สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด!มุม ประสาร เหตุผลต้านม.7(3)กับแผนชำระหนี้กองทุนหมดใน 25ปี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ประสาร'แจงหลังหารือ'กิตติรัตน์'รัฐบาลยอมแก้พ.ร.ก.บริหารหนี้กองทุนฯ ร่วมวางแผนชำระหนี้ 25 ปี ส่งเจ้าหน้าที่แจงข้อมูลกฤษฎีกาจี้ถอด ม.7(3)
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงประเด็นที่ ธปท.มีความกังวลเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .... โดยเฉพาะในส่วนของมาตรา 7(3) ซึ่ง ธปท.ค่อนข้างเป็นกังวลว่า จะมีการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้นั้น เรื่องนี้ นายกิตติรัตน์ รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ ซึ่งธปท.ก็ได้ส่งทีมงานไปที่สำนักงานกฤษฎีกาเพื่อดูแลในเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าวานนี้ (6 ม.ค.) แล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเช้าวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ได้เดินทางไปธปท.เพื่อหารือกับดร.ประสาร โดยไม่ได้อยู่ในกำหนดการปกติของรองนายกฯ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด

"ในมาตรา 7 เราก็ห่วงทุกวงเล็บ แต่ในวงเล็บ 3 ค่อนข้างเป็นห่วงที่สุด เพราะไปเขียนว่าให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธปท.ได้ ซึ่งท่านรองนายกฯ ก็รับเรื่องไว้ ท่านบอกว่าไม่มีเจตนา และได้บอกให้กฤษฎีกาแก้ไขแล้ว ทางเราเองก็ได้ส่งทีมไปกฤษฎีกาด้วยเช่นกัน"นายประสาร กล่าว

นอกจากนี้แล้วการปฏิบัติตาม มาตรา 7 (3) ยังอาจขัดต่อหลักการในเรื่องของการพิมพ์เงินด้วย เพราะถ้าธปท.ไม่มีรายได้ แล้วต้องให้นำเงินส่งกระทรวงการคลัง โดยให้โอนสินทรัพย์ออกมา กรณีนี้ก็เหมือนกับการพิมพ์เงิน หากตัดเรื่องนี้ออกไปแล้วไม่ทำให้ธปท.ต้องพิมพ์เงินออกมา กรณีนี้ก็ยังพอยอมรับได้

ส่วนมาตรา7 วงเล็บอื่นๆ นั้น นายประสาร กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเช่นกัน เพราะทั้งวงเล็บ 1 และ 2 อาจจะขัดต่อหลักกฎหมายใหญ่ ทั้งในส่วนของ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เงินตรา และ พ.ร.บ.ธปท. เช่น กรณีของวงเล็บ1 ที่ให้ธปท.นำส่งเงินกำไรในแต่ละปีไม่น้อยกว่า90% เข้าบัญชีสะสมตามมาตรา5 ในขณะที่ พ.ร.บ.ธปท. ระบุเอาไว้ว่า ให้นำไปหักขาดทุนสะสมก่อนที่จะนำส่งกระทรวงการคลัง หรือกรณีวงเล็บ2 ก็มีข้อตกลงกันอยู่ในเรื่องการลงบัญชี

"มันมีรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างที่ต้องดูเพิ่ม เพราะบางอย่างรีบเขียนร่างกฎหมายออกมาแล้วไป overrule กฎหมายหลัก เช่นในวงเล็บ1 วิธีปฏิบัติทั่วไปนั้น ก่อนนำส่งเงินให้คลังต้องดูก่อนว่ามีกำไรสะสมค้างอยู่หรือไม่ ถ้ามีค้างอยู่ให้เอาไปล้างก่อน เพราะถ้าไม่เอาไปล้างมันก็จะค้างอยู่นานไม่ลดลงซะที ก็คล้ายๆ กับเงินของบริษัทก่อนจะจ่ายเงินปันผลก็ต้องล้างขาดทุนสะสมก่อน"

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์นั้น ธปท.ต้องการความกระจ่างว่า ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากในช่วงก่อนหน้านี้ สามารถนำไปใช้ชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ ได้หรือไม่ ซึ่ง นายกิตติรัตน์ บอกว่าสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม หากดูค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ 0.4% ซึ่งในจำนวนนี้รัฐบาลอนุญาตให้แบ่งมาที่กองทุนฟื้นฟูฯ 0.35% หรือคิดเป็นรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อภาระดอกเบี้ยที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องมีการเรียกเก็บเพิ่ม

"ถ้าคำนวณรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บอยู่ 0.35% และได้เงินมาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าต้องการเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ก็เท่ากับว่าต้องเรียกเก็บเพิ่มอีกครึ่งหนึ่งของ 0.35% ดังนั้นโดยรวมแล้ว การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ คงไม่ขึ้นมาอยู่ที่ 1%"

ขึ้นค่าต๋งกระทบขีดแข่งขันแบงก์

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มนั้น คงต้องหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์อีกครั้ง โดยกลางสัปดาห์หน้า ธปท.มีการประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมด้วยเช่นกัน

นายประสาร กล่าวยอมรับว่า ค่าธรรมเนียมที่ต้องเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเพื่อไปชำระดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้ของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น อาจทำให้ภาระต้นทุนของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น และคงมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยหลังเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วยเช่นกัน

"เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องมาช่วยกันคิด เพราะถ้ามันลงเอยอย่างนี้ คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นภาระของแบงก์พาณิชย์อยู่แล้ว ซึ่งทีมงานของแบงก์ชาติก็กำลังศึกษาในทางวิชาการอยู่ว่า ระดับไหนถึงจะไม่ส่งผลกระทบกับแบงก์พาณิชย์มากเกินไป แต่ดูแล้วคงหนีไม่พ้นที่ต้องเรียกเก็บเพิ่มอีกบ้าง แต่การเรียกเก็บเพิ่มก็คงไม่ถึง 1%"

อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์นั้น เป็นเพียงเงินที่นำไปชำระค่าดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเงินที่จะนำไปชำระคืนเงินต้น เรื่องนี้ธปท.จะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง โดยกำหนดเป็นระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น 25 ปี ซึ่งค่อยๆ ทยอยลด จากบัญชีผลประโยชน์ส่วนหนึ่ง และหวังว่าผลดำเนินงานของแบงก์ชาติในอนาคต เมื่อตลาดเงินเข้าสู่ภาวะปกติ หรือมีความสงบบ้างเราก็อาจมีกำไร” ดร.ประสาร กล่าว

ส่วนคำถามที่ว่าการโอนหนี้ส่วนนี้มาไว้ที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะกระทบต่อฐานะการเงินของธปท.หรือไม่นั้น ดร.ประสาร กล่าวว่า กรณีนี้คงไม่กระทบแล้ว เพราะถ้อยคำที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. ใช้คำว่า บริหารจัดการหนี้ โดยที่หนี้ก้อนนี้ยังไม่โอนมาที่กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วย เป็นเพียงการช่วยบริหารจัดการเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลยังเป็นเจ้าของหนี้ก้อนนี้อยู่

อย่างไรก็ตามการจะดูว่าหนี้ก้อนนี้เป็นของใครคงต้องรอดูในอนาคตว่า หลังจากที่พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะครบกำหนด 1 ล็อต ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้ ใครจะเป็นผู้ออกพันธบัตรเพื่อมารีไฟแนนซ์หนี้ก้อนดังกล่าว ถ้าให้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ออกพันธบัตร ทางกองทุนฯ ก็จะเป็นเจ้าของหนี้ เพียงภาระดอกเบี้ยอาจสูงขึ้น เมื่อเทียบกับรัฐบาลเป็นผู้ออกเอง

"เรื่องนี้ใน พ.ร.ก. ยังไม่มีการพูดถึง ใน พ.ร.ก.เพียงแต่บอกว่าให้กองทุนฯ เป็นฐานรับเรื่องทั้งหมด และให้แบงก์ชาติเป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้นจึงไม่ได้มาลงที่แบงก์ชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราห่วงมาก เพราะถ้ามาลงที่แบงก์ชาติ มันจะยุ่งหมดเลย ทำให้แบงก์ชาติทำงานเรื่องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่"


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปิด!มุม ประสาร เหตุผลต้านม.7(3) แผนชำระหนี้กองทุนหมดใน 25ปี

view