สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุนสำรองฯ คำตอบสุดท้าย รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ อุ้มน้ำท่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

จับตาประเด็นร้อน รัฐบาลล็อบบี้หนัก หวังดึงเงินจากทุนสำรองฯ ฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม
ถ้าไม่กู้แล้วให้ทำอย่างไร น่าจะเป็นคำตอบของรัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะต้องหาเงินจนหูตั้ง เพื่อมาฟื้นฟูประเทศ จากมหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว กว่า 8 แสนล้านบาท คำถามที่ตามมาคือ ถ้าไม่กู้แล้วรัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาใช้จ่าย

ทางเลือกลำดับแรก เงินจากงบประมาณ ขณะนี้ก็ยอมรับว่า จำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน มีอยู่แค่ 1.2 แสนล้านบาท ไม่เพียงพอแน่นอน เมื่อพิจารณาจากโครงการที่หน่วยงานต่างๆเสนอเข้ามาจำนวนมาก และมีวงเงินเกินกว่าที่ตั้งไว้ จนทำให้รัฐบาล ต้องออกกติกา มากำกับ ความเป็นไปได้ของโครงการ ห้ามมีการซ้ำซ้อน ระหว่างโครงการที่เสนอจากส่วนกลางและโครงการที่เสนอมาจากพื้นที่อุทกภัย

หากไปดูที่วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะพบถึงความยากลำบากกว่าจะได้มา โดยวงเงินแรก 7 หมื่นล้านบาท มาจากการไปเกลี่ยงบประมาณรายจ่ายปี 2555 จากทุกกระทรวงในอัตรา 10% และอีก 5 หมื่นล้านบาท มาจากการขาดดุลงบประมาณ

ทางเลือกต่อมา เงินคงคลัง ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลสามารถยืมออกมาใช้ก่อนได้ แต่ต้องตั้งงบประมาณชดเชยในภายหลัง ซึ่งก็จะมีต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย เนื่องจากการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยเงินคงคลังในปีถัดๆไป ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการกู้เงินเพื่อมาชดเชย ต้นทุนจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบและวิธีการกู้เงินที่มีให้เลือกทั้งการออกพันธบัตรระยะยาว หรือการตั๋วเงินคงคลังระยะสั้น

อย่างไรก็ตามทางเลือกนี้อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องของระยะเวลาที่อาจจะเนิ่นนานไม่ทันการ เพราะพระราชบัญญัติเงินคงคลังบัญญัติไว้ว่า รัฐบาลจะใช้เงินคงคลังได้เพียง 5 ประการเท่านั้น คือ 1.ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.ใช้ชำระหนี้ต่างประเทศ 3.ซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 4.ไถ่ถอนพันธบัตรของรัฐบาลก่อนกำหนด และ 5.กรณีต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้เท่านั้น จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้
 

ทางเลือกที่ 3 เงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดกติการกู้เงินของรัฐบาลไว้ชัดเจน กฎเหล็กข้อที่ 1 กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ได้ 20% ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี บวกกับ 80% ของงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ จึงเท่ากับว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2555 หากยึดตามกฎข้อนี้ รัฐบาลจะกู้ได้จำนวน 513,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลขาดดุลไปแล้ว 400,000 ล้านบาท จึงเหลือเงินให้กู้ได้อีก 113,000 ล้านบาท

กฎเหล็กข้อที่ 2 รัฐบาลสามารถค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจได้ 20% ของวงเงินกู้แต่ละปี ซึ่งปีงบประมาณ 2555 เท่ากับ 476,000 ล้านบาท ตอนนี้ใช้ไปแล้วประมาณ 440,000 ล้านบาท โดยเป็นการค้ำเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 270,000 ล้านบาท และอีก 170,000 ล้านบาท ค้ำให้กับโครงการของการรถไฟ ทำให้เหลือวงเงินที่จะกู้เพิ่มจากข้อนี้อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท

กฎเหล็กข้อที่ 3 การกู้จากต่างประเทศได้จำนวน 10% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งมีวงเงินให้กู้ได้อีก 238,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการกู้ให้รัฐวิสาหกิจไปแล้ว 31,000 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินที่กู้ได้อีก 207,000 ล้านบาท
 สรุปแล้วทางเลือกการกู้เงินตามพระราชบัญญัติบริหารหนี้สาธารณะ รัฐบาลจะสามารถกู้ได้จำนวน 350,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณรายจ่ายปี 2555 และสามารถกู้ได้เพิ่มเติมอีกในปีงบประมาณถัดไป

สำนักงาานบริหารหนี้สาธารณะ ประเมินว่ารัฐบาลสามารถกู้ได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อพิจารณาจากกรอบวินัยการคลัง ที่วางไว้ จะต้องมีหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพี ภาระชำระหนี้ไม่เกิน 15% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีก็ตาม และเงินลงทุนจะต้อง 20% ของงบประมาณรายจ่าย

แต่ในทางการเมืองก็ต้องยอมเสียหน้า กลืนน้ำลายตัวเองที่เคยสร้างวาทกรรมทางการเมืองถล่มรัฐบาลเก่าว่าดีแต่กู้บ้าง เป็นนักกู้สิบทิศบ้าง จึงเป็นเรื่องที่คนในรัฐบาลนี้ต้องคิดหนัก

แม้ว่าการใช้เงินฟื้นฟู จะเบิกตามระยะเวลา ตามความคืบหน้าของงาน การกู้เงิน ก็จะต้องสอดคล้องกัน ตามความจำเป็น การเรียงลำดับของงาน ซึ่ง จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาล ที่จะทำหน้าที่บริหารเงินกู้ในครั้งนี้ บอกว่า สำคัญที่การใช้เงิน จะไม่มีการกู้เงินมาตั้งไว้ให้เสียดอกเบี้ย จะกู้ก็ต่อเมื่อมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจนมารองรับ ก็ตาม แต่ก็หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาแน่นอน

เมื่อกู้มาก ก็โดนด่า กู้น้อย เงินก็ไม่พอใช้ แถมจะเอาเงินคงคลังมาใช้ ก็ยังมีข้อจำกัด ในเรื่องของระยะเวลาที่อาจจะไม่เหมาะสม และยังต้องออกกฎหมายมารองรับด้วย ขณะที่ความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล ที่มีภารกิจกอบกู้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหลังน้ำลด เยียวยาเหยื่อน้ำท่วม ที่ถึงขณะนี้อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท และยังจะมีตามมาอีกจำนวนมาก คำถามที่ตามมาคือ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน

ลึกแต่ไม่ลับ กับสิ่งที่ www.Bangkokbiznews.com ได้รับรู้มา คือ มีความพยายามจากรัฐบาล ให้กระทรวงการคลังดำเนินการล็อบบี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหนทางที่ท้าทาย ในการที่จะนำเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มาใช้เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงคราวจำเป็นที่จะต้องใช้หรือจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้อย่างคุ้มค่าที่สุด

 www.Bangkokbiznews.com รับรู้มาด้วยว่า หนึ่งในบุคคลที่จะถูกล็อบบี้นั้น เป็นหนึ่งในศิษย์หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโณด้วย นอกเหนือไปจากนักการเมืองทั้งในซีกของรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอีกหลายคน
งานนี้ รัฐบาลเอาจริง และคงเดินหน้าล้วงทุนสำรองฯมาใช้ เป็นคำตอบสุดท้าย
 


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทุนสำรอง คำตอบสุดท้าย รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ อุ้มน้ำท่วม

view