สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ความหมายและการประดับให้ถูกต้อง

ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ความหมายและการประดับให้ถูกต้อง




"ธงไตรรงค์" ธงชาติไทยจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่สำคัญสูงสุดและเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นชาติไทยที่ทั่วโลกรู้จักมากที่สุด
 นับตั้งแต่การยกเลิกใช้ "ธงช้างเผือก" เป็นธงชาติสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2459 และได้เปลี่ยนเป็นธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นเป็นธงชาติสยามสำหรับหน่วยงานราชการแทน พร้อมกันนั้นรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านยังทรงออกแบบธงแดงขาวห้าริ้ว ซึ่งมีที่มาจากการที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวสยามไม่สามารถหาธงช้างเผือกมารับเสด็จได้ จึงมีการจัดหาผ้าสองสีเพื่อให้สีตรงกับธงช้างเผือก นั่นก็คือ สีแดงซึ่งเป็นพื้นของธงช้างเผือก และสีขาวคือตัวช้างเผือกมาใช้รับเสด็จแทน หลังจากที่พระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรผ้าสองสีแล้ว จึงทำให้พระองค์ท่านมีพระราชดำริให้ประชาชนนำผ้าสองสีคือสีแดงและสีขาวมาตัดเย็บเองทำเป็นธงประดับและรับเสด็จอย่างง่าย ทั้งยังสะดวก ไม่สิ้นเปลือง จึงถือเป็นพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านที่ทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลต่อประชาชนชาวสยาม โดยธงแบบนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ธงค้าขาย"


 หลายท่านอาจสงสัยว่ารูปร่างและแบบธงค้าขายนี้เป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากธงไตรรงค์เลย เพียงแต่แถบกลางที่เป็นสีน้ำเงินเข้มแต่เดิมเป็นสีแดงเท่านั้น และธงค้าขายนี้เองถือเป็นต้นแบบของธงไตรรงค์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบด้วยพระองค์เองอีกเช่นกัน มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2460


 สาเหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนแถบกลางจากสีแดงเป็นสีน้ำเงินเข้มเนื่องจากในขณะนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 สยามอยู่ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งธงของประเทศมหาอำนาจได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ต่างเป็นธงชาติที่มีสีสามสีประกอบด้วยสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน จึงเป็นเหตุทำให้พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้สยามได้ปรับเปลี่ยนสีธงให้เป็นไปตามสีของประเทศสัมพันธมิตร และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือสีน้ำเงินเข้มบนแถบกลางธงไตรรงค์ยังถือว่าเป็นสีประจำพระชนมวารหรือสีทรงโปรดของรัชกาลที่ 6 อีกด้วย และที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือที่มาของสีธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นสีของธงชาติไทย


 ส่วนความหมายนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า


 ขอร่ำรำพรรณบรรยาย   ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
 ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์  หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตไทย
 แดงคือโลหิตเราไซร้   ซึ่งยอมสละได้  เพื่อรักษาชาติศาสนา
 น้ำเงินคือสีโสภา   อันจอมประชา   ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
 จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์    จึ่งเป็นสีธง   ที่รักแห่งเราชาวไทย
 ทหารอวตารนำไป    ยงยุทธ์วิชัย   วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ


 ดังนั้นความหมายของธงชาติไทย ในพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพ.ศ.2460 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดของเราที่สามารถยอมพลีเพื่อรักษาเอกราชของชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งคำสอนตามหลักพุทธศาสนาและการมีธรรมะประจำใจคนไทย สีน้ำเงิน หมายถึง สีทรงโปรดของพระองค์และเป็นสีประจำพระชนมวารของพระองค์ท่านด้วย ดังนั้นจึงเป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง


 "ธงไตรรงค์" ธงชาติไทยจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่สำคัญสูงสุดและเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นชาติไทยที่ทั่วโลกรู้จักมากที่สุด แต่การประดับธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ร่วมกับธงสำคัญอื่นๆ มักมีการประดับที่ผิดระเบียบหรือผิดด้านอยู่เสมอ อาจเนื่องด้วยเพราะความไม่รู้หรือไม่เข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง กล่าวคือการประดับธงไตรรงค์ ธงชาติไทย เราจะใช้ตัวเราเป็นหลัก โดยให้ตัวเราอยู่ในเคหะสถานหรือสถานที่ที่จะประดับธงชาติแล้วหันหน้าออกไปทางด้านหน้าของเคหะสถานหรือสถานที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่นมองไปที่ประตูทางเข้าหรือบันไดทางขึ้นสู่อาคาร ส่วนด้านขวามือของเราจะเป็นการประดับธงชาติไทย ส่วนด้านซ้ายมือของเราจะเป็นการประดับธงสำคัญอื่นๆ อาทิเช่น ธงตราสัญลักษณ์ 84 พรรษา ซึ่งหลักการนี้สามารถใช้ได้กับการประดับธงชาติที่ยานพาหนะด้วย นั่นก็คือธงชาติไทยจะประดับทางด้านคนขับซึ่งเป็นด้านขวาเสมอ


 นอกจากนี้การประดับธงชาติไทยร่วมกับธงตราสัญลักษณ์ 84 พรรษา เคียงคู่กับพระบรมฉายาลักษณ์หรือบนเวทีนั้นมีหลักการและวิธีจำง่ายๆ ดังนี้ ให้ตัวเราหันหน้าไปในทิศทางเดียวกับพระบรมฉายาลักษณ์ โดยด้านขวามือของเราให้ประดับธงชาติไทย ส่วนบนเวทีก็เช่นเดียวกันคือให้เรายืนอยู่บนเวทีแล้วหันหน้าออกสู่ผู้ชม ด้านขวามือของตัวเราคือด้านที่ประดับธงชาติไทย


 แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หลายท่านมักจะละเลยและไม่ปฎิบัติเกี่ยวกับการประดับธงไตรรงค์ที่ถูกต้องนั่นก็คือ การประดับธงไตรรงค์ร่วมกับธงสำคัญอื่นๆ โดยธงไตรรงค์นั้นต้องไม่อยู่ต่ำกว่าธงอื่นๆ และสภาพของผืนธงต้องไม่เก่ากว่าสีต้องไม่ซีดและขนาดผืนธงต้องไม่เล็กกว่าธงสำคัญอื่นๆ


 ส่วนเรื่องขนาดของผืนธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ยังเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่าท่านประดับด้วยธงชาติไทยหรือประดับเพียงแค่แถบผ้าสีธงชาติเท่านั้น กล่าวคือธงไตรรงค์ ธงชาติไทยต้องมีอัตราส่วนความกว้างต่อความยาว หกส่วนต่อเก้าส่วน (6 : 9) ตามที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติธงนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงพระราชบัญญัติธงที่มีการประกาศใช้ล่าสุดคือปีพ.ศ.2522 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยถ้าผืนธงชาติไทยที่ท่านประดับมีอัตราส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากนี้ ในทางกฏหมายจะไม่ถือเป็นธงชาติไทย แต่จะถือเป็นเพียงแถบสีธงชาติ แม้ว่าวัสดุที่ใช้จะเป็นผ้าและสามารถใช้ชักหรือประดับบนเสาได้ก็ตาม


 ตัวอย่างเช่น ผ้าชิ้นหนึ่งที่มีแถบสีแดงหนึ่งส่วน ขาวหนึ่งส่วน น้ำเงินเข้มสองส่วน ขาวหนึ่งส่วน แดงหนึ่งส่วน และมีขนาดความกว้าง 60 เซนติเมตร ความยาว 90 เซนติเมตร ผ้าผืนนี้ตามกฏหมายสามารถเรียกได้ว่าเป็นผืนธงไตรรงค์ ธงชาติไทย แต่ถ้าผ้าผืนดังกล่าวเปลี่ยนขนาดเป็นความกว้าง 60 เซนติเมตร ความยาว 100 เซนติเมตร หรือความยาวเพียง 80 เซนติเมตร ในทางกฏหมายจะไม่เรียกผ้าผืนนี้ว่าธงชาติไทย แต่จะเรียกว่า "ผ้าแถบสีธงชาติไทย"


 ดังนั้น การประดับธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ร่วมกับธงสำคัญอื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราคนไทยควรจะกระทำอย่างถูกต้อง ตามระเบียบแบบแผน เพื่อความสง่างาม ความพร้อมเพรียง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแถบสี ขนาดผืนธง และวิธีการประดับที่ถูกต้อง
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ความหมาย การประดับให้ถูกต้อง

view