จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เชื่อว่าหลายบ้านยังคงปักหลักรอน้ำมาอย่างใจจดใจจ่อปนเครียดปนกังวล จะด้วยสาเหตุใดที่ไม่สามารถอพยพหรือออกจากกรุงเทพมหานครไปได้ โดยเฉพาะปัญหาหลักๆคือ อยู่ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ยอมอพยพพร้อมสัตว์เลี้ยง หรือความกังวลโจรขโมย ฯลฯ
ดังนั้นเมื่อต้องเตรียมใจอยู่รับมือ "สถานการณ์น้ำท่วม" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นมาทวนว่าได้ "ลงมือ" เตรียมการรับน้ำและชีวิตที่ต้องอยู่กับน้ำท่วมกันอีกซักครั้ง
กฎหลัก "ยกของขึ้นที่สูง" เท่าที่จะเลือกยกและเลือกพิจารณา ระวังอย่าห่วงของทุกอย่างมากจนการยกของทำให้ต้องมารักษาอาการปวดหลังได้หลังน้ำลดไปแล้ว
หลายบ้านคงได้เตรียมการทั้งฟิวเจอร์บอร์ด กระสอบทราย ก่ออิฐ เทปูน ในหลายแบบที่จะกั้นน้ำที่จะเข้าบ้าน รวมไปถึงการอุดท่อต่างๆ ทั้งท่อระบายน้ำในบ้าน และโถส้วม (รายละเอียดสามารถดูได้อย่างในภาพ)
(เครดิตภาพจากพันทิป)
กฎข้อต่อมา ตรวจตราปลั๊กไฟ เต้าเสียบ ให้แน่ใจว่าอยู่ในตำแหน่งเสี่ยงน้ำท่วมถึงหรือไม่ หากไม่แน่ใจ ขอให้ทำการเบื้องต้นด้วยการหาพลาสติกหรือเทปปิดที่ช่องปลั๊ก หรือยาด้วยกาวซิลิโคน แม้จะช่วยไม่ได้หมด เพราะข้อเท็จจริงที่ต้องยึดถือปฏิบัติ คือการสับคัทเอ้าท์ทันที่น้ำเข้ามาในบ้าน
ซึ่งวิธีการหาพลาสติกหรือสก๊อตเทปกันน้ำมาปิดที่ช่องปลั๊ก จะช่วยทำให้เมื่อหลังน้ำลดแล้ว หากปลั๊กมีน้ำค้างก็จะมีจำนวนน้อยลงหรือเพียงชื้นๆ ถือเป็นการเตรียมการเพื่อความปลอดภัยหลังน้ำลดอีกชั้นหนึ่ง
กฎสำคัญที่สุด เมื่อน้ำเริ่มผุดขึ้นในบ้าน สับคัทเอ้าท์ทันที เพราะเมื่อผุดมาได้ตามท่อแล้วน้ำจะขึ้นไวมาก หากจะรีบแก้สถานการณ์ ก็ต้องสับคัทเอ้าท์ก่อน หากบ้านมีชั้นเดียวยิ่งต้องรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากบ้านมีสองชั้น ขอให้ไปตรวจดูล่วงหน้าว่าคัทเอ้าท์ได้แบ่งวงจรระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 หรือไม่ ถ้าแบ่งขอให้มีการซ้อมสับคัทเอ้าท์ และตรวจให้เรียบร้อยว่าไฟได้ถูกตัดจริง เพื่อให้เมื่อน้ำมาจะได้ไม่ฉุกละหุก
ข้อคิดอีกอย่างคือหากเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ควรได้มีการหารือกับเพื่อนบ้านเช่นกันว่าจะต้องสับคัทเอ้าท์ เพื่อป้องกันหากลงมาเดินลุยน้ำบริเวณด้านนอกบ้าน
กฎอีกประการ พยายามอย่าเดินเท้าเปล่าในบ้าน แม้จะมีการสับคัทเอ้าท์ไปแล้วก็ตาม ควรใส่รองเท้าแตะที่เป็นผ้า หรือรองเท้าผ้าใบ รองเท้าบูท รองเท้าพื้นยาง เพื่อป้องกันเรื่องกระแสไฟ
สำหรับผู้ใช้งาน ต้องไม่ยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ สวมรองเท้า เมื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นไหม้ เสียงดัง ฯลฯ ให้หยุดใช้งานในทันที
ส่วนการช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูด 1) ห้ามใช้มือเปล่าหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสถูกตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด ให้ยืนอยู่บนพื้นหรือวัสดุที่แห้งและสวมรองเท้าพื้นยาง
2) รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยสับสวิตช์ไฟ ยกสะพานไฟและเบรกเกอร์ออกในทันที หรือนำวัสดุที่เป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง ฯลฯ มากระชาก ผลัก หรือดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกจากจุดที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว
และ 3) เมื่อช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกมาได้แล้ว หากหมดสติให้ปั๊มหัวใจหรือผายปอดโดยการเป่าปาก และรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที
เมื่อตัดสินใจไม่ย้าย ไม่อพยพ การติดตามข่าวสารได้เป็นเรื่องที่ควรทำ หากยังไม่ถูกตัดไฟ ยังสามารถรับข่าวสารผ่านทีวี วิทยุ หรืออินเทอเน็ตผ่านโซเชียลมีเดียยังเป็นเรื่องที่ดี แต่หากน้ำท่วมสูงและตัดไฟ ขอให้เตรียมการล่วงหน้าในการชาร์จแบตโทรศัพท์ที่มีทั้งหมด รวมทั้งหาซื้อถ่านใส่วิทยุ ถ่านใส่ไฟฉาย และอุปกรณ์อื่นใดที่ให้แสงสว่าง หรือสามารถทำให้รับฟังข้อมูลข่าวสารได้
เมื่อต้องติดเกาะอยู่บ้าน อาหาร-น้ำ-ยาสามัญประจำบ้านต้องพร้อม น้ำต้องรองน้ำกินและน้ำใช้ให้พอเท่าที่จะพอได้
เตรียมการจดเบอร์โทรศัพท์สำคัญแปะไว้ตามผนังจุดที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่เบอร์ขอความช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐ รวมไปถึงเบอร์ของสำนักข่าวสื่อสารมวลชนที่เปิดรับเรื่องร้องเรียน เบอร์ของการไฟฟ้าฯ ฯลฯ และเบอร์คนรู้จักหรือบุคคลที่จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ ส่วนใครที่ยังสามารถใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ และเฟซบุคได้ ขอให้ใช้ช่องทางนี้อีกด้าน อาทิ js100radio ของจส.100 และ FM91trafficpro เป็นต้น
หมายเลขฉุกเฉินต่างๆที่ควรทราบมีดังนี้
1) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยผู้ประสบภัยสาธารณสุข โทร 1669
2) สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784
3) สายด่วนกรมชลประทาน โทร 1460, 026692560
4) สายด่วนกรมทางหลวง โทร 1586
5) ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1356
6) กรมทางหลวงชนบท 1146
7) การรถไฟฯ 1690
8) บขส. 1490
9) ตำรวจทางหลวง 1193 สอบถามเส้นทางน้ำท่วมได้ 24 ชม.
10) หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 กู้ชีพฟรี
11) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1129
อย่างไรก็ตามขอให้พยายามทำใจ เมื่อตัดสินใจไม่อพยพ และย้ายแต่เบื้องต้น การประสานติดต่ออาจจะต้องคอย
จัดกระเป๋าสำรองที่มีเสื้อผ้าพอใช้ อย่าให้หนักมาก กับเอกสารสำคัญห่อพลาสติกใส่กระเป๋าไว้ เมื่อหากต้องอพยพหลังติดเกาะมาหลายวันจะได้หยิบได้ทันที
เมื่อน้ำเข้าบ้านจะมียุงตามมาด้วยจำนวนมาก เพราะน้ำดันทะลุท่อระบายน้ำ หากเตรียมยากันยุงได้ทันก็ควรเตรียม
เตรียมไม้ยาวๆ เช่น ไม้กวาดหยากไย่ที่มีความยาว ทำปลายไม้ด้วยไม้แขวนเสื้อใช้เป็นที่เกี่ยวของ หากจำเป็นจะได้ใช้ไม้ยาวนี้ในการรับอาหารน้ำดื่มที่มีการส่งเข้ามาบริจาค
เรื่อง ใกล้ตัวยังรวมถึงการขับถ่ายอุจจาระ ให้ใส่ถุงพลาสติกและใส่ปูนขาวลงไปเล็กน้อย ปิดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนใส่ถุงดำอีกชั้นก่อนนำไปทิ้งในบริเวณที่จัดไว้
สิ่งที่ต้อง ระมัดระวังคือสัตว์มีพิษที่อาจหนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ควรปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่อาจเป็นพาหะของโรคในช่วงน้ำท่วม
หากคิดอพยพแล้ว หรือต้องการออกนอกบ้านชั่วคราวไปหาอาหาร น้ำดื่ม ด้วยการโดยสารเรือ ให้สวมใส่เสื้อชูชีพหรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดไว้ในเรือ เช่น ถังแกลลอนเปล่าที่มีฝาปิดมิดชิด ลูกมะพร้าวแห้ง ห่วงยาง เพื่อใช้ลอยตัวกรณีเรือล่ม สิ่งของมีค่า เอกสารสำคัญเก็บไว้ในถุงพลาสติกกันน้ำ
และท้ายสุดพยายามใจเย็น ตั้งสติ และอย่าวิตกกังวล เมื่อตัดสินใจอยู่บ้าน หากน้ำเข้ามาจริงก็ต้องทำใจ ข้าวของเป็นสิ่งนอกกาย แต่สิ่งสำคัญคือระมัดระวังความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในบ้านเป็นหลักเหนือสิ่งอื่นใด
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี