จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"สุจิต บุญบงการ"แนะสร้างความเข้มแข็งพรรคการเมืองเข้าถึงมวลชน ติงกฏหมายยุบพรรคทำลายความเข้มแข็งพรรคการเมือง
วันนี้(6ม.ค.)สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายในหัวข้อ"การสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งความท้าทายภายใต้ระบอบประชาธิปไตย "
ศ.ดร.สุจิต กล่าวว่า พรรคการเมืองจะมีความเข้มแข็งและต่อเนื่องเพื่อให้เป็นสถาบันทางสังคมไทยนั้น ประการแรก พรรคการเมืองจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง และต่อเนื่อง มีผู้นำทดแทนได้ตลอดเวลา อย่างในกรณีของพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ถ้ามีการเปลี่ยนผู้นำไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว มีคำถามอยู่ว่า พรรคจะสามารถยังดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ แต่พรรคประชาธิปัตย์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่า พรรคนี้มีความต่อเนื่องของผู้นำมาโดยตลอด จึงกลายเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ขึ้นมาได้ เพียงแต่พรรคนี้จะไม่สามารถใหญ่ไปกว่านี้ได้ เรียกว่าไม่ตายแต่ไม่โต แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายว่า พรรคนี้ทำไมไม่ตาย แต่ไม่โต หรือในกรณีของพรรคกิจสังคม ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งขึ้นมา เมื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ลาออกก็ค่อยๆหายไป ลดบทบาททางการเมืองลงเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีส.ส.ในสภาแม้จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมักจะได้ยินชื่อของม.ร.ว.คึกฤทธิ์มาใช้ในการหาเสียงอยู่
ศ.ดร.สุจิต กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 พรรคจะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน และกลุ่มทางสังคม มีฐานมวลชนขึ้นมา ในยุคก่อน 14 ต.ค. 2516 พรรคการเมืองจะขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะสร้างขึ้นจากการรวมตัวของส.ส. เท่านั้น แต่ต่อมาผู้สมัครก็เริ่มใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เชื่อมโยงกับประชาชน ขณะเดียวกันผู้คุมกฎก็ออกกฏเกณฑ์ หรือข้อห้ามต่างๆ เพราะมองว่า วิธีการที่ผู้สมัครใช้เป็นการซื้อเสียง ไม่ว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ โดยมีฐานคิดว่า เพื่อให้คนที่ไม่มีเงินสามารถสู้กับคนมีเงินได้อย่างเสมอภาค แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะคนที่มีเงินก็เปลี่ยนวิธีการเป็นการซื้อตรง ดังนั้นกกต.ต้องพิจารณาว่าควรมีการปรับแก้กฎหมายอย่างไรหรือไม่ต่อไป
"ปัจจุบันพรรคการเมืองมีการเชื่อมโยงกับประชาชนและกลุ่มที่ทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยขณะนี้ที่มีความได้เปรียบมาก เพราะนอกจากหัวหน้าพรรคตัวจริงอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะมีเงินมากมีทุนแล้ว ยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประชาชน เป็นแบ็คอัพ คือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือคนเสื้อแดง ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดแนวทางพรรคเก่าแก่ที่เน้นอนุรักษ์นิยม ไม่มีการสร้างฐานมวลชน เป็นแบ็คอัพ ทำให้ขาดทุน แต่มีคำถามตามมาว่า กลุ่มนปช.ที่เป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนพรรคในทุกเรื่องหรือไม่ หรือทำเฉพาะบางเรื่อง บางนโยบาย หากไม่ตรงกันก็ไม่สนับสนุน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ตัวอย่างที่ได้ในภาคอีสาน ทุกคนรักพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังเป็นน้องพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งก็เปรียบเสมือนลูกที่คนอีสานก็รักด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคล เรื่องของนโยบายต่างๆ ที่พรรคนำเสนอ คนอีสานยังไม่มีการพูดมาชอบหรือไม่ชอบอย่างไร "ศ.ดร.สุจิต กล่าว
ศ.ดร.สุจิต กล่าวว่า ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ได้มีฐานมวลชนที่แท้จริง มีเพียงความนิยมส่วนบุคคล ที่มารวมกันเป็นพรรคเท่านั้น เมื่อก่อนแกนนำส่วนใหญ่ของพรรคเป็นคนใต้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่คนใต้โตขึ้นมาอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ทำให้เกิดปัญหาความคิดที่ขัดแย้งกับกลุ่มของคนภาคใต้ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ แต่อย่างไรก็ตามพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะคนใต้ยังให้การสนับสนุนส.ส.ที่เป็นคนใต้ ขณะที่กทม.แม้นายอภิสิทธิ์จะเป็นหัวหน้าพรรค เป็นคนกทม. แต่ฐานของกทม.ไมได้เป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าดูจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ฐานของกทม.จะเปลี่ยนไปตามประเด็นทางการเมือง ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ หากต้องการมีฐานเสียงในกทม.ก็ต้องเหนื่อยเพราะคนกทม.จะเปลี่ยนความชอบไปเรื่อยๆ ถ้าสิ่งเดิมไม่ดี
ศ.ดร.สุจิต กล่าวว่า ยุคเริ่มต้นของพรรคการเมือง แต่ละพรรคจะมีอุดมการณ์แตกต่างกัน พรรคนี้ต้องการอนุรักษ์นิยม หรือทุนนิยม หรือเสรีนิยม สังคมนิยม แต่มาในระยะหลังนี้อุดมการณ์หรือนโยบายของแต่ละพรรคแทบจะไม่มีความแตกต่างกัน ต่างกันเฉพาะตัวบุคคลที่นำมาเป็นจุดขายเท่านั้น โดยเฉพาะหลังยุคของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มีการชูนโยบายประชานิยม ทำให้บางพรรคที่ก่อนหน้านั้นไม่เอาประชานิยม ยังต้องเปลี่ยนนโยบายของพรรคให้เป็นประชาชนนิยม เห็นได้ชัดเจนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า ทุกพรรคการเมืองเน้นรูปแบบประชานิยม
"นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย เช่น ค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทต่อวันเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ทำประชานิยมด้วย แต่เป็นประชานิยมแบบแปลกๆ คือบอกว่าไม่เอาค่าแรง 300 บาท แต่บอกว่าขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนฟังไม่เข้าใจ จึงไม่เลือก แต่นโยบายประชานิยมของแต่ละพรรคก็ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะนำเงินมาจากไหน สุดท้ายนโยบายก็ยังเป็นการเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ไม่ได้สร้างฐานมวลชน จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองว่าจะมีวิธีการอย่างไรให้พรรคของตัวเองมีมวลชนที่แท้จริงให้ได้ จึงจะสามารถทำให้พรรคการเมืองคงอยู่" ศ.ดร.สุจิต กล่าว
นอกจากนี้ยังเห็นว่าพรรคการเมืองไทยยังขึ้นกับตัวผู้นำและนักธุรกิจที่มีเงินมากเกินไป พรรคไม่ได้ใช้การสร้างตัวเอง หรือเป็นการสร้างผู้นำให้ประชาชนเลือก แต่กลับใช้การเชิญนักธุรกิจ หรือคนที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองมาเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้เราเห็นข่าวว่าพรรคการเมืองจะไปทาบทามคนนั้นคนนี้เข้าพรรค เคยถามพรรคการเมืองว่า ทำไมถึงไม่สร้างผู้นำของตัวเองขึ้นมา ได้รับคำตอบว่าต้องใช้เวลา 10-15 ปี แต่พรรคต้องการชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงต้องใช้วิธีการเชิญคนภายนอกเข้ามา
ศ.ดร.สุจิต กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขคือ 1 .ต้องทำให้พรรคอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าพิจารณาจากกฎหมายเห็นว่าการยุบพรรคเป็นตัวทำลายความต่อเนื่องของพรรคการเมือง เพราะทำให้แต่ละพรรคยกมาเป็นประเด็นในการยื่นยุบพรรคกันและกัน 2.พรรคจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน โดยให้สาขาพรรคและเขตเลือกตั้ง เข้ามามีบทบาทในตัวของผู้สมัคร
3.พรรคการเมืองต้องสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน การที่กฎหมายกำหนดว่าคนที่ต้องการจะตำแหน่งส.ว. กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น ห้ามเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนคิดว่าการยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นเรื่องติดลบ เรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไข อยากให้มีการพัฒนาพรรคการเมือง เหมือนทีมฟุตบอลในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้เล่นหรือผู้นำทีมอย่างไร ประชาชนในท้องถิ่นก็ยังต้องการเชียร์ทีมของตัวเองอยู่ หรืออย่างในต่างประเทศ ถ้าลูกเกิดในครอบครัวที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ลูกก็จะเป็น รีพับลิกัน ไปโดยปริยาย แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดในสังคมของไทย และคาดว่าจะไม่เกิดในระยะเวลาอันสั้น ถ้าพรรคการเมืองยังไม่ลดราวาศอกจากการเป็นของผู้นำพรรค ที่ผู้นำว่าอย่างไร ลูกพรรคต้องว่าอย่างนั้น มันไม่มีทางที่พรรคจะกลายเป็นของประชาชนได้
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี