สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าแต่เขา อิเหนา ก็ ดีแต่กู้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ถึงตอนนี้ต้องยอมรับกันว่าวาทกรรม “ดีแต่กู้” กำลังกลายเป็นของแสลงสำหรับรัฐบาลไปแล้ว

ทั้งๆ ที่ในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมนั้น การที่บริษัทหนึ่งบริษัทใดกู้เงินมาลงทุนได้ บรรดาผู้บริหาร บรรดาผู้ถือหุ้นต้องฉลองใหญ่

เพราะหมายถึงโอกาสในการทำกำไร สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างเป็นกอบเป็นกำเมื่อเทียบกับของเดิม

แต่การกู้เงินสำหรับรัฐบาลได้กลายเป็นของแสลง...

ไม่น่าแปลกใจนักที่ วิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข จะทักท้วงในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค. หลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ โดยเฉพาะเนื้อหาสาระร่าง พ.ร.ก.จำนวน 3 ใน 4 ฉบับเป็นเรื่องของการ “กู้เงิน” ก้อนมหึมาร่วม 7 แสนล้านบาท

1.ร่าง พ.ร.ก.ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยซอฟต์โลน 3 แสนล้านบาท และนำไปปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

2.ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ

3.ร่าง พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท

รวมตัวเลขวงเงินกู้เบ็ดเสร็จก็ตก 7 แสนล้านบาท ที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมจะกู้เงินไปใช้เพื่อฟื้นฟูสถานการณ์น้ำท่วม และการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตประเทศ

“ท่านต้องเข้าใจการเมืองด้วย ไม่พูดได้จะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แล้วประชาชนจะนำมาเปรียบเทียบกับรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทันทีว่า พรรคประชาธิปัตย์เขาออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ แต่คุณก็ออกเหมือนกัน” วิทยา กล่าวเตือนสติรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แต่ กิตติรัตน์ แย้งทันทีว่า การที่เราไม่พูดอะไรออกไป แต่ชาวบ้านก็คิดไปไกลแล้ว นักข่าวสายเศรษฐกิจรู้หมดแล้วว่า พ.ร.ก. 4 ฉบับ มีเรื่องอะไรบ้าง โดยส่วนตัวก็รู้ว่าควรจะพูดอย่างไร และมั่นใจว่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้

หากจำกันได้เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการเงินโลกปลายปี 2551 ต่อเนื่องปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์เห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

ตามมาด้วยการเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ พ.ศ. ... แต่ครั้งนั้นมีทักติงว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สมควรผลักดันต่อหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจโลกดีขึ้นและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากตัวเลขจีดีพีปี 2553 ที่ขยายตัว 7.8%

สุดท้ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็กู้เงินใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่แค่ 3 แสนล้านบาท

แต่ประเด็นการกู้เงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์กลับถูกนำมาขยายผลทางการเมืองอย่างได้ผลว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์ ดีแต่กู้เงิน ทำงานหาเงินไม่เป็น”

โดยเฉพาะการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2554 วงเงิน 1 แสนล้านบาท

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ สส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย หัวหน้าทีมอภิปรายในขณะนั้น ชำแหละว่า ในรอบ 76 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีนายกฯ 26 คน มีหนี้รวมกัน 8.7 แสนล้านบาท แต่นายกฯ อภิสิทธิ์ คนเดียวทำงานแค่ 2 ปี มีหนี้ 1.49 ล้านล้านบาท

“หนี้สาธารณะสูงถึง 4.3 ล้านล้านบาท ทำให้คนไทยต้องแบกหนี้ 6.4 หมื่นบาทต่อคน หากยังใช้เงินมือเติบแบบนี้ ความหายนะของคนไทยรออยู่ข้างหน้า” มิ่งขวัญ อภิปรายในรัฐสภา

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.สัดส่วน อภิปรายว่า “ไม่เชื่อถือรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะคอร์รัปชันมากสุด กินหนุบหนับทั้งระดับพญาอินทรี พญาหงส์ กินแบบสัตว์ทุกชนิด” พร้อมสำทับว่า “อยากเป็นนายกฯ ต่อ ต้องระวังสำนวนที่ว่า พายเรือให้โจรนั่ง หรือนั่งเรือที่โจรพาย วันหนึ่งจะเป็นโจรเสียเอง”

“มืออภิปราย” วันนั้น ได้ดิบได้ดีเป็นถึงระดับเสนาบดีในหลายกระทรวงในวันนี้ ยกเว้นบางคนที่ไม่ “เข้าตา”

นี่จึงเป็นที่มาของข้อห่วงใยที่อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน “วิทยา” ได้สะท้อนความคิดในที่ประชุม ครม.เมื่อพุธที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะกลัวว่าวาทกรรมดีแต่กู้จะหวนกลับมาทิ่มแทงใส่พรรคเพื่อไทยว่า “ดีแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

ข้อวิตกกังวลของรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมืองนั้นไม่ไกลจากความจริงนัก เมื่อในช่วงบ่ายวันเดียวกันในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2555 วาระ 2 วาระ 3 นัดพิเศษ ดาบนั้นก็คืนสนองใส่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทันที

เมื่อ อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโจมตีรัฐบาลเพื่อไทยว่า ยังไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดรัฐบาลต้องหาเงินจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลา 35 ปี ซึ่งอ้างว่าต้องใช้เงินลงทุน แต่กลับใช้วิธีเร่งกู้เงิน

ตามติดและทิ่มแทงซ้ำด้วยอดีต “ขุนคลัง” กรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกับการกู้ยืมเงินในโครงการไทยเข้มแข็งที่ตีเข่า ใส่ปลายคางว่า ทำไมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยมีท่าทีต่อต้านการกู้เงินทุกรูปแบบ แต่กำลังจะกู้เงินและก่อหนี้สาธารณะของประเทศจำนวนมาก

กรณ์ รักษารูปมวยและศอกกลับไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขัดขวางหากรัฐบาลจะกู้เงินมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่หนึ่งในข้อเรียกร้องของ กรณ์ คือ “ขอให้รัฐบาลแจกแจงรายละเอียดการใช้เงินที่กู้ยืมมา เหมือนที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยทำในโครงการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ขณะที่ สรรเสริญ สมะลาภา สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ก็ย้ำแผลลงไปว่า รัฐบาลนี้ทำงานมาแค่ 5 เดือน กลับมีแผนเงินกู้แล้ว 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่นับการผลักภาระหนี้ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือให้กองทุนฟื้นฟูฯ รับผิดชอบหนี้เพื่อจะได้หาช่องมากู้เงินอีก

อย่าว่าแต่พรรคฝ่ายค้านที่เรียงหน้าเผดียงแข้งซ้ายเข้าชายโครงรัฐบาล

แม้แต่คนในรัฐบาลเองอย่าง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ที่มีกระแสข่าวดังทั้งทำเนียบรัฐบาลชี้มือไปว่า อาจถูกปรับออกจาก ครม.ก็ยังไม่เชื่อ “แผนการกู้เงินมาลงทุน” ของรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจน และได้ส่งเสียงเตือนไปที่ “กิตติรัตน์” แต่ถูกเมินเฉย โดยอ้างว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันแปร

ในความเป็นจริงแล้วบริบทของประเทศปี 2552 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องกู้เงินมานั้น เพราะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความกังวลเกี่ยวกับการว่างงานในอัตรา ที่สูง จึงต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อสร้างกำลังซื้อในประเทศเพื่อเป็น หัวรถจักรใหญ่นำพาเศรษฐกิจให้พ้นหุบเหว

และผลลัพธ์ก็แสดงให้เห็นว่า การกู้ยืมเงินของรัฐบาลนั้นไม่ได้มีความหมายว่าเลวร้ายหรือไม่ดีแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ไทยรุ่งโรจน์โชติช่วง

เพราะเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ถือว่าเติบโตดีเยี่ยมที่สุดในย่านเอเชีย และแทบจะติด 1 ใน 3 ของโลก ทะลุ 7.8% ถ้าเราไม่กู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจตอนนั้นประเทศไทยคงพังพาบเป็นไก่หงอยแน่ นอน

เช่นเดียวกับบริบทประเทศไทยในปี 2554 ต่อเนื่องถึง 2555 หลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและชาวบ้าน นับล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีทางเลือกมากนักในการบริหารจัดการประเทศ ต้องพยายามสรรหาเม็ดเงินจากทุกกระบวนท่ามาใช้ในการฟื้นฟู บูรณะ กระตุ้นการลงทุนในประเทศให้ฟื้นตัวและเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้ง ในและต่างประเทศ

ลำพังงบลงทุนตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ปีละ 3 แสนล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอในการเรียกความเชื่อมั่นต่อแผนการป้องกันภัยต่างๆ ให้กับนักลงทุนได้

การกู้เงินมาพัฒนา ลงทุน ทั้งซ่อม สร้าง ปะผุ และลงทุนในระยะยาวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ดังนั้น การตัดสินใจออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินมาลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศของรัฐบาลนี้นับได้ว่าไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่ทว่าในทางปฏิบัติการ “กู้เงิน” กลับเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของทุกรัฐบาล นอกเหนือจากการใช้งบประมาณรายจ่ายตามปกติ

เพราะนี่คือโอกาสในการใช้เงินมือเติบ

และรูปแบบการกู้เงินส่วนใหญ่มักจะออกมาในรูปของการออก พ.ร.ก.ที่ไม่มีการกลั่นกรองจากรัฐสภา

การกู้ยืมเงินแบบไร้แผนงานและโครงการที่สมเหตุสมผลสามารถตรวจสอบได้ถือว่ามีความเสี่ยงของการรั่วไหลในการใช้เงินกู้ จึงอยู่ในระดับ “สีแดง” ต่างหากที่เป็นจุดอ่อน และอาจเป็นจุดสลบ และอาจทำให้ใครหลายๆ คนรวยไม่รู้เรื่อง

ขณะเดียวกันนั้นก็หมายถึงภาระหนี้สินที่คนไทยและลูกหลานของเราต้องรับผิดชอบไปอีกหลายชั่วคน ไม่เว้นเด็กแรกเกิดกระทั่งคนชราใกล้ตาย

ทว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลกู้มาไม่รู้ไปตกหล่นอยู่ใน “กระเป๋า” ใครบ้าง

นอกเหนือจากโครงการลงทุนที่รัฐบาลอ้างความชอบธรรมในการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประเด็นนี่ต่างหากที่อันตรายของการกู้ยืมเงินของรัฐบาลที่ประชาชนควรจับตามอง

และอย่าประหลาดใจแม้จะแหยงแผลดีแต่กู้แค่ไหน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ต้องเดินหน้าออกกฎหมายเพื่อกู้ยืมเงินอย่างแน่นอนและจำนวนมากด้วย

ไม่เชื่อโปรดรอดู...


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ว่าแต่เขา อิเหนา ดีแต่กู้

view