จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
หลังจากกระทรวงการคลังเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษี โดยประเดิมลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ได้สำเร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
มาถึงต้นปีนี้ ก็ถึงคิวการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่ง บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง ที่ดูแลกรมสรรพากร ออกมาเปิดเผยโรดแมปการลดภาษีบุคคลธรรมดาซึ่งจะสรุปให้ได้ภายในเดือน ม.ค.นี้ หลังจากนั้นจะชงให้ฝ่ายการเมืองเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบออกมาเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับเนื้อในการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ก็ได้มีการแพลมออกมาจากกรมสรรพากรแล้วว่าจะมีการซอยอัตราการเก็บภาษีจากที่ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่อัตรา 10% 20% 30% 35% และ 37% ก็จะมีการซอยย่อยเป็นอัตราที่เริ่มตั้งแต่ 5% 10% 15% 20% 25% และ 30%
กรมสรรพากร ระบุว่า การซอยอัตราให้มากขึ้นจะทำให้ลดภาระของผู้เสียภาษีลดลงในทุกกลุ่ม ไม่ว่าคนมีภาระภาษีมากหรือน้อย ทุกคนจะเสียภาษีน้อยลงหมด
อย่างไรก็ตาม จากอัตราที่กรมสรรพากร ปรับใหม่ย่อมส่งผลดีกับคนที่มีรายได้มาก หรือคนราย มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย เพราะอัตราภาษีระดับบนถูกลดลงจากระดับที่เคยสูงสุดถึง 37% มาอยู่ 30%เท่านั้น ทำให้ภาระของผู้ที่เคยเสียภาษีในอัตรา 35% หรือ 37% ลดลงอย่างมาก
กรมสรรพากรให้เหตุผลว่า การที่ต้องดึงอัตราภาษีบุคคลธรรมดาที่ระดับสูงให้ต่ำลงมาก เพราะต้องการมีอัตราภาษีบุคคลธรรมดาใกล้เคียงกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลง ไปก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้คนรวยมีการซิกแซ็กโยกย้ายถ่ายโอนรายได้ของตัวเองไปไว้ในบริษัท ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อทำให้เสียภาษีลดลง
จากที่มีการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ในปีนี้ เทียบกับอัตราภาษีบุคคลธรรมดาที่อัตราสูงสุดที่ 37% ทำให้มีช่วงห่างถึง 14% ทำให้คนรวยเสียภาษีมากมีการตั้งบริษัทโอนรายได้สร้างรายจ่าย ทำให้เสียภาษีลดลง ซึ่งกรมสรรพากรต้องวิ่งไล่ตามหลังอุดรูรั่วเป็นการใหญ่
ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างภาษีที่ไม่ทำพร้อมกันทั้งระบบ เพราะฝ่ายการเมืองต้องการหาเสียงลดภาษีนิติบุคคลก่อน ทำให้เกิดช่องว่างดังกล่าว และเงินภาษีรั่วไหลอย่างที่ไม่ควรเป็น นี่ยังไม่รวมถึงการไม่ยอมปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% เพื่อจะได้มีรายได้มาชดเชยการลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาที่จะลดลงใน อนาคต
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ยังมีการรื้อในส่วนของรายการหักลดหย่อนภาษี ที่มีอยู่ถึง 19 รายการ ซึ่งพบว่าคนที่ได้ประโยชน์ส่วนมากเป็นคนรวยอีกเช่นกัน เพราะคนรายได้ไม่มากเสียภาษีไม่น้อย อย่างเก่งหักลดหย่อน 23 รายการ ก็เต็มเพดานไม่ต้องเสียภาษีแล้ว
แต่สำหรับคนรวย โดยเฉพาะที่เสียภาษีในอัตราสูงสุด เรียกได้ว่า หักลดหย่อนได้ทุกรายการ ประหยัดภาษีได้เรือนแสนไปถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งทางกรมสรรพากรต้องการรื้อในส่วนนี้ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีของคนมีน้อยกับมีมาก รวมถึงการประหยัดเม็ดเงินภาษีที่ต้องเสียไปจากการลดหย่อนให้น้อยลง
ที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีแนวทางตัดรายการลดหย่อนบางรายการที่ไม่จำเป็นทิ้ง แต่ก็ได้รับแรงต้านจากคนรวยที่ได้ประโยชน์ หรือแนวคิดลดวงเงินที่ให้ลดหย่อนลง เช่น การหักลดหน่วยซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ปีละ 5 แสนบาท ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 5 แสนบาท และซื้อประกันชีวิตปีละ 3 แสนบาท แต่ก็ยังไม่เป็นผล
ล่าสุด กรมสรรพากรสรุปเบื้องต้นว่ารายการหักลดหย่อนยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไปคุมการหักลดหย่อนในภาพรวมของคนรวย ที่รวมทุกรายแล้วต้องไม่เกิน 6 แสนบาท ซึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายว่าสุดท้ายยาแรงของกรมสรรพากรชุดนี้จะโดนคนมีเงินมี อำนาจกวาดทิ้งลงถังอีกหรือไม่
ปัจจุบันตัวเลขของผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดามีคนมายื่นแบบที่กรมสรรพากรใกล้ 10 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่ยื่นแบบและเสียภาษีจริงแค่ 2 ล้านรายเท่านั้น และลึกลงไปอีกก็พบว่ามีผู้เสียภาษีอัตราสูงสุดอยู่ระดับไม่กี่หมื่นคนเท่า นั้น แต่เป็นผู้ที่มีกำลังภายในต่อรองการรื้อโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่กำลังทำ อยู่ในขณะนี้ไม่น้อย ทำให้การหั่นภาษีคนรวยไม่ใช่เรื่องง่าย
ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ที่จะเพิ่มรายจ่ายให้กับผู้เสียภาษีที่ปัจจุบันได้อยู่ 6 หมื่นบาท ถือว่าน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ในชีวิตปัจจุบันกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ และคาดว่าจะได้เพิ่มขึ้นในจำนวนไม่มาก ทั้งที่ผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่รายได้ไม่มากเสียภาษีต่ำ รายจ่ายในส่วนนี้จะเป็นตัวสำคัญที่ให้เสียภาษีน้อยลง
เบื้องต้น กรมสรรพากรอ้างว่า การเพิ่มหักค่าใช้จ่ายมากขึ้นจะกระทบกับการเก็บภาษีให้น้อยลง ซึ่งต้องให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจว่าจะให้เพิ่มเท่าไร
ซึ่งว่าไปแล้ว การเพิ่มรายจ่ายแบบเหมาจ่ายจาก 6 หมื่นบาท เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า หรือเป็น 1-2 แสนบาท ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรายการหักลดหย่อนจากการซื้อหุ้น ซื้อประกัน และอื่นๆ รวมกันเป็นล้านบาท รัฐบาลยังได้ให้เพิ่มมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แต่กับการเพิ่มรายจ่ายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปี กลับไม่ได้รับการผลักดัน ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีจำนวนมากถึงหลักแสนหรือหลักล้านคน ทำให้อดมองไม่ได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาษีคนรวยให้ได้ลดแลกแจก แถมมากกว่าภาษีคนจนที่กว่าจะได้ลดหย่อนแต่ละครั้งต้องรอแล้วรออีกกว่าฝนจะตก ทั่วฟ้า
นอกจากปัญหาเนื้อในของการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ยังมีปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อาจทำให้การรื้อภาษีต้องหยุดชะงักอีกจนทำไม่ได้ในเร็ววันนี้
ที่ผ่านมา การลดภาษีนิติบุคคลทำให้สูญเงินภาษีไปปีละ 1.5 แสนล้านบาท นโยบายบ้านหลังแรกทำให้เสียภาษีอีก 1 หมื่นล้านบาท รถคันแรกทำให้เสียภาษีอีก 3 แสนล้านบาท
ประกอบกับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้การเก็บภาษีของรัฐบาลน้อยลงมีการประมาณกันว่าจากผลกระทบน้ำท่วมทำให้ การเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2554 หายไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ดังนั้น การลดภาษีบุคคลธรรมดาในช่วงนี้จะส่งผลกระทบให้รายได้ปี 2555 หายไปอีกหลายหมื่นล้านบาท จะทำให้ซ้ำเติมฐานะการเงินการคลังของประเทศแย่ลงไปมากกว่านี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะต้องดึงเกมออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผลกระทบมากระจุกตัวเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โตแก้ไขไม่ได้
นอกจากนี้ ในทางการเมือง รัฐบาลอาจจะเก็บการลดภาษีบุคคลธรรมดาไว้เป็นอาวุธเรียกคะแนนเสียงจากคนทำงาน เป็นมนุษย์เงินเดือนในช่วงที่คะแนนเสียงทางการเมืองตกต่ำ เพราะในช่วงนี้คะแนนเสียงทางการเมืองแน่น ก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยของออกมามัดใจให้เสียกระสุน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาจะมาเร็วหรือช้าไม่สำคัญสำหรับคนรวยที่เป็น ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ ที่หาช่องบริหารเงินให้เสียภาษีให้น้อยลงได้ทุกเมื่อ
แต่สำหรับคนที่มีรายได้น้อย ช่องทางที่จะเสียภาษีให้น้อยลงก็ยังเป็นเรื่องยากเหมือนเดิม การจะได้เพิ่มในส่วนที่ควรได้หักลดหย่อนเพิ่มเติม ก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับความสำคัญในอันดับต้นๆ
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะมีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ มนุษย์เงินเดือนหาเช้ากินค่ำก็เป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนเข้าระบบภาษีของกรม สรรพากรเป็นอันดับแรก เพราะหนีไม่ได้ ตรวจสอบไม่ยาก เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากฐานภาษีกว้างเม็ดเงินภาษีก็มากขึ้นตาม
ยิ่งหากการรื้อภาษีทำสำเร็จ ก็ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนกินเงินเดือนมากขึ้นเท่านั้น เพราะการรื้อภาษีกระทบรายได้ลดลง กรมสรรพากรก็หนีไม่พ้นย้อนกลับมารีดภาษีจากคนรายได้น้อยไม่มีทางหนี ไม่มีช่องซิกแซ็ก เพื่อไปโปะภาษีคนรวยที่ดูว่าหลังปรับโครงสร้างภาษีแล้วจะเสียภาษีน้อยลงกว่า เดิมก่อนปรับเสียอีก
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี