สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุเมธ ผู้เชิญพระราชดำริ

จาก โพสต์ทูเดย์

สื่อวิจารณ์ผมไปแต่งหน้ารัฐบาล ผมไม่แคร์ ใครจะคิดอย่างไรนะ บางคนก็ว่าผมไปร่วมทำไมเหรอ เสียชื่อ ไม่หรอก ถ้าคนคิดอย่างนั้น บ้านเมืองฉิบหายไปนานแล้ว

โดย....ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

โค้ชดี มันก็สำเร็จ

ในภาวะบ้านเมืองระส่ำระสายจากมหาอุทกภัย การเฝ้าดูแต่ความทุกข์ระทม กล่าวหาซ้ำเติมโทษกันไปกันมา ว่าหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้บริหารงานล้มเหลว ปล่อยน้ำท่วมเมือง ก็คงจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นหากแต่จะต้องใช้วิกฤตเป็นโอกาส เดินหน้าสร้างบ้านแปลงเมืองกันใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นความโชคดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีบุคลากรชั้นนำของประเทศ ตอบรับร่วมเป็นกรรมการระดับชาติเพื่อฟื้นฟูประเทศ ตั้งแต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน

ชื่อ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ขณะที่อีกชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)โดยตั้งที่ปรึกษา กยน.ชื่อ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา สำคัญกว่านั้น เป็นผู้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทำไมตัดสินใจรับตำแหน่งกุนซือบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะทันทีที่มีชื่อ ดร.สุเมธ ปรากฏ สื่อบางสำนักที่ถนัดมองแต่มิติข่าวความขัดแย้งทางการเมืองออกมาวิจารณ์ทันที ว่า คงมาเป็นตัวช่วยกู้ภาพลักษณ์รัฐบาลที่กำลังจะจมน้ำ บ้างวิเคราะห์ไปถึงตัวตนคนละขั้วสี ไม่น่าร่วมงานกันได้

แต่อีกประเด็นที่สื่อมองข้าม นั่นคือ บทบาทหน้าที่ของบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเหมือนเป็นตัวสื่อสารข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล

"สื่อวิจารณ์ผมไปแต่งหน้ารัฐบาล ผมไม่แคร์ ใครจะคิดอย่างไรนะ บางคนก็ว่าผมไปร่วมทำไมเหรอ เสียชื่อ ไม่หรอก ถ้าคนคิดอย่างนั้น บ้านเมืองฉิบหายไปนานแล้ว ในแง่ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านไม่มีสีพระองค์ท่านคือ แดง ขาว น้ำเงิน ขาว แดง สีไหนทุกคนรู้กันหมด ผมก็ต้องถ่ายทอดพระองค์กลับมาอย่างนี้ ภารกิจนี้คืออะไร ภารกิจนี้คือช่วยชาติบ้านเมือง" ดร.สุเมธ เปิดใจ

เบื้องหลังรับตำแหน่งที่ปรึกษา กยน. ดร.สุเมธ เปิดเผยว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โทร.มาขอร้องโดยตรง จากนั้น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ก็ติดต่อมาอีกครั้งเพื่อขอคำยืนยัน

"ผมไม่ลังเลนะที่จะตอบรับ และผมรู้ว่าถ้าผมเป็นเลขาฯ หรือประธานจะไม่มีทางสำเร็จ เราคิดว่าทำหน้าที่ที่ปรึกษาได้ โดยเฉพาะการขีดวงไปในการทำงานเพราะในเรื่องทางเทคนิคมีผู้เชี่ยวชาญเยอะอยู่ แล้วเช่น ปราโมทย์ ไม้กลัด แต่เมื่อต้องการคอนซัลในแง่แนวทางพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ผมก็โอเคหน้าที่ผมมีแค่นี้ แต่จะให้รับผิดชอบมากไปกว่านั้นรับไม่ได้ เพราะผมรู้ตัวเองดีว่ารับได้แค่ไหน ผมอายุ 72 ปีเป็นข้าราชการเกษียณพอแล้ว"

ดร.สุเมธ เชื่อว่าเหตุผลหลักที่นายกฯ ต้องการให้เขามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อต้องการสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำเอาไว้เกี่ยวกับแผน บริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเป็นผู้ถวายงานมานาน จึงพอจะถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ถึงรัฐบาลได้

"ยามนี้มันเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันแล้ว ผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ผมเลือกไม่ได้หรอก ผมเลือกได้เฉพาะชาติบ้านเมือง อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ใครก็ตามจะปฏิเสธไม่ได้ ถ้าปฏิเสธก็แย่แล้ว แสดงว่าไม่รับผิดชอบ"

แม้รัฐบาลจะสามารถระดมมันสมองของประเทศมาเป็นกรรมการ เพียงชื่อชั้นตัวบุคคลยังมิอาจบ่งบอกถึงความสำเร็จ แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความร่วมมือจากทุกระดับ ทุกภาคส่วนเดินไปพร้อมกัน

ดร.สุเมธ ให้ข้อแนะนำไว้อย่างน่าสนใจ "แต่ละคนเขามีข้อจำกัดเหมือนกับผม จะให้ปราโมทย์ ไม้กลัด ทำอะไร จะให้ อ.รอยล (จิตรดอน) หรือ อ.เสรี (ศุภราทิตย์)ทำอะไร เขาเอาหัวมาอย่างเดียว ไม่มีเงินไม่มีอะไร ไม่ใช่บริษัทรับเหมา แต่ว่าเราไม่ทำเอางั้นเหรอ ถ้าไม่ทำผมก็ถูกด่าอีก บ้านเมืองเสียหาย เป็นผู้ถวายงานพระเจ้าอยู่หัวกลับไม่ช่วยเลย อ้าวตกลงจะให้ผมทำอะไรเนี่ย สื่อบางคนต้องเข้าใจผมนะ รับก็ด่าผม พอไม่รับก็บอกว่าผู้รับสนองงานพระเจ้าอยู่หัวซะเปล่า พอบ้านเมืองคับขันไม่เอาเลยถึงบอกสื่อต้องช่วยหน่อยเถอะ สร้างกระแสความรับผิดชอบร่วมกัน"

"โดยเฉพาะกินความไปถึงนักการเมือง เขาไม่กลัวเราหรอก ไม่กลัวสุเมธหรอก แต่เขากลัวสื่อ เพราะฉะนั้นสื่อต้องบีบฝ่ายการเมืองให้อยู่ในช่องที่ยอมรับได้ ต้องช่วยผลักดันเป็นกระบอกเสียงของประชาชน และอย่ามาอ้างประชาชนผิดๆ ถูกๆ ต้องกระแสจริงๆ เป็นกระแสนำด้วยซ้ำต้องดันให้สำเร็จ เพราะงานทุกอย่างผมเกือบมองเห็นแล้วนะ ประชาชนต้องเอาด้วย เช่น ถ้าจะปลูกต้นไม้รักษาป่า ถ้าไม่รักมันก็ตัด ตำรวจ ป่าไม้ก็รับเงินไป สื่อต้องปลุกจิตสำนึกประชาชน"

ดร.สุเมธ ย้ำว่า ภารกิจนี้ต้องเล่นกันตั้งแต่ตัวบุคคลถึงระดับชาติ เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง กฎหมาย พื้นที่งบประมาณ องค์กรเกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น ประชาชนต้องเข้าร่วมเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร ไม่ทำไม่ได้บ่อยครั้งที่มีปัญหาภัยธรรมชาติมักจะมีการพูดกันถึงการปรับปรุง โครงสร้างราชการถึงขั้นตั้งเป็นกระทรวงทรัพยากรน้ำ วิธีคิดแบบนี้ ดร.สุเมธ ไม่เห็นด้วย

"ผมไม่ค่อยศรัทธานะขอพูดจริงๆคุณจะตั้งอะไร มันเกี่ยวกับหน้าที่ว่าต้องทำ ทำหรือเปล่า ถ้าตั้งขึ้นมาแล้วทำร่วมกันไม่ค่อยประสานผลก็เท่าเดิมผมว่าเอาภารกิจก่อน ส่วนใครทำเรื่องเล็ก ให้กระจาย รวมกันทำก็ทำได้ทำไมในยามสงครามก็ไม่ได้อยู่ร่วมกันทัพบก อากาศ ประชาชน ยังรวมกันได้เพื่อเผชิญหน้าอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้นองค์กรนั้นอย่าได้คิด เราปรับปรุงกี่ครั้งมันดีขึ้นไหม ในฐานะเป็นข้าราชการเก่าไม่ค่อยสนใจนะ ป่วยการ"

ดร.สุเมธ ประเดิมให้คำปรึกษาถึงรัฐบาลผ่านแทบลอยด์โพสต์ทูเดย์ก่อนเลยว่า ลำดับแรก เอาแผนออกมาให้ได้ ตามด้วยภารกิจออกมาให้ได้งบประมาณแต่ละปีออกมาให้ได้ และวางคนให้ถูก จะอยู่ที่กระทรวงไหนไม่สำคัญ เดี๋ยวเอามาจัดวาง

"เหมือนทีมฟุตบอล คนมาจากบ้านเดียวกันหรือ เดี๋ยวนี้มาจากประเทศไหนก็ไม่รู้ แต่มารวมเป็นทีมและเล่นได้ ชนะไม่ชนะก็ว่าอีกทีเพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจ ขอให้สนใจแต่องค์กรที่จับมารวมกันแล้วดูโค้ชเก่งจริงหรือเปล่า ให้คนคุมทีมจริงๆมันคุมทีมได้หรือเปล่า ให้เล่นตามแผนนี้นะ ตรงนั้นสำคัญกว่า"

หากพิจารณาโครงสร้าง กยน.กำหนดให้นายกฯ เป็นประธาน ดังนั้น"โค้ช" ตามความหมายของ ดร.สุเมธคือ "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" หรือไม่ เห็นทีต้องไปไขรหัสความสำเร็จกันต่อไป

เปิดแผนบริหารน้ำระดับชาติ

การบริหารจัดการน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการจัดทำแผนเสนอกันมาหลายฉบับหลายรัฐบาล กอปรกับแนวพระราชดำริที่พระองค์รับสั่ง จึงอยู่ที่จะดำเนินการอย่างจริงจังหรือไม่อย่างไร

ที่ปรึกษา กยน. บอกว่า ควรจะเข้าไปอยู่ในแผนของชาตินานแล้ว ในแง่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอด 30 ปีที่ตนเองถวายงานอยู่พระองค์ทรงแนะนำตลอดเวลา ถ้าจะให้ประมวลทั้งหมดมา คงสรุปได้ว่าต้องบริหารจัดการ จะปล่อยอะไรเป็นไปตามยถากรรมไม่ได้

สำหรับข้อแนะนำรัฐบาล ดร.สุเมธ สรุปไว้ดังนี้ พระองค์ทรงแนะนำว่า น้ำไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มบริหารตั้งแต่ที่สูงฟื้นฟูป่าอนุรักษ์หรือป่าโซนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลทุกสมัยพยายามกำหนดเป็นเขตหวงห้าม ต้องรักษาของที่อยู่ให้ได้ ฟื้นฟูภูเขาหัวโล้นต้องทำอย่างจริงจังการกระจายอำนาจองค์กรท้องถิ่น เพราะถ้าประชาชนเจ้าของพื้นที่ไม่เอาด้วยก็เป็นไปได้ยาก อบต. อบจ. และส่วนกลางของจังหวัดต้องระดมกันรักษาสมบัติตรงนี้เอาไว้ให้เหมือนรักษา สมบัติส่วนตัว ตรงนี้ต้องทำเป็นกิจกรรมหลักหนอง คลอง บึงที่มีอยู่ในธรรมชาติต้องบูรณะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพรองรับน้ำได้ อะไรที่เสื่อมโทรมไปต้องฟื้นฟู งบประมาณเท่าไหรต้องจัดหาให้จงได้ ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วห้ามรุกล้ำ

"โฉนดควรเลิกออกได้แล้ว มันออกมากลางบึงมาให้เห็นกันตำตากันอยู่ ผมไม่ได้หาเรื่องน่ะ แต่เห็นมาตลอดชีวิตที่เป็นราชการ จนถึงเกษียณแล้ววันนี้ก็ยังเห็นกันอยู่"

กรณีลำน้ำ พระองค์รับสั่งไว้นานแล้ว คือ เรื่องแก้มลิงต้องมี ส่วนเรื่องเขื่อนใหญ่ ตอนนี้มีเกือบครบทุกร่องน้ำแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ลุ่มน้ำที่ยังไม่ได้บริหารจัดการ จะเล็กจะใหญ่ไม่เป็นไร แต่ขอให้ดูตามความเหมาะสมมาประกอบกับความต้องการของประชาชนและชาวบ้าน ตรงไหนสมควรสร้างก็ต้องสร้าง เพราะปล่อยให้ร่องน้ำเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่มีอะไรดีขึ้น มีส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเตือนไว้ คือ การก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ เช่น ทางรถไฟ ถนน มักจะไม่มีการศึกษาเรื่องทางไปขวางทางน้ำบ้าง

สำหรับชั้นในเมือง ดร.สุเมธ ให้คำปรึกษาว่า เมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเวนิซตะวันออก หนอง คลอง บึงที่ช่วยระบายน้ำอยู่ในสภาพอย่างไร วันนี้คำตอบมันมีอยู่แล้วใช่ไหม บ้านเรือนปลูกเข้าไป ไม่มีการควบคุมขยะ ทั้งหมดนี้ต้องจัดระเบียบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด กรณีที่หาดใหญ่น้ำท่วมมโหฬาร พระองค์มีพระราชดำริบริหารคลองที่หาดใหญ่ จัดระเบียบคูคลอง น้ำไหลผ่านสะดวก

ข้อเสนอแนะอีกประการตามที่พระองค์ตรัส คือ การสร้างฟลัดเวย์เป็นทางที่ให้น้ำไป "เรา พบว่าแนวฟลัดเวย์ถูกกำหนดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพื้นที่สีเขียว เรานึกว่าเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ต้นไร่ คำว่ากรีนเบลส์คือเป็นนาข้าวก็ได้ ทีมงานเคยไปดูงานที่มิสซิสซิปปี เป็นทุ่งนาใหญ่ ปลูกข้าวสาลีได้ แต่พอน้ำขึ้นรัฐบาลขอใช้ปล่อยน้ำเข้าตรงนี้เลย มันก็มีพื้นที่แทนที่จะวิ่งบนถนน แล้วก็มีการชดเชยกันไปตามระเบียบ จ่ายค่าเช่าประจำปีให้เขา"

ดร.สุเมธ บอกว่า แต่ความยากลำบากของฟลัดเวย์เกิดขึ้น คือ ถูกหมู่บ้านจัดสรรสร้างขวางทางหมด บทบาทฟลัดเวย์หมดไป พระองค์ท่านจึงรับสั่งหาทางสิ ซึ่งตนเองตอบไม่ได้ตรงไหนควรจะทำ จะเป็นพื้นที่ไหนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปดำเนินการ

ถามว่า เป็นความผิดพลาดของกลไกราชการปล่อยให้บุกรุกเข้าไปครอบครองพื้นที่ที่กำหน ดฟลัดเวย์ ดร.สุเมธ ย้อนถามว่า "ผมไม่รู้ วังน้ำเขียวเขากำหนดไว้เปล่า ริมคลองที่มีสลัมเกิดขึ้นเขากำหนดเป็นเขตชลประทานหรือเปล่า คุณตอบเองแล้วกัน ผมไม่ตอบ ขี้เกียจขึ้นหน้าหนึ่ง"

สุดท้ายคือธรรมชาติ ตอนนี้กัดฟันกันเอาไว้ ไม่มีใครสู้ธรรมชาติได้พระองค์ให้ไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นรอน้ำทะเลถอยเมื่อไหร่ลากน้ำมหาศาลลงไปด้วย หลังจากนั้นก็ฟื้นฟู

"ให้ผมเป็นที่ปรึกษา ผมก็จะให้คำปรึกษาอย่างนี้ ผมไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ" ที่ปรึกษา กยน. ย้ำ"สื่อวิจารณ์ผมไปแต่งหน้ารัฐบาล ผมไม่แคร์ ใครจะคิดอย่างไรนะ บางคนก็ว่าผมไปร่วมทำไมเหรอ เสียชื่อ ไม่หรอกถ้าคนคิดอย่างนั้น บ้านเมืองฉิบหายไปนานแล้ว..."

สาปส่งการเมือง

ครบ 72 ปี เมื่อเดือน ส.ค. แม้จะต้องทำบอลลูนหัวใจถึงสองเส้น แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงความอ่อนล้าในการทำงานเพื่อประเทศชาติดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนายังคงขึ้นเหนือล่องใต้ถวายงานโครงการพระราชดำริใน พื้นที่ทุรกันดาร

ยิ่งสถานการณ์มหาอุทกภัยสร้างความทุกข์ระทมให้กับพี่น้องประชาชนทุกหัว ระแหง การทำงานในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาจึงต้องเร่งเตรียมแผนการฟื้นฟูที่ พักอาศัย อาชีพให้กับพี่น้องประชาชน

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกว่า การช่วยเหลือประชาชนขณะนี้เป็นหน้าที่ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จากนั้นหลังน้ำลดเป็นหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไป ซ่อมแซมบ้าน ฟื้นฟูอาชีพ จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับพี่น้องเกษตรกรที่เดือดร้อน

"คำว่าเหนื่อยไม่ได้อยู่ในสารบบ งานนี้ไม่ง่ายแต่อย่าถอย แค่งานมูลนิธิก็ปวดหัวแล้ว ไม่ใช่งานชุ่ยๆ นะ" ดร.สุเมธ อธิบายถึงการทำงานหลัก ก่อนที่จะต้องมาช่วยงานรัฐบาลในฐานะที่ปรึกษากรรมการระดับชาติอีกยิ่งใกล้ ฐานอำนาจการเมืองมากขึ้น ถือโอกาสถามข้อสงสัยในอดีตที่ผ่านมาเวลาหาตัวคนเป็นนายกฯ ไม่ได้ก็มักมีข่าวถูกทาบทามให้เป็นนายกฯ หรือแม้แต่นายกฯ พระราชทานดร.สุเมธ บอกไม่รู้เหมือนกัน แต่ยืนยัน ณ วันนี้พื้นที่นี้ สาปส่งการเมือง และจะไม่รับตำแหน่งการเมืองเด็ดขาด

"ผมลูกนักการเมืองนะ ไม่มีใครรู้นะ พ่อผมเป็น สส.โคราช 5 สมัย และเป็น รมช.กระทรวงสหกรณ์ (อารีย์ ตันติเวชกุล เป็นคนสุดท้ายของกระทรวงสหกรณ์สมัยนั้นในรัฐบาลจอมพลถนอม) พอเป็น รมช.กระทรวงสหกรณ์เสร็จหมดตัวพอดี แต่แปลกนะนักการเมืองสมัยก่อนสำเร็จในชีวิตหมดตัว แต่เดี๋ยวนี้ทำไมกระโดดจากรถกระบะขึ้นรถเบนซ์ ตั้งแต่นั้นผมสาปส่งการเมือง ไม่เอาเลย ใครจะติดต่อทาบทาม มาเยอะหลายคน ถ้าผมเปลี่ยนเป็นเยสคำเดียว ผมก็เป็นอะไรต่อมิอะไรตามที่เขาว่ากันแล้ว ไม่เอา ไม่อยู่ในสมอง"

"ผมแฮปปี้ดี แค่เนี่ย เป็นอย่างเงี้ย มีเพื่อนเยอะด้วย ดูคนในมูลนิธิเจ้าทำงานยิ่งกว่าไพร่อีก ทำงานนี่มีเงินเดือนสักบาทไหมไม่มี ถ้าจะให้ รับไม่ได้ ผมมีเงินเดือนบำนาญ 4 หมื่นกว่าบาท ชีวิตก็แค่นี้จะเอาอะไร"

ทุกถ้อยคำตรงไปตรงมาเป็นบทสรุปในตัวของผู้เสียสละทำงานเพื่อแผ่นดิน

พระองค์ทรงเครียด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี รับสั่งถึงพระอาการทรงพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่ามีพระอาการเครียด พระโลหิตออก เนื่องจากรับชมข่าวราษฎรประสบอุทกภัยนานถึง 5 ชั่วโมง ข่าวคราวนี้ ในฐานะผู้ถวายงานใกล้ชิด ต้องการสื่อสารไปถึงทุกฝ่ายว่า พระเจ้าอยู่หัวคือพระเจ้าแผ่นดิน ท่านดูแลแผ่นดิน ดูแลประชาชน แผ่นดินทุกข์ร้อนประชาชนทุกข์ร้อน ท่านนิ่งเฉยได้หรือ

"ไม่รู้นะ ผมไม่ได้นั่งอยู่ในพระทัยพระองค์ท่าน ถวายงานมานี้ ท่านอยู่ไม่ติดหรอก แต่ตอนนี้จะทำอย่างไรเดินไม่ถนัด พระองค์ทรงเครียด และหน้าที่ท่านแนะให้กำลังใจชี้ทางเหมือนพระเทศนาทำความดีนะ เหมือนกับผมเป็นที่ปรึกษา เนี่ยผมกำลังทำหน้าที่ที่ปรึกษาแทนท่าน เขาทำไม่ทำจะว่าอย่างไร หรือจับให้เขาชนกับท่านมันไม่พึงควรกระทำอย่างนั้นตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ต้องมองข้ามสิ่งต่างๆ ให้หมดใครคิดแฝงอย่างไร ไม่เกี่ยว ผมหลับตา ทำหน้าที่เฉพาะส่วนของเราให้ดีที่สุด"


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : สุเมธ ผู้เชิญ พระราชดำริ

view