อเมริกากับการรักษาวินัยทางการคลัง
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.คณะกรรมการร่วมที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลสหรัฐเพื่อลดหนี้สาธารณะประกาศว่าคณะกรรมการฯ (ซึ่งสื่อตั้งชื่อว่า Super Committee)
ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้การลดหนี้สาธารณะของสหรัฐต้องเข้าสู่กระบวนการตัดงบประมาณอัตโนมัติ (sequestration) เป็นเวลา 10 ปีเริ่มต้นในปี 2013 โดยจะตัดงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การตัดงบประมาณดังกล่าวจะกระทบกระทรวงหลักๆ ทุกกระทรวงของสหรัฐ เช่น กระทรวงกลาโหมจะต้องตัดงบประมาณประมาณ 6 แสนล้านเหรียญ แม้แต่กระทรวงที่สำคัญๆ เช่น กระทรวงศึกษา กระทรวงเกษตรและกระทรวงสิ่งแวดล้อมก็จะถูกเฉือนงบประมาณลง 8% ต่อปี ที่ได้รับยกเว้นคืองบประกันสังคม งบช่วยเหลือทหารผ่านศึก เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และงบรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Medicaid) และผู้สูงอายุ (Medicare) ก็ยังถูกเฉือน 2%
งบประมาณที่ถูกตัดทอนลงนั้นแม้จะเริ่มในปี 2013 แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณีของกระทรวงกลาโหมนั้นทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการระยะยาว (รวมทั้งการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์) นั้นจะต้องถูกตัดทอนมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นก็ยังอาจทำให้กระทรวงกลาโหมต้องลดกองพลและ/หรือปิดฐานทัพบางแห่งก็ได้ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจของมลรัฐต่างๆ ในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงกำลังมีความเคลื่อนไหวในหมู่ของผู้แทนราษฎรบางคนให้ออกกฎหมายยับยั้งการปรับลดงบประมาณดังกล่าว แต่การทำเช่นนั้นก็จะถูกต่อต้านได้ทั้งจากฝ่ายขวาที่ต้องการรักษาวินัยทางการคลังอย่างแท้จริงหรือจากประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งมองว่าการที่คณะกรรมการร่วมไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็เพราะพรรครีพับลิกันไม่มีความจริงใจในการยอมรับการขึ้นภาษีที่เก็บจากคนรวย จึงจะไม่ยอมให้ฝ่ายรีพับลิกันลดการสูญเสียงบประมาณของบางหน่วยงานเช่นกัน นอกจากนี้การแก้เงื่อนไขการลดงบประมาณให้เจือจางลงทำให้เสี่ยงที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับ (Moody’s, S&P และ Fitch Rating) ซึ่งจะสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจและการรักษาวินัยทางการคลังของสหรัฐ
หากดูจากผลสำรวจความเห็นของประชาชนสหรัฐจะเห็นว่า ประชาชนแสดงความเหนื่อยหน่ายกับการเล่นการเมืองของนักการเมืองสหรัฐอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวคือประชาชนเพียง 20% เท่านั้นที่ยังพึงพอใจกับการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการเมืองในสหรัฐจะมีแต่การต่อสู้เพื่อเอาแพ้เอาชนะกันอย่างไม่ลดละต่อไปอีก 1 ปีจนกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาจะเสร็จสิ้นลงในต้นเดือนพ.ย.ปี 2012 ประเด็นคือประธานาธิบดีโอบามาไม่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ความนิยมตกต่ำลงเหลือ 40% และจากประสบการณ์ในอดีต ประธานาธิบดีที่เผชิญปัญหาการว่างงานสูงกว่า 8% (ปัจจุบันการว่างงานอยู่ที่ 9%) จะแพ้การเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง ดังนั้นฝ่ายรีพับลิกัน ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้วจึงคาดหวังไว้สูงว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะสามารถรักษาฐานเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้และน่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตลอดจนอาจจะได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาอีกด้วย ในส่วนของเดโมแครตนั้นก็ต้องต่อสู้อย่างเต็มพิกัด โดยสร้างภาพว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สะดุดตัวมาโดยตลอดนั้นเกิดจากจุดยืนของฝ่ายรีพับลิกันที่ต้องการปกป้องคนรวยและไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายบริหารเพื่อลดความน่าเชื่อถือและความนิยมชมชอบในตัวประธานาธิบดีโอบามา
กล่าวโดยสรุปคือการเมืองของสหรัฐนั้นกำลังทำให้หลายคนหมดหวังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของสหรัฐ เราเคยแต่มองสหรัฐว่าเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกๆ ด้าน แต่มาวันนี้เราเห็นการเมืองของสหรัฐตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งที่กำลังบั่นทอนอนาคตของเศรษฐกิจและยังมองไม่เห็นทางออกใน 1 ปีข้างหน้า โดยบางคนอาจคาดหวังว่าเมื่อผ่านการเลือกตั้งในปี 2012 แล้ว การเมืองจะสงบนิ่งและความแตกแยกต่างๆ ลดลง ทำให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากนักการเมืองกลุ่มเดิมได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก ปัญหาความขัดแย้งก็อาจดำเนินไปเช่นเดิม คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นหากปัญหายืดเยื้อต่อไป?
หากหันมาดูตัวเลขที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะต้องบอกว่าปัญหาของสหรัฐนั้นไม่ได้แตกต่างจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปมากนักดังที่นาย Barton Biggs ผู้บริหารกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ที่เป็นที่รู้จักกันดีเคยกล่าวว่าสหรัฐก็กำลังเดินบนเส้นทางเดียวกันกับยุโรปในการเข้าไปสู่ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ กล่าวคือการตัดลดงบประมาณ 1.2 ล้านล้านที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2013 นั้นที่จริงแล้วเป็นการตัดงบประมาณที่ไม่เพียงพอ เพราะในปีงบประมาณ 2011 ที่เพิ่งผ่านไปนั้นรัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้นที่จะตัดงบประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญใน 10 ปีข้างหน้านั้นจะมีส่วนการแก้ปัญหาการขาดดุลเพียง 10% เท่านั้น
ที่สำคัญคือปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐมีหนี้สาธารณะรวมทั้งสิ้น 15 ล้านล้านเหรียญหรือเท่ากับจีดีพีของสหรัฐแล้ว แต่สถิติสหรัฐจะแจ้งว่ามีหนี้สาธารณะที่ถือโดยประชาชนเพียง 9 ล้านล้านเหรียญเพราะอีก 6 ล้านล้านเหรียญนั้นถือโดยกองทุนประกันสังคมเป็นหลัก อย่างไรก็ดีระบบรัฐสวัสดิการของสหรัฐ ประกอบกับการแก่ตัวลงของประชากรทำให้กองทุนประกันสังคมในอนาคตจะมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ดังนั้นกองทุนประกันสังคมจะต้องขายพันธบัตรทั้งหมดออกมาในระยะยาว หมายความว่าหากรัฐบาลสหรัฐยังขาดดุลงบประมาณต่อไปปีละ 1 ล้านล้านเหรียญและกองทุนประกันสังคมก็ต้องขายพันธบัตรออกมาเช่นกัน แล้วใครจะเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ? (กล่าวคือใครจะมาเป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลสหรัฐ?)
หมายความว่าสหรัฐยังไม่ได้เริ่มแก้ปัญหาหนี้สาธารณะเลยและนับวันปัญหาก็มีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การขาดดุลงบประมาณปีละกว่า 1 ล้านล้านเหรียญนั้นหมายถึงการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น (ให้กับลูกหลานของคนอเมริกัน) วันละ 3.56 ล้านเหรียญหรือ 148 ล้านเหรียญต่อชม. ซึ่งจะไม่สามารถทำไปได้นาน หากจะมองอีกด้านหนึ่งก็คือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐสร้างหนี้เท่ากับ 30% ของจีดีพีเพียงเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ถึง 2% ต่อปี แม้แต่ในปีนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ก็ขยายตัวได้เพียง 2.5% เพื่อแลกกับการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น 8% ของจีดีพี
คำถามที่ตามมาคือหากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัจจัยพื้นฐานที่ย่ำแย่ดังกล่าวข้างต้นทำไมเศรษฐกิจสหรัฐจึงยัง “ดูดี” กว่าเศรษฐกิจยุโรปอย่างมาก ตรงนี้ผมขอตอบในเบื้องต้นว่ามีเหตุผลเฉพาะหน้า 2 เหตุผลคือ 1.เจ้าหนี้ของสหรัฐยินยอมให้รัฐบาลกู้เงินได้อย่างไม่อั้นที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและ 2.ธนาคารกลางสหรัฐแสดงท่าทีว่าพร้อมจะพิมพ์เงินให้รัฐบาลสหรัฐใช้อย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งประเด็นดังกล่าวตลอดจนการวิเคราะห์เปรียบเทียบสหรัฐกับยุโรปผมจะขอเขียนถึงในครั้งหน้าครับ
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี