สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้มาตร 112 กองทัพขวาง-ปูไม่เสี่ยง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ปรากฏการณ์ที่ก่อตัวเป็นประเด็นร้อนในสังคมคือ การจุดกระแสแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบัน

หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ดูจะเข้มข้นตามลำดับ

มาตรา 112 ดังกล่าว ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี”

ความเคลื่อนไหวให้แก้ไข กระทั่งไปถึง “การยกเลิกทั้งมาตรา” ดำเนินต่อเนื่องมาในกลุ่มนักวิชาการฝ่ายซ้าย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในขบวนการเสื้อแดงในช่วงสงครามการต่อสู้ชิงอำนาจระหว่างฝ่าย ทักษิณกับคนชั้นนำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้ “สถาบันเบื้องสูง” ทำลายซึ่งกันและกันพร้อมกับตั้งข้อหาจาบจ้วงสถาบันเหวี่ยงแห อีกด้านก็มีการโจมตี บิดเบือน ใส่ร้าย สร้างความเกลียดชังสถาบันหนักหน่วงทั้งทางตรงทางอ้อม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ในยูทูบ เฟซบุ๊ก จนไล่ตามปิดไม่ทัน

แกนนำเสื้อแดงหลายคนต้องคดีหมิ่นสถาบัน “มาตรา 112” ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาให้จำคุก น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” แนวร่วมเสื้อแดง ในความผิดอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 15 ปี เพราะปราศรัยโจมตีสถาบันอย่างเผ็ดร้อนที่ท้องสนามหลวงในช่วงการชุมนุมของ เสื้อแดงปี 2551 เช่นเดียวกับ “ใจ อึ๊งภากรณ์” โดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจนหลบหนีไปต่างประเทศ หรือ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” แกนนำแดงสยามอีกรายก็ต้องคดีหมิ่นสถาบันจนถูกจำคุกอยู่

แต่ที่เป็นไม้ขีดไฟจุดให้แก้มาตรา 112 ติดจนลุกลามขณะนี้คือ “คดีอากง” ที่ศาลอาญาตัดสินจำคุก “อำพล ตั้งนพคุณ” อายุ 61 ปี เป็นเวลา 20 ปี เมื่อไม่นานมานี้ในความผิดส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นสถาบันเข้ามือถือเลขานุการ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นนายกฯ

กลุ่มนักเคลื่อนไหว นักวิชาการที่ต้องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นใช้ประเด็น “อากง” มารณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นมาตรา 112 ให้เหตุผลว่า “อากง” เป็นคนจนไม่น่ามีเจตนาหมิ่น และโทษจำคุก 20 ปี รุนแรงเกินควร

ไล่เลี่ยกันมีการตัดสินคดีหมิ่นสถาบัน เมื่อศาลจำคุก “โจ กอร์ดอน” สัญชาติไทย-อเมริกัน ที่แปลหนังสือ “The King Never Smile” ลงในบล็อกบนอินเทอร์เน็ต แต่เจ้าตัวสารภาพศาลลดโทษเหลือจำคุก 2 ปีครึ่ง ก่อนที่ คริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย จะออกมาสนับสนุนให้แก้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อเป็นไปตามหลักสากล

ทว่าที่ทำให้การรณรงค์แก้มาตรา 112 ร้อนขึ้น เมื่อมีการเข้าชื่อของ 15 นักวิชาการทั้งเฉดแดงและเฉดเหลือง เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกษียร เตชะพีระ ไชยันต์ ไชยพร พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็วที่สุดป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อ้างเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เจตนาของกลุ่มขับเคลื่อนให้แก้มาตรา 112 มีหลายเหตุปัจจัย แต่ถูกมองสุดโต่งทั้ง ปกป้องสถาบันและล้มสถาบัน

อย่างไรก็ตาม มาตรา 112 เป็นเรื่องเปราะบางละเอียดอ่อน ใครก็ตามที่เคลื่อนไหวอาจถูกโจมตีได้ ว่า ไม่จงรักภักดี ฝ่ายการเมืองอย่างคนเพื่อไทยบางปีกได้ร่วมรณรงค์ให้แก้ไขด้วย แต่ไม่กล้าเปิดตัว เพราะเกรงจะ ขยายจุดอ่อน ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีได้ว่า ไม่รักสถาบัน ลามไปถึงเป็นแกนนำในขบวนการล้มเจ้า ซึ่งเมื่อครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หนีออกจากพรรคเพื่อไทย ได้อ้างเหตุผลความคลุมเครือเรื่องการจงรักภักดีของแกนนำเสื้อแดง เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่ม “แดงรักเจ้า” ของขวัญชัย ไพรพนา ที่อ้างว่าต้องการลบภาพเสื้อแดงล้มเจ้า

พรรคเพื่อไทยพยายามกู้ภาพให้สังคมเห็นว่า มีความจงรักภักดีเต็มเปี่ยมถึงขั้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมร้องเพลง “ราชันย์องค์ภูมิพล” ร่วมกับแกนนำเสื้อแดง โดยมานำออกอากาศในทีวีเสื้อแดงเพื่อแสดงให้เห็นว่า เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธ.ค. 2554

กระนั้นการขับเคลื่อนแก้มาตรา 112 จากกลุ่มปัญญาชนแกนนำเสื้อแดงบวกกับกระแสตะวันตกได้เป็นคมหอกกดดันรัฐบาลไทย ขณะที่กลุ่มคัดค้านจากเหล่ารอยัลลิสต์ กลุ่มเสื้อเหลืองก็ต่อต้านแข็งขันจนมีความห่วงว่า หากการปะทะทางความคิดขยายตัวมากขึ้น อาจถูกปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง นำไปสู่การห้ำหั่นที่เกิดความรุนแรงในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม การจะแก้มาตรา 112 ได้หรือไม่อยู่ที่รัฐสภาและรัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากเท่านั้น...

ฝ่ายนักวิชาการเสื้อแดงตั้งความหวังไว้สูงกับรัฐบาลเพื่อไทยของเขาว่า นี่เป็นโอกาสเดียวที่จะแก้ไขได้กฎหมายหมิ่นได้ เพราะพรรคการเมืองที่เหลือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย อยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งคัดค้านเรื่องนี้ ทำให้การขับเคลื่อนแก้ไขมาตรา 112 หนักหน่วงบนทั้งดินและใต้ดินในปัจจุบันและเชื่อว่า จะเข้มข้นตลอดอายุรัฐบาลเพื่อไทย

แต่แกนนำเพื่อไทยไม่ต้องการรับ “ความเสี่ยง” กับข้อกล่าวหาไม่จงรักภักดี จากมาตรา 112 สะท้อนจากจุดยืนของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่รับบทประธานปราบเว็บหมิ่นก่อนจะประกาศชัดว่า พรรคไม่มีนโยบายแก้กฎหมายหมิ่นสถาบัน และตำหนิพวกทำเรื่องนี้ว่างงาน ประเทศไทยเจริญทุกวันนี้ได้เพราะสถาบัน

ด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยจากกลุ่มอำนาจนำต้องการปรามเสื้อแดงด้วยกัน อย่าเลยเถิด เลยขบวน เพราะหากเคลื่อนไหวไร้ขอบเขตเช่นนี้ รัฐบาลก็จะเพิ่มศัตรูโดยใช่เหตุและกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

อีกด้านก็ทำให้สังคมเห็นว่า เพื่อไทยยืนข้างและปกป้องสถาบันเต็มที่

ขณะที่กองทัพโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและทหารเสือราชินี ซึ่งถือเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ต่อสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนเวลานี้ประกาศกร้าวว่า ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขกฎหมายหมิ่น

ในกระแสเปลี่ยนผ่านและการเคลื่อนไหวที่สลับซับซ้อน หากพรรคเพื่อไทยริเริ่มแก้มาตรา 112 ก็จะพบกับความเสี่ยงทางการเมืองอย่างคาดไม่ถึง และจากกองทัพที่พร้อมเอาจริง บทที่รัฐบาลจะเล่นและแสดงได้ดีที่สุดเพื่อประคองเสถียรภาพรัฐบาลก็คือ จับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ คัดค้านขบวนการแก้ 112 ในเวลานี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : แก้มาตร 112 กองทัพขวาง ปูไม่เสี่ยง

view