สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำขึ้น ให้รีบเข้าเว็บ !

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วิกฤติน้ำท่วมขณะนี้นอกจากปัญหาน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าโอบล้อมเมืองกรุงทุกทิศทุกทาง ยามนี้"ข้อมูลข่าวสาร"ก็ไหลมาเทมาจากทั่วทุกสารทิศเช่นกัน

 โดยหากลองเสิร์ชคำว่า "น้ำท่วม ประเทศไทย" จะพบว่า พบผลการค้นหาทะลักทลายมากถึง 16,400,000 รายการ

 แน่นอนว่าในจำนวนข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ มีส่วนที่เป็นประโยชน์มากกับผู้ประสบภัย หรือผู้เตรียมตัวเป็นผู้ประสบภัย และไม่เฉพาะแค่ข้อมูลจากทีวี, วิทยุ และหนังสือพิมพ์ แต่มีเดียใหม่อย่าง "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ก็เป็นทางเลือกสำคัญให้คนเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ แต่อย่าลืมว่าข้อมูลยิ่งมากก็จะยิ่งทำให้ตื่นตระหนก เครียด การรับ

ข้อมูลจึงต้องมีสติอยู่ตลอด
  "ไอที อินเทอร์เน็ต" สัปดาห์นี้อาสาพาท่องเว็บที่คัดสรรมาแล้ว ...แวะเข้าไปดูแล้วจะรู้ว่าจะเริ่มเตรียมตัวอย่างไร
เว็บเดียวครบถ้วนข้อมูล

 เว็บไซต์น้ำท่วมที่เป็นทางการที่สุดต้อง "www.floodthailand.net" ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือ ศปภ.รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการจากศูนย์เตือนภัยไอซีที พร้อมแผนที่แสดงสถานการณ์น้ำท่วม จากระบบบูรณาการข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที, ข่าวสารที่ประกาศ, ที่พักอาศัย, ที่จอดรถ, การรับบริจาค ข้อมูลความช่วยเหลือต่างๆ

 เว็บไซต์ภาคเอกชน หรือกลุ่มคนที่มีจิตอาสาก็มีไม่น้อย ที่พูดถึงกันมากคือ www.thaiflood.com ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายในเว็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ประกาศเตือนภัยด่วน, แผนที่แสดงพื้นที่น้ำท่วม และสถานการณ์น้ำจากภาพถ่ายดาวเทียม

 รวมทั้งการจัดระเบียบข้อมูลสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่แยกระบบชัดเจนระหว่าง "ผู้ที่ต้องการมอบความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัย" และ "ผู้ที่ต้องการขอความช่วยเหลือ" และความคืบหน้าต่างๆ ที่อัพเดทแบบเรียลไทม์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลน้ำแบบครบๆ ในเวลาที่เร่งด่วน

นักข่าวมือใหม่จากพื้นที่น้ำ
 นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ "www.truelife.com/helptogether/flood" รวบรวมข้อมูลพื้นฐานจำเป็นสำหรับการรับมือน้ำท่วม ผู้ชมเว็บยังมีส่วนร่วมโดยการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ด้วยการส่งข้อมูล หรือภาพผ่านเอ็มเอ็มเอสมาที่ 4567892 (สำหรับเบอร์ทรูมูฟ) และ 4764666 (สำหรับเบอร์เอไอเอส และดีแทค)

 ในช่วงนี้ยังเริ่มเห็นเว็บในกลุ่มสื่อหลักที่เปิดโอกาสให้ผู้ชม หรือผู้รับข่าวสารมีส่วนร่วมรายงานข่าว เช่น โปรเจค "ฉันเห็นน้ำท่วม!" ของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ "www.bangkokbiznews.com/home/gallery" ที่เปิดให้คนในพื้นที่ประสบภัยส่งภาพน้ำท่วมเข้ามาเผยแพร่บนเว็บข่าวผ่านอีเมล kteditor@nationgroup.com ที่รวบรวมเป็นแกลอรีเห็นภาพน้ำท่วมในมุมที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน

รับมือน้ำท่วมอย่างมีสติ
 ยังมีเว็บไซต์ประเภทให้ความรู้ และเสนอแนะวิธีการใช้ชีวิตช่วงน้ำท่วมในรูปแบบต่างๆ ที่ได้รับความสนใจแชร์กันแพร่หลายบนโซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่กำลังฮิตตอนนี้ เช่น ผลงาน "รู้สู้! flood" www.facebook.com/ROOSUFLOOD" โดยกลุ่มอาสาสมัครที่มีความสามารถทำวีดิโอ อินโฟกราฟฟิก จุดมุ่งหมายเพื่อให้คนได้รับรู้ และพร้อมรับมือกับสภาวะน้ำท่วมอย่างมีสติ และเข้าใจ ด้วยเป้าหมายชัดๆ "คนไทยต้องรอด! อย่างเข้าใจ"

 ความน่าสนใจของกลุ่มรู้สู้! flood คือ การย่อยข้อมูลตั้งแต่ที่มาที่ไปของสาเหตุน้ำท่วม การรับมือในรูปของภาพแอนิเมชัน กราฟฟิก พร้อมการบรรยายที่เข้าใจง่าย และยังเป็นที่มาของ "วาฬ ฟีเวอร์" ที่เป็นตัวแทนของปริมาณน้ำมหาศาลที่ต้องการกลับสู่ทะเล

 ทั้งยังมีเว็บเพจที่เริ่มก่อตั้งช่วงเกิดวิกฤติน้ำท่วม เพื่อหวังจะสร้างคอมมูนิตี้ และเป็นแหล่งแจ้งข่าวสารข้อมูลน้ำในมิติต่างๆ ผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค เช่น เว็บเพจบนเฟซบุ๊ค "น้ำขึ้นให้รีบบอก" www.facebook.com/room2680 ล่าสุดมีคนคลิก Like รับข่าวสารจากเพจนี้สูงกว่า 2 แสนคน รวมถึงเว็บเพจ "รู้ทันน้ำ" และเว็บเพจย่อยๆ ที่เกิดจากคนในพื้นที่ที่ประสบภัยตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดให้คนในพื้นที่ได้รับข้อมูล

รวมมิตรเว็บ+แอพ 
 แม้แต่ กูเกิล เอง ในหน้าเว็บเสิร์ช ก็ยังรวมข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ไว้ให้ ทันทีที่เข้าเว็บ www.google.co.th จะเห็นข้อความ "ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดได้ที่หน้า Crisis Response" คลิกเข้าไป จะเป็นรวบรวมข้อมูลสำคัญ เช่น เบอร์โทรฉุกเฉิน ภาพถ่ายทางดาวเทียม ผ่านแผนที่ของกูเกิล ลองคลิกเข้าไปที่ http://maps.google.com จะเจอแผนที่แบบง่ายๆ ดูสถานการณ์ในพื้นที่ที่คุณอยู่ ณ ปัจจุบัน

 นอกจากนี้ ยังมีเว็บที่ช่วยบอกพิกัดน้ำท่วมอีกมากมาย เช่น http://flood.gistda.or.th เว็บติดตามเหตุการณ์น้ำท่วม มีสรุปและคาดการณ์ตำแหน่งที่น้ำจะท่วม แผนที่ต่างๆ หรือเว็บ http://www.bangkokgis.com เว็บติดตามปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ

 ยังไม่นับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ที่ล้วนเป็นเครื่องมือในการบอกสถานการณ์น้ำท่วมในที่ต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน เช่น ในแอพสโตร์ อย่าง Thai Flood Situation Reports, Thai Flood Reporter View ไปจนถึงแอพ Elevation ที่สามารถคำนวณจุดที่คุณอยู่ว่าสูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ โดยแสดงเป็นทั้งแผนที่ และภาพถ่ายดาวเทียม เป็นต้น


ข้อมูลภาษาไทย อุปสรรคนานาชาติเข้าถึง
 นายเจค เวงรอฟ ผู้อำนวยการโซเชียล มีเดีย รับผิดชอบทั่วโลก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก กล่าวว่า นอกจากเว็บไซต์ http://www.floodthailand.net และทวิตเตอร์ up @FloodThailand ที่รัฐบาลไทยจัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบแบบนาทีต่อนาทีแล้ว ยังมีองค์กรเอกชนจำนวนมากจัดทำเว็บไซต์ เฟซบุ๊คเพจ และทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลจำเป็นต่างๆ อย่างทันท่วงที

 “เป็นที่น่าชื่นชมว่ารัฐบาลของประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นใจของประชาชน ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ความขัดแย้งทางข้อมูลและความสับสนในการสื่อสารต่างๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมาได้ ซึ่งรัฐบาลไทยควรคำนึงถึงสิ่งนี้และมีมาตรการรองรับเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความสับสนต่างๆ ตาม”

 อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ศูนย์ปฏิบัติการผู้ประสบภัยช่วยเหลือน้ำท่วม (ศปภ.) ใช้ ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย ทำให้ต่างชาติที่สนใจรายงานความคืบหน้าจาก ศปภ. ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้

 ดังนั้น รัฐบาลควรคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วย เนื่องจากการแปลข่าวเป็นภาษาอังกฤษจะทำให้ประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงและนำมาซึ่งความช่วยเหลือที่ถูกต้อง อุปสรรคด้านภาษาอาจเป็นปราการสำคัญที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยไม่ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที

 “จริงๆ แล้วขณะนี้ 'Thai flood' ไม่ได้อยู่ใน Top stories บนกูเกิลนิวส์ และทวิตเตอร์ #thaiflood และ #floodthailand ก็ยังไม่ใช่หัวข้อเด่นบนทวิตเตอร์ ณ ปัจจุบัน”สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : น้ำขึ้น ให้รีบเข้าเว็บ

view