จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
จากการที่คนไทยมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อการที่ ทูตอเมริกัน คริสตี เคนนีย์ แสดงความเห็น “แขวะ” ศาลยุติธรรมของไทย ซึ่งสรุปประเด็นได้ว่า
“สหรัฐมีความกังวลในเรื่องการตัดสินไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน เสรีภาพพื้นฐานสากลว่าด้วยสิทธิในการแสดงออก ทางการสหรัฐมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างหาที่สุดมิได้ แต่สหรัฐสนับสนุนการมีสิทธิทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ” ทำให้สถานทูตต้องออกมาแก้ตัวว่า “เรายังเคารพกฎหมายไทย สำหรับกิจการภายในของไทยนั้น สหรัฐไม่เข้าข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น สหรัฐสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงออกในทุกประเทศทั่วโลก และถือว่าเสรีภาพนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์”
ไม่เพียงเคนนีย์เท่านั้น ยังมีคำแถลงออกมาสอดคล้องกันจากโฆษกข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนวี พิลเลย์ ที่ออกมาวิจารณ์คำตัดสินของศาลไทยว่า
“เราวิตกเกี่ยวกับการไต่สวนคดีและการลงโทษอย่างรุนแรงที่กำลัง เกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใน ประเทศไทย และผลของเรื่องนี้ที่มีต่อเสรีภาพของการแสดงออกในประเทศไทย”
และ ราวีนา ซัมดาซานี ที่ทำงานอยู่ในสำนักงานเดียวกัน ซึ่งออกมาเสริมว่า
“นี่คือการลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรง ทั้งไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
สรุปได้ว่าทั้งสามคนห่วงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย บังเอิญช่วงเวลาที่ 3 หญิงออกมาวิจารณ์สถาบันตุลาการและระบบกฎหมายของไทยนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลได้ตัดสินคดีผู้ต้องหา 3 ราย กระทำผิด มาตรา 112 กฎหมายอาญา
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหา กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ที่มีความพยายามหยิบยกคดี “อากง” หรือ อำพล ตั้งนพคุณ มาปลุกกระแสให้เกิดความรู้สึกสงสารเพื่อนำไปสู่การเรียกร้องให้แก้ไขหรือยก เลิกมาตราดังกล่าว เชื่อว่าเป็นการทำงานประสานงานกันระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวในประเทศกับองค์การ ต่างประเทศเพื่อดึงพลังนอกประเทศมากดดัน
ผู้หญิงต่างชาติ 3 คนที่ประสานเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น ถือว่าเป็นการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาล และระบบกฎหมายของไทย นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสถานะที่จะต้องออกมาชี้แจง ตอบโต้ หรือเชิญมาทำความเข้าใจ คือ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับเงียบเป็นสากกะเบือ โฆษกรัฐบาลหญิงก็เงียบเป็นเป่าสาก
ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงนั้นไม่ต้องพูดถึง จนหลายคนสงสัยว่าหรือรัฐบาลชุดนี้เห็นด้วยกับการที่ต่างชาติดูถูกสถาบันศาล และระบบกฎหมายของไทย สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ท่าทีที่แสดงออกของท่านทูตเคนนีย์บอกอะไรกับ เราบ้าง ทูตอเมริกันคนนี้กำลังคิดอะไรอยู่? คนอเมริกันมักมองประชาธิปไตยในรูปของการเลือกตั้งและคะแนนเสียงที่ได้ หรือท่านทูตให้น้ำหนักแก่พรรคการเมืองที่มักอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจาก ประชาชน 15 ล้านเสียง โดยท่านลืมคิดไปว่า พระมหากษัตริย์ไทยนั้น แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่พระองค์ท่านมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนไทยทั้งหมดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ในกลุ่มคน 15 ล้านคนที่อ้างนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ยังสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้
คนไทยต้องช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจกับเคนนีย์ พิลเลย์ และซัมดาซานี ถึงความรู้สึกและกระแสความไม่พอใจของประชาชน ส่วนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงจะทำหรือไม่นั้นก็ปล่อยท่านไป โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจอหลายเรื่องนับแต่วันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นต้นมาจนงงไปหมด
อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่มีจุดยืนปกป้อง เทิดทูนสถาบันสูงสุดมาโดยตลอด และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประกาศต่อต้านการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างชัดเจน ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะทำจริงตามพูดหรือไม่อย่างไร
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี