สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การยกเลิกมาตรา112

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ

ความพยายามของคนบางกลุ่ม ทั้งคนในรัฐบาลและคนนอกแต่หนุนรัฐบาล ที่พยายามผลักดันให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควรอย่างไร

โดยหลักการแล้ว การยกเลิกกฎหมายอาจมีได้หลายสาเหตุ เช่น เป็นกฎหมายที่ขัดกับกฎหมายอื่น หรือมีปัญหาการบังคับใช้ หรือเนื้อหาไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ขัดกับหลักนิติธรรม

เราจึงควรทราบเนื้อหาของมาตรา 112 กันก่อนว่ามีเนื้อหาอย่างไร

มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

เนื้อหาของมาตรา 112 ไม่ดีอย่างไร ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือเปล่า ผู้ที่ต้องการยกเลิกมาตรานี้เห็นว่า การหมิ่นประมาท การดูหมิ่น การแสดงความอาฆาตมาดร้าย เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรืออย่างไร คนกลุ่มนี้กำลังคิดอะไรอยู่ ถ้าไม่คิดที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายสถาบันแล้ว ทำไมต้องกลัวกฎหมายมาตรานี้

เว้นเสียแต่ว่าคนกลุ่มนี้มีเจตนาแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง

เหตุผลที่คนกลุ่มนี้นำมาอ้างคือ มาตรา 112 เป็นเครื่องมือให้มีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง

ข้ออ้างอย่างนี้ไม่ใช่เหตุผลของบัณฑิต แต่เป็นข้ออ้างของคนพาล เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหา

เหมือนการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการรับบริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย ชาติหน้าตอนค่ำๆ ก็แก้ไม่ได้

ทำไมนักการเมืองจะต้องพูดจาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบัน ไม่มีเรื่องอื่นจะพูดแล้วหรือ หรือเพื่อพูดเอามัน เอาใจใครบางคน

คนที่ไม่มีเจตนาร้าย ย่อมไม่คิดที่จะพูดจาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันอย่างแน่นอน ส่วนคนที่ชอบพูดอย่างนั้น จะมีเจตนาอย่างไร คงคิดกันเองได้

แม้หากปัญหาอยู่ที่การนำมาตรา 112 มาใช้กลั่นแกล้งกัน การยกเลิกมาตรา 112 ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินประเภทหนึ่งซึ่งมิได้มีโทษสูงที่สุด และกระบวนการในการดำเนินคดีก็เป็นไปอย่างเดียวกับคดีอาญาแผ่นดินอื่นๆ

ฉะนั้น แม้ไม่มีมาตรา 112 หากจะกลั่นแกล้งทางการเมือง ผู้มีอำนาจย่อมใช้ความผิดฐานอื่นกลั่นแกล้งได้อยู่แล้ว และแม้จะเป็นการกลั่นแกล้ง ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ ก็ได้รับเอกสิทธิ์จากสภาอยู่แล้ว และโดยข้อเท็จจริงก็มิได้หมายความว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 แล้วจะต้องถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด เพราะอยู่ที่ศาลท่านจะพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ ซึ่งหลายคดีศาลท่านก็ยกฟ้อง

การอ้างว่ามาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองจึงไม่เป็นความจริง

ยิ่งไปกว่านั้น การคุ้มครองประมุขของประเทศ เป็นหลักสากลที่ปฏิบัติกันเป็นสากล และในทุกประเทศนอกจากจะคุ้มครองประมุขของประเทศตัวเองแล้ว ยังให้คุ้มครองประมุขหรือตัวแทนของต่างประเทศด้วย อันเป็นหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยเราก็ให้ความคุ้มครองประมุขของต่างประเทศไว้ตาม มาตรา 133 และ 134 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระ ราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากยกเลิกมาตรา 112 แล้วจะต้องยกเลิกมาตรา 133 และ 134 ด้วยหรือไม่ หากไม่ยกเลิก จะเรียกกฎหมายอย่างนี้ว่าอย่างไร กฎหมายสองมาตรฐานหรือกฎหมายไม่มีมาตรฐาน และคงต้องไปลงกินเนสบุ๊กไว้ให้เป็นที่รู้ทั่วกันว่า ประเทศไทยเรามีกฎหมายแปลกแต่จริง

การยกเลิกมาตรา 112 มีผู้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จึงได้มีแนวคิดใหม่ที่ไม่ยกเลิก แต่จะแก้ไข โดยนักกฎหมายท่านหนึ่งเสนอว่า ให้แก้ไขโดยเพิ่มเนื้อหาให้ขอความเห็นชอบจากสำนักพระราชวังก่อน

หากจะแก้ไขอย่างนี้ แล้วต้องแก้ไขมาตรา 133 และ 134 ด้วยหรือไม่ หากไม่แก้ก็ต้องถามว่า กฎหมายให้ความสำคัญกับประมุขต่างประเทศมากกว่าประมุขของตนเองหรือ

ความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ไม่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พนักงานสอบสวนที่พบการกระทำความผิด หรือมีผู้หนึ่งผู้ใดแม้ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไปแจ้งความ พนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย เช่น พบศพคนถูกฆ่า พนักงานสอบสวนไม่ต้องรอให้ญาติมาแจ้งความ แต่มีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่รัฐมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะแก้ไขมาตรา 112 ทั้งๆ ที่ยังมีกฎหมายที่ควรแก้ไขในประมวลกฎหมายอาญา แต่ทำไมไม่สนใจทำกัน คือ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ตามมาตรา 273 และ 274 ซึ่งในหลักการขัดกับพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าของไทย ที่คุ้มครองเฉพาะเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น

คนทุกคนมีสิทธิที่จะคิดทำความผิดใดๆ ก็ได้ ไม่มีความผิดฐานคิดร้ายผู้อื่น หรือคิดประทุษร้ายทรัพย์ผู้อื่น ตราบใดที่ยังไม่ลงมือกระทำกฎหมายไม่ถือว่าเป็นความผิดอาญา

คนทุกคนมีสิทธิจะชอบหรือไม่ชอบสถาบัน แต่ไม่มีสิทธิที่จะกระทำผิดกฎหมาย และหากใครที่รับไม่ได้กับการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่า ต้องการให้ประเทศนี้ปกครองโดยระบบประธานาธิบดี ต้องการให้คนนั้นคนนี้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ

ถ้าไม่กล้า ก็ขอให้ไปอยู่ประเทศอื่น อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดินไทยเลย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : การยกเลิกมาตรา112

view