สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฎหมายและแผนงานประกันภัยน้ำท่วมแห่งชาติ

กฎหมายและแผนงานประกันภัยน้ำท่วมแห่งชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีปีใหม่ 2555 ครับ เชื่อว่าหลายท่านยังคงเก็บกวาดซ่อมแซมสิ่งของบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมายังไม่แล้วเสร็จ
ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนักและนานมีจำนวนไม่น้อยที่หาทางจะขยับขยายไปหาที่อยู่ใหม่ ผู้ที่ไม่อยากย้ายบ้านหรือมีข้อจำกัดในการย้ายบ้าน คงกังวลว่า ปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ จะมีใครช่วยได้ไหม และคงจะต้องเตรียมการหาทางช่วยตัวเองในการป้องกันความเสียหายหรือบรรเทาให้เสียหายน้อยที่สุดหากน้ำท่วมอีก ทางหนึ่งคือพึ่งการประกันภัย ถ้าเป็นรถยนต์ก็ทำประกันภัยชั้นหนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้ทำประกันวินาศภัยบ้านหรือทำแต่ไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายจากอุทกภัย ก็จะทำหรือปรับเปลี่ยนให้ครอบคลุมคุ้มครองถึงความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย
 

เนื่องจากผลของมหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้วกระทบต่อบริษัทประกันภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นจำนวนเงินมหาศาล ทำให้บริษัทประกันภัยบางบริษัทจะไม่รับประกันภัยน้ำท่วมต่อไป หรือไม่ก็จะขึ้นอัตราเบี้ยประกันสูงขึ้น ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่หวังจะพึ่งพาการทำประกันภัยแน่ เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ถูกน้ำท่วมเสียหายมากและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทางการของประเทศดังกล่าวนอกจากหามาตรการป้องกัน จัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว ก็ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมได้ทำประกันภัยเพื่อเป็นช่องทางในการได้รับการชดเชยค่าเสียหายจากน้ำท่วมเพื่อการบรรเทาความเสียหายด้วย แต่ก็ประสบปัญหาเนื่องจากบริษัทประกันภัยเป็นธุรกิจที่ต้องการแสวงหากำไร จึงเป็นธรรมดาที่บริษัทจะปฏิเสธไม่รับประกันภัยน้ำท่วมหากมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสูง หรือหากรับประกันก็จะกำหนดเบี้ยประกันในอัตราสูง หลายประเทศจึงได้มีการศึกษาหาทางแก้ไขรวมทั้งเข้าไปมีบทบาทกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้
 

เช่นในประเทศออสเตรเลีย มีเสียงเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์หลายครั้ง แต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินบ้านเรือนของชาวบ้านมาก และก็มีแนวโน้มว่าการเกิดน้ำท่วมขึ้นอีกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ  และเห็นว่าความสูญเสียของชาวบ้านอาจได้รีบการเยียวยาบรรเทาความเสียหายลงได้บางส่วน ถ้าสามารถพึ่งพาการประกันภัยได้  ปัญหาใหญ่คือชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ในเขตเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ถูกปฏิเสธไม่รับการทำประกันภัยน้ำท่วม หรือหากจะรับประกัน ก็จะเรียกเก็บเบี้ยประกันในอัตราสูง เนื่องจากกฎหมายเรื่องการประกันภัยเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถเลือกลูกค้าได้ และสามารถปฏิเสธไม่รับประกันภัยน้ำท่วมในท้องที่จะเกิดน้ำท่วมได้ง่าย จึงมีข้อเสนอให้ทางการแก้ไขให้ชาวบ้านสามารถใช้บริการประกันภัยน้ำท่วมได้โดยไม่ถูกปฏิเสธ ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีช่วยบริษัทประกันภัยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถรับประกันภัยน้ำท่วมโดยเรียกเก็บเบี้ยประกันที่ไม่สูงเกินควร นอกจากนี้ก็มีการเสนอให้กำหนดให้การคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นการคุ้มครองพื้นฐานเช่นเดียวกับการคุ้มครองความเสียหายจากพายุ แผ่นดินไหว
 

ประเทศที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของการประกันภัยเพื่อลดการสูญเสียของชาวบ้านจากน้ำท่วมที่ประเทศไทย น่าจะศึกษาเป็นแนวทางคือ แผนการประกันภัยน้ำท่วมแห่งชาติ (National Flood Insurance Program) ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมาย National Flood Insurance Act of 1968  ที่ตราขึ้นในปี 2511 และมีการแก้ไขปรับปรุงในปี 2537 เหตุผลที่รัฐสภาอเมริกันตรากฎหมายฉบับนี้คือ เนื่องจากในเวลาที่ผ่านมาที่เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องได้รับการเยียวยาอันไม่อาจคาดล่วงหน้าได้ ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณของชาติที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องและป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำท่วม แต่มาตรการต่างๆ ดังกล่าวคงไม่พอเพียงในการป้องกันความสูญเสียจากน้ำท่วมที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคต และเห็นว่ามาตรการในการช่วยแบ่งเบาความเสี่ยงต่อการสูญเสียจากน้ำท่วมที่มีผลดีทางหนึ่ง คือ การดำเนินการผ่านทางแผนงานประกันภัย
 

หลังจากตรากฎหมายดังกล่าวขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ได้จัดตั้ง National Flood Insurance Program (NFIP) ขึ้นในปีนั้นเอง ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ต้องนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  เนื่องจากก่อนที่จะมีการจัดตั้ง NFIP ขึ้น เจ้าของบ้านจำนวนมากไม่สามารถทำประกันภัยน้ำท่วมได้ เพราะบริษัทประกันภัยเอกชนจะไม่ยอมรับทำประกันภัยครอบคลุมความเสียหายจากน้ำท่วม หรือหากรับก็จะเรียกเก็บเบี้ยประกันในอัตราที่สูงมาก เมื่อเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจากผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมากไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้อย่างทั่วถึง และก็ต้องจ่ายซ้ำในพื้นที่เดิมเพราะเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในบริเวณนั้น เพราะหลังจากน้ำลดเจ้าของก็สร้างสิ่งปลูกขึ้นใหม่ในที่เดิมโดยละเลยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายขึ้นอีก
 

หน้าที่สำคัญของ National Flood Insurance Program คือ ดำเนินการให้เจ้าของบ้านเจ้าของทรัพย์สินและผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำประกันภัยน้ำท่วมที่เสียเบี้ยประกันในอัตราที่สามารถรับภาระได้อย่างทั่วถึงกว้างขวาง โดยผ่านทางตัวแทนและบริษัทประกันภัยที่ได้รับอนุญาต  หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการการใช้ที่ดินในท้องที่ต่างๆ ในประการที่สองจะลดโอกาสที่จะถูกน้ำท่วมและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
 

เนื่องจาก National Flood Insurance program จะหมดอายุลงในวันที่ 18 ธันวาคม 2554 รัฐสภาอเมริกันเห็นประโยชน์และความสำคัญของแผนงานดังกล่าว จึงได้ขยายอายุออกไปชั่วคราวอีกหกเดือน จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555  และจะมีผู้เสนอกฎหมายต่ออายุแผนงานนี้ออกไปอีกห้าปี
 

สำหรับในประเทศไทย มีข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ สมาคมประกันวินาศภัยมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนมหันตภัยขึ้น ซึ่งยังไม่ได้เสนอรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่คาดเดาว่าน่าจะเป็นมาตรการช่วยแก้ปัญหาที่ผู้รับประกันภัยจะไม่รับประกันภัยน้ำท่วมหรือจะเรียกเก็บเบี้ยประกันในอัตราสูงมาก ก็น่าจะนำแนวคิดในการตั้ง National Flood Insurance program ของสหรัฐอเมริกาไปพิจารณาประกอบและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถใช้บริการประกันภัยโดยเสียเบี้ยประกันในอัตราที่เหมาะสมที่ไม่สูงเกินควร  เพื่อบรรเทาความเสียหายบางส่วนจากการเอาไม่อยู่ของรัฐก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : กฎหมายและแผนงานประกันภัยน้ำท่วมแห่งชาติ

view