สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ หม่อมอุ๋ย เปิดเบื้องลึกแหล่งเงินพ.ร.ก.ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ...ไม่ง่ายอย่างที่คิด !

คำต่อคำ"หม่อมอุ๋ย"เปิดเบื้องลึกแหล่งเงินพ.ร.ก.ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ...ไม่ง่ายอย่างที่คิด !

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาเรื่อง”วิเคราะห์ ร่างพระราชกำหนดการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ” โดยมีการเชิญม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นวิทยากร และต่อไปนี้เป็นคำอภิปรายคำต่อคำเพื่อให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของแหล่งที่มาของ เงินแต่ละก้อนที่ทุกคนกำลังกล่าวถึงว่า

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(11ม.ค.)ได้มีการปรับร่างพระราชกำหนดการโอน หนี้กองทุนฟื้นฟู มาตรา 7 (2) และ (3) ใหม่ ถือว่าใช้ได้ รับได้ งานอภิปรายครั้งนี้อยากให้ผมพูดถึงประวัติความเป็นมาของหนี้กองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน ความไม่เข้าใจประวัติทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายทะเลาะกัน ซึ่งไม่เคยเกิดมาในอดีต 

 

กองทุนฟื้นฟูฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  2528  ตอนที่ตั้งเนื่องจากสถาบันการเงินหลายแห่งเกิดมีปัญหา มีคำถามว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร

 

ก่อนปี 2528 เคยเกิดปัญหาสถาบันการเงินเหมือนกัน และมีวิธีการแก้ไขหลายแบบ เช่น “สหธนกิจ”วิธีการแก้ปัญหาคือ ให้ธนาคารพาณิชย์ลงขันเพิ่มทุนและรับไปดำเนินการ , 24 ไฟแนนซ์ที่มีปัญหาก็แก้วิธีเดียวกันนี้

 

แต่ในปี 2528 เป็นครั้งแรกที่ธปท. และกระทรวงการคลังนั่งคิดด้วยกัน สามารถระบุตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้ ได้ข้อสรุปว่า ให้อัดฉีดเงินเข้าไป เพื่อให้สถาบันการเงินอยู่ได้ แต่จะใช้ธปท.เป็นหน่วยงานในการอัดฉีดเงินไม่ได้

 

 

เพราะถ้าเกิดปัญหาหนี้เสียต้องรับหนี้มา  ซึ่งจะปล่อยให้ธปท.หน่วยงานหลักของประเทศเกิดความเสียหายไม่ได้ ทุกคนตกลงกันตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้นมาเป็นหน่วยหน้า เพื่อกวาดปัญหา เช่น ไปอัดฉีด ไปเรียกหลักประกัน  เพื่อไม่ให้ผู้ฝากเงินเสียหาย ผู้ฝากเงินสมัยก่อนถือว่า รัฐบาลเป็นประกัน ไม่ใช่ธปท.เป็นประกัน รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย คือ การอัดฉีดเงินให้ไปจ่ายผู้ฝากเงินได้ บริษัทไหนที่ผู้ถือหุ้นพอมีเงินทุนพอฟื้นได้ก็ฟื้นไป บริษัทที่ไม่มีเงินทุนก็ล้มไป

 

พอล้ม จำนวนเงินที่ใส่ไปเพื่อจ่ายเงินฝาก มีสินทรัพย์เหลือไม่พอ เกิดการขาดทุน จึงมอบให้กองทุนฟื้นฟูฯรับการขาดทุนไปก่อน รับไปจนถึงจุดที่มันนิ่ง ไม่มีอะไรเสียหายอีกแล้ว ก็จะต้องแปลงหนี้ระยะสั้น เพราะการขาดทุน  สำหรับเงินที่ใช้ในการอัดฉีดใช้เงินกู้ระยะสั้น ตอนที่ผมเข้าไปกู้วันต่อวัน  วันละหลายแสนล้านบาท กู้วันนี้ใช้พรุ่งนี้ทุกวัน

 

พอหนี้นิ่งแล้ว ต้องแปลงหนี้ระยะสั้น เป็นหนี้ระยะยาว เพราะฉะนั้นกองทุนฟื้นฟูฯ คือ หน่วยหน้า กู้เงินจากตลาดเงินเอาเข้าไปอัดฉีด ให้ผู้ฝากเงินได้คืนหมด ทั้งนี้ ในการแปลงหนี้ระยะยาว มีหน่วยงานเดียวที่ออกพันธบัตรทางการเงินได้แล้วคนเชื่อถือ คือ กระทรวงการคลัง ธปท.ไม่สามารถบอกพันธบัตรระยะยาวได้

 

ตอนนั้นกระทรวงการคลัง และธปท.ไม่เคยทะเลาะกันทุกคนรู้หน้าที่ว่าทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณธา

รินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนั้น เมื่อเข้ามาประชุมรอบแรก รวมยอดเงินที่เสียหายปี 2540 ประมาณ 5 แสนล้านบาท และมีการกู้เงินจากตลาดมาอัดฉีดทุกวัน จึงได้มีการออกพันธบัตร 5 แสนล้านบาท การดำเนินการลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ใช้ในการแก้ปัญหาลักษณะอย่างนี้เหมือนกันทั่วโลก เท่ากับ”ไม่ซุกหนี้ใต้พรม”เปิดให้คนเห็น

 

เมื่อผมเข้าไปปี 2544  ปรากฎยอดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกในช่วงระหว่างปี 2541-2542-2543  เนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ล้มความเสียหายเพิ่มขึ้น องค์การเพื่อการปฎิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) เอาหนี้มาแล้วจัดการไม่เป็นทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น พอผมเข้าไปก็รับหนี้ทั้งหมดเข้ามา  จากหนี้เดิม5 แสนล้าน กองทุนฟื้นฟูฯมีหนี้เสียเพิ่มอีก 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงนั้นมีการออกพันธบัตรระยะสั้นไปอีก 1.2 แสนล้านบาท

 

ผมคำนวณแล้วรวมหนี้เหลือประมาณ 7.8 แสนล้านบาท ผมเจรจากับรัฐบาล เพราะตอนนั้นมีการดึงเงินจากตลาดออกมาอัดฉีดวันละ 4 แสนล้านบาททุกวัน อย่างนี้มันไม่ได้ ตลาดการเงินมันตรึงหมด และเป็นการหลอกทั่วโลก เป็นการซุกหนี้ไว้ใต้พรม เราทำอะไรต้องให้ถูกต้อง ต้องขอโควต้าในการออกพันธบัตร 4.8 แสนล้านบาท แต่เสนอให้ทยอยออกพันธบัตรอีก 305,000 ล้านบาทก่อน

 

 

หลังจากนั้นปี 2545-2546 ก็ทยอยออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น เพราะมีความเสียหายของเดิม ทางบัญชีต้องมีการคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ก่อนถึงมีการออกพันธบัตร แต่กว่าจะออกพันธบัตรได้สมัยนั้น  ต้องมีการเจรจากัน จะเห็นว่า สมัยนั้นไม่มีภาพออกมาว่า ธปท.ทะเลาะกับกระทรวงการคลังเลย เพราะการเจรจากับกระทรวงการคลังผมทำกันเงียบ ๆ ผมเจรจากันจนจบแล้วถึงเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตอนเจรจาเถียงกันหรือไม่ เถียงกัน แต่เมื่อจบแล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่คราวนี้ยังไม่ทันเจรจาเสร็จ ตกลงกันไม่ได้ กลับมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

 

ตอนที่ออกพันธบัตร 7.8 แสนล้านบาทนั้น มีการพูดถึงพันธบัตรที่คุณธารินทร์ออก 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูก มีส่วนที่ธปท.ต้องรับผิดชอบคือ ส่งเงินกำไร 90% ไปช่วยใช้หนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่เหลือกระทรวงการคลังรับผิดชอบหมด แต่หนี้ 7.8 แสนล้านบาททางกระทรวงการคลังรับหนี้คนเดียวไม่ไหวให้ผมไปหาทางแบ่งเบาภาระ ผมก็ดูจะเอาเงินที่ไหนจะให้ธปท.พิมพ์พันธบัตรออกมาไม่ได้ อายทั้งโลก จะเกิดเงินเฟ้อขึ้นมหาศาล

 

 

ผมก็ไปเห็นเงินก้อนหนึ่ง คือ “เงินสำรองธนบัตร” ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ที่ ธปท. อันนี้มีหนี้ควบคู่กันอยู่ เป็นหนี้ที่ออกพันธบัตรไปซื้อดอลลาร์ ถ้าใครจะนำเงินตัวนี้ไปใช้ต้องนำหนี้ไปด้วย

 

 

“เงินสำรองธนบัตร”อยู่ในบัญชีฝ่ายออกบัตร แต่เมื่อไปหาคำจำกัดความทั้งโลกไม่ใช่เงินที่อยู่ในธปท. แต่เป็นเงินของประเทศชาติ ผมก็เกลี้ยกล่อมคนธปท. เงินต้นเราไม่แตะเอาไว้สำรองธนบัตร ถ้าแตะเงินต้นคนขาดความเชื่อถือธนบัตรของเราทันที แต่ผลประโยชน์ที่ได้น่าจะเอามาทำประโยชน์ประเทศชาติได้ ไปช่วยใช้หนี้จะดีกว่าหรือไม่ ก็ดีกว่า


 ตอนนั้นดูกันใครจะเอาดอกเบี้ย ใครจะเอาเงินต้น กระทรวงการคลังรับจ่ายดอกเบี้ยไปปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท ไม่มีใครผิดใครถูกก็ช่วยกันแก้ปัญหาประเทศชาติ คนที่ผิดคือ สถาบันการเงินที่ล้มไปแล้ว จะไปฆ่าอะไรใครได้ ตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3% คำนวณว่า 29 ปีใช้หนี้หมด

 

แต่ถ้าปีไหนเงินบาทไม่แข็งก็จ่ายหนี้ได้เต็มที่ แต่พอปีไหนค่าเงินบาทแข็งเงินต้นของพันธบัตรทั้งหมด ดอลลาร์เท่าเดิม

แต่ค่าเป็นเงินบาทลดลง เป็นการขาดทุนที่ไม่ได้เป็นการขาดทุนจริง ๆ  พอไปรวมกับผลประโยชน์ที่ได้ทางบัญชี  ผลประโยชน์เป็นเงินบาททำให้กำไรลดลง หรือบางปีขาดทุนด้วยซ้ำไป ทำให้ส่วนที่เหลือไปจ่ายหนี้ลดลง นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้การจ่ายหนี้ลดลงไป ไม่มีใครตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น ธปท.ก็อยากจะจ่าย แต่ไม่มีใครกล้าทำผิดกฎหมาย

 

ประเด็นที่สองซึ่งเกิดขึ้นระยะ 2-3 ปีหลัง ค่าเงินบาทไม่ได้แข็ง แต่ดอกเบี้ยในตลาดโลกลงมาก ขณะนี้เหลือไม่ถึง 1% พันธบัตรเก่ายังมีอยู่ แต่พันธบัตรใหม่ไม่ใช่แล้ว อันนี้เป็นผีซ้ำด้ามพลอย ของพวกนี้มันไม่ได้เป็นตลอดชาติ มันคงอยู่ต่ำกว่า 1% ไปอีกพักหนึ่งจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่จะฟื้นขึ้นเมื่อไหร่คงตอบยาก แต่ดอกเบี้ยคงกลับขึ้นมาได้ ส่วนเงินบาทขณะนี้เป็นที่รู้กันดีว่า ไม่น่าจะแข็งค่าต่อไปได้อีก เพราะว่าดอลลาร์กำลังกลับขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ขวางอยู่

 

 

เมื่อเก็บเงินได้น้อย เราก็เห็นใจกระทรวงการคลังต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อปี 60,000 ล้านบาท  แบกภาระก็เหนื่อย ทำอย่างไรถึงจะไม่อยากรับภาระ ผมเองติดตามดูตั้งแต่วันแรกที่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะใช้วิธีโอนหนี้ไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดีกว่าการโอนหนี้ให้ไปธปท. ผมก็รอดูว่าจะโอนอย่างไร การโอนหนี้ไปอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้เสียหายอะไร แต่มันน่าเกลียดคือ โลกจะมองว่า เอาหนี้ไปซุก

 

 

แต่เมื่อโอนหนี้ไปยังกองทุนฟื้นฟูฯ แล้วกองทุนฟื้นฟูฯ จะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ก็ต้องไปออกพันธบัตรใช้หนี้โดยกระทรวงการคลังต้องค้ำประกันอีก ก็เหมือนเดิม ถ้าไม่ออกพันธบัตรใช้หนี้ ก็มีทางเดียวต้องกู้ธปท. ซี่งธปท.ต้องใช้วิธีการพิมพ์ธนบัตร ถ้าพิมพ์ธนบัตรอีก 1 ล้านล้านบาท แต่วันนี้ธนบัตรหมุนเวียนอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ถ้าพิมพ์ธนบัตรอีกเท่าตัว ผมว่าประเทศนี้ไปไม่รอด ผมนั่งยิ้ม และคิดว่า คงทำไม่ได้ และก็จริง ๆ อีกสัปดาห์ถัดมามีการนำกฎหมายใหม่เข้าสู่ทีประชุมครม.วานนี้ 11 มกราคม 2555 


 

หากวิเคราะห์ร่างพระราชกำหนดการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีการเสนอร่างใหม่ โดยมาตร7 (2) เดิมที่ผมทำให้ถือเอาเงินผลประโยชน์มาเข้าบัญชี โดยใช้ดอกเบี้ย แต่มาตรา 7 (2) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้นำมาเข้าบัญชี เพื่อไว้ใช้ดอกเบี้ยได้ เงินต้นได้  ซึ่งเท่ากับผิดจากของเดิม ผมไม่ได้รู้สึกอะไร แต่รัฐบาลกลัวพลาด กลัวโมฆะเข้าก็เลย เมื่อวานจึงมีการ

เสนอครม.ใหม่ว่า เงินส่วนนี้ให้นำไปใช้เเฉพาะเงินต้น ห้ามนำไปใช้ดอกเบี้ย เงินนี้ต้องนำไปใช้หนี้

 

 

ที่เปลี่ยนจริง ๆ มาตรา 7 (3) เดิมระบุ ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธปท.หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ประเด็นนี้หลังจากมีการท้วงติงกันมาก เพราะคณะรัฐมนตรีสามารถสั่งธปท.และกองทุนฟื้นฟูฯเอาเงินเข้าเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าต่างชาติรู้อยู่ไม่ได้ หากธปท.เจอนักการเมืองที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจเสียหาย ทำให้ทั้งทางกระทรวงการคลัง และธปท.จับมือช่วยกันแก้ไข โดยตัดคำว่า”ธนาคารแห่งประเทศไทย”ออก เหลือแต่กองทุนฟื้นฟูฯ

 

 

สำหรับร่างพระราชกำหนดที่ผ่านครม. กฎหมายฉบับนี้ผมอ่านมา 5 รอบ ใช้ได้ เพราะกฎหมายนี้อ่านแล้วไม่มีการโอนหนี้จากรัฐบาลมายังกองทุนฟื้นฟู เพราะพันธบัตรที่ออกไปยังเก็บไว้ที่เดิม ลูกหนี้ยังเป็นกระทรวงการคลังเป็นตามเดิมทุกประการ  และไม่มีข้อไหนระบุว่า ในอนาคตจะโอนหนี้ได้ แต่ว่า ได้เติมสิ่งสำคัญ เขาหาแหล่งเงินใหม่ส่วนเพิ่มมาช่วยชำระหนี้ แหล่งเงินชำระหนี้ปิดบัญชีเดิม และเปิดบัญชีใหม่ มีเงินกำไร 90% จากธปท.มาเข้า มีเงินผลประโยชน์จากเงินสำรองธนบัตรมาเข้า รวมทั้งมีส่วนเติมให้นำเงินค่าต๋งที่สถาบันประกันเงินฝากเก็บจากธนาคาร พาณิชย์ให้นำมาเข้าได้อีก ซึ่งยังไม่ทราบว่าเท่าไหร่

 

 

แต่เงินจาก 3 ส่วนที่นำมาเข้าบัญชีคำนวนแล้วยังไม่พอจ่ายชำระดอกเบี้ย ขณะนี้กระทรวงการคลังอยากสบายตัวไม่มีภาระดอกเบี้ย จึงได้เติมอีกข้อให้อำนาจธปท.ให้เพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียมจากเงินฝากได้อีก จนถึง 1%

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะเวลาการใช้หนี้ 29 ปี ผมคิดว่าคงไม่ได้ ต้องรอให้ดอกเบี้ยลงมา 3% แต่ต้องแก้เรื่องสถาบันประกันเงินฝาก เพราะเงินไม่เหลือแล้ว สำหรับจุดอ่อนของพระราชกำหนดมีอยู่ 2 จุด

 

1.เรื่องสถาบันประกันเงินฝาก เดิมกำหนดเก็บค่าต๋ง ณ ระดับหนึ่ง เมื่อเก็บถึงยอดหนึ่งเพียงพอแล้วจะไม่เก็บอีก เพื่อถ้าเกิดมีธนาคารหรือสถาบันการเงินล้มไป จะได้ชดเชยสำหรับเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ฝากรายย่อย เพราะมีกว่า 90% ของผู้ฝาก ส่วนเศรษฐีดูแลตัวเอง แต่การดูแลต้องมีเงินก้อนหนึ่งจ่ายให้ผู้ฝากทันที ขณะที่เงินก้อนนั้นจะถูกดึงมาใช้หมดไป ทางกระทรวงการคลังจะต้องมีอะไรสักอย่างแสดงออกมา จะเป็นมติครม.หรืออะไรก็ตามว่า ที่แรงกว่าการค้ำประกันเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาทยังคงอยู่ รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ แต่จะนำเงินที่ไหนมาจ่าย กระทรวงการคลังต้องแสดงเจตนาไว้ให้ชัดเจน เช่น การออกพันธบัตรมาจ่ายให้

 

เพราะในสถานการณ์จากนี้ไปจะไปหวังเงินพึ่งจากธปท. หรือกองทุนฟื้นฟูทุกคนคงเข็ด ทุกคนคงไม่เอาด้วย ทุกคนทำมาโดยลักษณะร่วมกันทำ แต่ตอนนี้เกิดความรู้สึกแตกแยก เพราะอะไรก็ไม่รู้ ถ้ากระทรวงการคลังแสดงเจตนาชัดเจน ถึงไม่มีก็ไม่เป็นไหร่ แต่ถึงเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้น กระทรวงการคลังจะหาเงินมาใช้หนี้ให้แก่ผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาทได้ครบถ้วน โดยแนวนโยบายของสถาบันประกันเงินฝากที่ได้ตั้งขึ้นมา แนวความคิดนี้ต้องคงไว้

 

2)การที่เพิ่มอำนาจให้ธปท.เก็บค่าธรรมเนียมจากเงินฝากได้อีกจาก 0.4%  จนถึง 1% เป็นเงินมหาศาลที่จะเก็บจากธนาคารพาณิชย์ อีก 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าจะเก็บเงินตรงจุดนี้เพิ่มธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องผลักภาระ เงินมากขนาดนั้น ไม่อย่างนั้นแบงก์ล้ม การผลักภาระให้ผู้ฝากเงินมี 2 ทาง คือ โดยลดดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยมากอยู่แล้ว และเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งกระทบแน่นอน การเพิ่มภาระอีก 0.6% กระทบต่อเศรษฐกิจแน่อน

 

ผมเชื่อว่าตัวรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคงไม่คิดผลักภาระ แต่ต้องออกมาพูดให้ชัดเจนว่า เจตนาคืออะไร ถ้าเจตนา 25 ปีคำนวนให้เสร็จว่า จะเก็บเพิ่มเท่าไหร่ 0.2หรือ 0.25 ไม่ใช่ 0.6 ไม่ใช่ทำให้แบงก์ตกอยู่ในความกลัว เพราะทางสำนักงานบริหาร หนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังออกมาให้ข่าวว่า จะขึ้น 0.6 แบงก์ก็เตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

 

 

ส่วนที่มีผู้เสนอให้นำเงินสำรองระหว่างประเทศมาตั้งเป็นกองทุนแล้วบริหาร ได้หรือไม่นั้น หากพิจารณาตอนนี้เรามีเงินสำรองประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ถ้านำเอามา 20% เท่ากับ 38,000 ล้านบาท ถามว่าจะนำมาจากไหน เป็นสำรองอยู่ที่ฝ่ายการธนาคารประมาณ 1.25 แสนล้านบาท

 

เงินจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินข้างซ้ายเป็นดอลลาร์หรือยูโร และไปลงทุนถือเป็นพันธบัตรเป็นหลักทรัพย์ ทางขวาขออนุญาตกระทรวงการคลังออกพันธบัตร เพื่อนำเงินบาทมาซื้อตัวนี้ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น เงินบาทจะท่วมตลาด เวลาซื้อดอลลาร์เข้ามา จะนำเงินบาทออกไป ต้องไปดูดกลับโดยออกพันธบัตร ธปท.มีทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ตัวนี้เท่ากันอยู่ หากใครนำเงินลูกหนี้38,000 ล้านบาท ออกมาธปท.ล้มวันนั้นเลย ถ้าเอาตัวนี้ออกมาก็ไม่เหลือดอกเบี้ยที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา

 

 

เหลืออันเดียว คือ บัญชีสำรองธนบัตรของฝ่ายออกบัตร 60,000-70,000 ล้านเหรียญ อันนี้หนุนธนบัตรไปแล้ว 33,000-34,000 กว่าล้านเหรียญ จากธนบัตรมี 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ ถ้าจะออกธนบัตรเพิ่ม มาใช้ต้องคุยกันให้จบ แต่จะเหมือนอยู่บนเส้นด้าย จะมีส่วนเกินจากที่ใช้ไปหากนำมาใช้ 20,000 ล้านเหรียญไม่ถึง 20% ก็ฉิวเฉียด ต้องนั่งคุยกันให้ดี  แต่ต้องระวัง อย่าให้เกิดความกลัวว่า เงินสำรองธนบัตรจะไม่มี แต่ถ้าจะนำเงินสำรองธนบัตรมาใช้ต้องพิจารณาให้ดีว่า เงินส่วนเกินนำมาใช้ได้ แต่ต้องมีวงเงินเหลือเกินเท่าไหร่ต้องตกลงกันให้ดี

 

อันนี้เป็นหลักการที่ใช้ได้ถ้าทั้ง 1.9 แสนล้านบาทไม่มีหนี้ ผมเอาด้วยทั้งนั้น แต่ต้องทำด้วยความรู้ เงินจำนวน 1.2-1.3แสนล้านบาทเป็นเงินที่ถูกล็อคไว้แล้ว ไปนำมาใช้ไม่ได้

 

 

สำหรับกรณีเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น ผมเห็นว่า การเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม และประเทศชาติ เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วม ชาวบ้านต้องการเงินกู้ไปแก้ปัญหา ไปปรับปรุงบ้าน สร้างบ้าน ถ้าไม่มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำธนาคารพาณิชย์คงลดดอกเบี้ยได้ไม่มาก แต่ครั้งนี้ต้องการให้ชาวบ้านได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ เงินฝากธนาคารพาณิชย์ 3% กว่าแล้ว ธนาคารรัฐก็น้อย การช่วยในกรอบที่เป็นไปได้ ธปท.เห็นด้วย ก็ร่วมมือกันดี การทำอะไรต้องคุยกันก่อนว่า อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ต้องแก้กันให้เสร็จ

 

ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการเสนอเรื่องการดึงเงินสำรองธนบัตรมาใช้นั้น ในอดีตเคยเกิดขึ้นสมัยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ นำเงินสำรองไปซื้อรถถัง หลังจากนั้นอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธปท.ถูกย้ายด้วย ก็สู้กันมาตลอด เลยเกิดแนวคิดว่า ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายกันไม่ให้แตะเงินสำรองธนบัตรมันอันตรายอย่างยิ่งต่อ ประเทศชาติ แนวคิดนี้ก็อยู่ในใจของทุกคนที่มีสติสัมปชัญญะดี และคงจบว่า อย่าไปแตะเลย แต่ผมไม่อยากไปปิดกั้นไม่ให้แสดงความเห็น

 

 

ตอนนี้ผมเช็คตัวเลขล่าสุดวันนี้มีเงินหมุนในระบบ 1.3 แสนล้านเหรียญ ใช้เงินสำรองหนุนไป 41 ล้านเหรียญแล้ว เหลือ 28 ล้านเหรียญที่เป็นส่วนเกิน ไม่ควรไปแตะ ถ้าแตะตัวนี้วันหนึ่งคงไปแตะเพื่อซื้อรถถัง... เพื่อไปลงทุนในแก๊สธรรมชาติ คิดว่าไม่ควรแตะ

 

อย่างไรก็ดี กรณีที่ฝ่ายค้านออกมาระบุว่า อาจไม่มีความจำเป็นต้องถึงขั้นออกเป็นพระราช กำหนดและจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้ัน  ม.ร.ว.ปรีดิยาธกล่าวว่า ความเสี่ยงที่พระราชกำหนดการโอนหนี้จะเป็นโมฆะมีมากจริง ๆ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับน้องน้ำเลย แต่อาจหาเรื่องให้เกี่ยว จะเอาน้ำกี่น้ำก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามหลักการประชาธิปไตย การออกพระราชกำหนดถ้าเป็นโมฆะ รัฐบาลก็ถึงกับต้องลาออก ผมไม่อยากมีรัฐบาลใหม่ในช่วงนี้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มเดินได้ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลตอนนี้มันเร็วไป ถ้าจะทำก็ช่วยให้มันพอไปได้ อย่าไปเสี่ยงในสิ่งที่ไม่ควรจะเสี่ยง และมีทิฐิว่าข้าพเจ้าจะเอาชนะ 


4พ.ร.ก.ฉลุยให้ธปท.บริหารหนี้1.14ล้านล.

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับที่ กยอ.ชงเสนอ ครม.ผ่านฉลุย "กิตติรัตน์" แจงรื้อกฎหมายปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูฯ หลังหารือแบงก์ชาติได้ข้อสรุป ยอมหั่นทิ้งมาตรา 7(3) ลดกระแสต่อต้าน ให้อำนาจแบงก์ชาติใช้ดุลยพินิจในการบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทเอง ด้านผู้ว่าการ ธปท.สั่งศึกษาแนวทางหารายได้ นำกำไรจากบัญชีผลประโยชน์ เล็งจัดเก็บค่าธรรมเนียมออกตั๋วบี/อี เทขายหุ้นเคลียร์หนี้



แม้กระแสคัดค้าน ร่างพระราชกำหนด 1 ใน 4 ฉบับ คือร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อ ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟิ้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ...ที่รัฐบาลผลักดันประกาศบังคับใช้จะเริ่มมีน้อยลง เช่นเดียวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในวงกว้างก็ลดน้อยลง ตามลำดับ

ขณะที่ร่างพระราชกำหนดอีก 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนวางระบบบริหาร จัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. ...เพื่อการจัดตั้งกองทุนสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท 2.ร่างพระราชกำหนดกองทุนประกันภัย พ.ศ. ...เพื่อจัดตั้งกองทุนรับประกันภัยต่อ 5 หมื่นล้านบาท และ 3.ร่างพระราชกำหนดให้ ธปท. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำ ท่วม ซึ่งถูกบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับทั้ง 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างเห็นพ้องกับเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวที่ยกร่างขึ้นโดยคณะ กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟิ้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ ที่ยกร่างขึ้นเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในระยะยาว และการฟื้นฟูเยียวยาและสร้างอนาคตประเทศ ตามข้อเสนอของ กยอ. โดยในส่วนของร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลัง กู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ จากเดิมที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาร่างกฎหมายมาตรา 7 (3)

ทั้งนี้เนื้อหาสาระของร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่ กำหนดให้การโอนเงินหรือสินทรัพย์ของ ธปท.เพื่อแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน 1.14 ล้านล้านบาท อยู่ในดุลพินิจของ ธปท.เอง โดยที่ ครม.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

ด้าน นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ทาง ครม.ได้แก้ไขในส่วนของมาตรา 7 (3) ของ พ.ร.ก. ที่เกี่ยวกับการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยแก้ไขข้อความจาก "ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกองทุนเข้าบัญชีตาม มาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด" เป็น "ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด" สาเหตุที่แก้ไขเนื่องจากที่ผ่านมาความเข้าใจผิดว่า จะไปเอาเงินของ ธปท. จึงได้แก้ไขใหม่ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวก็จะเป็นการเปิดให้ ธปท.บริหารหนี้ได้เอง โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่ง

ส่วนสาเหตุที่ยังคง ข้อความ "ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด" เพราะว่าต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและกองทุนฟื้นฟูฯในการ พิจารณาทำแผนชำระเสนอ ครม.

ขณะเดียวกันในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหา หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ของ ธปท.นั้น ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการ ธปท.มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้ของ กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ปัจจุบันมีหนี้ค้างอยู่รวมทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านบาท และมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมการออกตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วบี/อี มาชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ย เบื้องต้นจะคิดค่าธรรมเนียมการออกตั๋วบี/อีของธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.35% จากยอดตั๋วบี/อีคงค้างในระบบ 2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้จะเก็บค่าธรรมเนียมได้ราว 7 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้จะ มีเงินอีกก้อนหนึ่งที่จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้กับสถาบันคุ้มครองเงิน ฝาก (สคฝ.) เพิ่มเติมอีก 0.39% จากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์จ่ายค่าธรรมเนียมให้ สคฝ.อยู่แล้ว 0.40% ของยอดเงินฝาก ทั้งยังมีแนวคิดว่าจากที่รัฐบาลลดการจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลลงเหลือ 23% จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 30% ก็จะให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินส่วนต่าง 7% ส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จากนั้นค่อยนำไปจ่ายชำระดอกเบี้ยที่กองทุนฟื้นฟูฯมีภาระต้องจ่ายปีละ 4.5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อหาประโยชน์จากสินทรัพย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯถือ อยู่ในมือ อาทิ หุ้นที่ถืออยู่ใน บมจ.ธนาคารกรุงไทย, บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท, บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ โดยอาจจะขายหุ้นเพื่อให้มีรายได้เข้ามา รวมทั้งนำกำไรจากบัญชีผลประโยชน์ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 9 พันล้านบาทมาสมทบชำระหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้นด้วย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : คำต่อคำ หม่อมอุ๋ย เปิดเบื้องลึกแหล่งเงิน พ.ร.ก.ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ง่ายอย่างที่คิด !

view