จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ณัฐพล หวังทรัพย์
การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ด้วยการออกพระราชการกำหนด
(พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ....เพื่อโอนหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เป็นคนดูแล กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับรัฐบาล
เพราะนอกจากเสียงคัดค้านคนในแวดวงการเงินการธนาคารและนักวิชาการเป็นจำนวนมากแล้ว "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคนในรัฐบาลด้วยกันเองยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้อย่างชัดเจน
ขณะที่ท่าทีของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มเปลี่ยนไป ต่างจากในช่วงแรกๆ ที่ทำทุกวิธีที่จะผลักภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้แบงก์ชาติ โดย "กิตติรัตน์" ออกมาย้ำหลายครั้งว่า หากแบงก์ชาติไม่ยอมรับภาระหนี้ก้อนนี้ รัฐบาลก็จะต้องมีการพิจารณาออกกฎหมายมาบังคับ อันเป็นที่มาของการเสนอร่าง พ.ร.ก. ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา
"กิตติรัตน์" อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปอยู่ในความดูแลของแบงก์ชาติ เพราะหนี้ที่มีอยู่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เป็นหนี้ของประเทศ เมื่อหนี้ก้อนนี้เกิดจากแบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็จะควรจะเอากลับไปดูแล เพราะในขณะนี้แบงก์ชาติมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะสามารถดูแลหนี้จำนวนดังกล่าวได้ ต่างจากปี 2540 ที่ยังไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ รัฐบาลจึงต้องรับภาระหนี้ก้อนนี้แทน
สอดคล้องกับความเห็นของ "วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ที่ระบุว่า สังคมไทยไว้ใจแบงก์ชาติ แต่ไม่ไว้ใจ รมว.คลัง นักการเมือง ถ้าปิดประตู ไม่ให้ รมว.คลังทำกำไรได้ แบงก์ชาติก็เป็นรัฐอิสระ และชอบพูดให้สังคมไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ขัดหลักประชาธิปไตย เพราะรัฐมนตรี นักการเมือง มาจากประชาชน แบงก์ชาติไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาพูดให้ไม่ไว้วางใจนักการเมือง...หากไม่ทำอะไรเลยคงเป็นหนี้ไปตลอดกาลอวสาน
อันที่จริงความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้ก้อนนี้มีมาต่อเนื่องในหลายรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาล "ชวน 2" ที่มีแนวคิดแก้ไขกฎหมายเพื่อรวม 3 บัญชีของแบงก์ชาติ คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีสำรองพิเศษ และบัญชีผลประโยชน์ประจำปี เพื่อนำเงินบางส่วนมาลดภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แต่ต้องมีอันหยุดหลังจากกลุ่มลูกศิษย์พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ออกมาคัดค้าน
ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องนำงบประมาณของชาติซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชนไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้ก้อนนี้ปีละประมาณ 65,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 600,000 ล้านบาท ขณะที่เงินต้นที่แบงก์ชาติเป็นผู้ชำระลดลงไปเพียง 2.6 แสนล้านบาท
ต้องไม่ลืมว่า หนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ที่เกิดจากวิกฤติสถาบันการเงินในปี 2540 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของคนแบงก์ชาติ ดังนั้นแบงก์ชาติจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้
ผู้ว่าการแบงก์ชาติน่าจะใช้โอกาสในช่วงที่สังคมยังให้ความไว้วางใจ เข้าหารือร่วมกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศกันอย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้นักการเมืองออกกฎหมายมาบังคับ เพราะรังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศในระยะยาว
คงไม่มีประโยชน์อันใดที่แบงก์ชาติจะออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบภาระที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหา
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี