จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไชยันต์ ไชยพร
วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ขณะนี้เกิดจากการที่เราไม่สามารถจัดการควบคุมน้ำได้ ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถบริหารจัดการควบคุมน้ำได้นั้น
น่าจะมาจากสาเหตุหลักๆ สามประการ ประการแรก คือ ปริมาณน้ำที่มากเกินความสามารถที่จะควบคุมได้ ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีเขื่อน คนโบราณก็อาศัยผืนดินและผืนป่าช่วยรับน้ำไว้ แต่ถ้าเกินกว่าที่ผืนดินผืนป่าจะซับน้ำไว้ได้ แน่นอนก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำบ่าไหลหลาก ต่อมา มีการสร้างเขื่อน (ซึ่งนอกจากจะต้องสูญเสียผืนป่าและผืนดินไปเป็นจำนวนมาก ยังสูญเสียธรรมชาติอื่นๆ และวิถีชีวิตของผู้คนไปด้วย) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการควบคุมน้ำให้เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ โดยไม่ต้องอาศัยโชคชะตาฟ้าดินหรือธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพรในการรองรับน้ำไว้ แต่กระนั้น หากปริมาณน้ำมีมหาศาลเกินความสามารถที่เขื่อนต่างๆ จะเก็บกักไว้ได้ ปัญหาน้ำท่วมไหลบ่าก็ย่อมต้องเกิดขึ้นไม่ต่างจากในยุคที่ยังไม่มีเขื่อน ถือเป็นเรื่องสุดวิสัยมนุษย์อยู่ดี และก็จะกลายเป็นเรื่องโชคชะตาไม่ต่างจากที่คนในสมัยโบราณต้องประสบ
สาเหตุประการที่สอง คือ ปริมาณน้ำไม่ได้มีมหาศาลเกินกว่าเขื่อนต่างๆ จะรองรับ แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการเก็บและปล่อยน้ำในเขื่อนที่ผิดพลาด
ส่วนสาเหตุประการที่สามเกิดจากสาเหตุประการที่สองผสมกับพายุฝนที่เกิดขึ้นผิดปรกติ ทำให้การคาดการณ์ในการเก็บและปล่อยน้ำผิดพลาด
พูดถึงการบริหารจัดการน้ำ จำได้ว่า เคยมีบันทึกเล่าถึงการพบกันระหว่างสองนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก นั่นคือ ลีโอนาโด ดาวินชี กับ นิโกโล มาคิอาเวลลี นอกจากดาวินชีจะเป็นศิลปินแล้ว เขายังเป็นนักคิดเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย ส่วนมาคิอาเวลลีนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักคิดทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะการให้นิยามการเมืองว่าเป็นเรื่องของอำนาจ
มีคำบอกเล่าว่า เมื่อราวปี ค.ศ. 1492 ดาวินชี ได้เริ่มต้นคิดพัฒนาแผนการที่จะทำให้สามารถเดินเรือในแม่น้ำอาร์โน (Arno) ได้ หากโครงการนี้สำเร็จ ก็จะทำให้นครฟลอเรนซ์กลายเป็นเมืองท่าออกสู่ทะเล อีกทั้งสามารถผันน้ำสู่หุบเขาอาร์โนได้ด้วย ในเวลาเดียวกันนั้นเอง มาคิอาเวลลีในฐานะที่เป็นข้าราชการรับผิดชอบในงานด้านการทหารและนโยบายต่างประเทศของนครฟลอเรนซ์ก็พยายามที่จะนำแผนการดังกล่าวนี้ไปปฏิบัติให้เกิดผลในช่วงปี ค.ศ. 1503-1504 โดยหวังว่าจะสามารถหันเหทิศทางของน้ำจากนครปิซา (Pisa) ได้ อันจะทำให้นครปิซาขาดน้ำจากแม่น้ำสายนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ฟลอเรนซ์มีชัยเหนือปิซาในสงครามความขัดแย้งที่ดำเนินมาตลอด และนอกจากจะทำให้ฟลอเรนซ์กลายเป็นเมืองท่าสำคัญ และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ และมีอิทธิพลเหนือปิซาแล้ว ยังจะส่งผลสำคัญต่อความเจริญทางเศรษฐกิจของฟลอเรนซ์ด้วย แน่นอนว่า การบริหารจัดน้ำตามความคิดของมาคิอาเวลลีย่อมส่งผลให้ปิซาเกิดวิกฤติเรื่องน้ำ และนำไปสู่วิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจของปิซาด้วย
ในข้อเขียนของมาคิอาเวลลี เขาได้เปรียบเทียบ โชคชะตากับสายน้ำ “Fortune is a River.” โดยเขาอธิบายว่า “ข้าพเจ้าขอเปรียบนาง [เทพีแห่งโชคชะตา] เหมือนกับหนึ่งในบรรดาแม่น้ำที่เชี่ยวกราก ซึ่งเมื่อมันเกรี้ยวกราดขึ้นมาก็จะท่วมท้นที่ราบทำลายต้นไม้และสิ่งก่อสร้าง พัดพาดิน จากที่หนึ่งไปถมยังอีกที่หนึ่ง ทุกๆ คนจะหนีการถาโถมไปข้างหน้าของมัน ทุกๆ คนยอมแพ้ต่อแรงเชี่ยวกรากของมัน โดยไม่สามารถจะต้านทานมันในทางใดได้เลย และถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นดังว่า ก็มิได้หมายความว่าเพราะฉะนั้นในยามสงบ มนุษย์จะไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าในเรื่องการป้องกันและการสร้างเขื่อนกั้นน้ำในแบบวิธีการที่เมื่อน้ำขึ้นในภายหลัง น้ำก็จะไหลออกไปทางคลอง หรือไม่เช่นนั้นแรงเชี่ยวกรากของมันก็จะไม่เป็นไปตามอำเภอใจหรือเป็นอันตรายมากนัก” มาคิอาเวลลีตื่นเต้นกับแผนการสร้างเขื่อนของดาวินชี เพราะในความคิดของมาคิอาเวลลี การควบคุมน้ำได้หมายถึง หนึ่งในอำนาจทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ แต่..อนิจจา..โครงการสร้างเขื่อนของทั้งสองก็หาได้บังเกิดขึ้นไม่
เวลาผ่านไปกว่าห้าร้อยปี ปัจจุบัน การควบคุมน้ำได้ก็ยังเป็นอำนาจทางการเมืองที่สำคัญยิ่งใหญ่ เช่น จีนกับเขื่อนลุ่มแม่น้ำโขง หรือในวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลสำคัญยิ่งต่อการเมืองขณะนี้ ทั้งความขัดแย้งในระดับระหว่างจังหวัดและระหว่างท้องถิ่น (หรือจริงๆ แล้ว ยังต้องกังขาอยู่ว่า อะไรทำให้เกิดอะไร ระหว่างวิกฤติการเมืองส่งผลให้เกิดวิกฤติน้ำท่วม หรือวิกฤติน้ำท่วมส่งผลให้เกิดวิกฤติการเมือง? [ขอย้ำว่า ผู้เขียนเน้นที่ “วิกฤติ” เพราะน้ำท่วมมากอาจจะไม่วิกฤติขนาดนี้ก็ได้ หากมีการบริหารจัดการการให้ข้อมูลข่าวสารและขั้นตอนในการเตรียมตัวที่แน่นอนและการให้ความช่วยเหลือและการควบคุมข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นระบบ ส่วนการเมืองไม่ต้องพูดถึง แม้ไม่มีน้ำท่วม เราก็มีวิกฤติการเมืองอยู่แล้ว]) แน่นอนหลังจากที่น้ำแห้งแล้ว วิกฤติน้ำท่วมจะกลายเป็นวิกฤติการเมืองครั้งใหญ่
นอกจากจะต้องทำการสำรวจตรวจสอบว่า วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ของเราครั้งนี้เกิดจากสาเหตุใดแน่ โจทย์สำคัญทางการเมืองต่อมา ก็คือ การหาทางบริหารจัดการควบคุมน้ำในอนาคต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การหาข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการในการแก้ไขวิกฤติน้ำท่วมในอนาคตว่า แนวทางแก้ไขจะไปในทิศทางไหน ?
จะกลับไปปลูกป่าเพื่อหวังให้รองรับน้ำหรือการรณรงค์ให้ลดการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้นไปกว่านี้ กว่าจะสัมฤทธิผลก็คงต้องใช้เวลาอีกนานหลายชั่วชีวิตคน ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นแผนระยะยาว และจะต้องมีการร่วมมือกันทั้งโลก !?
ถ้าเช่นนั้น แผนหรือวิธีการแก้ไขในระยะสั้นก็ดูจะหนีไม่พ้นแนวทางของสองนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเมื่อห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว นั่นคือ “การสร้างเขื่อนกั้นน้ำในแบบวิธีการที่เมื่อน้ำขึ้นในภายหลัง น้ำก็จะไหลออกไปทางคลอง หรือไม่เช่นนั้นแรงเชี่ยวกรากของมันก็จะไม่เป็นไปตามอำเภอใจหรือเป็นอันตรายมากนัก” ! ซึ่งนอกจากการสร้างเขื่อน-คูคลองแล้ว ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ เรายังสามารถสร้างอุโมงค์ยักษ์ได้ ยามปรกติก็สามารถใช้เป็นถนนให้รถสัญจรไปมา เมื่อยามวิกฤติน้ำท่วม ก็ปรับเป็นทางระบายน้ำออกสู่ทะเล
ไม่ว่าจะใช้แผนการแบบใด หากใครทำสำเร็จ อำนาจทางการเมืองก็จะอยู่ในกำมือเขาหรือเธอคนนั้นไปอีกนาน และอาจจะนำไปสู่การสลายวิกฤติการเมืองที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้ด้วยก็ได้ แต่ในทางกลับกัน หากล้มเหลว วิกฤติน้ำท่วมก็จะกลายเป็นวิกฤติการเมืองที่ทำให้ต้องสูญเสียอำนาจไปได้เช่นกัน และวิกฤติการเมืองที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าก็จะหนักหนาสาหัสขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูกันต่อไป !
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี