จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สุมิตรา จันทร์เงา
Delight Moment / สุมิตรา จันทร์เงา
แดดหนาวเจิดจ้าแรกฤดูเปิดเมฆฝนออกส่องโลก
เป็นเช้าที่สดใสในวันเปลี่ยนผ่านฤดูกาลของปีนี้
แต่เสียงของวันช่างเงียบงัน มันควรจะมีเสียงร่าเริงของหมู่นก เสียงจอแจในตลาดเช้า หรือแม้แต่เสียงยวดยานที่ขับผ่านอย่างเร่งรีบในจังหวะชีวิตที่ไม่เคยหยุด นิ่ง
แปลกนักวันเวลาของย่านประชานิเวศน์ 1 เหมือนถูกแช่แข็งไว้เมื่อ 30 ปีก่อน ยุคที่หมู่บ้านชานเมืองแห่งนี้ยังเป็นเพียงชุมชนเล็กๆห่างไกล ไม่มีเดอะมอลล์ โฮมโปร โลตัส ไม่มีแท่งคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพัก แหล่งบันเทิงเริงรมย์ ร้านอาหารดัง หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
อยู่ๆรถราก็พร้อมใจกันหายไปจากถนน ผู้คนในชุมชนที่เคยคึกคักว่างวาย... สินค้าจำเป็นในการครองชีพหายไปจากชั้นวางขายทั้งในร้านสะดวกซื้อและตลาดสด
บางชีวิตที่ยังสัญจรอยู่ตามท้องถนนสีหน้าหม่นหมอง ความกังวลเครียดเขม็งเปล่งรัศมีทั่วสรรพางค์ ทั้งชุมชนเหมือนกำลังโดนคุกคามจากบางสิ่งบางอย่างที่ไร้ตัวตนแต่มีพลานุภาพ ล้นเหลือละทุกคนทำสิ่งใดไม่ได้นอกจากรอคอยการโจมตี
นับตั้งแต่รัฐบาลตั้ง ศปภ. ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ชีวิตของคนกรุงเทพฯและปริมณมณฑลก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
เราทุกคนถูกผลักเข้าสู่ “สงครามน้ำ” อย่างทั่วถึงและสมบูรณ์แบบหลังจากเสพข่าวสารเกี่ยวกับผู้เดือดร้อนจาก เหตุการณ์อุทกภัยในรอบมรสุมประจำปีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไล่เรียงมาจากจังหวัดทางภาคเหนือตั้งแต่น่าน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท
ดูเหมือนธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนภัยมาเป็นระลอก เพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่คนในประเทศนี้ก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะเงี่ยหูฟัง โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางกรรเมืองระหว่างการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่
มิถุนายนแทบทั้งเดือน ภูเขาต้นแม่น้ำน่านกราดเกรี้ยว ส่งสายน้ำรุนแรงทะลุทะลวงป่าลงมาบ่าท่วมจังหวัดน่านจมมิดทุกอำเภอ ผู้คนนับแสนชีวิตเดือดร้อนสาหัสเพราะยังติดอยู่ในบ้านที่มีน้ำท่วมขังเกือบ ถึงหลังคา แต่ความทุกข์ร้อนของชาวน่านก็ปรากฏอยู่ในพื้นที่ข่าวได้ไม่นานนัก เพราะความสนใจของคนทั้งประเทศพุ่งไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 3 กรกฎาคม
เดือนกรกฎาคมทั้งเดือนชาวน่านหลายครัวเรือนยังเปียกน้ำ เพราะตอนเหนือของไทยโดนหางของพายุ โกนเซิน-จันทู ถึงสองระลอก ตามมาด้วยไต้ฝุ่นหมาง้อนที่ผ่านมาเฉียดไทยพร้อมกับดีเปรสชั่นเขตร้อนโทะคา เงะที่เคลื่อนตรงไปทางญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 ก.ค. จากนั้นก็รับการมาเยือนของไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าซึ่งมีศูนย์กลางปกคลุมใกล้ทะเล ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม เป็นผลให้คนไทยเกือบทั้งประเทศจมอยู่กับน้ำฝนแบบเปียกปอน
แต่ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไป...
พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากยังวุ่นวายอยู่กับ การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีและการตบรางวัลผู้สนับสนุนคะแนนเสียงด้วยตำแหน่ง ทางการเมือง ซึ่งกว่าจะลงเอยกันได้แม่น้ำปิงก็เริ่มออกอาละวาดบ้าง
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากน้ำฝนที่ตกค้างด้วยอิทธิพลของลมมรสุมเหล่า นั้นบวกกับอิทธิฤทธิ์ของพายุนกเตนทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเข้า ท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้ เคียงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 54
น้ำปิงเอ่อล้นตลิ่งอีกรอบ แต่ดูเหมือนคนเชียงใหม่จะเริ่มคุ้นเคยกับการขนของหนีน้ำ
1 สัปดาห์ผ่านไปคนกรุงเทพฯก็ลืมเรื่องน้ำท่วมเชียงใหม่ หลังจากทางการสรุปความเสียหาย 20 อำเภอ มีผู้เสียชีวิต 2 คน และผู้ว่าฯเตรียมเรียกประชุม 3 อำเภอที่สร้างหมู่บ้านปิดกั้นทางน้ำไหล
ดูเหมือนเริ่มจะมีการชี้เป้าคร่าวๆ แล้วว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยมีต้นเหตุมาจากอะไร แต่รัฐบาลชุดใหม่ก็เพิ่งจัดตั้งเสร็จและบรรยากาศการเฉลิมฉลองตำแหน่งด้วย ความสุขชั่วขณะก็ห่มคลุมปัญหาไว้มิด
ประชาชนกำลังมีความสุขกับเสียงยืนยันถึงโครงการบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก นโยบายลดภาษีนิติบุคคล เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท และชาวนาก็นอนหลับฝันดีถึงโครงการรับจำนำข้าวอันหอมหวาน
ฝนยังตกต่อเนื่อง และมีรายงานปริมาตรน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำใหญ่ทางภาคเหนืออกมาเป็นระลอกแต่ดู เหมือนเสียงจุดพลุเฉลิมฉลองชัยชนะของประชานิยมในเมืองใหญ่จะดังกลบทุกเสียง
เสียงแห่งความสุขนั้นคงดังก้องไปถึงหูเทวดา...
คราวนี้จึงถึงทีของแม่น้ำยมบ้าง กลางสิงหาคมสายน้ำหลากไหลจากแพร่ไปถึงสุโขทัย ท่วมขังศรีสำโรง สวรรคโลก ลามไปถึงเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ไหลไปไกลถึงพิจิตร พิษณุโลก ทำลายพื้นที่เกษตรไปร่วมแสนไร่ ท่วมบ้านเรือนกว่า 6,000 หลัง ข้าวในนาที่ตั้งใจเข้ารับจำนำเน่าไปกับสายน้ำ
ต้นเดือนสิงหาคม แม่น้ำปิง ยม น่าน ที่กำลังกราดเกรี้ยวไหลไปรวมกันลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ในระดับความเร็ว 1,938 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
และในวันที่ 18 สิงหาคม 2554 กรมชลประทานต้องออกมาประกาศเตือนภัยให้ประชาชนที่อยู่อาศัยริมฝั่งระวังน้ำ ล้นตลิ่ง เพราะระดับน้ำเจ้าพระยาในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้นถึงวันละ 10 เซนติเมตร
แรงกระเพื่อมของเจ้าพระยากระเทือนถึงแม่น้ำน้อยขยับสูงขึ้น 10-30 เซนติเมตร โถมเข้าถล่มอำเภอผักไห่ เสนา และบางบาล สวนกล้วยหอมและกล้วยไข่จมอยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกับนาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยว แปรสภาพเป็นบึงสุดลูกหูลูกตา
นับแต่นั้นน้ำก็ท่วมขังจังหวัดนครสวรรค์สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดที่เริ่มรุนแรงในวันที่ 19 กันยายน ก็มีคำเตือนจากเทศบาลนครนครสวรรค์ถึงชาวบ้าน...
“หากท่านได้ยินสัญญาณเตือนภัยเป็น ไซเรนดับเพลิงพร้อมเสียงแตรรถดังสลับต่อเนื่องกันตลอดเส้นทางแสดงว่ากำลัง เกิดน้ำไหลทะลักเข้าสู่พื้นที่เขตเมืองที่ไม่อาจควบคุมได้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อพยพขนย้ายทรัพย์สินสู่ที่ปลอดภัยโดยทันที”
นั่นคือสัญญาณเตือนจากฟ้าระลอกสุดท้าย และสัญญาณรับมือจากคนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก แต่รัฐบาลก็ยังโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการรถยนต์คันแรกอย่างเป็นบ้าเป็น หลัง ในขณะที่หลายจังหวัดไม่มีผิวจราจรให้รถวิ่งแล้ว เพราะท้องถนนที่ตัดขวางเส้นทางผ่านของน้ำไหลได้กลายเป็นคลองรับน้ำตาม ธรรมชาติโดยไม่มีใครบังอาจยับยั้ง
ระหว่างนครสวรรค์กำลังวิกฤต น้ำปิงก็เอ่อท่วมเชียงใหม่อีกรอบเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐมีปริมาณสูงกว่า 4.40 เมตร เกินจุดวิกฤตที่ 3.70 เมตร คราวนี้จุดที่โดนถล่มล้วนเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ คือ ถนนเจริญประเทศ ไนท์บาซาร์ ช้างคลาน ตลาดวโรรส และย่านโรงแรมหรูริมแม่น้ำปิงหลายแห่ง
คนกรุงเทพฯยังนอนหลับฝันดี บริษัทรถยนต์มียอดจองซื้ออย่างล้นหลาม ทั้งที่ตอนนั้นสถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำยมไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยยังคงล้นตลิ่งอยู่ แม่น้ำน่านที่จังหวัดพิษณุโลกอยู่ที่ 1,146.80 ลบ.ม./วินาที ที่จังหวัดพิจิตร 1,093.80 ลบ.ม./วินาที ซึ่งย่อมส่งผลให้น้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัด นครสวรรค์เพิ่มสูงขึ้นอีก
ปลายกันยายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนตุลาคมน้ำยังหลั่งมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำที่จำเป็นต้องระบายออกจากเขื่อน
แล้วในที่สุดการประกาศสงครามน้ำก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมวลน้ำมหาศาลจากนครสวรรค์ทะลักหลั่งสู่ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และโจมตีพระนครศรีอยุธยาจนมีสภาพไม่ต่างจากกรุงแตก ขณะที่นครสวรรค์ก็จมบาดาลทั้งจังหวัด
ไม่น่าเชื่อว่าเราจะได้เห็นการต่อกรกับสายน้ำชนิดที่ในชีวิตนี้ไม่เคยนึกฝันว่ามันจะเกิดขึ้น
กองทัพน้ำที่ทรงอานุภาพหลากหลั่งมาจากทุกทิศทาง ซอนซอกเข้าไปในทุกพื้นที่ว่าง และเป็นไปตามธรรมชาติของมันคือ หลากไปหาพื้นที่รองรับในภาชนะทุกรูปแบบและไหลลงต่ำ
มนุษย์ตั้งกองทัพกระสอบทรายและแนวคันดินรับเป็นระลอก หวังว่าด้วยความสามารถและความชาญฉลาดของตนจะเอาชนะกระแสน้ำได้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมที่ใช้ติดตามเส้นทางน้ำ และด้วยอานุภาพแห่งเครื่องจักรกลหนัก กำลังแรงงานคนที่ระดมโหมใส่ และทรัพยากรทุกชนิดเท่าที่จะสรรหามาสู้ได้
ทรายเป็นล้านตัน กระสอบบรรจุไม่รู้กี่ล้านใบ อาสากู้ภัยเป็นร้อยๆทีม...ไม่เคยพอ
อาหาร ถุงยังชีพ เรือช่วยเหลืออพยพ มีมากแค่ไหนก็ไม่เคยพอ
มีการจัดตั้งแม่ทัพนายกองรับศึกเป็นแบบแผน แต่ดูเหมือนยิ่งต่อสู้ยิ่งสะเปะสะปะ และประเมินกำลังของข้าศึกผิดพลาดอยู่ตลอด
ด่านแล้วด่านเล่า...จบลงด้วยความปราชัย
ด่านแล้วด่านเล่า...สิ้นสุดลงด้วยคราบน้ำตา
ด่านแล้วด่านเล่า...ผู้คนยังประสบภัยในรูปแบบเดิมซ้ำๆ
ด่านแล้วด่านเล่า...ยังสู้รบด้วยยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเดิมๆแบบที่เคยแพ้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คลื่นมนุษย์ที่แตกตื่นหนีภัย ความโกลาหนอลหม่านเกิดขึ้นทุกมุมเมืองที่กระแสน้ำเข้าโจมตี ทั้งที่ผู้คนเหล่านี้ก็บริโภคข่าวสารการเตือนภัยจนอิ่มแปร้มาตั้งแต่มวลน้ำ ก้อนใหญ่เข้าโจมตีนครสวรรค์
คนจำนวนหนึ่ง ไม่เพียงแต่ปิดหูปิดตาตัวเองต่อการเตือนภัย แต่เมื่อความวิบัติมาถึงตัวจริงๆกลับเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากผู้อื่น ด้วยสิทธิของพลเมืองแบบไม่ลืมหูลืมตา
คนจำนวนหนึ่ง มองไม่เห็นความจำเป็นหรือความเสียหายของส่วนรวมนอกจากการปกป้องตัวเองไม่ให้เดือดร้อน คนอื่นจะฉิบหายก็ช่างมัน
คนจำนวนหนึ่ง นั่งมองน้ำด้วยความเข้าใจน้ำ และอยู่กับน้ำในธรรมชาติเช่นนี้ชั่วนาตาปี เมื่อน้ำหลากมาก็ยังยิ้มรับได้
นี่เองคือบทสรุปของรัฐที่ไม่เคยสอนราษฏรให้รู้จักตกปลา ได้แต่เอาปลาไปแจกให้กินจนเคยตัว
จะมีใครสักกี่คนที่ตระหนักว่าสงคราม นี้เป็นสงครามที่ไม่อาจชนะ... ทั้งการต่อกรกับธรรมชาติ และการสู้รบกับมวลชนผู้ไม่ค้อมคารวะต่อผืนดิน แผ่นฟ้า และสายน้ำ
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี