จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ปี 2555 อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญที่กลุ่มนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 จะพ้นโทษห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง 5 ปี กลับเข้าสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2555 โดยตัวแปรหลักจึงอยู่ที่การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่โหมดฟื้นฟูประเทศ และการรับมือต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จึงมีประเด็นให้คิดต่อว่า เศรษฐกิจไทยจะยังมีแรงขับเคลื่อนภายในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และจะมีปัจจัยเสี่ยงใดที่จะเข้ามาซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ถ้าไม่มีเหตุความวุ่นวายทางการเมืองและน้ำท่วมซ้ำ ปัจจัยเสี่ยงหลักในปี 2555 คงต้องโฟกัสไปที่การถดถอยของเศรษฐกิจโลก
เค้า ลางการถดถอยของเศรษฐกิจโลกใกล้เข้ามาทุกขณะ ภายใต้ความอึมครึมของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 เมื่อครั้งเกิดเหตุวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส จนปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐยังมีปัญหาอยู่และอาจจะเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะ ขยายตัวในอัตราต่ำเป็นเวลานาน เพราะขาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ โดยภาคครัวเรือนยังชะลอใช้จ่ายและอัตราว่างงานยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางกระตุ้นจากนโยบายการเงิน และการคลังมีจำกัดมากขึ้น เพราะต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนที่ผูกพันไว้หลังการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ขณะที่ตลาดการเงินเองคงคาดหวังให้สหรัฐออกมาตรการที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้รวดเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดของภาครัฐและตัวปัญหาเองที่ต้องใช้เวลาแก้ไขนาน ทำให้มาตรการที่ออกมายังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้
ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จากการขาดความร่วมมือของประเทศสมาชิก ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า ไม่เด็ดขาด
ไม่ต่างจากการต่อลมหายใจวันต่อวันเท่านั้น ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยในปีหน้าปกคลุมไปด้วยความไม่แน่นอนอยู่มาก
ยิ่ง ความล่าช้าในการแก้ปัญหาของกลุ่มยูโรยังมีอยู่ นับวันจะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ และสเปน) มากขึ้น และมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรในภาพรวมได้ ประเด็นสำคัญที่จะเกี่ยวโยงกับประเทศไทยโดยตรงคือ ผลกระทบต่อตลาดการเงิน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกต่อไปเป็นระยะๆ หากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา
จึงเป็นไปได้ว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทยอาจจะต้องปรับโหมดไปในทิศทางที่ผ่อน คลายมากขึ้น ในเมื่อเห็นแล้วว่าความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อยังทรงตัว เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงในบางช่วงจากความต้องการในตลาดโลกที่ ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง แต่ความกังวลลึกๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลว่า หากไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากในระยะข้างหน้าจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา ที่สูง จะเป็นการปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ยที่จะทำให้ตลาดสับสนได้ จึงอาจจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงบ้างและบางจังหวะถ้าจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบาย ก็ยังมีช่องว่างให้ดำเนินนโยบายที่เหมาะสมได้ จึงมีความจำเป็นที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องเก็บกระสุนไว้ใช้ใน ยามจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหากเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวนรวมถึงเกิดปัญหา ที่คาดไม่ถึง เพราะประเทศที่ไม่มีเครื่องมือเหล่านี้เหลืออยู่จะแก้ปัญหาลำบาก อย่างเช่นที่เห็นในยุโรปและสหรัฐ
ดูจากสัญญาณของ ธปท.ตอนนี้อาจตีความได้ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปี 2555 ในวันที่ 25 มกราคม 2555 ถ้าไม่ปรับลดลงอีก 0.25% ก็คงอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา 3.25% ต่อไปเพื่อรอดูจังหวะและความชัดเจนการถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่จะมาจากนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว นโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน รวมถึงนโยบายทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของเบนซิน และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่ ธปท.เองประเมินว่า จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 1.3% อย่างไรก็ตาม การยังคงมาตรการยกเว้นค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟ จะช่วยลดเงินเฟ้อลงได้อีก 0.4%
จึงพูดยังไม่ได้เต็มปากนักว่า เงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงหลักในปี 2555 เพราะคงต้องมาชั่งน้ำหนักกันอีกว่า ความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจของยุโรปเป็นอันตรายต่อการค้าและการเงินในประเทศ เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก ผู้กุมนโยบายจะต้องเตรียมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หรือจะพูดได้ว่าหมดยุคดอกเบี้ยขาขึ้น !!
เพราะแม้บรรดาผู้นำยุโรปจะ ได้ข้อตกลงกู้วิกฤตหนี้ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดด้านวินัยการคลังของประเทศยู โรโซนแล้วก็อาจทำให้ปัญหาไม่ขยายวงกว้างออกไปแต่นั่นก็ชี้ว่าข้อตกลงดัง กล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งประเด็นนี้ธนาคารโลกฟันธงว่าข้อตกลงกู้วิกฤตหนี้ดังกล่าวถือเป็นการ บังคับให้ธนาคารของยุโรปจำเป็นต้องเพิ่มทุน ซึ่งเป็นการบังคับให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้น้อยลง ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในแถบยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีธนาคารของยุโรปตะวันตกตั้งอยู่ ต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจลงไปอีก
ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโต เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจาก 2.7% มาอยู่ที่ 2.4% โดยให้เหตุผลว่า แม้ว่าบรรดาผู้นำยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงแก้วิกฤตหนี้ได้ แต่ความกังวลของตลาดยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศเตรียมหั่นอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารของสเปน 8 แห่ง โดยให้เหตุผลว่าทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงและความสามารถ ในการทำกำไรก็ลดลงด้วย
ถึงจุดนี้เริ่มเห็นภาพเศรษฐกิจไทยได้ชัดขึ้น อย่างน้อยถ้าเปรียบเทียบกับการประมาณการทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ของแต่ละหน่วยงานจะพบว่า คาดการณ์เศรษฐกิจในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองภาพเศรษฐกิจในแง่ดีสุดคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 4.5-5.5% ขณะที่ ธปท.คาดว่าจะมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักจากอุปสงค์ในประเทศที่จะทำให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.8% โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2555 จะขยายตัวสูงกว่าปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปี 2554 และการผลิตที่กลับมาผลิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม มองภาพใกล้เคียงกับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตรา 4.5% ทั้งนี้เชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียจะเป็นไปในระดับปานกลาง ต่อไปจนถึงปี 2555 เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกถด ถอยอย่างรุนแรง
ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีการก่อสร้าง ซ่อมสร้าง ทั้งในส่วนการฟื้นฟูจากมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 และแผนการพัฒนาประเทศไทย รวมถึงการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไป จึงคาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จาก 3.7% เป็น 4% แต่ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและเหตุความไม่สงบใน ประเทศ (ทางการเมือง) ที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2555 ที่หลายฝ่ายกังวลว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รวมถึงการกลับมามีบทบาทของนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอีกครั้ง
แต่ยังไม่มี ใครพูดถึงกรณีที่เลวร้ายหากเศรษฐกิจโลกถดถอยซ้ำสอง หรือเกิดเหตุความไม่สงบทางการเมืองขึ้นมาอีกรอบ จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด
ปี 2554 ที่ว่าหนักหนาสาหัส แต่ก็ยังรู้ทิศทางเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่ต้น ต่างจากปี 2555 ที่ความอึมครึมของปัจจัยเสี่ยงยังปกคลุมอยู่ โดยไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะข้างหน้า เริ่มไม่แน่ใจนักว่าอย่างไหนจะแย่กว่ากัน
จะเป็นปีมังกรทอง หรือปีมังกรพ่นไฟ เดี๋ยวรู้กัน
ตารางประกอบ ประมาณการเศรษฐกิจไทย 2555
หน่วยงาน จีดีพี 2555
ธนาคารโลก 4%
ธปท. 4.8%
สศช. 4.5-5.5%
เอดีบี 4.5 %
ตารางสรุปผลของมาตรการภาครัฐต่อเงินเฟ้อปี 2555
นโยบาย เงินเฟ้อทั่วไป เงินเฟ้อพื้นฐาน
ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 0.2% 0.3%
รับจำนำข้าว 0.4% 0.3%
ทยอยเก็บภาษีและเงินนำเข้ากองทุนน้ำมัน 0.7% 0.2%
ยกเว้นค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟ -0.4% -0.6%
***ที่มา: รวบรวมจาก ธปท.
จาก มติชน 3 มกราคม 2555
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี