จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.ไสว บุญมา
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งเป็นการแพร่ขยายความเคลื่อนไหวในแนว “ยึดครองวอลล์สตรีท” (Occupy Wall Street)
ไปสู่หลายส่วนของโลกยกเว้นในเมืองไทยเนื่องจากผู้เคลื่อนไหวไม่พอใจความเป็นไปในสังคมและนโยบายของรัฐบาล บางแห่งมีผู้ร่วมชุมนุมเพียงหลักร้อย บางแห่งมีมากเป็นหลักหมื่น การชุมนุมส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบยกเว้นในกรุงโรมซึ่งมีผู้สวมรอยเข้าไปทำลายทรัพย์สินของประชาชนส่งผลให้ตำรวจต้องใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม
กระบวนการยึดครองวอลล์สตรีทเริ่มทำกิจกรรมแบบเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมาทั้งที่คำว่า “ยึดครองวอลล์สตรีท” มีความหมายไปในเชิงนามธรรม กิจกรรมของนักเคลื่อนไหวได้แก่การส่งคนเข้ายึดครองที่ว่างเปล่าราว 2 ไร่ในใจกลางนครนิวยอร์กซึ่งเอกชนเปิดให้คนทั่วไปใช้ทำกิจกรรม การเข้ายึดครองนั้นเป็นการประท้วงพฤติกรรมในด้านการสร้างความร่ำรวยด้วยความโลภของนักธุรกิจซึ่งใช้ถนนวอลล์เป็นที่ตั้งสำนักงาน อาทิเช่น ธนาคารพาณิชย์ วานิชธนกิจและบริษัทตลาดหลักทรัพย์ นักเคลื่อนไหวส่งคนไปยึดครองถนนสายนั้นในวันแรกๆ ซึ่งถูกตำรวจเข้าสลายและจับกุมหลายสิบคนด้วยข้อหาว่าขัดขวางทางจราจร
การ “ยึดครองวอลล์สตรีท” มีนัยเป็นนามธรรมเนื่องจากผู้นำความเคลื่อนไหวต้องการใช้มันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการสร้างความร่ำรวยด้วยวิธีต่างๆ ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะการใช้เงินซื้ออิทธิพลทางการเมือง นักเคลื่อนไหวมองว่าอิทธิพลนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมอเมริกันเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและชนชั้นกลางกว้างขึ้นเรื่อยๆ อิทธิพลของภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในย่านถนนวอลล์แสดงออกมาอย่างแจ้งชัดเมื่อเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2551-2552 ความถดถอยครั้งนั้นทำให้คนอเมริกันนับล้านตกงานและบ้านถูกธนาคารยึด แต่ผู้บริหารธุรกิจใหญ่ๆ แทบไม่ถูกผลกระทบ ตรงข้ามจำนวนมากร่ำรวยเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลเข้าอุ้มธนาคาร สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ส่งผลให้ผู้บริหารได้รับการอุ้มชู
ผู้สังเกตการณ์มองกันว่าแนวคิดเรื่อง “ยึดครองวอลล์สตรีท” วิวัฒน์มาจากการประท้วงในโลกอาหรับที่ขับไล่รัฐบาลเผด็จการออกไปในหลายประเทศและในสเปนซึ่งสะท้อนความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการตัดสวัสดิการสังคม หลังจากเข้ายึดครองพื้นที่ในนครนิวยอร์ก นักเคลื่อนไหวชักชวนผู้ไม่พอใจในวิวัฒนาการด้านต่างๆ ในสังคมออกมาเคลื่อนไหวโดยใช้ “การยึดครอง” เป็นกลวิธี จึงเกิดมีปรากฏการณ์ “ยึดครอง” เมืองต่างๆ ทั้งในอเมริกาและในส่วนอื่นของโลก แต่การยึดครองเหล่านั้นมักนำไปสู่การสลายของฝ่ายรัฐบาลเนื่องจากขัดขวางทางจราจรบ้างและทำผิดกฎหมายบ้าง การยึดครองพื้นที่ว่างในนครนิวยอร์กไม่ถูกสลายเพราะที่ดินผืนนั้นมีกฎหมายคุ้มครองในฐานะเจ้าของเป็นเอกชน หากเจ้าของไม่ร้องเรียน หรือผู้ประท้วงไม่ทำผิดกฎหมาย รัฐบาลไม่มีสิทธิสลายการชุมนุม
การประท้วงพร้อมกันในหลายส่วนของโลกทำให้ดูเหมือนว่าชนวนความเคลื่อนไหวได้จุดไฟติดจนลุกโพลงแล้ว แต่หากมองให้ลึกลงไปความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่น่าจะมีพลังเดินต่อไปได้นานนักเนื่องจากขาดอุดมการณ์ที่เข้มข้นและเป้าหมายชนิดจับต้องได้อย่างแจ้งชัด การว่างงานและการตัดสวัสดิการสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ แต่มันมิใช่อุดมการณ์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติดังที่ผู้นำความเคลื่อนไหวต้องการให้เกิดขึ้นเพราะเมื่อผู้ประท้วงได้งานใหม่ก็จะหยุดเคลื่อนไหวทันที อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวอ่อนแรงลงคือ ผู้นำการเคลื่อนไหวไม่มีอะไรมาเสนอเป็นทางเลือกแทนระบบปัจจุบัน ฉะนั้น มันจึงเป็นเสมือนการประท้วงแบบหลักลอย
อนึ่ง ย้อนไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อันเกิดจากความไม่พอใจสังคมทุนนิยม ผู้เคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า “ฮิปปี้” ทั้งที่คนกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่มากเนื่องจากเกิดไล่เลี่ยกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติไม่นานและมีอุดมการณ์เข้มข้นมาก แต่เพียงไม่กี่ปีความเคลื่อนไหวก็อ่อนแรงลงเมื่อผู้เคลื่อนไหวส่วนใหญ่ถูกกลืนไปโดยกระบวนการทุนนิยมและส่วนน้อยเท่านั้นที่นำอุดมการณ์ไปใช้ในการสร้างชุมชนแบบแบ่งปันและในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง หลังจากนั้นไม่นานสังคมทุนนิยมก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มข้นจนเกิดทุนนิยมจำพวกสามานย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนอื่นกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผู้สนับสนุนหลักคือโรนัลด์ เรแกนและมาร์กาเรต แธตเชอร์
ความเคลื่อนไหวในแนวเดียวกันยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยในช่วงนี้คงเพราะประเทศยังมีวิกฤติน้ำท่วม หลังน้ำลด จะเกิดโอกาสดีที่คนไทยจะเป็นผู้นำในการทำให้การเคลื่อนไหวมีจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์โดยการเสนอให้ใช้ระบบตลาดเสรีแบบพอเพียงแทนทุนนิยมสามานย์ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะมีคนไทยสักเท่าไรที่เข้าใจพร้อมมีศรัทธาแก่กล้าพอที่จะร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ระบบตลาดเสรีแบบพอเพียงแทนทุนนิยมสามานย์โดยเริ่มกันที่เมืองไทยให้ชาวโลกเห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้ฟันธงคงต้องฟันว่ามีไม่พอ
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี