ประสบการณ์จริง 25 ข้อ จากคนที่น้ำท่วมบ้านแล้ว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ข้อความในโซเชียลมีเดียชุดนี้ กำลังได้รับความนิยม เพราะเขาให้ข้อมูลแสบๆ คันๆ จากประสบการณ์ตรงในฐานะ'คนที่น้ำท่วมบ้านแล้ว'
ในห้วงที่ภาครัฐยังคงมีปัญหาเรื่องการ"สื่อสารในภาวะวิกฤติ"ทำให้คนเชื่อและแสวงหาข่าวสารในโซเชียลมีเดียมากกว่ารอข้อมูลจากหน่วยราชการ ล่าสุดยังคงมีข้อมูลที่ไม่เป็นทางการแต่เป็นประโยชน์นำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงนี้ น้ำเริ่มหลากเข้าท่วมหลายเขตในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขณะที่มีหลายคนกำลังเผชิญปัญหา สมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะคนแก่คนชราไม่ยอมย้ายหนี หลายคนยอมทุ่มเงินและวัสดุประดามีเพื่อปกป้องบ้านสุดที่รัก
ข้อความในโซเชียลมีเดียชุดนี้จึงกำลังได้รับความนิยม เพราะเขาให้ข้อมูลแสบๆ คันๆ จากประสบการณ์ตรงในฐานะ "คนที่น้ำท่วมบ้านแล้ว" โดยผู้โพสต์ใช้ชื่อว่า "สุเทพ เตมานุวัตร์ หมู่บ้านมณีรินทร์ 345" ซึ่งเกริ่นตอนต้นเพียงสั้นๆ ว่า "รวบรวมสิ่งที่ได้เรียนรู้จากน้ำท่วมครั้งนี้ มาบอกกล่าวครับ" เนื้อหามีดังนี้ คือ
1. อย่าเสียเวลากับการป้องกัน
หากบริเวณบ้านของท่านอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ทางการประกาศว่าระดับน้ำอาจสูงถึง 1.5 เมตร อย่าได้เสียเวลากับการป้องกันเลยครับ ระดับน้ำที่มาถึงบ้านท่าน
รับรองว่าจะต่ำกว่าหรืออาจจะสูงกว่าที่ทางการประเมิน (รับรองท่วม)
2. กระสอบทรายเป็นแค่เครื่องมือชะลอ
กระสอบทรายมิใช่แก้วสารพัดนึกครับ มันไม่สามารถกั้นน้ำได้ 100% แค่ทำให้น้ำรั่วหรือซึมเข้ามาได้บ้าง ท่านต้องมีการดูดออกด้วย
3. การวางกระสอบทราย เรามิใช่มืออาชีพ
การจัดเรียงกระสอบทรายต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ผมกับเพื่อนบ้านหมดค่ากระสอบทรายไป 50,000 บาท สุดท้ายก็...ละลายน้ำ
4. อย่าได้เชื่อโครงการ
อันนี้มิได้ต่อว่าโครงการนะครับ เพียงแค่ว่าเขาประเมินสถานการณ์ต่ำไป โครงการผมลงทุนน่าจะเป็นล้าน ตั้งคันดิน กระสอบทรายน่าจะกว่า 30,000 ใบ คันสูง 1.5 เมตร เครื่องสูบน้ำออกแบบตัวใหญ่ๆ กว่า 3 ตัว (นิคมอุตสาหกรรมกี่แห่งแล้ว)
5. สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่ อาจไม่เห็น
น้ำมิได้โจมตีจากภาคพื้นดินหรอกครับ มันมาจากใต้ดิน มันมุดกำแพงเข้ามา บางครั้งมันโพล่งให้เห็น แต่หากมันไม่โพล่งให้เห็น มันจะซึมลงท่อน้ำทิ้งของโครงการเนื่องจากท่อน้ำทิ้งที่วางแนวไว้นานเข้าจะเกิดการทรุดตัว แตก ทำให้น้ำซึมเข้ามา จนกระทั่งเต็มท่อ โครงการมัวแต่อุดท่อที่ต่อกับภายนอก และไม่เห็นว่าท่อข้างในมีการรั่วซึม
6. การอุดท่อระบายน้ำเข้าบ้าน มิใช่การป้องกัน
ทุกสำนักจะบอกว่าต้องอุดท่อระบายน้ำ ลองอ่านจากข้อสองครับ เราอาจจะรู้สึกว่าแน่นดี เอาอยู่ น้ำไม่ผ่าน แต่ที่จริงกระสอบทรายแค่ชะลอ ทำให้น้ำผ่านยากขึ้น
และที่สำคัญ พวกบ้านเดี่ยว มีพื้นที่สวนใต้บ้านของท่านล้วนแล้วแต่เป็นโพรง น้ำจะแทรกตัวลงไปจนแน่นโพรงใต้พื้นแล้วจะผุดออกมาตามรอยแตกของบ้าน บางครั้งอาจจะดันกระเบื้องเข้าบ้านได้ แต่เหตุการณ์นี้เกิดได้ค่อนข้างยาก
7. ห้องน้ำคือจุดอ่อนที่สุด
เมื่อน้ำเต็มท่อระบายจะหาทางออกมาทางน้ำทิ้ง ทางพื้นที่เรียกว่า Floor Drain รวมถึงชักโครก ซึ่งท่านไม่สามารถจะอุดได้ หากจะอุดจริงๆ ต้องถอดหัวชักโครกแล้วโบกปูน
8. อย่ามัวสาละวนกันการป้องกัน เมื่อน้ำบุกเข้ามาได้
ท่านจะพยายามลากกระสอบทรายมาปิด มาอุด ซึ่งไร้ประโยชน์ เอาเวลาไปตรวจสอบว่าเรามีอะไรที่ยังไม่ได้ยกขึ้นที่สูงอีกบ้างดีกว่า
9. ไม่ต้องสะสมเสบียง
เพราะหากปริมาณน้ำขนาดนี้ ท่านถูกตัดไฟแน่นอน แล้วจะอยู่อย่างไร ผมสะสมเสบียงอยู่ได้เกือบ 3 เดือน จบข่าวตั้งแต่วันแรกแล้ว
10. ก่อปูนเป็นทางออกที่เกือบใช่ แต่....ไปดูข้อเจ็ดครับ
หากท่านมั่นใจว่าสามารถสร้างระบบปิดในตัวบ้านท่านได้ ก็จงทำเถิด แต่หากไม่ใช่ อย่าเสียเวลา
11. ระดับความสูง
หากท่านเห็นน้ำขนาดนี้มาอีก ของที่ยกได้ขอให้ระดับไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร หากจะเทินของก็ให้มั่นใจว่าสูงกว่าบ้านผมซึ่งสูงจากถนน 30 เซนติเมตร ก่อปูนอีก ประมาณ 70 เซนติเมตร สุดท้าย ไม่รอด
อย่าท้อกับของใหญ่ ผมได้มีโอกาสคุยกับหลายคนที่น้ำยังไม่ท่วม พอเจอตู้เย็น เครื่องซักผ้าเข้าก็ไม่เอา บอกหนัก คุณยังมีเวลาครับ ทำเลย หาเพื่อนข้างบ้านมาช่วย ส่วนใหญ่ใช้วิธิเทินเอา คุณเทินสูงไม่ได้เกิน 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร หรอกครับ มันจะล้ม ลองใช้ประโยชน์จากชานพักบันไดสิครับ พื้นที่ประมาณ 2x2 เมตร พอวางเครื่องซักผ้าและตู้เย็นใบใหญ่ได้ ความสูงชานพักน่าจะสัก 1.8-2 เมตร น่าจะพอไหว แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่บ้านท่านด้วยนะครับ
12. เก็บของสำคัญพร้อมหนี
อย่ามัวเสียเวลาในการป้องกัน จัดกระเป๋าสำรองอีกใบ เพราะเวลาขันแน่นมาก (คับขัน) ท่านจะเก็บไม่ทัน ลืมโน่นลืมนี่
13. หากท่านผ่อนบ้าน จะถูกบังคับทำประกัน
จงกลับไปอ่านอนุสัญญา บางบริษัทจะครอบคลุมน้ำท่วมหรือภัยที่มาจากน้ำ ท่านอาจจะได้เงินมาซ่อมบ้าน
14. ปั๊มน้ำสิ่งที่ถูกลืม
ระบบน้ำใช้ในบ้านส่วนใหญ่จะเป็น 2 ระบบ คือ ต่อประปาตรงกับผ่านปั๊ม ท่านสามารถถอดปั๊มออกก่อนได้เลยครับ แล้วปรับไปใช้ต่อตรง แต่น้ำจะเบาสักหน่อย อ้อ ถอดเสร็จอย่าลืมเอาอะไรมาหุ้มปลายน้ำเข้าบ้านด้วย กั้นไม่ให้น้ำเสียไหลเข้าบ้าน หากไม่มีอุปกรณ์ถอด ใช้เลื่อยตัดเลยครับ ให้เหลือปลายไว้ด้วยนะครับ จะได้ต่อกลับง่ายๆ
15. ผู้ใหญ่ คนชรา เด็ก ผู้ป่วย และหมาแมวเชิญท่านออกมาก่อนครับ
จะได้ไม่พะวักพะวน ส่วนใหญ่ที่สร้างปัญหา ไม่ใช่คนครับ สัตว์เลี้ยงของท่านนั่นแหละครับ เพราะมันลุยน้ำไม่ได้เหมือนท่าน
16. รถยนต์ปัจจัยที่ 7 ของท่านจะเป็นตัวสร้างภาระอย่างใหญ่หลวง
โดยปกติ ช่วงหน้าหมู่บ้านทุกแห่งมักต่ำกว่าบ้านในโครงการ ดังนั้นท่านอาจจะลุยออกมาไม่ได้ หาที่จอดในเมืองเลยครับ นั่ง taxi เอา
17. ยังไม่ต้องหนีหากท่านจัดการข้อ 15,16 เรียบร้อย
ท่านอยู่เฝ้าบ้านได้ครับ อยู่จนกว่าน้ำจะมา ลงมาดูว่าเรายังไม่เก็บอะไรอีก จากนั้นค่อยๆ หิ้วกระเป๋าที่เตรียมไว้เดินออกมาอย่างยิ้มแย้ม โปกมือกับเพื่อนบ้านที่โกลาหล ไม่ต้องกังวลว่าจะออกมายังไงครับ เดินลุยน้ำชิลล์ๆๆๆ มาเลย ไม่มี taxi มารับท่านหรอกครับ อาศัยโบกรถเอา เพราะตอนนั้นถนนใหญ่ของท่านน้ำจะสูงมาก ผมยังโบกรถ 3 ทอดกว่าจะมาถึงบ้านอีกที่หนึ่ง ถึงตอนนั้นคนไทยไม่ทิ้งกันแน่นอน รับประกัน
18. หากไม่อยากเปียกนอนต่อ ท่านยังอยู่ได้ ตราบใดที่ไฟฟ้าไม่ตัด
ปกติในวันแรกที่น้ำท่วม การไฟฟ้ายังไม่ตัดไฟหรอกครับ กำลังงง ยุ่งอยู่ และระดับน้ำจะเริ่มนิ่งๆๆ ขึ้นช้าๆๆๆ ท่านยังอาศัยอยู่ได้ รอจนกว่าจะมีคนมารับ แล้วเปลี่ยนบรรยากาศนั่งรถทหาร ชมวิว หรือจะรอเรือมารับก็ได้ ลุ้นหน่อย มันดี
19. ตรวจสอบ breaker
ว่าอันไหนตัดอะไร พอน้ำมา อพยพขึ้นชั้น 2 ตัดไฟชั้นล่างให้หมดเลยครับ
20. กะละมัง อุปกรณ์ทุ่นแรง หากยังมีของแยะ
ตอนลุยออกมา เอาใส่กะละมังครับ แต่ต้องไม่รั่วนะ
21. ฟังคนอื่น ฟังหมู่บ้าน
แต่....จงเชื่อตนเองเวลาจับกลุ่มคุยทุกคนจะให้ข้อมูลในเชิงหวังดี แค่ท่วมแค่นี้แหละ ไม่มากหรอก...อย่าลืมนะครับ คนที่ท่านคุยด้วยไม่เคยโดน ผมนี่แหละ เต็มๆๆๆๆๆ
22. สัญญาณแรก น้ำในท่อระบายน้ำหมั่นสอดส่องดูน้ำในท่อระบายน้ำครับ
หากเริ่มเห็นน้ำมาขังในท่อ แปลว่า ทัพหน้าเขามาถึงแล้ว เริ่มแทรกตัวลงมาอยู่ในท่อของเรา
23. ท่านต้องรู้ชัยภูมิหมู่บ้านท่านควรทราบว่า ทิศแต่ละทิศ ติดอะไร
หากติดสวน ติดนา น้ำมักจะมาล้อมท่านอย่างเงียบๆ เพราะพื้นที่รอบข้างท่านยิ่งกว้าง น้ำจะขึ้นช้าๆ ต้องคอยดู หากเริ่มมีน้ำในนา ในสวนที่ติดกับหมู่บ้าน แสดงว่าน้ำกำลังตั้งป้อมรอแล้วละ ท่านควรรู้ทางน้ำที่กำลังไหลผ่านว่าหากจะมาจะเข้ามาทางใด หมั่นไปดูบ่อยๆ
24. ปิดแอร์ เปิดหน้าต่างนอนช่วงนี้
หากท่านทนไหว เปิดหน้าต่างเถอะครับ เพราะหากท่านเปิดแอร์นอน ท่านจะไม่ได้ยินประกาศอะไรเลย ยิ่งอยู่ในซอยลึกๆๆ อีก
25. เทปกาวเหนียวๆ
ปิดปลั๊กไฟที่ต่ำๆ กันน้ำเข้าพอจะช่วยได้บ้างครับ เอาหลายๆ ชั้นหน่อยนะครับ
เท่าที่คิดได้ รวบรวมจากเรื่องจริงที่ประสบ
10 ข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องพึ่ง "ศูนย์พักพิง"
ในขณะที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวนไม่น้อยต้องอพยพหนีน้ำออกจากนิวาสถานไปพักยัง "ศูนย์อพยพ" หรือ "ศูนย์พักพิงชั่วคราว" ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้คนเป็นจำนวนมาก การปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะเพื่อสุขภาวะที่ดีจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ
ล่าสุด สำนักระบาดวิทยาได้ออกคำแนะนำเป็นข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เข้าอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว มีภาพประกอบสามารถพิมพ์ไปติดในศูนย์พักพิงหรือใช้เป็นสื่อประกอบการให้สุขศึกษาตามแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยได้เป็นอย่างดี
สำหรับข้อปฏิบัติมีอยู่ 10 ข้อ กล่าวคือ
1. ไม่เก็บอาหารข้ามมื้อ ควรกินอาหารที่ผ่านความร้อน ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ก่อนกินอาหารสังเกตกลิ่นและรสชาติว่าบูด เสีย หรือไม่ ถ้าบูด เสีย ห้ามกิน ให้ทิ้งลงถังขยะ และแจ้งผู้ประสานงานในศูนย์ฯ ว่า พบอาหารบูด เสีย เพื่อระงับการแจกอาหารชนิดนั้น
2. ดื่มน้ำสะอาดต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวด ถ้าผิดปกติไม่ควรดื่ม ให้เปิดฝาขวดและนำไปเป็นน้ำใช้
3. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือ ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วม และหลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก
4. ถ้ามีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล ตาแดง ขี้ตามากผิดปกติ ควรแจ้งหน่วยแพทย์ที่ประจำศูนย์พักพิงทันที ไม่ควรขยี้ตา แยกของใช้ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น
5. ใช้ผ้า กระดาษทิชชู ปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือถ้ามีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น
6. ถ้ามีอาการเจ็บป่วย เช่น ท้องเสีย มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง เบื่ออาหาร ระคายเคืองตา รีบแจ้งหน่วยแพทย์ที่ประจำศูนย์พักพิงทันที
7. ทิ้งขยะ เศษอาหารลงในถังขยะที่จัดไว้ให้
8. รักษาความสะอาดห้องส้วม ห้องอาบน้ำทุกครั้งหลังใช้เสร็จ
9. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าขาดยาหรือไม่มียา ให้แจ้งหน่วยแพทย์ที่ประจำศูนย์พักพิงทันที
10. หากบุคคลใกล้ชิดมีอาการไม่สบาย แจ้งหน่วยแพทย์ประจำศูนย์พักพิงทันที
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี