จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเงิน
วิกฤตการเงินยุโรปที่มีแนวโน้มจะลุกลามต่อไปยังสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ถือเป็นมรสุมความเสี่ยงลูกใหญ่ที่จะพัดให้เศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยที่ พึ่งพาการส่งออกถึง 70 % ของจีดีพี กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง หลังจากเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพร์มย้อนหลังไปไม่กี่ปีก่อนได้ไม่นาน โดยมีการประเมินว่า หากพัฒนาการของวิกฤตหนี้ ยุโรปไม่สามารถจำกัดวงไว้ได้ตามที่คาดหวัง การส่งออกของไทยในปี 2555 อาจต้องเผชิญกับภาวะหดตัว 7.0 % ขณะที่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะต่ำลงมาอยู่ที่ 1.0 % เท่านั้น
แต่นั่นเป็นเพียงประมาณการณ์ก่อนที่ไทยจะถูกมรสุมลูกที่สองอย่าง มหาอุทกภัยครั้งใหญ่เข้าจู่โจม ทำให้เศรษฐกิจในปี 2555 ต้องเผชิญกับความเสี่ยงรุมเร้าทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ และมีความเป็นไปได้สูงที่กระแสน้ำในครั้งนี้จะกัดเซาะเศรษฐกิจไทยให้ทรุดตัว และกลับเข้าสู่วัฎจักรขาลงอีกครั้ง
โจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลไทยในเวลานี้ คือ ต้องเร่งฟื้นฟูประเทศและภาคอุตสาหกรรมให้เร็วที่สุดหลังจากที่ระดับน้ำกลับ เข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้รุนแรงกว่าที่ทุกฝ่ายได้คาดการณ์เอา ไว้ ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากมวลน้ำที่มามากกว่าปกติหรือการบริหารจัดการที่ผิดพลาด แต่มันได้สร้างความเสียหายต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมถึง 40 % และภาคแรงงานอีกกว่า 6 แสนคน
ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการบริโภค การลงทุน และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลต้องเร่งระดมใช้นโยบายทางการคลังเข้ามาช่วยเหลือ ประชาชนและธุรกิจที่ประสบภัย ทั้งการสั่งให้ธนาคารเฉพาะกิจภาครัฐออกมาตรการผ่อนผันหนี้ให้กับลูกค้า การให้เงินกู้พิเศษ(ซอฟท์โลน)แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปช่วยลูกค้าอีกทอด หนึ่ง รวมถึงแผนการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาลงทุนในการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
เมื่อนโยบายการคลังออกมาในแนวทางนี้ นโยบายการเงินจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้แผนการฟื้นฟูหลังน้ำลดมีประสิทธิภาพเต็มที่ ดังนั้นจึงคาดหวังได้เลยว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นัดส่งท้ายปี ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอย่างแน่นอน เพื่อให้ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูประเทศ
แม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดอกเบี้ยแท้จริงเข้าสู่ภาวะสมดุลและเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ ธปท.กังวลว่าจะมาจากนโยบายประชานิยมต่างๆของภาครัฐ ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การรับจำนำข้าว ที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่ภาวการณ์ในขณะนี้อาจทำให้ธปท.ต้องทบทวนแนวทางของอัตราดอกเบี้ยใหม่ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มคลายตัวลง
โดยล่าสุด ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณอย่างมีนัยยะออกมาว่า หากมีความจำเป็นธปท.ก็พร้อมพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟื้อในปัจจุบันพบว่ายังพอมี ช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยลงได้บ้าง
“ขณะนี้นโยบายการเงินกำลังประเมินกันอยู่ เพราะเชื่อว่าจากนี้ไปเงินเฟ้อน่าจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ ถ้าการลงทุนในระยะยาวไม่ขยับ ความเชื่อมั่นลดลง และหากจำเป็น เราก็พอจะมีพื้นที่ที่จะลดดอกเบี้ยลงได้บ้าง เพราะปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาใกล้เคียงระดับปกติแล้ว ” ผู้ว่าธปท. กล่าว
การออกมาส่งสัญญาณดังกล่าวของผู้คุมกฎ ทำให้กูรูทางเศรษฐกิจไทยหลายรายออกมาฟันธงว่า ทิศทางของดอกเบี้ยไทยนับจากนี้ได้สู่ขาลงเป็นที่แน่นอนแล้ว และอาจจะโงหัวไม่ขึ้นไปอีกนาน เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐโลกในครั้งนี้ต่างจากวิกฤตเมื่อปี 52 ที่ยังพอมีกำลังซื้อในตลาดโลกหลงเหลืออยู่บ้าง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุมในช่วงสิ้นเดือนนี้ กนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียวถึง 0.5 % เพื่อให้ช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาจากเดือนธ.ค.ไปจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่รุนแรงต่อมายังธนาคารพาณิชย์ ให้มีการปรับลดดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธปท.ได้ผ่อนเกณฑ์การพิจารณาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลให้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประสบภัยของธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว
สอดคล้องกับมุมมองของ บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่คาดว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.50 % ในการประชุมที่จะมาถึงและดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้ายังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง ต่อเนื่องกลับไปสู่ระดับ 1.25 % จากวิกฤตการเงินในยุโรปที่ส่อเค้าลางลุกลามไปยังสหรัฐในไม่ช้า
ขณะที่ อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) เชื่อเช่นกันว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลดลง 0.5 % แต่จะไม่ลดต่ำลงไปกว่านี้ เพราะยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในอนาคต
การคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ประจำชนิดพิเศษอายุ 5 เดือน ลง 0.25 % จาก 3.5 % เป็น 3.25 % วันเดียวกัน ธนาคารทหารไทยก็ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก up & up ลง 0.125 % จาก 4 % เป็น 3.375 % และตั๋วแลกเงินอายุ 12 และ 36 เดือน ปรับลดลง 0.25 % จาก 4 % เป็น 3.75 %
จริงอยู่ที่ดอกเบี้ยขาลงอาจเอื้ออำนวยต่อภาคการลงทุนในโครงการต่างๆที่จำ เป็นต่อการฟื้นฟูประเทศ แต่ในมุมกลับกันบรรดานักลงทุนหรือผู้ฝากเงินก็จะได้รับผลกระทบจากผลตอบแทน ที่ลดลงไปด้วย ทำให้ต้องหันไปลงทุนเงินฝากหรือพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น
ปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤตในยุโรปที่ยังทรงๆทรุดๆ บวกกับปัจจัยภายใน ที่กำลังมีความเสี่ยงใหม่เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งตัว จากปัญหาการเมืองที่เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง ทำให้เศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่สิ่งที่แน่นอนในขณะนี้คือคนไทยคงจะต้องอยู่กับดอกเบี้ยขาลงต่อไปอีกนานพอ ตัว
อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลงย่อมหมายถึงต้นทุนของผู้ประกอบการ ต้นทุนของประชาชนลดลงตามไปด้วย เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อให้เพิ่มมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนลดลง ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี