'ธีระชัย'แจงโอนหนี้กองทุนให้ธปท. ไม่แตะทุนสำรอง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คำต่อคำ : "ธีระชัย"แจงโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้ธปท.ไม่แตะทุนสำรองฯ-ไม่พิมพ์แบงก์เพิ่ม จ่อเก็บค่าต๋งแบงก์เพิ่ม
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เก็บตกจากเนชั่น" ถึงแนวคิดที่อยากจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีที่มาทีไปอย่างไรว่า ไม่ใช่เป็นการโอนหนี้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถ้าหากโอนไปให้กับ ธปท. มันจะไปทำให้เกิดปัญหากับตัว ธปท. ทั้งในแง่ของฐานะการเงิน และในแง่ของการดำเนินนโยบายการเงิน การควบคุมปริมาณเงินก็จะมีปัญหา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการโอนหนี้ ไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย
"หลักมันคือ หนี้อันนี้ เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แล้วเป็นหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากรัฐบาลในขณะนั้นเข้าไปดูแลคุ้มครองผู้ฝากเงิน พูดง่าย ๆ ว่าดและรับประกันผู้ฝากเงินให้ได้รับเงินคืนเต็มที่ถึงแม้ว่าจะเกิดวิฤติขึ้นมาในขณะนั้น แล้วหนี้อันนี้เป็นภาระหนี้ของทางรัฐบาลอยู่ แต่ว่าเวลานี้เรามีความจำเป็นที่เราจะต้องมีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น จัดหาแหล่งเงินเพิ่มขึ้นที่จะมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศ ในการบริหารจัดการน้ำอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น ภาระในเรื่องของการชำระดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เกิดขึ้นเวลานี้ในแต่ละปีมันเป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ หนี้อันนี้ เป็นหนี้ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีการชำระคืนเงินต้นได้น้อยมาก เป็นหนี้ที่เรียกว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขการบริหารจัดการที่ดีขึ้นมันจะกลายเป็นว่าคนจะมีความกังวลว่า แล้วเมื่อไหร่จะมีการชำระต้นเงินให้มันหมดไปได้ เพราะฉะนั้นมันถึงมีความจำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการให้ชัดเจนขึ้นมา
ถามว่า การบริหารจัดการนี้หมายความว่า จะโอนเงินหนึ่งล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท หนี้ของกองทุนไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลแทน นายธีระชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ ไม่ได้โอนไปไหน หนี้ก็ยังเป็นหนี้ของทางรัฐบาลอยู่ แต่ว่าจะกำหนดให้ทางกองทุนฟื้นฟูเป็นคนที่จะดูแลและหาแหล่งเงินเข้ามาที่จะชำระหนี้ แหล่งเงินที่จะมาส่วนหนึ่งก็จะมาจากกฎหมายเดิมที่กำหนดไว้ ว่า เวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกำไรก็ให้โอนกำไรเข้ามาเพื่อที่จะชำระหนี้ส่วนนี้
นอกจากนี้ในกฎหมายเดิมที่กำหนดไว้เวลามีผลประโยชน์จากทุนสำรองในระดับหนึ่งก็ให้โอนผลประโยชน์อันนั้นเข้ามาที่จะชำระหนี้ คือ 2 อันนี้ยังเป็นเหมือนเดิม แต่ว่าที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกก็คือว่า ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีอำนาจในการที่จะเรียกให้สถาบันการเงินส่งเงินเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อที่จะเอามาใช้ในการชำระหนี้ตรงนี้
ถามว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วย กับร่าง พ.ร.ก.ตัวหนี้หรือไม่ นายธีระชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาว่าเป็นร่าง หรือเป็นพ.ร.ก. หรือ เป็นพระราชบัญญัติ แต่แนวในการบริหารจัดการอันนี้ ผมเห็นด้วย เพราะว่ามันจะไม่ก่อเกิดปัญหาให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย และขณะเดียวกันไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของการ จะต้องไปพิมพ์เงินไปสร้างปริมาณเงิน หรือไปบังคับให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายผิดไปจากในแนวที่สมควรจะเป็น
ถามว่า แต่เมื่อเข้าไปดูในร่างตัวนี้ มันเหมือนกับว่าโอนหนี้ให้ไปอยู่ในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย นายธีระชัย กล่าวว่า หลักการตรงนี้ คือว่าให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องของการจัดแหล่งเงินเข้ามา แต่ว่าแหล่งเงินส่วนหนึ่งนั้น ก็จะมาจากำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งเงินอีกส่วนหนึ่งมาจากผลประโยชน์จากทุนสำรอง แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งก็คือจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการที่จะไปเรียกเก็บสถาบันการเงิน
ถามว่า ตรงนี้ถือว่าเป็นการยกภาระให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย นายธีระชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ ภาระหนี้ก็ยังเป็นของรัฐบาลอยู่ ในระยะต่อไปถ้าหากว่า พันธบัตรรัฐบาลค่อยทยอยครบกำหนดอายุไปเรื่อย ทางรัฐบาลก็จะมีทางเลือก 2 ทาง คือจะออกพันธบัตรเหมือนเดิมโดยรัฐบาลออกเอง หรือจะให้กองทุนฟื้นฟูเป็นคนออกพันธบัตรก็ได้ โดยรัฐบาลจะค้ำประกันหรือไม่ค้ำประกันก็ได้ คือภาระหนี้ยังเป็นของภาครัฐอยู่ เพียงแต่ว่าขบวนการในการจัดหาแหล่งเงินเข้ามาชำระให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ที่จะช่วยในการบริหาร
ถามว่า มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม นายธีระชัย กล่าวว่า ตัวกฎหมายนี้จะเขียนหลักการเอาไว้ชัดเจนเลยว่าการดำเนินการตรงนี้จะต้องยึดหลักวินัยการเงินและการคลังและไม่ไปกระทบเรื่องของการบริหารทุนสำรอง แต่ว่าขณะเดียวกันสามารถที่จะลดภาระในการชำระดอกเบี้ยของทางรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นหลักการในการเขียนกฎหมายก็จะมีการเขียนกรอบตรงนี้เอาไว้ให้ชัดเจน
ถามว่า คุณธีรชัย บอกว่า จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ มาช่วยตรงนี้ นายธีระชัย กล่าวว่า คงไม่เรียกค่าธรรมเนียม แต่เป็นการเรียกเก็บเงินส่ง คือหลักการเป็นอย่างนี้ หลักการในการที่จะให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นคนรับภาระในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหลักการที่เวลานี้เขาใช้กันหลายๆ ประเทศ โดยที่จะถือหลักอย่างนี้ว่า เวลาเกิดปัญหาต่อระบบสถาบันการเงิน แล้วจำเป็นจะต้องใช้เงินจากภาครัฐเข้าไปแก้ไข วิธีการที่จะเก็บเงินเข้ามาเพื่อที่จะ คลายปัญหาตรงนี้ แทนที่จะใช้เงินภาษีโดยรวมของรัฐบาล ซึ่งจะเก็บจากชาวบ้าน เก็บจากชาวนา เก็บจากใครต่อใครก็ตามทั่วประเทศคนละนิดหน่อย ซึ่งเวลานี้แนวคิดส่วนใหญ่จะใช้วิธีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นคนที่รับภาระ หมายถึงคนที่อยู่ในสถาบันการเงิน ผู้ที่ใช้บริการในสถาบันการเงิน หลายๆ ประเทศมีการนำเก็บเงินนำส่งเพิ่มเติมจากระบบสถาบันการเงิน เพื่อเอามาแก้ไขปัญหานี้
ถามว่า เมื่อเก็บเเงินนำส่งเพิ่มเติม แล้ว ธนาคารพาณิชย์จะมาเก็บดอกเพิ่มจากผู้ฝากด้วยหรือไม่ นายธีระชัย กล่าวว่า ขณะนี้ ส่วนหนึ่งทางธนาคารพาณิชย์มีการส่งตรงนี้ให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่แล้ว ในอัตราร้อยละ 0.4 ของเงินฝากต่อปี เพราะฉะนั้นในส่วนนั้นมันมีภาระที่ธนาคารพาณิชย์มีการส่งเงินตรงนี้อยู่แล้ว สิ่งที่เราจะดำเนินการได้ ในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาเก็บเพิ่มเติมอาจจะมีการพิจารณาที่จะลดภาระสำหรับธนาคารพาณิชย์ ในส่วนที่เขาจ่ายให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากลงไปบ้าง ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ภาระต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวมไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก
ถามว่า จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากมันต่ำลงกว่านี้อีกหรือไม่ นายธีระชัย กล่าวว่า ผมคิดว่านโยบายในการกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องเข้าไปกำกับดูแลเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้อของสถาบันการเงินนั้น อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอสม นอกจากนี้เราจำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นให้มีการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารต่างประเทศต่างๆ เพื่อที่จะให้ผลประโยชน์ตกไปให้แก่ผู้ใช้บริการโดยตรงอยู่แล้ว
ถามว่า จะไปลดเงินที่ธนาคารพาณิชย์ จะต้องส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก แบบนี้จะทำให้ประชาชนทั่วไปที่เอาเงินไปฝากธนาคารเกิดความมั่นใจได้อย่างไร นายธีระชัย กล่าวว่า ในส่วนนี้ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เวลานี้จากเงินที่ได้เรียกเก็บมาขณะนี้มีเงินสะสมอยู่ เป็นจำนวนพอสมควรแล้วเกือบ ๆ จะ แปดหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นทุนที่เขาจะใช้สำหรับรองรับและการแก้ปัญหาอะไรต่างๆ นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังถ้าหากว่าจะมีการลดภาระของสถาบันการเงินในส่วนที่เขาส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทางกระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปดูแลการดำเนินงานของสถาบันตรงนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้ความมั่นใจกับผู้ที่ฝากเงิน ตรงนี้่ผมเชื่อว่าไม่น่าเป็นห่วง
ถามว่า คุณธีระชัย ไม่ห่วง ที่อธิบายมาทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นต่อการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือต่อกระทรวงการคลัง ต่อประเทศไทยโดยรวม นายธีระชัย กล่วว่า ไม่ครับ การดำเนินการตรงนี้ถ้าเราไปออกกฎหมายแล้วในที่สุดทำให้มันเสียวินัยทางการเงินการคลังอย่างนี้มันจะทำให้เกิดผลกระทบความเชื่อมั่น ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือของประเทศไทยโดนรวม แต่ถ้าหากเราดำเนินการในกรอบที่รักษาวินัยการเงินการคลัง และขณะเดียวกันเรามีวิธีการที่เราจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินโดยเอาทรัพยากรจากระบบสถาบันการเงินนั้่นเอง มาช่วยในการแก้ปัญหา และเป็นลักษณะในการแก้ปัญหาซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าการแก้ปัญหาจากนี้ไปมันจะเบ็ดสร็จ มันมีขบวนการในการที่จะชำระต้นเงิน และทำให้ปัญหาเหล่านี้ยุติอย่างเด่นชัดอย่างแน่นอน อันนี้กลับจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของไทย ว่าเรามีวิธีการแก้ปัญหาที่เรียกว่าครบวงจร แล้วจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินการคลังของไทย มีแต่ทำให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้เลวลง
ถามว่า มีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นไหนในร่าง พรก.ตัวนี้ นายธีระชัย กล่าวว่า ผมขอย้ำว่า ยังไม่ได้เป็น จะเป็น พรก.หรือ ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ แต่ในส่วนที่ผมคิดว่า ถ้าจะต้องดำเนินการด้วยความชัดเจนก็คือต้องมีคำอธิบายเพื่อที่จะให้ประชาชนต่างๆ เข้าใจขณะเดียวกันอธิบายให้บุคคลที่เกี่ยวข้องว่าอันนี้เป็นการดำเนินการซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่คาราคาซังเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ไม่มีจุดจบ และผมเชื่อว่ามันไม่ส่งผลดีต่อประเทศในสถานะการเงินการคลังในยะยะยาว
ถามว่า ไอเดียวิธีการแก้ปัญหาเป็นของคุณธีระชัย หรือเป็นของคุณกิติรัตน์ นายธีระชัย กล่าวว่า มีการปรึกษาหารือกันหลายครั้ง และก็ดูทางเลือกต่าง ๆ ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละทางเลือกบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ละกลุ่มก็จะมีผลได้ผลเสียแตกต่างกัน เรามีการพิจารณาทางเลือกต่างๆ และคิดว่าทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดโดยมีการประชุมหารือร่วมกัน
ถามว่า นโยบายนี้ถูกวิจารณ์มาก นายธีระชัย กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มาก คือหนี้ระดับ 1.1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เรื่องเล็ก แล้วเป็นปัญหา ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลไม่สามารถที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและชัดเจน ที่มีแหล่งเงินเข้ามาเพื่อที่จะเคลียร์ปัญหา ถ้าหากเราไม่จัดการปัญหาให้มันชัดเจนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในวันนี้ แล้วค้างไว้ในที่สุดเกิดมีใครมา ออกไอเดียวิธีการแก้ปัญหาที่มันพลิกแพลง แล้ว แล้วมันแผลง และมันไม่ถูกต้อง อันนั้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหากับประเทศมากมาย เพราะฉะนั้นปัญหานี้ ถ้าจะไม่แก้ปล่อยมันไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับเราเดินไปแล้วเขี่ยลูกบอลให้มันกลิ้งไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ดีกับประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าการที่จะเข้าไปแล้วตัดสินใจทำให้มันเกิดความชัดเจน ในการแก้ปัญหาแล้วจัดขบวนการให้มันถูกต้องตามหลักวิชาการ เราถือโอกาสนี้ ทำไปเพื่อที่จะจัดขบวนการให้เรียบร้อยและหาทางแก้ปัญหาฟื้นฟูประเทศได้ด้วย อันนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่สุด
'ธีระชัย'ปัดขัดแย้ง'กิตติรัตน์'โอนหนี้กองทุน ยันไม่แตะทุนสำรอง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ธีระชัย"ปัดขัดแย้ง"กิตติรัตน์"โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้ธปท.เคลียร์ ยันไม่แตะทุนสำรองฯ โยนกฤษฎีกาตีกรอบมาตรา 7 จ่อรีดต๋งแบงก์เพิ่ม
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนการเข้าประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยน.) ถึงกรณีการออก พ.ร.ก.การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้มีความขัดแย้งกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ
นอกจากนี้ยังชี้แจงว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นการโอนหนี้ให้กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะหนี้ก้อนนี้เป็นการออกในรูปของพันธบัตรรัฐบาล ไม่ใช่การออกพันธบัตรของธปท.ซึ่งมีแนวคิดที่จะนำไปรวมศูนย์ไว้ที่กองทุนฟื้นฟูฯ
ดังนั้นจะออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่นั้น หนี้ดังกล่าวก็มีการกำหนดไว้แล้วว่าทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชำระให้ก่อนและหากทาง ธปท.มีกำไรจากการบริหารงานก็จะต้องนำมาจ่ายคืนให้กับรัฐบาล แต่กระบวนการบริหารหนี้ก้อนนี้ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การชำระคืนที่ชัดเจน ทำให้รัฐต้องรับภาระในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยและเป็นภาระต่องบประมาณ
"สำหรับการออก พ.ร.ก.การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นั้นจะต้องยึดหลักการ 3 ข้อ คือ 1.ต้องไม่เสียวินัยการเงินการคลัง 2.ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อภาระงบประมาณของรัฐในการจ่ายดอกเบี้ยและ 3.ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ"นายธีระชัยกล่าว
ส่วนกรณีลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ออกมาเรียกร้องว่าการออก พ.ร.ก.การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จะกระทบต่อทุนสำรองเงินตรา หรือ คลังหลวง นายธีระชัย ชี้แจงว่า การออกกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะออกเป็นรูปแบบ พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ซึ่งหากมีการพิจารณาแล้วเสร็จจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาใน สัปดาห์หน้า
จ่อเก็บค่าต๋งแบงก์จ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ
ส่วนกรณีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากสถาบันการเงินเพื่อมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และอาจส่งผลให้สถาบันการเงินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เขากล่าวว่า ทางธปท. จะมีการกำกับดูแลให้แต่ละสถาบันการเงินมีการแข่งขันอย่างเสรีระหว่างธนาคารของรัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นการบังคับไม่ให้ธนาคารปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บจากประชาชน
ประกอบทางรัฐบาลมีมาตรการการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% จาก 30% ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว และหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มนำมาตรการดังกล่าวมาใช้เช่นกัน
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี