79ปี'รัฐธรรมนูญไทย' รัฐประหาร ฉุดประชาธิปไตย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีส่วนอย่างสำคัญในการร่างถือเป็นธรรมนูญฉบับแรกและเป็นฉบับชั่วคราว ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 เดือน 13 วัน
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 13 ปี 5 เดือน ระหว่าง 13 ปี 5 เดือนนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศจาก“สยาม” เป็น “ไทย” ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น “รัฐธรรม-นูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ไปด้วย
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2483 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาลซึ่งเสนอโดยขุนบุรัสการกิตติคดี (เหมือน บุรัสการ) ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อันมีผลให้บทเฉพาะกาลซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นอย่างช้า ยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้สามารถขยายเวลาอยู่ในตำแหน่ง ผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละ 2 ปี
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2489 และยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร อันมี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุน เป็นหัวหน้า
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 5 เดือน 28 วัน
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน ระหว่าง 1 ปี 4 เดือน 14 วันนี้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 แก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 35 ปี และให้ พระบรมวงศานุวงศ์สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2491 แก้ไขกำหนดเวลาในการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและร่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2491 แก้ไขให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีเอกสิทธิ์และคุ้มกัน เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 และยกเลิกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยการ รัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน
7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 9 ปี 4 เดือน 20 วัน
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหารซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า
เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างยาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน แต่มีอายุในการประกาศและบังคับใช้เพียง 3 ปี 4 เดือน 27 วัน
9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน
10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 และยกเลิกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี
11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิวัติ” ซึ่งมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นหัวหน้า
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี
12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้ธรรมนูญ ฉบับใหม่ คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521” อันเป็นธรรมนูญฉบับที่ 13
13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 โดยผลจากข้อกำหนดในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร หากไม่นับบทบัญญัติเฉพาะกาลที่มีผลใช้บังคับอยู่ในช่วง 4 ปีแรกของการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ฉบับนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2528
14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยได้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เป็นรัฐ-ธรรมนูญที่ตราขึ้นเพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 โดยมีการแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 4 ครั้ง 6 ฉบับ
รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 ปี 10 เดือน 3 วัน
16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับฉบับที่สั้นที่สุดคือฉบับที่1 พระราชบัญญัติการปกครอง แผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน ฉบับที่ยาวที่สุดคือฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 15 ปี 6 เดือน
17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน39 มาตรา โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้
18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตราช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ"
การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57.81%ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 42.19% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
เปิดมุมมองนักวิชาการ79ปีรัฐธรรมนูญไทย
โดย : พิรอบ แต้มประสิทธิ์, สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี
10ธันวาคม นักวิชาการสะท้อนมุมมองที่หลากหลายต่อรัฐธรรมนูญไทย ที่นับตั้งแต่ประกาศใช้ฉบับแรกถึงฉบับปัจจุบันรวม 79 ปีแล้ว
คณะราษฏร์ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จนมาถึงขณะนี้เป็นเวลา 79 ปีที่แล้วที่ประเทศไทยมีกฏหมายรัฐธรรมนูญใช้เป็นกฎหมายหมายสูงสุดในการ ปกครองประเทศ ที่มีความหวังจะให้ประชาชนมีอำนาจที่แท้จริง
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์"ในการพัฒนากลไกทางการเมืองก่อนมีการถก เถียงถึงการแก้กฏหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อทำความใจกัน ต้องยอมรับว่า"กฏหมายรัฐธรรมนูญ" คือการสะท้อนความสัมพันธ์ภาพทางอำนาจของสังคม ที่ระบุในกฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางอำนาจของกลุ่มคนในช่วงนั้นๆ
วันนี้ (10ธ.ค.) รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า พัฒนาการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มี"พระเจ้าแผ่นดิน"เมื่อวัน ที่ 24 มิถุนายน 2475 มาเป็นราชอาณาจักรประชาชนมีอำนาจนั้น จนถึงปัจจุบัน พัฒนาการตามตัวอักษรที่ว่าจะให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุดยังไม่ปรากฏมีอำนาจจริง ที่ว่าประชาชนสามารถจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดเจตจำนงค์ได้
ดร.กิตติศักดิ์ เห็นว่าพรรคการเมือง ทำงานขึ้นตามผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลในพรรคการเมือง ยังไม่ขึ้นตามเสียงของสมาชิกพรรคได้จริง เห็นได้จากที่ผ่านมา ไม่ว่าทหาร หรือว่ากลุ่มคนที่มีอิทธิพล มีอำนาจในพรรคการเมือง กลุ่มคนเหล่านี้ ยังอ้างมาจากประชาชนทั้งนั้น ซึ่งไม่ได้มากำหนดเรื่องราวทางการเมือง ที่ทำให้เกิดจากประชาชนมีอำนาจจริง
"ผู้มีอำนาจทางการเมืองยังไม่ได้สะท้อนทางการเมือง ที่จะให้ประชาชนมีอำนาจตามที่มันควรจะเป็น"ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว
ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังประกาศใช้แล้วควรให้ผ่านเป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ปัจจุบันมีคนเสนอให้แก้แล้ว ดังนั้นในประเด็นนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องอ่านให้ชัดเจน เหมือนว่ารัฐธรรมนูญแบบนี้เป็น"ลูกเมียน้อย" เหมือนมีข่าวว่ามีคนขมขืน แล้วจับคนๆนั้นไปประหารชีวิต หรืกรณีแก้เรื่องปัญหายาเสพติด แล้วก็ไปเพิ่มโทษ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องดูว่าปัญหาการปกครองของเรามีปัญหาอะไรต้องว่าไปตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
"รัฐธรรมนูญปี 50ทีดีก็มีหลายเรื่อง การปฏิรูปกลไกทางการเมือง โดยเฉพาะการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน เพราะหากไม่เป็นของประชาชน ก็ไม่มีอำนาจสูงสุดขึ้นมาได้ "ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว
ดังนั้นเห็นว่ารธน.ปี 50 มีกลไกลของการปฏิรูปอยู่มาก ทั้งระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง และสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานโดดเด่น แต่จะใช้บังคับกันอย่างไรมีคนพูดกันน้อยมาก เช่นฐานความผิดพระบรมเดชานุภาพ มีคนเสนอแก้มาตรา 112 ตรงนี้เรื่องการคุ้มครองกับเรื่องเสรีภาพมีความสัมพันะกันอย่างไร ไม่มีใครพูดถึง
ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจ กลไกทางการเมือง เสียงชี้ขาดะปัจจุบันคะแนนมาจากเขตเลือกตั้ง ยังไม่ใช่มาจากส.ส.สัดส่วน ดังนั้นการชนะเขตเลือกตั้งมีข้อบกพร่องอีกมาก และกรณีพรรคการเมืองทำอย่างไรไม่ให้คนส่วนน้อย เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ทำอย่างไรให้ประชาชนมาเป็นเจ้าของพรรค จ่ายค่าบำรุงพรรคตามรายได้ แต่จ่ายในสัดส่วนที่ต่างกัน ยังไม่มีสัดส่วนการจ่าย ปล่อยให้ผู้มีเงินมีอำนาจเป็นเจ้าของพรรค จากนั้นตั้งก๊วนกันขึ้นมา ไปซื้อหัวคะแนน เสียงจากประชาชน ซึ่งอันนี้ไม่ได้สะท้อนประชาธิปไตย
พรรคการเมืองไม่ได้เป็นของสมาชิกพรรค ดังนั้นใครมาเป็นส.ส.ต้องมาจากฐานเสียงของพรรคนั้น ท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่สมาชิกพรรคยินยอมพร้อมใจ ซึ่งตรงนี้ต้องระบุในกกหมายเลือกตั้ง
ส่วนการแก้รัฐะรรมนูญต้องแก้สัดส่วนไม่ใช่มาจากส.สงเขตที่สะท้อนเสียงข้าง มาก ขระที่เรื่องสิทะ เสรีภาพ ไม่ต้องแก้ต้องทำให้เป็นจริง และในรัฐธรรมนูญปี 50ก็มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใครสนใจ
"กรรมการพัฒนาการเมืองมีแล้ว กรรมการปฏิรูปกฏหมายมีแล้ว แต่กรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีนี่คือที่คนยังไม่ค่อยกล่าวถึง และให้ควมสนใจ" ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว
ดึงดันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญวิกฤติของประเทศจะยังอยู่
ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า หากรัฐบาลยังดึงดันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญวิกฤติของประเทศจะยังคงมีอยู่ ดังนั้นรัฐบาลควรปรับท่าที เพราะหากดึงดันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปอาจมีความเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า และทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้
โดยหากนักการเมืองบริหารประเทศแล้วทำให้เกิดสถานการณ์ไม่สงบจะกลายเป็น เหยื่อและมีคนอ้างเข้ามา ที่จะส่งผลให้ประชาธิปไตยต้องสะดุดอีกครั้ง ดังนั้นหากจะรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ให้ได้ผู้บริหารต้องบริหารประเทศให้ เกิดความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน
วิกฤติของประเทศไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ
นายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า วิกฤติของประเทศไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ วันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกโยงไว้กับเกมการเมือง การดึงดันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ช่วยอะไร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะกระบวนการดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรียังคงเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องกลับมาพิจารณาถึงสาระ สำคัญของรัฐธรรมนูญ
"ปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มักเกิดขึ้นโดยตรงและมีผลกระทบต่อฝ่ายการเมืองและองค์กรอิสระ หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรต้องให้ความสำคัญและมีความชัดเจนกับเนื้อหา สาระ โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเมืองและองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ยังเป็นแค่เกมการเมือง ยังไม่ถึงกับทำให้เกิดวิกฤติของชาติ แต่ถ้ายังดึงดันจะแก้ให้ได้ก่อนที่คดี พ.ต.ท.ทักษิณจะจบ เชื่อว่าจะมีวิกฤติเกิดขึ้น"
ต้องเลิกเชื่ออาจารย์บางคนว่ายุบสภาผิดกฎหมาย
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ระยะที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมถูกถามเรื่องการเมืองมาก และคิดว่าจะตอบอย่างไรไม่ให้มีปัญหา มีอยู่ 2 ประเด็นคือ
1.การออกนอกระบบ และ 2.การออกในระบบ โดยเหตุการณ์ขณะนี้รู้สึกคล้ายกับว่าเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ภาค 2 แต่เป็นเรื่องที่กินลึกและมีความขัดแย้งมากกว่าปี 2519 ที่เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ซ้ายกับขวา ที่เรียกว่าขาวพิฆาตซ้ายที่ถือเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์จริงๆ จึงสามารถมีทางออกได้ และสุดท้ายสังคมก็จะถอยกลับมาสู่จุดปกติได้
ทั้งนี้ ในสังคมไทยวันนี้เมื่อเทียบกับปี 2519 เป็นสภาวะที่สังคมแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน จนเป็นปรากฏการณ์ขวาพิฆาตขวา ถ้าเราแยกกลุ่มการเมือง 2 ฝ่าย โดยมองจากสื่อเอเอสทีวี และพีทีวีแล้ว จะพบว่าเป็นการต่อสู้ของขวาทุนนิยม สู้กับขวาจารีตนิยม มีองค์ประกอบ 3 อย่างดังนี้
1.ขวาทุนนิยมมีประชานิยมมีเงินเป็นแกนกลางของความคิด 2.ทุนนิยม การพัฒนาเศรษฐกิจ และ 3.ความโลกาภิวัตน์ ทั้ง 3 คือองค์ประกอบตามคำของศาสนาพุทธ คือ ไตรสรณคม อยู่กับอุดมการณ์ 3 เรื่องใหญ่
จารีตนิยม คือ อุดมการณ์ใน 3 ส่วนหลัก คือ จารีตนิยม ชาตินิยมบวกกับความคิดใหม่ คืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในสังคมละตินอเมริกา ทหารในละตินอเมริกาเหนือหรือใต้ที่แทรกแซงการเมืองมากๆ มีแกนนำกลางของอุดมการณ์ชุดหนึ่ง เป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเกี่ยวโยงกับศาสนาคริสต์ หรือเกี่ยวพันกับชนชั้นสูงที่มีอิทธิพลในละตินอเมริกาที่ไม่ใช่ชนพื้นเมือง
กระแสพวกนี้ออกมาคือการไม่รับการเมืองจากการเลือกตั้ง มองการเลือกตั้งเป็นลบ เห็นแต่ด้านร้ายของการเลือกตั้ง และมองว่าผู้นำทหารมีสถานะทางศีลธรรมสูงกว่าผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำกองทัพ มีศีลธรรมสูงกว่าผู้นำพรรคการเมือง
ทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่า นักการเมืองคอร์รัปชั่นมาก เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว รวมถึงวลีที่ใช้ในละตินอเมริกาคือนักการเมืองทำลายชาติ ดังนั้นต้องให้ใครเข้ามาจัดการต้องให้พลังอำนาจที่เป็นกลาง และเชื่อว่าโดยวิธีคิดชุดนี้พลังอำนาจที่ผู้นำทหารเข้ามาจัดการ กระแสเช่นนั้นลองนึกดูเข้าเมืองไทยแต่ไม่มีชุดคำอธิบาย ซึ่งเห็นได้ชัดจากการรัฐประหารปี 2534 จะเห็นลักษณะวิธีคิดที่ต่อต้านการเมืองจากเลือกตั้งเยอะมาก วันนี้เราต้องเห็นกัน พูดง่ายๆ ขวาวันนี้มองอุดมการณ์ชุดขวาด้วยสีเฉดเดียวไม่ได้
อีกกระแสหนึ่งมากับเรื่องที่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นเรื่องใหญ่คือ การก่อกระแสลัทธิชาตินิยม ซึ่งสังคมไทยมีการก่อกระแสชาตินิยมมาเป็นระยะตั้งแต่ปี 2544 ที่เกิดวิกฤตการณ์แนวชายแดนไทย-พม่า ทำให้เข้าสู่สงคราม ซึ่งจะมีเหตุการณ์คู่ขนานคือ มีภาพยนตร์บางระจัน ยาชูกำลังชุดไทยรบพม่า รวมถึงละครเรื่องอติตา เป็นการเคลื่อนของกระแสชาตินิยม เราเอาเพื่อนบ้านเป็นจำเลย เอาสงครามในอดีตอยุธยากับพม่า
จากนั้นก็มีอีกหลายเหตุการณ์ ซึ่งเพื่อนบ้านก็มีปฏิกิริยาคล้ายๆ กับเรา ปัญหาล่าสุดปราสาทพระวิหารเป็นของใคร เราจะเห็นการก่อกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้น ดูเหมือนกับว่าเราแทบไม่รับรู้เลย ว่าเรื่องนี้มีคำตัดสินที่ชัดเจนแล้วในอดีต วันนี้สังคมไทยต้องตั้งหลักอย่าเป็นสังคมที่สนุกกับเรื่องลี้ลับ จนเชื่อแต่แผนที่ลับและข้อมูลลับ โดยไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริง
สิ่งที่เราต้องคิดคือกระแสขวาพิฆาตขวาตกลงจะจบอย่างไร สมมุติถ้าคิดแบบสุดโต่ง คือ ขวาพิฆาตขวารอบนี้ต้องมีสงครามกลางเมือง แต่ต้องบอกว่าต่างจากปี 2519 มาก เพราะกระแสที่เกิดมันไหลลงไปถึงประชาชนจริงๆ ถ้าเอาเหตุการณ์หน้าและในธรรมศาสตร์เป็นคำตอบ ผมคิดว่าถ้าเกิดสงครามกลางเมืองรอบนี้จะใหญ่กว่า จบด้วยสงครามการเมือง หรือหากมองในระดับที่ต่ำลงมาเกิดจลาจลขนาดใหญ่ ถ้าคุมไม่ได้ก็จะกลายเป็นสงครามกลางเมืองอีกเหมือนกัน
' วันนี้เหลืออีกทางหนึ่ง เราต้องเอาสติตั้งหลัก คิดให้ดี ถอยการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติได้มั้ย ให้รัฐสภาเป็นรัฐสภา ให้รัฐบาลเป็นรัฐบาล ให้ศาลเป็นศาล แต่โดยหลักประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นสังคมไทยจะสร้างทฤษฎีที่ไม่มีนักรัฐศาสตร์ที่ไหนเขารับ ''
พื้นฐานของระบบประชาธิปไตย คือ การตรวจสอบการถ่วงดุล แต่วันนี้การตรวจสอบแต่เกินดุล ถ้าสถาบันการเมือง 3 ส่วน นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ถ้าทุกอย่างดำเนินการภายใต้การให้สถาบันตุลาการมีอำนาจสูงสุด ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องมีปัญหาในเชิงความคิดพอสมควร ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออนาคตสังคมไทย เอาข้อเสนอบนท้องถนนแปลงเป็นนโยบายทางการเมือง ถ้าสังคมเลือกตั้งชนะก็ดำเนินนโยบายอย่างนั้น นี่ต่างหากคือทางออก ถ้าลงเหวรอบนี้ลงกันหมด เพราะวันนี้มองกันทางเศรษฐกิจ ไม่ขยับเดินหน้า แต่เพื่อนบ้านเดินหน้า ก็เท่ากับเราถอยหลัง วันนี้สุดท้ายเหลืออย่างเดียวถามประชาชน
ถ้าถามผมดีที่สุดคือ ยุบสภา ต้องตระหนักว่าในทฤษฎีรัฐศาสตร์ไม่มีคำว่าการเมืองตัน และคิดว่าเวลาการเมืองตันเหมือนท่อตัน พอท่อตันก็เอาทหารมาเป็นเทศบาลคือล้างท่อ
แต่ต้องคิดว่าการเมืองในทุกประเทศไม่ตัน เพราะฝ่ายบริหารมีอำนาจบริหาร 2 อย่างในมือ คือ 1.ปรับ ครม.และ 2.ยุบสภา ต้องเลิกเชื่ออาจารย์บางคนว่า การยุบสภาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ต้องคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน แปลงเป็นนโยบายทางการเมืองสู้กันในระบบ
ผมยืนยันว่าสุดท้ายพวกเราต้องสร้างบ้านประชาธิปไตยไทย อย่าคิดว่ามีปัญหาแล้วคิดด้วยกระบวนคิดที่หนักที่สุด มีปัญหาทีไรก็รื้อบ้านทุกที เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นสุดท้ายทหารเป็นกรรมกรรื้อบ้าน
การเสนอตัดมาตรา237/309คือชนวนความขัดแย้ง
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาเหตุของความขัดแย้งที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2549 คือ การใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ไม่ได้แก้ปัญหานี้ แต่กลับทำให้ประเทศไทยถลำลงไปในหลุมลึก และรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มิได้ทำให้ประเทศไทยขึ้นมาจากหลุมนี้ได้ เพราะมีที่มาจากการยึดอำนาจ ทำให้คนอีกฝ่ายไม่ยอมรับ จึงแก้ความขัดแย้งไม่ได้
สำหรับชนวนที่จะนำไปสู่การแตกหักและเหตุการณ์นองเลือด เห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญคือ 'สัญญาประชาคม' ของชนชาติหนึ่งที่ตกลงปลงใจที่จะปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย และเป็นกติกาสูงสุดที่ใช้ในการปกครอง รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องเป็นการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การแก้ความขัดแย้ง ไม่ใช่แก้ไขแล้วยิ่งขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่มุ่งตัดมาตรา 237 และมาตรา 309 ทิ้ง จึงไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และในที่สุดจะเป็นชนวนที่นำไปสู่การแตกหักและเหตุการณ์รุนแรงในที่สุด และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขให้ได้จริงๆ ก็จะแก้ไขไม่สำเร็จ เพราะการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ อาจจะทำให้เสียงของพรรคประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เป็นปึกแผ่นเหมือนใน ตอนต้น
ในส่วนของทางออกของสังคมไทยจากความรุนแรงและเหตุการณ์นองเลือดนั้น ถ้าปล่อยให้กระแสความรุนแรงพาไป และมีการเติมเชื้อความรุนแรงลงไปเรื่อยๆ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ สังคมไทยยากจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดในอนาคตอันใกล้ และถ้าเกิดขึ้นมาแล้วสังคมไทยจะยิ่งถลำลึก และเสียหายในระยะยาว แต่เหตุการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด นั่นหมายถึงว่าเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนอนาคตอันไม่พึงปรารถนาเช่นนั้นได้ ซึ่งเราอาจจะมีทางออกดังต่อไปนี้
การรักษากติกาไม่ใช้ความรุนแรง กล่าวคือ สังคมไทยต้องพร้อมใจกันปฏิเสธความรุนแรงและการนองเลือด โดยต้องแสดงออกทุกรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยง และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายต่อต้านต้องยึดมั่นในกติกาไม่ใช้ ความรุนแรง ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิในการชุมนุม แต่ต้องยึดมั่นกติกา ตำรวจต้องเป็นคนคุมกติกาและรักษากฎหมายไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน ใครละเมิดกติกานี้ คนนั้นคือคนผิด และหากเกิดความรุนแรงรัฐบาลจะไปไม่รอด
จากเหตุการณ์นองเลือดสามเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่เคยมีรัฐบาลไหนอยู่ได้เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงมากไปกว่านี้
การตัดชนวนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.ชนวนของเหตุการณ์รุนแรงคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และมาตรา 309 รัฐบาลจึงต้องยุติการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาล 2.คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ควรเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สาธารณชนได้พิจารณาก่อนที่จะเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นก่อน 3.การยุบสภา การยุบสภาไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่ถ้าไม่มีทางเลือกอื่น การยุบสภาจะเป็นทางออกเฉพาะหน้าได้ เพราะจะทำให้สถานการณ์ที่เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ คลายตัวออกระยะหนึ่ง และ 4.สภาร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. 3 น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในระยะยาว เพื่อทำรัฐธรรมนูญให้เป็นกติกาสูงสุดที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ในขณะนี้เป็นหนทางที่ทั้งสองฝ่ายไม่ขานรับ แต่หลังการยุบสภา ควรจะต้องมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง
ถ้าการใช้กำลังและการแตกหักนองเลือดสามารถแก้ปัญหาได้ ประเทศไทยซึ่งเกิดเหตุการณ์นองเลือดสามครั้ง และมีการยึดอำนาจถึง 12 ครั้ง คงจะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนมั่นคงไปแล้ว
ในขณะนี้สังคมไทยจึงต้องพร้อมใจกันปฏิเสธความรุนแรง เราจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดได้ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยจะกลับสู่ ภาวะปกติ และสังคมไทยมีโอกาสกลับคืนสู่สันติสุขอีกครั้งหนึ่งได้ในที่สุด
แก้รธน.จุดเปราะบางเพื่อไทยหากคิดทำเอง
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ “แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้ปลอดภัย” ถือเป็นประเด็นร้อนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องทำตามที่หาเสียงไว้ แม้วันนี้จะพยายามไม่พูดเรื่องนี้และดึงเวลาออกไปจนถึงต้นปี 2555 ก็ตาม แต่ประชาชนและนักวิชาการที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและพรคเพื่อไทยต้องทำไปพร้อมกับการแก้ ปัญหาต่างๆของบ้านเมือง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่ผลพวงของอำนาจเผด็จการเท่านั้น แต่ยังหมกเม็ดหลายประเด็นที่ทำให้มีปัญหาทางการเมือง
ผมเคยเสนอไปแล้วหลายครั้งถึงรูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนักวิชาการ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับและสนใจของผู้คนในสังคมมากนัก วันนี้แม้ผมจะยังยึดมั่นในข้อเสนอเดิม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะนำเสนอคือการตั้งสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ ผมจึงขอเสนอให้มี “คณะนักวิชาการ” เข้ามามีบทบาท
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผมคิดว่า “คณะนักวิชาการ” มีความเหมาะสมกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มาจาก “ตัวแทนประชาชน” เพราะผมมองว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น ผู้จัดทำควรเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ต้องทำงานบนพื้นฐานของวิชาการ และสามารถทำเอกสารการศึกษาวิเคราะห์ (study report) ที่ได้มาตรฐาน การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ที่รอบคอบและได้มาตรฐานย่อมก่อ ให้เกิดปัญหาในทางบริหารตามมา และอาจเกิดปัญหาการบิดเบือนการใช้อำนาจ (abuse of power) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่าควรเป็นหน้าที่ของ “คณะนักวิชาการ” ที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตอนเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำ “ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ก่อนจะมีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นจุดเปราะบางของพรรคเพื่อไทยที่หากคิดจะ “ทำเอง” โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมีอยู่มาก และหากควบคุมความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ได้คงเกิดปัญหาใหญ่ทางการเมืองตามมา อย่างแน่นอน ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดก่อนจะดำเนินการคือ แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้ปลอดภัย
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี