"Occupy Wall Street" การต่อต้านยุคใหม่
โดย : วิวรรณ ธารหิรัญโชติ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปรากฏการณ์หนึ่งที่ดิฉันอยากจะเขียนถึงมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังหาโอกาสไม่ได้ วันนี้จึงถือโอกาสเขียนถึง
เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวใหญ่ที่น่าสนใจ ใช่แล้วค่ะ วันนี้จะเขียนถึง Occupy Wall Street หรือ “การยึดครองวอลล์สตรีท”
วอลล์สตรีท เป็นถนนเส้นสั้นๆ สายหนึ่งในมหานครนิวยอร์กที่นักเรียนการเงินทุกคนอยากไปถ่ายภาพกับป้ายถนน ดิฉันเองก็ไปถ่ายมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกในสมัยไปฝึกงานที่ธนาคารกสิกรไทยสาขานิวยอร์กเมื่อปี 2527
วอลล์สตรีท เป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นนิวยอร์ก หรือ New York Stock Exchange ชื่อย่อ NYSE ซึ่งปัจจุบันมี NYSE Euronext เป็นเจ้าของ ตลาดหุ้นแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เลขที่ 11 ถนนวอลล์ สาเหตุที่เรียกชื่อถนนว่าถนนกำแพงก็เพราะว่า ที่ดินแถบนี้ราคาแพง ตึกที่สร้างจึงต้องสร้างสูงๆ และเมื่อตึกสูงๆ มาอยู่ใกล้ๆ กัน แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น ถนนจึงเสมือนหนึ่งมีกำแพง (ผนังของตึก) มากั้น
เนื่องจากเป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี่เอง ถนนสายนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
การประท้วงที่มีชื่อเริ่มต้นว่า “Occupy Wall Street” หรือ “การยึดครองวอลล์สตรีท” เริ่มในวันที่ 17 กันยายน 2554 โดยกลุ่มผู้เริ่มต้น มีวัตถุประสงค์ที่จะประท้วงผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกล่าวหาว่าตลาดทุนก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้งหลายครา โดยในบางกลุ่มย่อยอาจจะมีการแถมๆ ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีปัญหาในช่วงปี 2008 และรัฐต้องเข้าไปอุ้มด้วยการช่วยเพิ่มทุนให้ ไม่ควรจะจ่ายโบนัสให้ผู้บริหารในอัตราที่สูงเกินไป ในขณะที่คนร้อยละ 9 ของประเทศ ยังว่างงานอยู่
กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงในอียิปต์และตูนิเซีย โดยรวมตัวกันที่ ลิเบอร์ตี้สแควร์ซึ่งเป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ใกล้ๆ กับถนนวอลล์ กลุ่มนี้แจ้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการประท้วงมหาเศรษฐีซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1% ของประชากร แต่เป็นผู้ออกกฎกติกามากำกับเศรษฐกิจของโลก
เมื่อข่าวการประท้วงนี้ออกไป ผู้คนในเมืองใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก ก็มีการรวมตัวกันแสดงจุดยืนคล้ายๆ กัน โดยใช้ชื่อ Occupy ตามด้วยชื่อเมือง เช่น Occupy (Washington) D.C., Occupy Seattle, Occupy Seoul, Occupy Madrid ฯลฯ ต่างกันเพียงแต่ว่า กลุ่มคนในประเทศอื่นๆ สลายตัวหลังจากสิ้นวัน แต่กลุ่มผู้ประท้วงในเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในสหรัฐอเมริกานอนค้างคืนกันตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้
ทางเทศบาลนครนิวยอร์กได้ออกมาเตือนแล้วว่า การกางเต็นท์นอนในช่วงที่อากาศเริ่มหนาวเย็น เพราะเข้าสู่ฤดูหนาว อาจจะทำให้ผู้ประท้วงเจ็บป่วยได้ แต่ผู้ประท้วงก็ยืนหยัดที่จะประท้วงต่อไป โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนส่งเงินบริจาคมาเพื่อเป็นค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ประท้วงวันละ 3 มื้อ และหลายๆ คนมีเครื่องทำความร้อนในเต็นท์
ก่อนหน้านี้ นอกเหนือจากความสนใจจากสื่อมวลชนที่มาถ่ายภาพการประท้วงเป็นครั้งคราว ต้องถือว่าการประท้วงไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากนัก แม้ว่าจะมีคนในเมืองอื่นๆ ประท้วงตาม เนื่องจากการประท้วงครั้งนี้แตกต่างจากการประท้วงอื่นๆ ที่มักจะมีข้อเรียกร้อง แต่การประท้วงครั้งนี้ไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ไม่มีแกนนำ และไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรคือเงื่อนไขที่จะทำให้หยุดประท้วง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ประท้วงประกาศจุดยืนที่ชัดเจนขึ้น มีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อสื่อสารถึงจุดยืน หาแนวร่วม และประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มในเมืองต่างๆ ของโลกมากขึ้น
ดิฉันมองว่า Occupy Wall Street เป็นการรณรงค์มากกว่าการประท้วง ดังนั้นจึงไม่ได้มีข้อเรียกร้องต่อรองอะไร เป็นรูปแบบการรณรงค์ยุคใหม่ ที่มีลักษณะเหมือนการประท้วงที่ยาวนาน การประท้วงนี้เป็นการแสดงออกเพื่อต้องการให้คนทั่วไปหันมาสนใจเรียกร้องสิทธิต่างๆ มากขึ้น ทั้งสิทธิของผู้บริโภค สิทธิของประชาชน และสิทธิของลูกจ้างที่พึงมี รวมถึงต่อต้านผู้ที่ทำธุรกิจแบบไม่ยุติธรรมและเอาเปรียบ
ในโลกของการลงทุน หากผู้ลงทุนเลือกที่จะลงทุนเฉพาะในกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจะถือว่าการลงทุนของเขาเป็น Socially Responsible Investment (SRI) ซึ่งมีบทบาทในโลกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแรงผลักดันจากทั้งภายในและภายนอก
แรงผลักดันภายใน เกิดจากการที่ผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเห็นว่า การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และชื่อเสียงของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาไว้ สำหรับแรงผลักดันจากภายนอก เกิดจากการที่สังคมเริ่มมีช่องว่างทางรายได้มากขึ้น คนในยุคปัจจุบัน มีความอดทนต่อสิ่งต่างๆ น้อยลง และสังคมของโลกออนไลน์ทำให้มีการเปิดโปงและจับผิดในเรื่องต่างๆ มากขึ้น บางเรื่องที่ในอดีตเคยปกปิดได้หากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน ก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
ดังนั้น แนวทางเดียวในการบริหารจัดการของบริษัทในยุคนี้ คือการมีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนเอง ต่อลูกค้า ต่อพนักงานและแรงงาน ต่อคู่ค้า และต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงต่อโลกและชาวโลกด้วย
ในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นวันขอบคุณพระเจ้าหรือ Thanksgiving Day กลุ่มผู้ประท้วงได้แจกจ่ายอาหารเลี้ยงฉลองวันขอบคุณพระเจ้า และในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน หลังจากวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมในสหรัฐอเมริกาว่าจะเป็นวันที่ร้านค้าเริ่มลดราคาเพื่อให้ลูกค้ามาซื้อของขวัญสำหรับวันคริสต์มาสหรือที่เรียกกันว่า “Black Friday” เพราะร้านค้าจะดำมืดไปด้วยผู้คนที่เบียดเสียดกันเข้าไปซื้อของนั้น ผู้ประท้วงรณรงค์ให้สมาชิกผู้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้งดซื้อของเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยใช้ชื่อว่า “วันงดซื้อ” หรือ “Buy Nothing Day” และรณรงค์ให้ประเทศอื่นๆ ในโลกงดการซื้อของในวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน ด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงในนิวยอร์ก ที่ออกเดินทางด้วยเท้าเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ได้เดินทางไปถึงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้วในวันศุกร์ที่ 25 เช่นกัน การเดินทางนี้ก็เพื่อประกาศให้คนตื่นตัวเรื่องการประท้วงในวงกว้างขึ้น
ทุนนิยมไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือเลวร้าย แต่กิจการที่จะ "ซื้อใจ" ผู้บริโภค คู่ค้า สังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ได้ดี และสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกเหนือจากการรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ต่อพนักงานของตน ต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสังคมโดยรวมด้วย ซึ่งเชื่อว่าองค์กรต่างๆ ของไทย ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องดูอื่นไกลค่ะ น้ำท่วมครั้งนี้เราก็ได้เห็นองค์กรและธุรกิจต่างๆ ออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยกันอย่างเข้มแข็ง
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี