จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล
หลังจากที่ผู้เขียนพยายามรู้ทันตลาดทุน หรือถ้าจะให้ชัดกว่านั้นก็ต้องบอกว่า รู้ทันผู้บริหารตลาดหุ้น ติดกันมาหลายตอน
ตอนนี้ผู้เขียนอยากเปลี่ยนบรรยากาศไปรู้ทันตลาดทุนข้ามทวีปบ้าง
ทั้งโลกตอนนี้คงไม่มีปรากฏการณ์เกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุนที่ไหนจะตื่นเต้นเร้าใจและน่าติดตามเท่ากับขบวนการ “กระชับพื้นที่ภาคการเงิน” (Occupy Wall Street ย่อว่า OWS) ริเริ่มโดยคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คนที่คับแค้นใจกับวิกฤติเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยในอเมริกา ซึ่งภาคการเงินมีส่วนสำคัญในการผลิตสร้างและกระพือ แต่นักการเงินยังไม่มีใครถูกจับขึ้นศาลในข้อหาทุจริตหรือหลอกลวงประชาชน มิหนำซ้ำธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังได้กำไรสูงเป็นประวัติการณ์ จ่ายโบนัสก้อนโตให้กับผู้บริหารชุดเดิมที่เคยฉุดธนาคารและเศรษฐกิจทั้งประเทศไปถึงปากเหวจนรัฐต้องเข้ามาอุ้ม
สังคมอเมริกันซึ่งมีบริโภคนิยมและปัจเจกนิยมเป็นค่านิยมหลักไม่มีปัญหากับระบบทุนนิยม ชาวอเมริกันจำนวนมากโกรธแค้นภาคการเงินเพราะพวกเขามองว่า “ไม่ยุติธรรม” ที่ภาคการเงินซึ่งเป็นชนวนสำคัญแห่งวิกฤติยังร่ำรวยอู้ฟู่ มิหนำซ้ำยังอู้ฟู่อยู่บนความลำบากของคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีฟูกจะให้ล้ม ภาษีที่รัฐเอาไปอุ้มธนาคารก็ถูกแปรไปเป็นเงินลงทุนเพื่อสร้างกำไรให้ธนาคาร ไม่ได้เอามาปล่อยเป็นสินเชื่อเพื่อต่อลมหายใจของประชาชนสักกี่มากน้อย
ความไม่ยุติธรรมที่เห็นชัดและสะท้อนอิทธิพลทางการเมืองของภาคการเงิน ทำให้ OWS ขยายวงไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ไม่น่าแปลกใจที่ชาวอเมริกัน “รากหญ้า” ที่เรียกตัวเองว่า “99%” (คือไม่ใช่เศรษฐีที่รวยที่สุด 1% ของประเทศ) จะให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ นักการเงินจำนวนไม่น้อย - ผู้ตกเป็นเป้าแห่งความโกรธแค้นของผู้ประท้วง โทษฐานที่ทำงานในภาคการเงิน - ออกมาให้การสนับสนุนขบวนการนี้อย่างเปิดเผย
มืออาชีพคนหนึ่งที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ว่านี้คือ โมฮาเมด เอล-อาเรียน นักการเงินชั้นเซียนและซีอีโอของบริษัทจัดการกองทุน Pacific Management (ย่อว่า PIMCO) ผู้บริหารกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ชื่อ Total Return Fund มีเงินลงทุนมูลค่า 242,700 ล้านเหรียญสหรัฐ)
วันที่ 10 ตุลาคม 2554 เอล-อาเรียนเขียนบทความชื่อ “ฟังขบวนการ Occupy Wall Street สิครับ” (http://www.huffingtonpost.com/mohamed-a-elerian/occupy-wall-street-_b_1004222.html) ความบางตอนว่า -
“…[OWS] เป็นมากกว่าขบวนการเพิ่งตั้งไข่ที่จะเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมระดับโลก...แต่นักสังเกตการณ์บางคนดูเหมือนจะทำพลาดแบบเดียวกับที่หลายคนพลาดในกรณีของอียิปต์ อิสราเอล และ ตูนิเซีย นั่นคือ ตกเป็นตัวประกันของวิธีคิดที่ล้าสมัยไปแล้วเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวรากหญ้าที่ดูเหมือนว่าไร้ผู้นำ
นักสังเกตการณ์เหล่านี้ไม่ใส่ใจกับ OWS เพราะมันกระจัดกระจายและไม่มีรายการข้อเรียกร้องที่ละเอียด พวกเขาอ้างว่าผู้ประท้วงวิพากษ์วิจารณ์อดีตมากเกินไป เสนอทางออกสำหรับอนาคตน้อยเกินไป พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่ามันไม่ถูกออกแบบมาให้ใช้โครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันได้ และดังนั้นจึงสรุปว่าขบวนการนี้จะสร้างเพียงกระแสชั่วครู่ยามที่ไม่สลักสำคัญอะไรเลย
ถึงแม้ว่าปฏิกิริยาทำนองนี้จะเข้าใจได้ เวลาก็น่าจะพิสูจน์ว่าบทสรุปแบบนี้เกี่ยวกับ OWS ผิดพลาด เพราะมันมองข้ามความจริงที่ทรงพลังว่า การผลักดันเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมสามารถผนึกพลังของผู้คนต่างวัฒนธรรม ฟากฝั่งทางการเมือง ศาสนา และชนชั้นทางสังคม
...OWS อาจไม่เข้มข้นเท่ากับ [การโค่นล้มรัฐบาล] ในโลกอาหรับ แต่ผมคิดว่าคนที่มองข้ามความคล้ายคลึงสามประการต่อไปนี้คือคนที่โง่และอวดดี -
ข้อแรก ความปรารถนาความยุติธรรมทางสังคมคือผลพวงตามธรรมชาติของระบบที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง ซ้ำร้ายยังไม่สามารถทำให้คนและสถาบันต่างๆ มีความรับผิดได้ ...ในสหรัฐอเมริกา มันคือระบบที่ทำให้กำไรมหาศาลตกเป็นของเอกชน เสร็จแล้วก็ทำให้ความเสียหายมหาศาลตกอยู่กับสังคม ยอมให้ธนาคารที่ถูกรัฐอุ้มกลับไปสู่พฤติกรรมเดิมๆ โดยที่ดูเหมือนว่ากฎระเบียบและกฎหมายแตะต้องแทบไม่ได้ ระบบนี้เป็นอัมพาตเมื่อเราพูดถึงการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมถึงคนจำนวนมากที่ตกงาน (และจำนวนมากเหลือเกินกำลังจะตกงานระยะยาว เลื่อนหลุดลงไปในบ่วงความจน และสูญเสียโอกาสเข้าถึงตาข่ายสังคม) ผลลัพธ์คือความเหลื่อมล้ำที่มองเห็นชัดและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างคนมั่งมีกับผู้ยากไร้ในอเมริกาวันนี้
ข้อสอง ผู้สนับสนุน OWS จะทวีคูณขณะที่เศรษฐกิจอเมริกันเติบโตแบบเชื่องช้าต่อไป อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงเรื้อรัง และมีแรงกดดันด้านงบประมาณซึ่งทำให้รัฐต้องลดค่าใช้จ่ายในบริการสังคมพื้นฐาน (อย่างเช่นการศึกษาและสุขภาพ) ...การทะเลาะเบาะแว้ง (ที่น่ารังเกียจขึ้นเรื่อยๆ) ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่บั่นทอนสามปัจจัยที่จำเป็น นั่นคือ การมีเจตจำนงร่วมกัน ทัศนคติร่วมกัน และการยอมรับว่าเราจะต้องเสียสละร่วมกันในระยะสั้นเพื่อประโยชน์ในระยะยาว...
ข้อสาม ความก้าวหน้าของโซเชียลมีเดียช่วยขจัดปัญหาการสื่อสารและการประสานงานซึ่งเคยคว่ำการประท้วงทำนองนี้ในอดีตที่ผ่านมา ...โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของ OWS โซเชียลมีเดียช่วยชดเชยการที่ขบวนการขาดโครงสร้างการนำ ขาดทรัพยากรทางการเงิน และขาดการเข้าถึงสื่อกระแสหลัก
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ OWS น่าจะทวีความเข้มข้นในอนาคตอันใกล้ ...คำถามที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ว่า OWS จะแปรรูปไปหรือไม่ แต่เป็นคำถามว่า มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ผู้ประท้วงใน OWS สามารถ (และผมหวังว่าจะทำได้) ตกลงวาระร่วมกัน ช่วยปรับทิศทางของโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันปัจจุบัน หรือไม่มันอาจจะแตกออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย ซึ่งก็จะไม่อาจแปลงตัวเองจากการเคลื่อนไหวประท้วงเป็นขบวนสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นจะต้องเกิด
ผมคิดว่านี่คือจุดที่สื่อและนักการเมืองจะต้องก้าวเข้ามา แทนที่จะเหยียด OWS ว่าเป็นแค่ “เสียงรบกวน” พวกเขาควรตั้งใจฟัง มองว่า OWS คือ “สัญญาณ” ของความท้าทายที่อเมริกากำลังเผชิญในฐานะสังคมที่มีน้ำจิตน้ำใจ และในฐานะสังคมประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความสำคัญของความเป็นธรรมและโอกาส”
เมื่อนักข่าวถาม เอล-อาเรียน ว่า เหตุใดเขาจึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องหลักของ OWS นั่นคือ การลดขนาด อำนาจ และผลตอบแทนของภาคการเงิน ทั้งที่เขาคือผู้เสียประโยชน์จากข้อเรียกร้องดังกล่าว เอล-อาเรียน ตอบว่า เขาคิดว่าภาคการเงินเดินหลงทางตั้งแต่เริ่มทศวรรษ 2000 - “ชื่อของอุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนจาก “อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน” เป็น “อุตสาหกรรมการเงิน” - มันตาบอดต่อข้อเท็จจริงที่ว่า การเงินต้องรับใช้เศรษฐกิจจริง คุณแลกกระดาษกันเฉยๆ ไม่ได้”
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี