ร่างพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู เปิดทางรัฐล้วงทุนสำรอง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปิดร่างพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ที่ถูกครม.ให้ทบทวน เผยเนื้อหาเปิดทางรัฐบาทล้วงทุนสำรอง
เปิดร่างพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 ม.ค.2555 แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ไปทบทวนใหม่
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.....ที่นายกิตติรัตน์เสนอนั้น ประเด็นหลักอยู่ที่ มาตรา 7 ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบชำระหนี้ทั้งหมด และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลดึงเงินทุนสำรองมาใช้
แหล่งข่าวระบุว่า ในมาตรา 4 ของร่างพ.ร.ก.นี้ กำหนดให้กองทุนมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ ได้แก่หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ 2541 ที่ยังคงมีอยู่
และหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ 2545 ที่ยังคงมีอยู่
ยอดหนี้ทั้ง 2 ก้อนนี้ มียอดรวมกันประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท
ต่อมาในมาตราที่ 5 บัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนเงินต้นกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดยพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยกำหนดให้เงินหรือสินทรัพย์ตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ ให้นำส่งเข้าหรือรับขึ้นบัญชีสะสมดังกล่าว
ทั้งนี้ใน มาตรา 7 กำหนดว่า ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธะต้องดำเนินการ 3 ประการ ได้แก่ (1)ในแต่ละปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5
(2)ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ
(3)ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ขณะที่ มาตรา 8 ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้แก่กองทุนตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก
มาตรา 9 สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ในกรณีที่สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามมาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบและไม่เสียเงินเพิ่ม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้สถาบันการเงินนั้นชำระเงินดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด
มาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังโอนเงินของกองทุนเพื่อการชำระคืนเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 เข้าบัญชีตามมาตรา 5
เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยุบเลิกกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดยพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541
ทั้งนี้มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพ.ร.ก.นี้
'กิตติรัตน์'หัก'ธีระชัย-ประสาร' เมินดึงเงินคุ้มครองเงินฝากล้างหนี้กองทุน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
'กิตติรัตน์'หัก'ธีระชัย-ประสาร' เมินแนวทางดึงเงินสถาบันคุ้มครองเงินฝากล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แนะให้หารายได้จากการเพิ่มค่าธรรมเนียมอื่น
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่เสนอให้นำเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาจ่ายดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูเพราะห่วงว่าจะกระทบกับความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตามนายกิตติรัตน์ เห็นว่า ธปท.สามารถไปคิดค่าธรรมเนียมจากกิจการด้านอื่นในส่วนแบงก์พาณิชย์ตามอำนาจของ ธปท.ได้
รายงานข่าวระบุว่าตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง และธปท.นั้นให้กองทุนฟื้นฟูฯ รับโอนรายได้จากเงินสมทบที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทุกปีในอัตรา 0.4% ของฐานเงินฝากทั้งหมด มาให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะนำรายได้ส่วนนี้ไปชำระดอกเบี้ยในแต่ละปี ซึ่งอาจจะโอนมาได้ประมาณ 0.39% หรือคิดเป็นรายได้ก็ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ในการประชุมครม.วันนี้ นายกิตติรัตน์ เสนอพระราชกำหนด(พรก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ....เพื่อให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบเกี่ยวกับชำระคืนเงินต้นกู้และดอกเบี้ยดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันนายกิตติรัตน์ ยังเสนอให้ครม.ออกพ.ร.ก.แก้ไขธปท.ให้สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน ในวงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับสถาบันการเงิน 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังเสนอให้ออกพ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และพรก.จัดตั้งกองทุนประกันภัยน้ำท่วมอีก 5 หมื่นล้านบาท
'กิตติรัตน์'ย้ำหนี้กองทุน'แบงก์ชาติ'ต้องรับผิดชอบ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
'กิตติรัตน์' ยันครม.เห็นชอบ 4พ.ร.ก.แต่ให้กฤษฎีกาเข้าไปดูรายละเอียด ย้ำต้องโอนหนี้ให้แบงก์ชาติดูแลโดยยืนหลักการไม่พิมพ์แบงก์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบร่างพ.ร.ก.ทั้ง4 ฉบับ เพื่อให้สามารถดำเนินการ และกำหนดกลยุทธการพัฒนาประเทศในระยะยาวได้ โดยให้ทางกฤษฎีกาเข้าไปดูรายละเอียด
แต่ในส่วนของร่างกฎหมายการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ได้ขอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย( กยอ.)และกรรมการยุทธศาตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เร่งจัดทำโครงการให้สอดคล้องกับกรอบการใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งกยอ.และกยน.จะมีการประชุมกันภายใน 1-2 วันนี้ คาดว่า ภายในวันศุกรที่ 6 มกราคมนี้รายละเอียดต่างๆจะครบถ้วน และหากทางกฤษฎีกาไม่มีส่วนใดติดขัด ก็ดำเนินการในขั้นตอนการออกกฎหมายได้เลย โดยไม่ต้องเสนอเข้าที่ประชุมครม.อีกครั้ง
ทั้งนี้ในส่วนพ.ร.ก.การโอนหนี้ทั้งหมดให้กองทุนฟื้นฟูเข้ามาดูแลทั้งเงินต้นและอัตราดอกเบี้ย นั้นจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จัดหารายได้มาชำระดอกเบี้ย แต่อยู่บนหลักการว่าจะต้องไม่พิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และไม่แตะต้องทุนสำรอง และไม่เพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินทุนสำรองนั้น ก่อนหน้านี้ทางธปท.และผู้บริจาคได้คุยกันแล้วว่าสามารถนำมาใช้ได้
ร่างพ.ร.ก.อีก 2 ฉบับคือ การจัดตั้งกองทุนประกันภัยให้แก่ผู้ประกอบการที่ลงทุนภายในประเทศ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันอีกอีก 2 แสนล้านบยาท เพื่อให้สามารถดูและระบบประกันภัยให้เข้มแข็งมากขึ้น นนอกจากนี้ยังให้ธปท ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลนแก่ผู้ประกอบการวงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยธปท.จะรับภาระหาเงินกู้ 70% และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรับภาระอีก 30%
ศึก"แบงก์ชาติ-รัฐบาล"...ร้อนตั้งแต่ต้นปี บทสรุป ต้องมีใครสักคน"ออก"!
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วีระศักดิ์ พงศ์อักษร
"ต้นทุนทางสังคม แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมเหนือกว่ารัฐบาลอยู่หลายเท่า
ดังนั้นความพยายามของรัฐบาล ที่จะโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือจะดึงเงินสำรองระหว่างประเทศ มาใช้นั้นต้องคิดให้รอบคอบ เพราะหากพลาดขึ้นมา ย่อมสะเทือนถึงรัฐบาลได้ทุกเวลา"
บวกกับภาพลักษณ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ด้วยแล้ว หากรัฐบาลจะประกาศชนต้องบอกว่าเหนื่อยพอสมควร แถมมีประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นฐานหนุนอย่างดี
จะว่าไปแล้ววันนี้แบงก์ชาติยึดแนวทาง นโยบายที่ไม่กระทบกับแก่นของเรื่อง...ดังนั้นอาจจะยอมให้แค่การแก้กฎหมายแบงก์ชาติ ให้กลับมาทำหน้าที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำได้เช่นอดีต
ยอมเปิดประตู..แต่จะให้เข้าหรือไม่อยู่ที่เจ้าบ้าน มีอำนาจปล่อยกู้แต่ขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติว่าจะปล่อยหรือไม่ เป็นกรณีๆ ไป
ส่วนเรื่องโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และความพยายามของรัฐบาลจะดึงเงินสำรองระหว่างประเทศ มากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) ถือเป็นศึกใหญ่ ที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกได้ประโยคเดียวว่า "ไม่ยอม"
"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี ออกหน้าก็จริง แต่ทีมที่อยู่เบื้องหลัง ดันเต็มตัวโดย "ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" ผู้ซึ่งประกาศตัวชัดเจนว่าหนี้กองทุนฟื้นฟู "แบงก์ชาติต้องรับผิดชอบ" ในฐานะเป็นผู้สร้างความเสียหาย
แนวคิดฝั่งนี้ชัดเจนว่ายึดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 27 ธ.ค.2554 รับ "หลักการ" ให้แบงก์ชาติรับภาระหนี้ทั้งส่วนเงินต้นและดอกเบี้ย
"ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ยืนยันมาตลอดว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ 1.14 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้การคลัง เพราะเกิดจากความล้มเหลวในนโยบายรัฐบาล เป็นภาระที่แบงก์ชาติไม่ควรรับตั้งแต่ต้นแล้ว
ผู้ว่าการแบงก์ชาติมีจุดยืนชัดเจน 3 ข้อ 1. ไม่ใช่แนวทางที่ให้แบงก์ชาติพิมพ์เงินเพิ่ม 2. ไม่เป็นภาระการคลัง และ 3. ต้องไม่กระทบต่อเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
ดูเหมือนจะยืนกันคนละขั้ว...จนยากจะหาจุดสมดุลที่ลงตัว โดยมี "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตัวแปรที่เข้ามาเพิ่มสีสันในสงครามครั้งนี้
ถือว่าปะทุกันตั้งแต่ต้นปี และหากยังปะทะกันต่อไป บทสรุปศึกครั้งนี้ประเมินต่อกันได้เลยว่า ใน 4 คนที่เอ่ยถึงอาจจะเห็นใครบางคน "ลาออก"!
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี