สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐบาลกับการบริหารความเสี่ยงปี55

จาก โพสต์ทูเดย์

ความเสี่ยงเหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐบาล เพราะเรามีรัฐบาลไว้แก้ปัญหา ไม่ใช่ไว้แก้ตัว หรือโยนความผิดให้กับคนอื่นเหมือนอย่างปีที่ผ่านมา

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับรัฐบาลในปี 2555 หลังจากผิดพลาดอย่างร้ายแรงในการบริหารจัดการน้ำจนก่อให้เกิดความพินาศ ฉิบหายอย่างร้ายแรงในปีที่ผ่านมา ปีนี้จึงเป็นปีแก้ตัวของรัฐบาล แต่ก่อนอื่นรัฐบาลควรรู้ว่าจะเผชิญกับความเสี่ยงหรือภัยคุกคามที่จะเป็น อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้อย่างไรบ้าง เราจะมาสำรวจและประเมินความเสี่ยงในปี 2555 แต่ละด้านใน 6 หัวข้อดังนี้

1.ความเสี่ยงด้านการทหาร โดยพิจารณาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ สงครามระหว่างประเทศ และ สงครามภายในประเทศ สำหรับประเด็นแรกนั้นคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยกเว้นการปะทะชายแดนด้านกัมพูชา แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันมีความสัมพันธ์อันดีกับกัมพูชา ผู้นำเขมรคงไม่ยั่วยุเพื่อให้เกิดการปะทะชายแดนเช่นรัฐบาลชุดก่อน อย่างไรก็ดี ประเด็นเกี่ยวกับเขมรอยู่ที่ การตัดสินคดีของศาลโลกในกรณีพื้นที่ชายแดนซึ่งอาจนำไปเป็นประเด็นชาตินิยม ได้ สำหรับการสู้รบในประเทศยังคงอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสำคัญ ซึ่งจะยังคงดำเนินต่อไปและมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนสงครามกลางเมืองคงไม่มี

2.ความเสี่ยงทางการเมือง โดยทั่วไปความเสี่ยงทางการเมืองในปี 2555 จะมีขึ้นหรือไม่ มีมากน้อยเพียงใดอยู่ที่รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา และมีกลุ่ม นปช.นอกสภาเป็นแนวร่วมว่าจะจุดประเด็นเพื่อสร้างความปรองดองหรือการเผชิญ หน้าทางการเมือง ในเรื่องที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางอย่างยิ่ง คือ การแก้ไขมาตรา 112 กฎหมายอาญา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การเปลี่ยนนักโทษคดีอาญาเป็นนักโทษการเมือง การไม่ดำเนินการจริงจังต่อกลุ่มดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดมีแต่กลุ่มการเมืองที่ได้ประโยชน์ ประเด็นร้อนเหล่านี้หากรัฐบาลไม่แตะก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากรัฐบาลไปแตะเมื่อไรก็จะออกอาการทันที หากรัฐบาลยังดึงดันใช้พวกมากลากไป หรือทำเพื่อคนเพียงคนเดียว หรือเพื่อพรรคพวก เท่ากับการท้าทายกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายของประเทศ

3.ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มาจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมของรัฐบาล โดยเฉพาะการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ ที่นักลงทุนต่างชาติต้องการความชัดเจนของนโยบายและรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ผลจากน้ำท่วมทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น ความเป็นอยู่ของคนลำบากมากขึ้น ความยากจนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเร่งด่วนอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข งบประมาณจำนวนมากในการฟื้นฟูประเทศ และโอกาสที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันจากโครงการดังกล่าว หากมีการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทันที

4.ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติธรรมชาติ ภาวะโลกร้อนขึ้นซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศโลก ได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ปี 2555 โลกและไทยมีโอกาสเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นเดียวกับปีก่อน ทั้งภาวะภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม หรืออาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะแผ่นดินไหวนอกประเทศ คลื่นยักษ์ การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติเป็นความสำคัญเร่งด่วนสูงสุด เพราะคนไทยยังฝังใจต่อวิกฤตน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลต้องใช้บทเรียนปีที่แล้วว่าจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยขึ้นอีก

5.ความเสี่ยงจากโรคระบาดร้ายแรง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดหรือไม่ เมื่อไร อย่างไร โดยเฉพาะการแพร่ระบาดจากต่างประเทศไปทั่วโลกและประเทศไทยด้วย เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากยากที่จะป้องกัน การแพร่กระจายของโรคระบาดร้ายแรงเป็นสิ่งหนึ่งที่โลกหวาดเกรง เพราะกว่าจะผลิตวัคซีนหรือยาป้องกันได้ต้องใช้เวลาหลายเดือน

6.การก่อการร้ายระหว่างประเทศและอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่มีประเทศใดในโลกรวมทั้งไทยที่ปลอดจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศซึ่งเกิด ขึ้นรวดเร็ว ยากจะคาดเดาได้ คล้ายกับโรคระบาดร้ายแรงใหม่ที่คาดเดายาก ภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายในประเทศในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำรงอยู่ต่อ ไปและรุนแรงมากขึ้นในปี 2555 และมีแนวโน้มจะถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกสำหรับนักรบจิฮาดรุ่นใหม่จากประเทศ เพื่อนบ้าน ปัญหานี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ งบ ประมาณ กำลังพลจำนวนมากในการเข้าจัดการปัญหา ถือว่าเป็นภัยคุกคามลำดับต้นๆ ของประเทศ ส่วนด้านอาชญากรรมข้ามชาติในปี 2555 นั้น ยาเสพติดยังคงเป็นภัยคุกคามหลักต่อสังคมไทยเช่นเดิม โดยเฉพาะการระบาดสู่กลุ่มที่มีอายุน้อยมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป ความเสี่ยง 4 ลำดับแรกเรียงตามความสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือ (1) ความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนขยายมากขึ้น ทั้งการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 การใช้พวกมากลากไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การเปลี่ยนนักโทษคดีอาญาเป็นนักโทษการเมือง การท้าทายสถาบันทหารและสถาบันตุลาการ การสูญเสียอธิปไตยดินแดนด้านเขมรจากการตัดสินของศาลโลก

(2) ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมขนาดใหญ่ ผลกระทบจากแผ่นดินไหวนอกประเทศ (3) ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังน้ำท่วมจะได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐ กิจของกลุ่มยูโรโซน (4) ความเสี่ยงด้านการก่อการร้าย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอธิปไตยของชาติเป็นเดิมพัน

ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเตรียมตัวจัดการบริหารความเสี่ยงข้างต้นได้ อย่างไร เพื่อให้รัฐบาลเดินไปสู่เป้าหมายและทำนโยบายที่แถลงไว้ต่อประชาชนได้สำเร็จ สมความมุ่งหมาย หากไม่สามารถป้องกันปัญหาได้ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด นี่คือหน้าที่ของรัฐบาล เพราะเรามีรัฐบาลไว้แก้ปัญหา ไม่ใช่ไว้แก้ตัว หรือโยนความผิดให้กับคนอื่นเหมือนอย่างปีที่ผ่านมา

ความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับท่าทีของ รัฐบาลเป็นสำคัญ ว่าจะก่อให้เกิดความปรองดองหรือขยายความแตกแยกเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนสุขใจหรือทุกข์ใจ จะใช้เสียงข้างมากลากไปในการสร้างประเทศเพื่อคนคนเดียว คนกลุ่มเดียวหรือเพื่อคนไทย 64 ล้านคน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : รัฐบาล การบริหารความเสี่ยงปี55

view