จาก โพสต์ทูเดย์
หมายเหตุ : เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำหนังสือเรื่อง พระมหากษัตริย์นักพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา โดยมีเนื้อสาระสำคัญตอนหนึ่งซึ่งเป็นการให้พระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระ เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าด้วยหลักการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่ง
ไม่เพียงแต่จะทำให้ปวงพสกนิกรได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้หลักคิด วิธีการทำงานไปใช้เพื่อดำเนินตามรอยพระยุคลบาท เพื่อพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ตลอดจนชีวิตส่วนบุคคล โพสต์ทูเดย์ จึงได้ขออัญเชิญคำพระราชทานสัมภาษณ์ทั้งหมดมาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้
สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับหลักการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวซึ่งขอน้อมอัญเชิญมาดังนี้
ทรงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยใช้องค์ความรู้
เรื่องหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสที่เผยแพร่เป็นที่รู้ทั่วไป หลัก กว้างๆของพระองค์ คือ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรว่ามีสิ่งอะไรที่ควรปรับปรุงได้ดีกว่านี้ ทำประโยชน์ให้เจริญรุ่งเรืองได้มากขึ้นกว่านี้ หรือประชาชนยังมีปัญหาความทุกข์ในพื้นที่แบบนี้จะทำอย่างไร โดยพระองค์จะทรงใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้ว หรือหากยังทรงไม่มีความรู้ในสิ่งที่คิดว่าสำคัญ พระองค์จะทรงหาความรู้ โดยทรงศึกษาและสนทนากับผู้รู้ต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ปรับปรุง ด้วยความตั้งพระราชหฤทัยที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน พระองค์เองจะทรงลำบากเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่ทรงสนพระทัย ถ้าทรงเห็นว่าดีแล้วก็ต้องเข้มแข็งพอที่จะทำ หากว่ามีปัญหาหรือใครว่ามาก็ทรงต้องมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาก็หลีกเลี่ยงไป ต้องอดทนตั้งใจ ระมัดระวัง และรอบคอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งสมความรู้พื้นฐาน โดยทรงเรียนรู้จากการคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ถวายรายงานในเรื่องต่างๆ จากนั้นทรงค่อยๆ สร้างองค์ความรู้ของพระองค์เอง หลังจากทรงทำนานๆก็ทรงมีประสบการณ์ จนทรงประเมินราคาโครงการได้เลย
ทรงใช้ความรู้อย่างบูรณาการ..มิได้ทรงตั้งทฤษฎีไว้ก่อน
นอกจากนี้ ทรงนำความรู้และวิชาการต่างๆ มาใช้ร่วมกัน หรือที่สมัยนี้เรียกว่า "บูรณาการ" ไม่ทิ้งแง่ใดแง่หนึ่งอย่าง เช่นเรื่องอย่างนี้ในแนววิศวกรรมศาสตร์ทำได้ แต่ว่าอาจจะไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือเหมาะสมดีในเชิงเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่เหมาะสมกับความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าของประชาชน ก็ไม่ได้
เมื่อพระองค์เสด็จฯ ไปพบประชาชนที่ทุกข์ยากทรงช่วยได้ก็จะช่วยทันทีพระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีไว้ก่อน แล้วทรงทำตามทฤษฎี อย่างทฤษฎีใหม่ หรือทฤษฎีอื่นๆ พระองค์ทรงเห็นอะไรที่กระทบ หรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ทรงหาทางแก้ไข และเมื่อทำไปมากๆก็ออกมาเป็นทฤษฎี ฉัน เห็นว่าพระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีโดยที่คิดตามปรัชญาและทฤษฎีมาก่อน แล้วหาตัวอย่างเข้าไปปฏิบัติตาม แต่มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงมีตัวอย่างมากมายจากการเสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริง
ทรงพัฒนาเพ่อมุ่งสู่ "การพัฒนาที่ยั่งยืน"
เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือ นักพัฒนาจะต้องมีความรักความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และเป็นเรื่องของจิตใจ
การทำงานพัฒนาไม่ได้เป็นเรื่องการเสียสละเพียงอย่างเดียว เป็นการทำเพื่อตนเองด้วย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าเราอยู่อย่างสุขสบาย ในขณะที่คนอื่นทุกข์ยาก เราย่อมอยู่ไม่ได้นักพัฒนาควรมีจิตสาธารณะ รักที่จะช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนอยู่เสมอว่า งานพัฒนานั้นต้องเป็นที่ต้องการของบุคคลเป้าหมาย และผู้ร่วมงานต้องพอใจ งานพัฒนาเป็นงานยากและกินเวลานาน ผู้ที่ทำงานพัฒนา หรือที่เรียกว่า "นัก พัฒนา" จึงต้องเป็นผู้ที่อดทน เชื่อมั่นในคุณความดี มีใจเมตตากรุณา อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ และอยากให้ผู้อื่นมีความสุข ต้องมีความรู้กว้างขวางเพราะงานพัฒนาเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆมาก ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้าใจและยอมรับนับถือผู้อื่นเพราะเป็นงานที่ไม่มีทางทำสำเร็จได้โดยลำพัง
นอกจากนี้ นักพัฒนาต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตถ้า คอร์รัปชันหรือโกงเสียเองแล้วก็จะเป็นที่เกลียดชังผู้อื่นไม่ไว้ใจ หรือไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อพัฒนาสำเร็จมีความเจริญรุ่งเรือง ก็จะเกิดความสุขถ้วนทั่วทั้งบุคคลเป้าหมายและนักพัฒนาเอง
ด้วยวิธีเช่นนี้ และด้วยความตั้งใจจะทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ตัวเองจะลำบากเดือดร้อนไม่สนใจ หรือหากเห็นว่าดีแล้ว ก็ต้องมีความตั้งใจเข้มแข็ง และอดทนพอที่จะทำต่อไปโดยไม่ย่อท้อ'
"ระเบิดจากข้างใน"พัฒนาให้ชาวบ้านเข้มแข็งก่อน
การพัฒนาราษฎรในพื้นที่จะทรงมีวิธีของพระองค์ คือ การเสด็จฯ ไปในป่าบนเขา ตอนแรกจะเสด็จฯ แบบยังไม่ได้มีการตัดถนนเข้าไปพระองค์ต้องเสด็จฯ เข้าไปอย่างลำบาก เพราะว่าพระองค์ ไม่ต้องการจะให้คนอื่นมาเอาเปรียบคนข้างใน ในขณะที่เขายังไม่เข้มแข็งพอพอพัฒนาให้เขาเข้มแข็งแล้ว เขาจะออกมาเอง คือ "ระเบิดจากข้างใน"
แต่เดี๋ยวนี้เวลาเขาทำการพัฒนา เขาจะต้องการถนนก่อน และคิดว่าจะได้ผลที่สุด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทย ที่เมืองจีนก็เช่นกัน และจากเอกสารของเอดีบี หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ก็ใช้ถนนเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม สมัยนี้การพัฒนาจะเป็นอีกแบบ จะให้คงแบบเดิมไว้คงไม่ได้ เราก็ต้องปรับปรุงเช่น มีอาจารย์มาปรึกษาฉันว่า ตอนนี้ผลผลิตในพื้นที่มีมาก แล้วจะตั้งโรงงานในพื้นที่ก็เห็นจะเป็นไปไม่ได้ โรงงานที่เราตั้งอยู่เดิมนี่ดี แล้ว ฉันกำลังพยายามจัดการทำถนนดีๆ ให้ไปถึงไร่ เพื่อนำพืชผลออกมา และต่อไปก็ต้องจัดหารถสิบล้อสำหรับบรรทุกพืชผลเพื่อขนส่งไปโรงงานและต้อง เป็นรถสิบล้อที่แล่นได้ปลอดภัย ไม่ใช่จะยึดแต่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไม่ให้สร้างถนนเข้าไป ต้องดูตามเหตุผล พระองค์ทรงไม่ว่าหากมีเหตุผลและความจำเป็น
ทรงเป็นต้นแบบ 'ประชาพิจารณ์'
ก่อนจะเสด็จฯ ไปทรงงานตามที่ต่างๆ จะทอดพระเนตรจากแผนที่ทางอากาศก่อนว่าควรจะเสด็จฯ ที่ไหน หรือจะทรงแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร เช่น สามารถนำน้ำจากตรงนี้ไปเลี้ยงนาตรงโน้น ได้ประโยชน์และจะต้องมีรายจ่ายจากการก่อสร้างหรือดำเนินงานเท่าไหร่ จะได้ผลจ่ายกลับคืนภายในกี่ปี และที่สำคัญต้องไปคุยกับชาวบ้านก่อน ว่าเขาต้องการไหม ถ้าเขายังไม่ต้องการ ยังไม่สบายใจที่จะทำ เราก็ไปทำที่อื่นก่อน นั่นคือ ทรงทำประชาพิจารณ์ด้วยพระองค์เองทรง ทำตรงนั้นเลย บางครั้งมีคนกราบบังคมทูลหรือถวายความเห็น บางทีก็ดี บางทีก็แย่ คือประโยชน์เข้าที่ตัวเขาคนเดียว คนอื่นไม่ได้ พระองค์ก็ทรงทำตามเขาไม่ได้ เพราะถ้าทรงทำ เขาสบายคนเดียวเพื่อนบ้านไม่สบาย ก็ต้องดูด้วย ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ
ทรงมุ่งพัฒนาทั้งคนและพื้นที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเรื่องต้องพัฒนาทั้งคนและพื้นที่โดยจะทรงพยายามให้ทั้งคนและพื้นที่ได้รับการพัฒนาพระองค์ ตรัสว่า ถ้าพื้นที่ดี คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือคนเหล่านั้นที่เคยลำบาก ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นด้วยหากเป็นเช่นนี้รุ่นลูกรุ่น หลานก็จะมีการศึกษาดีและมีอาชีพที่มั่นคง
พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาโดยให้คนยากจนออกไปจากพื้นที่ และนำคนที่พัฒนาแล้วเข้าไปอยู่ในพื้นที่แทน เพราะทรงเห็นว่าหากใช้วิธีนี้คนจนที่ลำบากจะไม่ได้รับการพัฒนา
ทรงบริหารความเสี่ยง...ทดลองจนได้ผลดีก่อนพระราชทานแก่ราษฎร
ส่วนใหญ่เมื่อเขาเห็นทรงปฏิบัติหรือทดลองแล้วได้ผล เขาก็นำไปปฏิบัติ แต่บางครั้งก็มีเสียงบ่นเหมือนกันว่า พระองค์ทรงทดลองอยู่นั่นเองทำไมไม่เอาจริงเสียที จริงๆ แล้วพระองค์ตรัสเสมอว่า ถ้ายังไม่ดีจริง ไม่ให้ประชาชนนำไปทำแล้วต้องรับผลแห่งความผิดพลาดหรือรับกรรมเช่น เรานำผลไม้แบบใหม่มาปลูกจะขึ้นหรือเปล่าจะดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราต้องเป็นคนรับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเสียก่อน แต่ถ้าไม่ลองของใหม่เลย ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน พระองค์จะทรงทำโดยต้องทดลองจนแน่ใจว่าทำได้แล้วจึงให้เขาทำ เป็นการ "บริหารความเสี่ยง"ไม่ให้เขาเสี่ยง คนที่ไม่มีแล้วยังมาเสี่ยงต้องรับเคราะห์กรรมอีก พระองค์จะไม่ทรงทำ
อย่างตอนเสด็จฯ จ.เชียงใหม่ ประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเรื่อยๆ ไปเจอบ้านชาวเขาหลายเผ่า ทอดพระเนตรเห็นเขาปลูกฝิ่น ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวย ซ้ำยังทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เพราะว่าสูบเองบ้างและขายราคาถูกให้พ่อค้าคนกลาง พวกค้าฝิ่นเถื่อน สมัยก่อนนั้นประเทศอื่นๆ เขาปราบฝิ่นโดยการเข้าไปเผาไร่ฝิ่น แต่ พระองค์ตรัสเสมอว่าถ้าเรายังไม่สามารถช่วยเหลือใครให้มีความกินดีอยู่ดีขึ้น เราจะไปทำลายวิถีชีวิตเก่าเขาไม่ได้และการที่จะช่วยเขาต้องทดลองทำให้แน่ใจ ก่อนว่าดีแล้วจึงค่อยให้เขาทำ โดยพระองค์จะทรงทดลองปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ เมื่อได้ผลแล้วจึงนำไปให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นคือ ทรงค่อยๆ ทำ
แล้วก็มีมิตรประเทศต่างๆ นำพืชผลมาให้ลองปลูกแทนฝิ่น จนโครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติเขาถามว่า ที่เมืองไทยใครเป็นคนทำเรื่องนี้ สมัยนั้นยังไม่มีใครทำ มีแต่พระองค์ทรงทำอยู่ เขาอาสาว่าจะมาช่วย แต่งานทั้งหมดพวกเราคนไทยทำกันเองได้ รวมทั้งงานด้านวิชาการด้วย เพราะเรามีคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วย ภาคกลางมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางเหนือมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ขณะนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อภายหลังมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้น จึงมาร่วมทำงานถวายด้วย
ทรงรับฟังและหาทางแก้ปัญหาให้ประชาชน
เวลาจะเสด็จฯ ไปไหน บางครั้งคนทั้งขบวนยังไม่รู้เลยว่าจะเสด็จฯ ไปไหน เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ไม่ให้ประชาชนต้องลำบากอย่างฉันตามเสด็จฯ บางทีพระองค์ทรงแกล้งพระราชทานแผนที่มาให้ และตรัสว่าจะเสด็จฯประมาณตรงนี้ จะทรงขับรถไปตามที่ฉันบอกทาง ทรงให้เป็นเนวิเกเตอร์ ฉันก็บอกเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ตรงหน้า 3 เมตร จริงๆ ไม่ถูก พระองค์ก็ทรงแกล้งขับตามที่ฉันพูด มีอยู่วันหนึ่งลงไปอยู่กลางนา ไม่มีคนเลย มีแต่พระรูปหนึ่งกำลังซ่อมหลังคาโบสถ์ พระหันมาเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ปีนลงจากโบสถ์ แล้วไปที่หอกลอง ตีกลอง ที่บอกหางเปียมาเลียใบตองพระตีกลองตะลุ่งตุ้งแช่ ฉันก็ได้เห็นคราวนั้น
พระตีกลองสักพักหนึ่ง ประชาชนก็มาเข้าเฝ้าฯ กันมากมาย มาเฝ้าฯ แล้วก็เล่าถวายว่าตรงนี้เป็นอย่างไร มีความเดือดร้อนอะไรพระองค์ทรงรับฟัง แล้วก็ทรงช่วยแก้ปัญหาตามที่เขากราบบังคมทูลพอ เขามากราบบังคมทูล พระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรทันที แล้วก็ทรงถามและคุยกันว่า ตกลงเราจะทำอย่างไรกันดีที่จะแก้ปัญหานั้นๆ เช่น ปัญหาการแบ่งน้ำที่แช่ปอ สมัยนี้เราไม่เห็นแล้วนะปอ เขาจะแช่ปอพอแช่ไปน้ำก็จะเน่า น้ำนั้นจะเอาไปใช้การเกษตรก็ไม่ได้ เอาให้วัวควายหรือสัตว์อื่นกินก็จะป่วย คนที่ทำปอกับปลูกข้าวก็ตีกัน พระองค์จึงทรงให้แยกน้ำเพื่อทำกิจกรรมข้าวและปอ อย่างโครงการปากพนัง พระองค์ทรงแบ่งกิจกรรมเพื่อที่ว่าคนไหนจะทำกิจกรรมอะไร ตรงนี้เขตน้ำจืดตรงนี้เขตน้ำเค็ม เรียกว่า "การจัดปฏิรูปที่ดินใหม่" หรือ Land Consolidation
พระองค์ทรงงานเพื่อให้ชีวิตของคนไทยมั่นคง
หลักของพระองค์ คือ อยากให้คนมีความรู้แม้แต่สารานุกรม ก็เป็นหนึ่งในงานพัฒนา การพระราชทานทุนการศึกษา การสร้างโรงเรียนก็ทรงสร้างไว้หลายโรงเรียน งานพัฒนาเพื่อความมั่นคงพระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อนเรื่องความมั่นคงของ มนุษย์ ที่สมัยนี้เรียกว่า Human Security ก็เป็นสิ่งที่เรารู้จักและเคยชินกัน ไม่ใช่ว่าพัฒนาให้ประเทศไทยมีความมั่นคงอย่างเดียวแต่ เป็นการทรงงานเพื่อให้ชีวิตของคนไทยมั่นคง มีสุขภาพดี มีความรู้ มีการศึกษาที่สามารถจะทำอะไรได้ และจะได้ฝึกหัดนักพัฒนารุ่นต่อๆ ไปให้มีจิตใจอยากจะทำสิ่งดีๆให้แก่ประเทศชาติ และให้มีความรู้ที่จะทำได้ มีสปิริต มีจิตอาสาที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
เรื่องของการสอนคนอื่นให้ทำ พระองค์ทรงถือว่าสำคัญใน ส่วนของฉันทำหน้าที่เหมือนกับจับเกร็ดเล็กผสมน้อย โครงการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากก็แบ่งกันไปดูแลรับผิดชอบเป็นภาคๆ ไปเมื่อมีคนขอความช่วยเหลือให้ทำอะไรในพื้นที่นั้นๆ ก็ต้องไปศึกษาก่อน เพราะบางครั้งจะมีคนที่ไม่ต้องการ หรือคิดคนละอย่าง
ทรงเน้นให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส
ในการพัฒนานั้น การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะค้ำจุนให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องมีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา จะต้องฝึกนักเรียนให้มีทักษะ ทั้งในการปฏิบัติ และมีพลังความคิด ให้มีระบบแบบวิทยาศาสตร์ และต้องมีจินตนาการ ซึ่งจะนำให้เกิดความสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อให้การศึกษาประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
เมื่อก่อนทำ โครงการต่างๆ กับพระองค์ ตอนหลังก็มีทำเอง ฉันพอจะทำอะไรได้ก็จะทำ แต่รูปแบบหรือสไตล์ก็จะต่างออกไป อย่างตอนแรกๆพอพระองค์เสด็จฯ ไปไหน เห็นคนเขาอดข้าวอดปลา พระองค์ทรงให้ตั้ง "มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน"สมัย โน้นก็หลายสิบปีมาแล้ว เมื่อก่อน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำ ตอนหลังคุณหญิงอัมพร มีศุข ซึ่งท่านก็อายุประมาณ 90 กว่าปีแล้ว ก็ยังทำอยู่ และก็กำลังจะฉลอง 50 ปีของมูลนิธิฯ
ในระยะเริ่มต้น ทรงให้มูลนิธิฯ จัดทำโครงการอาหารให้เด็กนักเรียน รวมทั้งทรงสอนให้นักเรียนปลูกผัก ปลูกไม้ผล เพื่อให้เด็กนักเรียนมีความรู้ในการทำการเกษตร สามารถลงมือทำกันเองได้ ซึ่งนอกจากจะได้มูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งของแล้ว ยังเป็นการรวมคนด้วยพอรู้ว่าเราอยากได้อะไร อยากได้จอบ ได้เสียม ชาวบ้าน
หรือคนขายจอบ ขายเสียม ขายอุปกรณ์ต่างๆ ก็มาช่วย เห็นเราทำเก้ๆ กังๆ ทำไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ผู้ใหญ่ที่มีความรู้ก็มาร่วมช่วย ตอนหลังใครๆ ก็เข้ามาช่วย หลายๆ คนก็ได้รับประโยชน์
บางแห่งต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไปเป็นชั่วโมง ไปถึงที่นั่นไม่มีไฟฟ้า ก็ไปช่วย ถ้าทำไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้ก็ใช้พลังแสงอาทิตย์ การช่วยเหลือทุกอย่างสืบเนื่องมาจากพระองค์ ตอนนั้นพระองค์เสด็จฯ ไปที่ไหนก็จะทรงสร้างโรงเรียนในชนบทและชุมชนที่อยู่ในที่ห่างไกล ต้องเริ่มการพัฒนา
ตั้งแต่ต้น เราต้องสร้างโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนชุมชนในหมู่บ้าน อย่างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ตำรวจเขาคิดแล้วมาขอพระราชทานให้ช่วยทำพระองค์เสด็จฯ ไปที่ไหนเห็นว่ายังไม่มีโรงเรียนก็ทรงสร้าง อย่างเช่นโรงเรียนร่มเกล้า และอีกมากมาย ของโครงการหลวงก็มี โรงเรียนสำหรับเด็กยากจนในกรุงเทพฯ ก็มี ตอนนั้นฉันยังเล็กจำไม่ค่อยแม่น จำได้ว่าพวกนิสิตจุฬาฯ ช่วยทำ แต่ก่อนเขาเรียกว่ากองขยะถนนดินแดง ทรงทำเรื่อยมาจนนำไปสู่การสร้างแฟลต
ทรงศึกษาสภาพแวดล้อมระหว่างเสด็จฯ
เวลาพระองค์เสด็จฯ ไปไหน ระหว่างเสด็จฯจะทรงศึกษาไปด้วยเช่น เวลาทรงเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรไปตลอดว่าที่ตรงนี้เป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะปรับปรุงหรือจะนำสิ่งที่ดีที่มีอยู่มาเสริมให้ได้ดีที่สุดอย่างไร ฉันก็ยังได้นำไปสอนนักเรียนด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ทรงสอนอีกว่า ขณะนั่งรถก็สามารถเรียนรู้ได้มาก จากการที่รถวิ่งขึ้นภูเขา หรือวิ่งอยู่บนพื้นราบ พืชพันธุ์ธรรมชาติจะเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นดิน สภาพหิน และสภาพอะไรๆ ก็เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่พืชเศรษฐกิจอะไร หรือความเป็นอยู่ของราษฎรในที่ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร สามารถเรียนรู้จากธรรมชาติได้ทั้งนั้น ทอดพระเนตรเสร็จก็ทรงนำมาคิดวิเคราะห์เป็นโครงการ ไม่ใช่ว่าพระองค์คิดไว้ก่อนหรอก
ทรงทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุข
ที่แก่งกระจานมีชาวกะหร่างอาศัยอยู่มากพระองค์เสด็จฯ เข้าไปเพื่อทรงดูแลชาวบ้านกลุ่มนี้ว่าควรจะเพาะปลูกอะไร ทำอย่างไรจะมีอยู่มีกิน และสามารถที่จะนำของไปขายหรือประกอบอาชีพอื่นๆ จึงทรงให้ความรู้ รวมถึงส่งเด็กๆ แถวนั้นเรียนหนังสือ ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทรงรักษา โดยทำแบบครบวงจรในทุกๆ อย่างพระองค์ทรงพัฒนาอย่างครบวงจร อะไรที่จะเสริมให้ดีขึ้นได้ ทรงทำทุกอย่าง
งานบางอย่างอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกับการพัฒนา อย่างเช่นการแก้ไขหรือป้องกันโรค ทูลกระหม่อมปู่ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงส่งเสริมการป้องกันวัณโรค สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการป้องกันอหิวาตกโรคและโรคต่างๆ รวมถึงป้องกันและรักษาโปลิโอโดยให้ทำกายภาพบำบัด เรื่องวิชาความรู้พระองค์ก็ทรงทำ หลักของพระองค์ คือ ทรงทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุข
'ศูนย์ศึกษาการพัฒนา' แหล่งศึกษาและทดลองเพื่อการเรียนรู้
การทรงงานพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรง เลือกพื้นที่แห่งหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่แบบเดียว กันได้ลองนำไปทำ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ทดลอง และเรียนรู้ เรียกว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนา" โดยแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขและสภาพพื้นที่แตกต่างกัน
นับเป็นการศึกษารูปแบบหนึ่ง คือ เป็นการศึกษาของคนที่อยู่ต่างหน่วยงานราชการ ต่างความรู้ ต่างความคิด มาทำงานร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน จะนำความรู้ของตนเองมาทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้เจริญ สามารถใช้ได้ แล้วคนรอบข้างมีความสุข อย่างเช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส จะแก้ปัญหาในท้องถิ่นเรื่องดินเปรี้ยว จะทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่ใช่ว่ากรมชลประทานอยู่ส่วนชลประทาน กรมพัฒนาที่ดินอยู่ส่วนพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้อยู่ส่วนป่าไม้ กรมปศุสัตว์อยู่ส่วนของปศุสัตว์ แต่จะมารวมกัน ทุก หน่วยทุกคนนำความรู้และเทคนิคของตัวเองมาลงในโครงการเดียวกัน เป็นการศึกษาร่วมกันในรูปแบบใหม่ เสร็จแล้วราษฎรก็มาดู นักพัฒนาก็มาศึกษาเพื่อ นำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ในที่ของตัวเอง หมู่บ้านบริวารเขาก็จะนำไปทำ เมื่อทำได้ผล สามารถล้างหนี้สินได้ คนคนนั้นก็จะเป็นวิทยากรสอนคนอื่น มีน้ำใจที่จะให้ความรู้ในการช่วยคนอื่นต่อไป บางคนเมื่อเขาปลูกได้แล้วเหลือกิน ใครมาขอเขาก็ให้
ตอนนี้เราก็คิดที่จะทำเพิ่มเติมให้ทุกศูนย์ฯ มีเช่น โรงสี และจะให้ทุกศูนย์ฯ มีการขยายผลให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น นอกเหนือจากคนที่อยู่ในหมู่บ้านบริวาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ได้จริงๆ รวมทั้งทรงให้มีการขยายผลออกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำแต่เฉพาะของเรา หรือหน่วยงานและวิทยากรเท่านั้น คนที่เข้ามาช่วยเหลือมีทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำตามธรรมชาติ ปราชญ์ชาวบ้าน และบางครั้งก็จะมีพวกเด็กๆ มีน้ำใจที่จะมาช่วยกันทำ ถ่ายทอดและขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งตอนนี้ฉันก็รับเรื่องนี้มาทำ
หัวหิน... จุดเริ่มแห่งแนวพระราชดำริ
สมัยเด็กๆ จำความได้พระองค์ก็เสด็จฯเยี่ยมเยียนชาวบ้านแล้วพี่ เลี้ยงเล่าว่าไปหัวหินครั้งแรก ตอนนั้นฉันอายุ 2 เดือน จากที่ประทับพระราชวังไกลกังวล พระองค์เสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรแถวนั้น เนื่องจากชาวบ้านแถบนั้นขาดแคลนน้ำและน้ำเค็ม ทำอะไรไม่ค่อยได้ พระองค์จึงทรงปรับปรุงเรื่องแหล่งน้ำให้ โดยทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า เกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริขึ้น
จุดเริ่มแนวพระราชดำริ น่าจะเป็นแถวหัวหิน เพราะแถวนั้นเป็นที่ที่ขาดแคลนน้ำ จำได้ว่าพี่เลี้ยงหรือว่าข้าหลวง หรือคน ที่ทำงานในวังที่วันไหนออกเวร ก็รับสนองพระราชดำริไปเป็นอาสาสมัครออกไปตามหมู่บ้านต่างๆ ไปช่วยสร้างถังน้ำ ไปทำถวายอย่างไม่เป็นทางการและบริจาคเงินสร้างถังน้ำตามที่ต่างๆ
ฉันเองยังได้ใช้เป็นแบบเรียนคณิตศาสตร์ตอนเด็กพอหยุดเทอม 3 เดือน ทำเลขอยู่ 2 ข้อข้อหนึ่ง คือถังน้ำ 1 ใบ เดี๋ยวน้ำรั่ว เดี๋ยวเติมน้ำเข้าไป เดี๋ยวฝนตก น้ำซึม น้ำรั่วเท่าไหร่ กว่าจะคำนวณถังนี้ได้ก็หมด 3 เดือน กับอีกข้อหนึ่งโจทย์มีอยู่ว่า คนๆ หนึ่ง มีค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ ต้องทำโครงการ ไปสืบราคากะปิ น้ำปลาเสื้อผ้า ที่จะต้องใช้ มีลูกเท่าไหร่ ก็ทำบัญชีตัวเลขและพยายามบริหารชีวิตของคนๆ นี้
สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ จึงยังไม่มีเกมคอมพิวเตอร์ ก็เล่นเกมนี้ไปตลอด 3 เดือนเหมือนบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสว่าทุกคนควรทำบัญชีครัวเรือนได้
นอกจากนี้ ทรงให้จัดตั้ง "หมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร"โดย ทรงนำวิธีการสหกรณ์มาใช้ในการจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพง เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรมีราคาต่ำและไม่แน่นอน ซึ่งได้ผลดีและยกระดับเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่างชื่อ"ศูนย์สาธิตสหกรณ์ โครงการหุบกะพง"ซึ่งเป็นโครงการเริ่มแรกเกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ และทรงส่งเสริมหัตถกรรม โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเริ่มงานส่งเสริมอาชีพตั้งแต่ตอนนั้น
ทรงให้ปลูกต้นไม้เพื่อรักษาดิน
นานมาแล้ว ขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ฉันอยู่ด้วย มีชาวบ้านจำไม่ได้ว่าเป็นชาวกระเหรี่ยงหรือกะหร่าง เขามาเข้าเฝ้าและกราบบังคมทูลว่าเขาอยากจะกราบบังคมทูลลาไปอยู่พม่า เนื่องจากทางราชการมาถางป่า ตัดต้นไม้ คือสมัยก่อนเวลาจะสร้างนิคม ตั้งเขตเกษตร ก็จะทำในสิ่งที่พระองค์เรียกว่า "ปอกเปลือก"ซึ่งคนกะเหรี่ยงหรือกะหร่างนี่ เขาหวงธรรมชาติ จึงไม่สบายใจและกราบบังคมทูลลาไปอยู่พม่า ภายหลังพระองค์จึงมีพระราชดำรัสแก่ทุกคนว่า "เราต้องไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน"ให้ห่มดินแล้วดินจะดี การห่มดินก็คือการปลูกต้นไม้นั่นเอง
'หญ้าแฝก' ช่วยพัฒนาดินและผลิตเป็นสินค้าหัตถกรรม
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ "หญ้าแฝก" ในการพัฒนาดินเพราะ รากของหญ้าแฝกขึ้นหนา งอกตรง ไม่แผ่ไปไกล สามารถยึดและป้องกันดินพังทลายรักษาน้ำและความชื้นได้เหมือนมีเขื่อนอยู่ใต้ ดินสามารถทำให้ดินที่แข็ง เช่น ดินลูกรังร่วนซุยได้ หญ้าแฝกมีหลายพันธุ์ที่ใช้ได้ตามความเหมาะสม ใบของหญ้าแฝกยังสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าหัตถกรรมได้อีกด้วย เป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรสนใจปลูกหญ้าแฝกกัน
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยผู้ถวายฎีกา
งานพัฒนาคงเริ่มตั้งแต่ในวัง ใครไปเจออะไรเขาก็มากราบบังคมทูล หรือว่าพระองค์ทรงไปทอดพระเนตรเอง แล้วก็หลายๆ เรื่องที่อยู่ในพระราชกรณียกิจของพระองค์ เช่น เรื่องคดีความทางกฎหมาย ประชาชนไทยทุกคนที่คดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา ก็มีสิทธิถวายฎีกา พระองค์ก็จะทรงให้คนไปดู โดยสืบตั้งแต่ศาลชั้นต้นจากสำนวนคำให้การต่างๆ จะทำให้มองเห็นเลยว่าบาง คดีเกิดขึ้นเนื่องจากความยากจน ความทุกข์และความเดือดร้อน นอกจากจะตัดสินไปตามคดีความ ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยเหลือให้เขาดีขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงทำมาตลอด
'อ่างเก็บน้ำใต้ดิน' ป้องกันน้ำท่วมและน้ำระเหย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าน้ำเป็นส่วนสำคัญที่ สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อไปได้ภาพที่ คุ้นตาชาวไทยคือภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปที่ ต่างๆ มีแผนที่ที่ทรงต่อเองเพื่อวางแผนสร้างเขื่อน ฝาย ฯลฯ การวางแผนต้องอาศัยข้อมูลหลายอย่าง เช่น ที่ตั้งของโครงการ ความสูงของพื้นที่ ทิศทางน้ำไหล ปริมาณน้ำ ลักษณะทางธรณีวิทยา ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้สามารถบันทึกไว้ในแผนที่ได้ การสำรวจพื้นที่ การออกแบบและก่อสร้าง ต้องใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีหลายอย่าง
โครงการชลประทานในพระราชดำริที่มีลักษณะพิเศษคือ "อ่างเก็บน้ำใต้ดิน"ซึ่ง อยู่ในถ้ำที่บ้านห้วยลึก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บริเวณนี้เป็นภูมิประเทศแบบคาร์สต์ หรือเป็นเขตหินปูน จะมีถ้ำเป็นจำนวนมาก มีพระราชดำริที่จะเก็บน้ำไว้ในถ้ำ ซึ่งมีข้อดีคือน้ำที่เก็บไว้ไม่ไปท่วมที่ดินของเกษตรกร และน้ำจะไม่ระเหยไปมากเหมือนอยู่กลางแจ้ง ข้อที่ลำบากมากคือการสำรวจพื้นของถ้ำว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะเสริมไม่ให้รั่วได้ การสำรวจต้องใช้หลายวิธีสอบเทียบกัน เช่น การวัดความต้านทานไฟฟ้า การใช้คลื่นตอนไปสำรวจ ก็หลงถ้ำ จนเกือบขาดออกซิเจนกัน พอเข้าไปสำรวจแล้ว จึงได้รู้ว่าในถ้ำมักจะเป็นหินปูน หินปูนพอโดนน้ำ กรดในน้ำก็จะละลายออกมา หินปูนก็จะเป็นรูพรุน จะเก็บน้ำไม่ได้ ถ้าจะให้เก็บน้ำอยู่ก็ต้องเอาปูนมายาตรงนั้น
เขื่อนในถ้ำนี้ ต่างประเทศเขาก็ทำกัน แต่ของเขาใหญ่มาก ของเราทำโครงการเล็กๆ ก่อนสำหรับข้อเสียคือ ราคาค่อนข้างแพง และถ้ำซึ่งเคยใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งทางธรรมชาติอาจจะเข้าไปไม่ได้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ส่วนใหญ่ก็จะได้ประโยชน์
ในด้านการป้องกันน้ำท่วม มีพระราชดำริทำ "แก้มลิง"เพื่อเก็บน้ำเมื่อมีน้ำมากไว้ใช้ในฤดูแล้ง
ทรงคิดค้นกังหันน้ำชัยพัฒนาและฝนเทียม
ในการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องน้ำนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้น "กังหันน้ำชัยพัฒนา"มีทั้งหมด 7 โมเดล เป็นเครื่องช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่า โดยทรงจดสิทธิบัตรเมื่อปี 2545 นับเป็นเครื่องเติมอากาศเครื่องที่ 9 ในโลกที่จดสิทธิบัตร กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล และได้นำไปใช้ไกลที่สุดสวนสาธารณะกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
พระองค์ยังทรงห่วงใยเกษตรกรที่ต้องพบปัญหาไม่มีน้ำใช้ในการบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง จึงทรงคิดค้น "ฝนเทียม"ขึ้นเมื่อกว่า50 ปีมาแล้ว เป็นที่รู้จักกันในนาม "ฝนหลวง"เป็น เทคโนโลยีที่ต้องใช้ความรู้ทางฟิสิกส์และเคมี จะได้ผลในบริเวณที่ยังมีความชื้นอยู่บ้าง ใช้เครื่องบินพ่นสารเคมีที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมในความสูงและพิกัดที่ เหมาะสม เพื่อรวมความชื้นให้ตกลงมาเป็นฝน แต่ละสภาพสิ่งแวดล้อม(สภาพทางอุตุนิยม เช่น ทิศทางลม ความเร็วลมสภาพพื้นที่) ใช้สารเคมีไม่เหมือนกัน งานที่ได้ผลคือ การทำฝนเทียมลงในอ่างเก็บน้ำ ช่วยให้ได้น้ำเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
การดับไฟป่าในพรุใช้วิธีทำฝนเทียมลงในคลองที่ไหลลงในพรุ ได้ผลดีกว่าการใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำเทลงไปอย่างที่เคยใช้
ทรงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีเพื่อนนักเรียนมาบอกว่า ไม่เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช่วยอะไรคนกรุงเทพฯ เลย คือจริงๆ แล้วพระองค์ทรงช่วย อย่างเรื่องน้ำท่วม ตั้งแต่ทำเขื่อนป่าสัก น้ำก็ไม่ท่วมหนักอย่างเก่าที่ เราต้องปีนออกทางหน้าต่าง หรือปีนต้นไม้ไปทำงาน แล้วใช้ไดร์โว่ก็ไม่มีแล้ว ตอนนั้นหลานกำลังจะเกิด แล้วฉันเป็นคนแต่งห้องให้เขาใหม่ สั่งทำม่าน ต้องเอาม่านใส่เรือพายมาที่สวนจิตรฯ สมัยนั้นท่วมขนาดนี้
ตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ พระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเอง รถพระที่นั่งไปเสียกลางทางพระองค์ทรงขับไปถึงซอยอ่อนนุช เพื่อทอดพระเนตรน้ำ แต่กรุงเทพฯ นี่ดูลำบาก เพราะมีลักษณะภูมิประเทศแบน
พระองค์จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรทั้งสถานที่จริงและใช้แผนที่ประกอบแผนที่ หมายถึงสิ่งที่มีอยู่แล้ว จะเป็นหนังสือ เป็นแผนภาพ ชาร์ตหรือเป็นอะไรที่มีการบันทึกไว้ ทอดพระเนตรว่าเขาเขียนไว้ถูกหรือผิดอย่างไร แล้วทรงปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม อันนี้นับเป็นข้อมูลอย่างหนึ่งเรียกว่า ข้อมูลจากเอกสาร คือ Literature Review ทรงดูจากเอกสารที่มีอยู่ และทรงสำรวจเอง เมื่อทรงสำรวจเสร็จ ก็มาทรงมีพระราชดำริว่าควรจะทำอย่างไร
ทรงลำบากตรากตรำเพื่อประชาชนผู้ยากไร้
เวลาเสด็จฯ ไปที่ไหน พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินนำไปก่อน เราก็วิ่ง คนในขบวนก็วิ่งกันกระเจิง ตามเสด็จฯ ไม่ค่อยทัน พระองค์ทรงพระราชดำเนินเก่ง อาจจะเป็นเพราะทรงเติบโตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะว่าชาวสวิสฯ เขาชอบเดินเขาเดินป่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินก็จะทรงนำสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และบางครั้งก็ต้องทรงช่วยให้เสด็จ ขึ้นเขา แล้วก็ทรงร้องเพลงลูกทุ่งอยู่บนเขา "ตายแน่คราวนี้ต้องตายแน่ๆ ..."
เวลาตามเสด็จฯ จึงลำบาก จะวิ่งหนีเข้าร่มหรือแอบไปกินอะไรอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพระองค์ทรงห้ามไม่ให้เรากิน ไม่ให้เราหลบแดดพระองค์ก็ทรงไม่หลบแดด ไม่ได้เสวยด้วยเหมือนกัน บางครั้งพระองค์เองทรงประสงค์ให้คนที่ตามเสด็จฯ ได้รับประทานด้วยซ้ำ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วจะได้พร้อมที่จะทำงานแต่ส่วนใหญ่เจ้าภาพจะบอกว่า พวกนี้ไม่สุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เสวยแล้วทำไมถึงกินก่อน เป็นบาปกรรม คนเขาก็คิดอย่างนั้น พระองค์เองทรงลำบากกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ ตากแดดก็ตากด้วยกันเพราะฉะนั้นฉันนี่มีวิตามินดีเยอะมากเลยกระดูกแข็งแรง
เวลาตามเสด็จฯ นั้น หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นเขา เราก็ต้องปีนเขาด้วยพระองค์ทรงรับสั่งว่าการทำงานพัฒนาร่างกายเราต้องแข็งแรงดัง นั้น จึงต้องพัฒนาสุขภาพให้แข็งแรง ฉันเคยฝึกให้แบกของเดินขึ้นเขา เพราะถ้าเกษตรกรพื้นที่สูงอยากให้เราเดินขึ้นไปดูไร่ของเขาบนภูเขา ก็ควรพยายามไป เขาชี้ให้ไปดูอะไรก็ต้องไป ถึงแม้บนยอดเขาจะมีกาแฟเพียงต้นเดียวก็ต้องขึ้นไป บางครั้งปีนเขาตั้งหลายลูก เราก็ต้องไป เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกร และผูกมิตรด้วยไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน พระองค์เสด็จฯ ไปทุกที่
ที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหนังสือ ที่พระองค์ทรงขับรถพระที่นั่งลงไปอยู่กลางน้ำแถว จ.นราธิวาส พอเปิดประตูออกไปเป็นพงหนามพอดีนอก จากลงน้ำแล้วยังมีพงหนามอยู่ในน้ำด้วย และพอเวลาเสด็จฯ ไปถึงที่ไหนก็จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทุกคน จนมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าขืนทรงทักคนทุกจุดอย่างนี้กว่าจะถึงวังก็ Good Morning และไปทีไรก็Good Morning ทุกที
นอกจากนี้ ตอนเรียนหนังสือ ไม่ได้เข้าห้องเรียนเท่าคนอื่น เพราะต้องตามเสด็จฯ อยู่บ่อยๆเพื่อนก็ดีมากจะอัดเทปไว้ให้ และได้นำประสบการณ์จากการตามเสด็จฯ และแนวพระราชดำริมาตอบ อีกทั้งยังได้ความรู้จากชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญที่ตามเสด็จฯที่ฉันไปผูกมิตรไว้ก็เอาตัวรอดมาได้
ทรงเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยปัดเป่าความทุกข์
ที่พวกเขาเคารพพระองค์ ไม่ใช่ว่าเพราะทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เป็นญาติผู้ใหญ่ ที่ทรงช่วยปัดเป่าความทุกข์ให้แก่เขาเวลาที่เดือดร้อน มีอะไรเขาก็มาเล่าให้ฟังหมด เหมือนญาติไปเยี่ยมบ้านกัน ไปถึงเขาก็หาอะไรที่มีอยู่ในบ้านมาต้อนรับ เช่น กล้วย และผลไม้อื่นๆ พระสหายก็ทรงมีทุกภาค ไปถึงเขาเดือดร้อนก็บอกเล่าให้พระองค์ฟังหมดทุกเรื่อง
สำนักงาน กปร. เริ่มที่สภาพัฒน์
จะว่าไปแล้ว งานพัฒนานี้เดิมทีก็สภาพัฒน์นี่แหละที่ทำเป็น หน่วยพิจารณาว่างบประมาณควรจะได้เท่าไหร่ ในการทำโครงการช่วงแรกๆ มีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่ทันการณ์กับการพัฒนา เช่น การกักเก็บน้ำที่จะมีตามฤดูกาลไว้ใช้ไม่เช่นนั้นน้ำก็จะไหลลงทะเลเสียเปล่า ตอนนั้นทางราชการก็มีแนวคิดจะทำถวาย โดยกันเงินงบประมาณส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือสำนักงาน กปร.ขณะนั้นได้ฝากงานนี้ไว้ที่สภาพัฒน์
หลักการในขณะนั้นก็คือ เมื่อพระองค์มีพระราชดำริอะไร ก็ทดลองทำก่อน ถ้าทำแล้วดี ก็จะเขียนเป็นโครงการไปขอใช้งบปกติเวลานี้ก็ยังทำอยู่ แต่กว่าจะเข้าระบบขอใช้งบประมาณปกติก็อาจจะล่าช้า ต้องเป็นไปตามระบบขั้นตอน
ทรงตั้ง 'มูลนิธิชัยพัฒนา' เพื่อช่วยเหลืออย่างครบวงจร
พระองค์ทรงเห็นว่าบางอย่างเป็นงานที่เร่งด่วน หากรองบประมาณอาจจะไม่ทันการณ์จะทำให้การพัฒนาไม่ครบวงจร และไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือ พระองค์จึงทรงให้ทำในรูปแบบของเอกชน โดยตั้งเป็น "มูลนิธิชัยพัฒนา"ขึ้นมา เดิมยังแยกงานออกจากสำนักงาน กปร.ไม่ค่อยออก ตอนนี้ก็แยกออกมาได้แล้ว โดยทำในลักษณะขององค์กรเอกชน หรือNGOs โดยระดมทุนจากการบริจาค
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุน แต่การลงทุนของเราทำอย่างประหยัดและรอบคอบ เพราะฉันดูแลเองอย่างใกล้ชิดทุกบาททุกสตางค์ โดยมีที่ปรึกษาการลงทุน ก็พยายามดูว่าเรื่องไหนที่สมควรลงทุน เพราะจะรอจากการบริจาคอย่างเดียวไม่พอ ระยะหลังจึงมีกิจกรรมและการลงทุนหลายอย่าง เช่น ออกงานขายของมีร้านกาแฟ ร้านขายเสื้อ และขายของอื่นๆอีกหลายอย่าง
ต้องพัฒนาแบบกึ่งการกุศลกึ่งเมตตาจิต
บางครั้ง แม้ว่าจะเห็นด้วยกับนักบริหารยุคใหม่ แต่ก็ต้องดึงๆ ไว้เหมือนกัน เพราะบางอย่าง ต้องพัฒนากึ่งการกุศลกึ่งเมตตาจิตด้วย บางทีจะมุ่งเน้นพัฒนาชนิดที่ว่า พอลงทุนแล้วจะต้องได้ผลที่ก้าวหน้าออกมาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ว่าต้องมีเมตตาจิต คือช่วยเหลือ เขาน่าสงสาร ซึ่งเดิมมูลนิธิชัยพัฒนาเคร่งครัดเรื่องนี้มาก ทำแต่งานพัฒนา ตอนหลังๆ ไม่ไหว ต้องเมตตาจิตด้วย
พระองค์ตรัสว่า ต้องระวังในการทำธุรกิจแม้ว่าจะทำเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ต้องทำธุรกิจแบบมีเมตตาต้องรักเขา รักที่จะทำ รักคนที่เราอยากจะช่วยเราก็จะคิดออก แล้วเราก็จะทำได้ จะยอมสละได้ทุกอย่าง
ผู้บริหารรุ่นใหม่บางครั้งเขาเคร่งครัด เขาบอกต้องทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ มีกำไร ถ้าอย่างนั้นง่ายมากเลย ขายเสื้อ ขายก๋วยเตี๋ยว ขายไอศกรีมเดี๋ยวก็ได้ แต่การทำอย่างนี้จะไม่ถึงชาวบ้าน หรือคนที่เราต้องการจะช่วย บางครั้งก็ต้องติงๆ เหมือนกัน การช่วยเหลือชาวบ้านก็ต้องมีเสียทิ้งน้ำไปบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน การที่เขาติงหรือตัดงบประมาณก็ดี ทำให้เราต้องรอบคอบฉันสามารถตัดงบประมาณร้อยล้านสองร้อยล้านบาท เหลือสิบเก้าล้านบาท ที่ฉันตัดงบประมาณส่วนใหญ่จะตัดพวกก่อสร้างอะไรที่หรูหราฟุ่มเฟือยมากเกินไป แต่อะไรที่จะให้คนจนก็ให้เขาเถอะ
ดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง
สมัยนี้ไม่ใช่ว่าไม่ทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อ ก็ยังกลับไปดูสิ่งที่ทรงงานไว้ ที่ใครบอกว่าเดี๋ยวนี้พระองค์ไม่เสด็จฯ แล้ว ถือว่าไม่ทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นไม่ถูก ที่ถูกคือ เรา ทำกันมานานจนกระทั่งรู้แล้วว่าพระองค์ทรงโปรดแบบไหน พระองค์จะทรงให้ช่วยราษฎรพ้นจากความเดือดร้อนอย่างไรต้องช่วยคน ต้องทำเท่าที่จะทำได้เรารู้ว่าหลักการเป็นแบบนี้ สิ่งที่ฉันได้มาจากการตามเสด็จฯ คือ การที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นทำให้เราคิดได้ว่าควรจะทำอย่างไร
สมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามงานทางอีเมลตลอดเวลา
เดี๋ยวนี้แปลกนะ เกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยกว่าแต่ก่อน ลูกเห็บใหญ่เกือบเท่าโทรศัพท์มือถือพอตกลงมาต้นไม้ตายหมด ต้องปลูกใหม่ ร้านส้มตำ ตู้ใส่ผักล้มครืนไปทั้งตู้ ก็ต้องเข้าไปช่วย
ตอนที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ มีหลายหน่วยงานเข้าไปช่วย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ซึ่งมีหน้าที่ตรงนั้นก็เข้าไปช่วย ส่วนของมูลนิธิชัยพัฒนาก็เข้าไปช่วยหลายอย่าง ตัวฉันเองคุมอยู่ 5 ทีม ให้ไปตรวจในเรื่องต่างๆ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชน
บางครั้งไปต่างประเทศ ไม่ต้องมีองครักษ์มาคอยรักษาความปลอดภัย ให้องครักษ์ออกไปดูแลช่วยเหลือคนที่ประสบภัยน้ำท่วม แล้วติดตามงานทางอีเมล เขาจะอีเมลมารายงาน ฉันก็อีเมลส่งต่อให้ ดร.สุเมธ และคนที่เกี่ยวข้อง งานก็ยังเดินไปได้
อย่างคราวที่เรือน้ำตาลล่มฉันอยู่ที่ประเทศอียิปต์ มีคนเสนอความคิดเห็นส่งอีเมลมาแนะนำให้ต่อท่อเป่าลมให้น้ำตาลจมลึกลงไปกว่า นี้ ชาวบ้านบางคนก็แนะนำให้ทำท่อลงไปให้ลึกกว่านี้แล้วเป่าให้น้ำตาลขึ้นมา คงต้องถามช่างหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าทำได้หรือไม่ เพราะน้ำตาลหนักกว่าน้ำ มีคนสนใจและแนะนำมาเรื่อยๆ
บางทีก็มีคนถวายฎีกาทางอีเมลอย่างเช่นตอนที่มีคนบุกรุกที่มูลนิธิชัย พัฒนา เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูเพื่อไม่ให้เข้ามาบุกรุก เลยมีคนถวายฎีการ้องเรียนว่าผ่านเข้าที่ของตัวเองไม่ได้เนื่องจากต้องผ่าน ที่ของมูลนิธิฯ ซึ่งเคยเปิดให้ชาวบ้านผ่านได้ พอฉันทราบก็เข้าไปดูแล ในที่สุดก็ตกลงกันได้ด้วยดี
การพัฒนาที่ทรงเรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตั้งแต่จำความได้ ฉันคุ้นอยู่กับคำสองคำคือการพัฒนา (Development) กับการทำบุญกุศล(Charity) มีผู้ให้อรรถาธิบายว่า ถ้าอยากช่วยแล้วบริจาคเงินหรือสิ่งของโดยไม่ได้หวังว่าจะมีผลกำไรอย่างไร เกิดขึ้นเรียกว่า "ทำบุญ"แต่ถ้าหวังว่าสิ่งที่ดำเนินการจะเจริญก้าวหน้าต่อไปเรียกว่า"พัฒนา"
การพัฒนาเป็นเรื่องกว้างมีหลายด้าน ต้องทำกันอย่างต่อเนื่องและมักต้องใช้เวลานานเช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาการเกษตรการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาทางการแพทย์ ฯลฯ
ข้อคิดบางประการในด้านการพัฒนา
จากการมีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินในท้องถิ่นต่างๆ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ได้มีโอกาสทำงานพัฒนาอย่างจริงจัง ทำให้ได้สังเกตและได้วิเคราะห์วิถีชีวิตและความต้องการของกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่ม ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ชนบางกลุ่มอยู่ห่างไกลในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความเป็นอยู่อย่าง ปกติ ขาดการบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพอนามัย ฯลฯ ในหลายกรณีเขาขาดแม้กระทั่งความจำเป็นระดับพื้นฐาน
จึงได้ข้อคิดบางประการที่สำคัญในด้านการพัฒนาคือ "การพัฒนาประเทศ (ปฏิรูป)ให้ทันสมัย" (Modernization)ต่างจาก"การสร้างประเทศตามแบบอย่างตะวันตก"(Westernization) และ "การพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน"อาจจะก่อปัญหามากกว่าการ แก้ปัญหา เช่น การเพาะปลูกใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษจำนวนมากเกินพอดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งคนและสัตว์ในบริเวณนั้น อาจจะทำให้ดินเสีย เพาะปลูกไม่ได้มากเท่าเดิม เป็นการผลิตหรือทำการเกษตรแบบที่เรียกกันว่ารวยแล้วเลิก
ส่วน "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (Sustainable Development)คำศัพท์เดิมเรียกว่า "วัฒนาถาวร"หมาย ถึง การพัฒนาที่บุคคลจะได้ประโยชน์ต่อเนื่องในระยะยาว ไม่สูญเสียทรัพยากรมากเกินไป โดย "การพัฒนา"(Development)จะต้องสมดุลกับ "การอนุรักษ์"(Conservation)เช่น ในการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ต้องดูว่าจะเสียทรัพยากรอื่นๆ ที่ควรรักษาไว้หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
หน้าที่และวิธีการของนักพัฒนา
นักพัฒนาจะต้องมีหน้าที่และวิธีการทำงานที่เป็นกระบวนการ "หน้าที่"คือช่วยให้บุคคลพื้นที่เป้าหมาย หรือกิจการที่ตนรับผิดชอบมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น ส่วน "วิธีการของนักพัฒนา"มีหลายขั้นตอนและหลายลักษณะขึ้นอยู่กับงานพัฒนาที่ทำ
จะขอยกตัวอย่างการทำงานพัฒนาชุมชนอย่างง่ายๆ ที่เคยปฏิบัติ ก่อนอื่นจะต้องหาข้อมูลรวบรวมปัญหา สภาพทั่วไปของท้องถิ่นและชุมชน ทั้งในด้านภูมิศาสตร์และสังคม ซึ่งควรดูทั้งข้อมูลจากเอกสาร การออกสำรวจ และข้อมูลจากบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลในพื้นที่และบุคคลที่เคยปฏิบัติงานมาแล้ว ทั้งนี้การมีความรู้ด้านภูมิศาสตร์และแผนที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนด พื้นที่ทางการเกษตร อุตสาหกรรมการตั้งถิ่นฐาน จะทำให้ทราบระยะทาง ลักษณะพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่จะนำมาใช้เป็นฐานความรู้ในการปฏิบัติงาน
จากนั้นจะต้องเขียนโครงการบ่งให้เห็นชัดถึงสภาพทั่วไปของพื้นที่ สภาพปัญหา วิธีการแก้ปัญหา ช่วงเวลาปฏิบัติงาน งบประมาณที่จำเป็นต้องใช้และแหล่งงบประมาณ (อาจต้องหาทุนเอง) และเมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะต้องให้ความสนใจไปดูและคอยแนะนำรวมทั้งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ระหว่างการ ทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานในขั้นต่อไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
เมื่อโครงการประสบความสำเร็จแล้ว ควรจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเช่น การจัดการอบรม (Training) การจัดการดูงานแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้มีความรู้ในงานที่ทำและความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องดีขึ้น รวมทั้งเกิดความตื่นตัวต่อการใฝ่รู้ ได้แนวความคิดใหม่ๆ เช่น อาจนำคนที่เคยทำงานที่แห่งหนึ่งไปดูงานอีกแห่งหนึ่ง และที่สำคัญจะต้องมีการประเมินผลโครงการ (Monitoring) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ทั้งในระหว่างดำเนินโครงการและเป็นบทเรียนสำหรับการจัดทำโครงการใหม่ครั้ง ต่อไป
งานพัฒนาเป็นงานระยะยาว... ต้องช่วยกันทำในแต่ละช่วง
อย่างไรก็ตาม งานพัฒนาเป็นงานระยะยาวชั่วชีวิตคนหนึ่งก็ทำไม่เสร็จ ต้องช่วยกันทำในแต่ละช่วง คนใหม่ก็ต้องฟังจากคนเก่า เช่นสมุดแผนที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมแผนที่พิมพ์ขึ้นนั้น ก็จะเห็นแผนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อจะเป็นแนวคลองต่างๆ ว่าระบบที่ทำไว้นั้น สอดคล้องกับระบบของธรรมชาติอย่างไร ถ้าจะทำอะไรต่อและทำตามแนวนั้นก็จะทำให้งานไปในแนวเดียวกัน วางเป้าหมายความสำเร็จได้ ไม่มีน้ำไหลกลับขวางทาง เป็นต้น เพราะดูจากแผนที่เก่า ก็จะเห็นได้ชัดว่าน้ำจากที่ไหนไปลงคลองไหน จากไหนไปต่อไหน เป็นสภาพอย่างไร หรือระบบการชลประทานในทุ่งรังสิตสมัยนั้น ท่านวางระบบแนวคลองมาอย่างไร อันนี้ก็จะช่วยได้ในการพัฒนา
พระองค์ทรงงานจนรู้สึกเป็นชีวิตประจำวัน
พระองค์ก็คงทรงเหนื่อยเหมือนกัน แต่ทรงไม่บ่น ทรงงาน 365 วัน ตลอด 24 ชั่วโมงโดย จะมีเสียงวิทยุดังมาตลอด และยังมีอุปกรณ์สำหรับติดตามข่าวสารพัดอย่าง พระองค์ก็ทรงพยายามสอนถ่ายทอดให้ฉัน เช่น ไฟฟ้ากี่แอมแปร์ กี่วัตต์ กี่โวลต์ พระองค์ทรงฟังคลื่นวิทยุหลายเครือข่าย ถึงทรงรู้ว่า มีน้ำท่วมไฟไหม้ตรงไหน มีอะไรพระองค์ก็ทรงให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีตรงนี้คงไม่เรียกว่าพัฒนาเป็น "บรรเทาสาธารณภัย" มากกว่า
เดี๋ยวนี้ก็ยังทรงทำอยู่เลยพระองค์ทรงงานแบบนี้จนรู้สึกว่าเป็นชีวิตประจำวันของพระองค์ จะทรงมีของพระราชทานวางไว้ตามกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนตลอด พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ก็สามารถนำไปมอบให้ชาวบ้านได้ทันที แต่ว่าตอนหลังๆ พาหนะอาจจะชำรุดไปบ้าง ก็กำลังให้เขาซ่อมและทำใหม่ ขณะเดียวกันก็พยายามหาเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน
พระองค์ทรงสนพระทัยในการช่วยเหลือราษฎรเป็นอย่างมากและยังทรง งานอยู่ ตรงไหนที่พระองค์เสด็จฯ ไหว ก็จะเสด็จฯ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เสด็จฯ ไปทรงเปิดคลองลัดโพธิ์และสะพานภูมิพลส่วนผู้รับผิดชอบ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ก็ทำงานอย่างต่อเนื่อง และมาถวายรายงาน พระองค์ก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการดำเนินงาน
แม้ประทับ ณ โรงพยาบาล... ยังทรงห่วงใยประชาชน
ขณะนี้ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังทรงงานเพื่อจะช่วยเหลือพสกนิกรอยู่ตลอดเวลา ทรงมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลศิริราชที่หนา แน่นมากทั้งทางบกและทางน้ำเนื่องจากพระองค์ทรงทำเรื่องการจราจร อย่างต่อเนื่องมาตลอด พระองค์จะทรงมอบหมายให้ตำรวจไปดูตามจุดต่างๆ คำนวณการเลี้ยวของรถ และสำรวจจุดจราจรที่สำคัญๆ เช่นตามอนุสาวรีย์ สี่แยก หรือวงเวียนต่างๆ ว่าควรจะออกแบบถนนให้มีรูปร่างแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ ตรงไหนควรมีสะพาน หรือควรมีอะไรเพื่อให้การจราจรเคลื่อนตัวได้อย่างลื่นไหล
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี