จาก โพสต์ทูเดย์
การออกมาประกาศเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกระทรวงการคลังถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่
โดย...ทีมข่าวการเงิน
การออกมาประกาศเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกระทรวง การคลังถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนมาบริหารเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงการคลังก็พยายามเสนอให้ฝ่ายการเมืองผลักดันเรื่องนี้ เพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
แต่ปรากฏว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ยังไม่สามารถทำได้ตามโรดแมป หรือพิมพ์เขียวอย่างที่ควรจะเป็น เพราะการปรับภาษีหลายตัวมีผลกระทบกับ ฐานคะแนนทางการเมือง
การปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก หัวใจสำคัญคือการทำพร้อมกันทั้งระบบ ไม่ควรทำเป็นเบี้ยหัวแตก ประเภทปรับภาษีส่วนไหนได้เสียงทางการเมือง ก็เดินหน้าทำ ส่วนปรับภาษีส่วนไหนทำเสียแต้มการเมือง ก็ดองเค็มทิ้งไว้ไม่สนใจ
ในการปรับโครงสร้างภาษี มีส่วนสำคัญอยู่หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรมสรรพากร ที่มีทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา ที่ควรปรับลดลง และยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ควรปรับเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็จาก 7% ให้เก็บ 10% เหมือนเดิม
สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะการปรับโครงสร้างภาษีจะได้ไม่กระทบกับการเก็บรายได้รัฐบาลที่มีความจำ เป็นต้องใช้เงินอีกมาก เพราะมีตัวหนึ่งลด ก็มีตัวหนึ่งเพิ่ม แต่ที่เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพสามิต ที่ควรเก็บภาษีธุรกิจบาป สุรา เบียร์ บุหรี่ เพิ่มมากขึ้น และยังควรเดินหน้าเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามทิศทางสากลมากขึ้น
สุดท้ายยังมีเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีของกรมศุลกากร ที่นับวันจะมีแต่ลดลง เพราะการเปิดเสรีการค้าก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องตีให้แตกว่าจะหารายได้ จากส่วนไหนมาชดเชย และเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีไปทั้งระบบในครั้งเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ต้องยอมรับว่าทำให้การปรับโครงสร้างภาษีรวนไปอย่างมาก
สาเหตุสำคัญในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เป็นแกนนำรัฐบาลตอนนี้ ได้ขนหาบเอานโยบายประชานิยม ลด แลกแจก แถม มาจำนวนมาก และมีหลายนโยบายกระทบกับการปรับโครงสร้างภาษี
โดยหนึ่งในนโยบายหาเสียงของรัฐบาล ประกาศลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 ทำให้รัฐบาลเสียเงินภาษีไปปีละ 1.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายรถคันแรก คืนเงินเท่ากับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ต้องเสีย กระทบกับรายได้ของรัฐ
3 หมื่นล้านบาท มาตรการบ้านหลังแรก ให้นำค่าบ้านมาหักลดหย่อนได้ 5 แสนบาท ทำให้รัฐบาลเสียเงินภาษี 1 หมื่นล้านบาท
ยังมีนโยบายลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้ภาษีกรมสรรพสามิตสูญเงินภาษีเดือนละ 9,000 ล้านบาท โดยมาตรการสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2555 นี้ แต่รัฐบาลมีแนวโน้มจะยืดอายุการลดภาษีออกไปอีก 3 เดือน ทำให้รัฐบาลเสียเงินภาษีรวมกันหลายหมื่นล้านบาท
การหยิบโหย่งปรับลดภาษีเพื่อหาเสียง ทำให้การปรับโครงสร้างภาษีทั้งหมดเสียกระบวนท่าที่สำคัญแนวโน้มส่งผลกระทบมากกว่าผลดี
การลดภาษีทำให้รัฐบาลเสียรายได้รวมกันถึง 2 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่มีการปรับโครงสร้างภาษีส่วนไหนที่จะมาชดเชย ทำให้เป็นสัญญาณอันตรายทางฐานะการคลังของประเทศมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย
ที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการฟื้นฟูจำนวนมาก แต่เมื่อไม่มีทางหารายได้เพิ่มขึ้น ก็หนีไม่พ้นต้องแบกหน้ากู้เงินเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการทำงบประมาณปี 2555 ก็เพิ่มกู้ขาดดุลจาก 3.5 แสนล้านบาท เป็น 4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนการกู้เงินภายใต้โมเดลนิวไทยแลนด์ พัฒนาระบบน้ำป้องกันน้ำท่วมอีก 8-9 แสนล้านบาท ทั้งหมดที่ต้องกู้เงินจำนวนมหาศาล ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานด้านการคลัง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ
ดังนั้น การเดินหน้าออกมาเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ปัจจุบันเก็บแบบอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 10-37% ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ แต่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะจะซ้ำเติมการเก็บรายได้ของประเทศให้แย่ลงไปกว่านี้
เพราะพิมพ์เขียวการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมจะมีการลดอัตราให้ ต่ำลง เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีภาระน้อยลง แต่คาดว่าจะมีเข้ามาอยู่ในฐานภาษีมากขึ้น ในส่วนนี้คาดว่าจะทำให้รายได้หายไปบางส่วน และจะตีตื้นคืนมาได้ในช่วงต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการตัดทอนค่าหักลดหย่อนที่มีมากถึง 22 รายการให้ลดลง เพราะที่ผ่านมามีข้อมูลชี้ชัดเจนว่า คนที่ได้ประโยชน์เป็นคนรายได้ดี เป็นคนรวย ส่วนคนรายได้น้อยและปานกลางแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากการหักลดหย่อนเลย
การที่จะรื้อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องที่อาจ จะเป็นการโปรยยาหอมให้ความหวังทางการเมืองเท่านั้น แต่จะทำจริงมีผลบังคับ คาดว่ายังอีกไกลไปไม่ถึง
เพราะอย่างที่กระทรวงการคลังวางโรดแมปการปรับโครงสร้างภาษีต้องทำทั้ง ระบบ ลดภาษีนิติบุคคลแล้ว และจะมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก รัฐบาลก็ไม่ควรบ่ายเบี่ยงขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อหารายได้ชดเชยส่วนที่ลด หายไปจากการลดภาษี
จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่าการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มถึง 22.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้การลดภาษีในตัวอื่นไม่กระทบกับรายได้ในภาพรวม
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาลควรมีความชัดเจนในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพ สามิตที่สำคัญหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล จะกลับมาเก็บเมื่อไร และอัตราเท่าไร
ขณะที่การเก็บภาษีบาป การเก็บภาษีรถยนต์ตามการปล่อยมลพิษ การเก็บภาษีสินค้าที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ล้วนต้องมีความชัดเจนในรายละเอียด และเวลาที่ดำเนินการ เพื่อวางแผนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบที่ยังเหลืออยู่
ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เพราะรัฐบาลต้องไม่ลืมว่า การปรับโครงสร้างภาษีที่มีประสิทธิภาพจะทำให้การใช้จ่ายของประเทศในอนาคตไม่ มีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ตำข้าวสารกรอกหม้อไปวันๆ เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
อีกทั้งรัฐบาลต้องตระหนักด้วยว่า การหารายได้เพิ่มขึ้นของประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการให้มีความยั่งยืน เพราะการทำงบประมาณของประเทศทำแบบขาดดุลมาแล้วเกือบ 10 ปี หากกินเวลานานออกไปอีกจะทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีปัญหา หนี้สาธารณะพุ่งสูง จนต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น เกิดเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตเหมือนในประเทศยุโรปที่ประสบปัญหาอยู่
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีในเนื้อแท้อย่างที่ ควรเป็นและควรทำ ไม่ใช่ทำเหมือนที่ผ่านมา เคาะแต่ลดภาษีที่ได้คะแนนเสียงทางการเมือง และส่งสัญญาณผิดๆ ไม่กระทบรายได้ของประเทศ และในอนาคตจะเก็บได้เพิ่มขึ้น
หากรัฐบาลยังไม่เลิกย่ำอยู่กับรอยเดิม ทุกลมหายใจเป็นผลประโยชน์คะแนนเสียงทางการเมือง การเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีแบบหยิบโหย่งก็มีแต่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ มีความเสี่ยงและหายนะมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น การรื้อภาษีเงินได้จึงเป็นการโปรยยาหอมไม่ถูกที่ถูกเวลา เหมือนกับรัฐบาลเดินหน้าลดภาษีนิติบุคคล คืนภาษีรถคันแรก บ้านหลังแรก และลดภาษีน้ำมัน ที่ผ่านมาแล้วนั่นเอง
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี