรับสถานการณ์ขนกระสอบทรายรับน้ำหน้าร้านแล้ว นายภูวนาท พันธุ์สมบัติ วัย 54 ปีเจ้าของร้านสารผ่านหนังสือ ให้สัมภาษณ์ว่า เคยผ่านประสบการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2526 และปี 2538 ลุยน้ำครึ่งเข่า แต่จากการติดตามข้อมูลข่าวสารวิกฤตน้ำท่วม 2554 จากสื่อต่างๆ ทั้งทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ บอกว่าสุดสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันอังคารที่ 18 ต.ค.ให้คน กทม.เตรียมรับน้ำที่อาจทะลักมาจากปริมณฑล
“ตอนนี้มีการขุดลอกคลองในซอยสุขุมวิท 101 แต่ก็ไม่ได้วางใจเพราะไม่รู้คลองจะระบายน้ำได้มาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งผมก็เตรียมตัวมา 2-3 อาทิตย์แล้วโดยซื้อกระสอบทรายที่ตอนนั้นราคายังไม่แพงกระสอบละ 35 บาท ซื้อไว้ 10 กระสอบ แต่พอไปถามอีกตอนนี้กลายเป็นกระสอบละ 65 บาท และพร้อมส่ง 80 บาท เพราะตอนนี้ทรายไม่มีแล้วและเหลือแต่ทรายถมที่กั้นน้ำไม่อยู่นะครับ ไม่ใช่ก่อสร้างที่เม็ดโตและใช้กั้นน้ำได้ดีที่สุด ถ้าทรายผสมดินกรวดก็ยิ่งแพง ถุงละ 45 บาทซึ่งตอนนี้ผมไปถามตามร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างก็ไม่มีทรายพวกนี้ขาย แล้ว ว่าคนซื้อไปหมดแล้ว” นายภูวนาท กล่าว
ธุรกิจขายหนังสือเสี่ยงมาก เพราะถ้าน้ำมาทุกอย่างก็เสียหายหมดทันที ซึ่งจากการตั้งรับสถานการณ์ นายภูวนาท กล่าวว่า ขยับชั้นวางขายหนังสือขึ้รไป 50 ซม. หรือราวครึ่งเมตร โดยคำนวณจากพื้นถนนสุขุมวิทกับตึกพาณิชย์ของตนที่สูงกว่าถนนถึง 1 เมตรก็ดูจะไม่เสี่ยงมากนัก
“แต่เราไม่เคยเจอสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม จึงไม่รู้จะเตรียมรับอย่างไรให้ดีไปกว่านี้นะครับเพราะเมื่อปี 2538 ก็ไม่แรงมากเท่านี้ และจากเมื่อวัยฝนตกหนัก 2-3 วันที่ผ่านมา น้ำก็ปริ่มขอบฟุตปาทก็ค่อนข้างดีใจที่ไม่เข้ามาในร้าน” นายภูวนาท กล่าว แต่ก็ประมาทไม่ได้การติดตามข่าวสารจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก
ส่วนร้านกาแฟใกล้เคียงกันและสูงระดับเดียวกับถนน น.ส.สุจิตรา อัญเมธาสุขะ อายุ 26 ปี พนักงานขายหน้าร้านกาแฟ เฮอริซัน คาเฟ่ กล่าวว่าร้านค้าย่านสุขุมวิทเตรียมตัวกันอย่างดี ทุกๆ ร้านมีกระสอบทรายวางไว้หน้าร้าน แต่ที่ร้านความที่เป็นร้านเล็กๆ และอยู่ระดับเดียวกับถนน จึงทำได้แค่ขนของใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟไปขึ้นที่สูงเพราะถ้าน้ำถึงถนนกรุงเทพฯชั้นในอย่างข่าวจริง กระสอบทรายก็คงกั้นไว้ไม่อยู่
“ตอนนี้ทำได้ดีที่สุดคือหันมาตุนเสบียงของกิน ของใช้ น้ำดื่ม ผ้าอนามัย ที่ตอนนี้ในร้านสะดวกซื้อย่านนี้ก็ไม่มีให้ซื้อแล้วนะคะ เลี้ยงทั้งชั้นคนมาซื้อไปตุนไว้ ลูกค้ามาซื้อกาแฟก็บอกว่าแม้แต่เทียนไขในห้างใหญ่ๆ ที่โลตัสก็ไม่มีแล้ว” น.ส.สุจิตรา บอก
อีกรายที่เตรียมรับสถานการณ์ใกล้ชิด นางรัชนี (ไม่เปิดเผยนามสกุล) กล่าวว่า บ้านในย่านลาดพร้าว ซอย 53 ก็นับว่าเป็นจุดเสี่ยงเช่นกันเพราะจากการติดตามข่าวสารน้ำจะมาจากรังสิตซึ่ง ตอนนี้ก็ท่วมแล้ว
“ติดตามข่าวสารมากๆ ก็เครียดนะคะ ลาดพร้าวจะรับน้ำจากปทุมธานี และเวลานี้น้ำก็มาถึงประตูน้ำพระอินทร์แล้ว บ้านดิฉันเป็นตึก 2 ชั้นก็ทำได้แค่ขนของมีค่าขึ้นไปไว้ที่ชั้น 2 แต่โต๊ะตัวใหญ่ๆ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ๆ ทีวี ตู้เย็น ก็ขนไม่ไหวและไม่มีที่วางอีกด้วย ถ้าน้ำมาก็ต้องทำใจปล่อยให้จม” นางรัชนี กล่าวว่า สามีเป็นช่างจึงคิดวิธีการป้องกันน้ำนอกจากการใช้กระสอบทรายคือใช้พลาสติก ชนิดหนาซึ่งซื้อได้จากร้านวัสดุก่อสร้าง นำมาตัดให้เป็นสี่เหลี่ยม แล้วซีลด้วยเทปกาวชนิดเหนียวที่สุดปิดประตูบ้านที่เป็นทางน้ำเข้า ซึ่งวิธีนี้น่าจะป้องกันน้ำได้ดีไม่แพ้กระสอบทรายเช่นกัน
“กำลังคิดซีลรถยนต์ด้วยค่ะ แต่ตอนนี้ได้ที่จอดอย่างดีแล้วจากที่ตอนแรกจะนำรถไปจอดตามห้างสรรพสินค้าที่ เปิดบริการให้จอดรถฟรี ปรากฏว่าทุกที่เต็มหมด เราก็ไม่กล้าเอารถไปจอดทิ้งไว้ริมถนนจึงไปเช่าที่จอดรถ เดือนละ 1,800 บาทย่านถนนวิทยุที่เป็นอาคารสูง เราเตรียมการณ์ตั้งแต่เนิ่นๆและตอนนี้ก็เต็มแล้วจึงดีใจมากที่ไม่ประมาท” นางรัชนี กล่าว
ส่วนการเตรียมสะสมของกินขอใช้อุปโภคบริโภค นางรัชนี กล่าวว่า ไม่ซื้อมากนักเพราะไม่อยากซ้ำเติมสถานการณ์ให้ดูเลวร้ายไปกว่านี้
“ดิฉันคิดว่ามีคนเดือดร้อนกว่าเราอีกเยอะนะคะ แล้วถ้าน้ำมาจริงก็คงเดินออกไปซื้อของกินของใช้ได้ไม่ยากนักเพราะบ้านเราก็ ไม่ได้ห่างจากถนนมากนัก” นางรัชนี กล่าวทิ้งท้าย
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี