จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเงิน
ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าการเดินหน้านโยบายปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเป็นไปแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำให้ยังต้องนั่งลุ้นกันเหนื่อยว่า การรื้อโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะออกมาเป็นผลบวกหรือลบกับเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศไม่นาน ก็ประกาศลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% ลงเหลือ 23% ในปีนี้ และลดลงเหลือ 20% ในปี 2556 ตามที่หาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้งไว้ทันที
โดยมีการประเมินว่าการลดภาษีรอบนี้จะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีลดลงทันทีปีละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ถ้าพิเคราะห์ในหลักการแล้ว การลดภาษีนิติบุคคลถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ
เพราะการลดภาษีนั้นจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันกับผู้ประกอบการ มากขึ้น เพราะการเสียภาษีที่น้อยลงจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินที่เหลือไปลงทุน เพิ่มขึ้น ทั้งด้านเครื่องจักร การจ้างงาน การพัฒนาวิจัยสินค้า รวมถึงพัฒนาฝีมือแรงงานให้เก่งขึ้น
นอกจากนี้ การลดภาษีนิติบุคคลของไทยเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเริ่มดีเดย์บังคับใช้ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้กำแพงภาษีการค้าขายไม่มีอีกต่อไป
นักลงทุน ผู้ประกอบการในแต่ละประเทศในอาเซียนสามารถตั้งกิจการ หรือสำนักงานที่ไหนก็ได้เพื่อทำการค้าขายระหว่างประเทศ
แน่นอนว่า ประเทศที่อัตราภาษีนิติบุคคลต่ำกว่าประเทศอื่นก็จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ประเทศไทยที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง สำคัญ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อยู่ร่วม 7-10% ก็จำเป็นต้องลดอัตราภาษีนิติบุคคลให้มาอยู่ในระดับเดียวกับประเทศคู่แข่ง เพื่อจะเป็นแรงจูงใจนักลงทุน
ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้นักลงทุนที่มีอยู่เดิมย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศที่ภาษีที่ต่ำ
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนิติบุคคลของไทยก็มีผลกระทบข้างเคียงไม่น้อยกว่าข้อดีเช่นกัน
เนื่องเพราะการลดภาษีนิติบุคคลทำให้รายได้ของประเทศหายไปถึง 1.5 แสนล้านบาท โดยในปี 2555 จะกระทบกับการเก็บรายได้ 5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มมากขึ้นในปี 2556-2557 ที่อัตราภาษีนิติบุคคลทั้งระบบจะเสียภาษีอยู่แค่ 20%
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะกรมสรรพากร จะหารายได้จากส่วนไหนมาชดเชย จากเดิมที่คาดว่าการลดภาษีจะทำให้ฐานภาษีกว้างขึ้น จากคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ หรือจะเป็นการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
แต่ผลจากน้ำท่วมใหญ่ทำให้โมเดลของกรมสรรพากรกำลังกลายเป็นฝันสลาย
เศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ทำให้การเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้นก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เป้าที่ตั้งไว้จะมีผู้อยู่นอกระบบภาษีจะเข้ามามากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่คงไม่เห็นได้ชัดในเวลาอันสั้น
เพราะผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้ล้มหายตายจากไปกับสายน้ำท่วมไม่ใช่น้อย บางรายก็ต้องอาศัยเวลาในการสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงาน ตั้งสำนักงานในไทย จากการเปิด AEC ก็เห็นทีต้องลุ้นกันใจหายใจคว่ำว่ารัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นการบริหารน้ำ ท่วมไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้หรือไม่
เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างตั้งหน้าตั้งตารอกันอยู่ในเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่
หากแผนไม่ชัดเจน ก็ฟันธงได้ว่าไม่มีใครกล้ามาเสี่ยงกับภัยที่รับมือไม่ได้ หนีไปที่อื่นดีกว่า
เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติเดิมที่อยู่ในไทย หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ แล้วรัฐบาลเอาไม่อยู่ นักลงทุนก็ไม่กัดฟันอยู่ต่อแน่นอน
จะเห็นได้ว่าแรงจูงใจด้านภาษีอย่างเดียวไม่พอ เพราะน้ำท่วมทำให้นักลงทุนเสียหายกว่าภาษีที่ได้ลดหลายร้อยหลายพันเท่า
เมื่อนักลงทุนทิ้งไทยไป ย่อมส่งผลกระทบกับการเก็บภาษีของไทยอยู่ในอาการโคม่าไปด้วย
การลดภาษีนิติบุคคลยังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.8 ล้านราย เพราะรายใหญ่ย่อมได้ประโยชน์จากการลดภาษีมากกว่ารายเล็ก เพราะฐานกำไรใหญ่กว่าและโตกว่า เงินที่ประหยัดภาษีได้ก็ย่อมมากกว่า ทำให้ไปต่อยอดธุรกิจได้มากกว่าเร็วกว่าเอสเอ็มอี
ไม่แน่ดีไม่ดีจะเกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กจนหมดเรียบเลี้ยงไม่โต ทำให้เกิดผลพวงเกิดการตกงานของแรงงานอีกจำนวนมาก เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้สะดุด สวนทางกับความเชื่อที่ว่าการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ดีขึ้น
นี่ยังไม่รวมกับที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังได้สิทธิภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่ต้องจ่ายภาษีกำไร 8 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะลดสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ลง แต่ปรากฏวันนี้ภาษีนิติบุคคลลดไปแล้ว แต่สิทธิบีโอไอยังอยู่เหมือนเดิม ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เปรียบเอสเอ็มอีมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ การลดภาษีนิติบุคคลยังมีข้อน่าสังเกตว่าเป็นการลดต้นทุนผู้ประกอบการไปเป็น จำนวนมาก ดังนั้นราคาสินค้าควรจะต้องลดลง หรือไม่คุณภาพสินค้าควรจะต้องเพิ่มมากขึ้น
แต่ความเป็นจริงฟ้องชัดว่า แม้การลดภาษีมีผลบังคับแล้ว แต่ราคาสินค้ากลับวิ่งสวนทางเพิ่มขึ้นไม่หยุด แม้ว่าในปี 2556 ภาษีนิติบุคคลจะลดลงเหลือ 20% ก็ตาม ทำให้เป็นปมที่รัฐบาลต้องแก้ให้ตกเพื่อไม่ให้การลดภาษีนิติบุคคลกลายเป็นยา พิษของเศรษฐกิจไปในที่สุด
ในขณะที่ภาพรวมของการปรับโครงสร้างภาษี การลดภาษีนิติบุคคล ยังเป็นแรงกดดันทำให้รัฐบาลต้องเดินหน้าลดภาษีเงินได้บุคคลตามมาด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษี เมื่อผู้ประกอบการกำไรเงินล้านได้ลดภาษี คนทำงานเงินเดือนเป็นหมื่นเป็นแสนบาทหนีภาษีไม่ได้ก็ควรได้ลดภาษีเช่นกัน
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังออกมาแพลมๆ ว่าจะเข็นเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่ข้อสรุปยังไม่ลงตัว เบื้องต้นจะซอยย่อยอัตราภาษีที่เก็บอยู่ 10% 20% 30% 35% และ 37% มาเป็น 5% 10% 15% 20% 25% 30% เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี
อย่างไรก็ตาม เมื่อลดอัตราต้องการหั่นการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาให้น้อยลงด้วย จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 20 รายการ ให้เหลือน้อยลง และพบว่าผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นผู้มีรายได้สูงเป็นล้านบาท ส่งผลให้ผู้มีรายได้มากทำมาทำไปเสียภาษีน้อยกว่าผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้มีรายได้น้อยไม่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อน เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะไปใช้สิทธิหักลดหย่อนเหมือนคนรายได้สูงนั่นเอง
แนวทางการลดภาษีเงินบุคคลธรรมดา ถือว่ามาถูกทาง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอุปสรรคผลกระทบไม่แพ้การลดภาษีนิติบุคคล
เพราะการลดภาษีบุคคลธรรมดาจะเป็นการซ้ำเติมการเก็บรายได้ของรัฐบาลให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น
ลำพังมาตรการลดภาษีนิติบุคคล และมาตรการลดภาษีอื่น ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อบ้านหลังแรกไม่เกิน 5 แสนบาท ลดหย่อนภาษีจากการซ่อมบ้านน้ำท่วมไม่เกิน 1 แสนบาท ซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมไม่เกิน 3 หมื่นบาท หักค่าเสื่อมในการซื้อเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องจักรน้ำท่วมได้ 125% ทำให้สูญเสียได้ 6 หมื่นล้านบาท
แถมพิษภัยจากน้ำท่วมยังพัดเงินภาษีหายจมน้ำไปอีก 6-7 หมื่นล้านบาท เหมารวมแล้วงบประมาณปี 2555 กรมสรรพากรภาษีหายไปต่อหน้าต่อตาแล้ว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องเล็กว่า กรมสรรพากรจะหาเงินจากไหนมาชดเชย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เต็มใจเช่นนี้
ดังนั้น การลดภาษีบุคคลธรรมดาในช่วงนี้ จึงเหมือนแขวนคอตัวเองตาย ซึ่งกรมสรรพากรยากจะยื้อออกไปให้นานที่สุด ในขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่อยากเสียคะแนนนิยม จึงพยายามเข็นออกมาให้ได้ แม้ว่าจะทำให้ฐานะของประเทศมีปัญหาก็ตาม
ส่งผลให้การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ ที่เป็นเรื่องดี กลายเป็นเรื่องยาก และท้าทายต่อฝีมือการทำงานของรัฐบาลไม่น้อย
ความยากส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า การลดภาษีคำนึงถึงความนิยมทางการเมือง มากกว่ามองการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ที่ต้องลดภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา แต่ก็ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ปัจจุบันเก็บ 7% เป็น 10% เพื่อจะได้รายได้เข้ามาชดเชยส่วนที่หายไป
แต่การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจะกระทบกับคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะฐานคะแนนทางการเมืองของทุกพรรคทุกรัฐบาล ใครมาเป็นก็ไม่กล้าเพิ่มภาษี
จึงส่งผลให้การลดภาษีเงินได้ของรัฐบาลนี้ ที่เป็นของดี อาจจะส่งผลร้ายกับเศรษฐกิจมากกว่าผลดีที่ตีฆ้องร้องป่าวเอาไว้ก็ได้หาก จัดการไม่ดีและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี