สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อกำหนดของอียูเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : ผลกระทบ

ข้อกำหนดของอียูเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : ผลกระทบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ภาวะโลกร้อน หรือภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงร้อนขึ้นกว่าเดิมมีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ
เช่น น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหวที่รุนแรงมากขึ้น สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน  มาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่าปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) คล้ายกันกับเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อควบคุมอุณหภูมิสำหรับใช้ปลูกพืชต่างถิ่น สาเหตุเพราะมีก๊าซจำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศปกคลุมโลกมากขึ้น ก๊าซจำพวกคาร์บอนไดออกไซด์จะกักความร้อนจากโลกไว้ ยิ่งมีคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งกักเก็บความร้อนทำให้โลกร้อนมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้จึงถูกเรียกว่าเป็นก๊าซเรือนกระจก  เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น
 

ประเทศต่างๆ เห็นผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่จะมีต่อมนุษยชาติ จึงร่วมกันหาทางแก้ไข ทางหนึ่ง คือ หาวิธีการที่จะให้มนุษย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในอากาศลง เช่น มีการประชุมทำความตกลงร่วมกันภายใต้กรอบความตกลงขององค์การสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือ ความตกลงเกียวโต (Kyoto Protocol) โดยประเทศอุตสาหกรรม 37 ประเทศ และสหภาพยุโรปตกลงทำความผูกพันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประเทศใดไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ตามที่กำหนด ก็สามารถดำเนินการตามมาตรการทางเลือกได้อีก สามมาตรการ ที่สำคัญ คือ การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ (Emission trading) หรือเรียกกันว่า Carbon credit trading สรุปง่ายๆ คือ ประเทศหรือผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเพดานที่กำหนดสามารถซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซจากประเทศหรือผู้ประกอบการอื่นที่ปล่อยก๊าซไม่ถึงเพดานที่กำหนดมาชดเชยให้เพียงพอกับส่วนที่ปล่อยเกินได้
 

เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธะของความตกลงโตเกียว สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดที่ 2003/87/EC ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 กำหนดให้มีโครงการที่เรียกว่า Scheme for greenhouse gas emission allowance trading within  the Community หรือที่เรียกว่า EU emissions trading  scheme : EU ETS เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในอากาศ โดยมีหลักการสำคัญ คือ ให้ประเทศสมาชิกไปกำหนดมาตรการภายในโดยกำหนดเพดานว่าแต่ละปีผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าใด เพดานที่กำหนดให้ในช่วงแรกยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการรายใดปล่อยก๊าซเกินเพดานสามารถซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซจากรายที่ยังปล่อยไม่ถึงเพดานชดเชยได้ ส่วนรายที่ปล่อยก๊าซไม่ถึงเพดานสามารถขายสิทธิส่วนที่เหลือได้ การซื้อขายสิทธินี้สามารถกระทำได้ระหว่างประเทศในสหภาพยุโรป หรือประเทศนอกสหภาพที่ได้รับการรับรองก็ได้ ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดมีโทษตามที่กำหนดไว้ ส่วนผู้ที่ปล่อยก๊าซเกินเพดานและไม่ได้ซื้อสิทธิชดเชย จะต้องจ่ายค่าปรับตามที่กำหนดไว้
 

สหภาพยุโรปมีนโยบายที่จะให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น จึงได้ออก ข้อกำหนดที่ 2008/101/EC ลงวันที่ 19  พฤศจิกายน 2551 แก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดที่ 2003/87/EC ให้การบินอยู่ในโครงการ EU ETS ด้วย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป หลักการ คือ  เที่ยวบินไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดที่บินจากหรือบินมายังสนามบินของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จะต้องอยู่ภายใต้โครงการ EU ETS โดยมีข้อยกเว้น เช่น เครื่องบินน้ำหนักเบา หรือรายที่มีเที่ยวบินไม่เกินที่กำหนด เป็นต้น
 

ผลจากการกำหนดให้การบินต้องอยู่ภายใต้โครงการ EU ETS ด้วย มีผลกระทบต่อธุรกิจการบินพาณิชย์ของประเทศต่างๆ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีปฏิกิริยาจากประเทศที่มีสายการบินรายใหญ่ ได้ต่อต้านและคัดค้านข้อกำหนดนี้ สายการบินพาณิชย์ของอเมริกาและแคนาดา และสมาคมสายการบิน ได้ยื่นคัดค้านข้อกำหนดนี้ในสหราชอาณาจักรโดยโต้แย้งว่า การออกข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ ศาลสูงของอังกฤษและเวลส์ได้ยื่นเรื่องให้ศาลยุติธรรมยุโรป (Court of Justice of the European Union) วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงระหว่างประเทศหรือไม่
 

ศาลยุติธรรมยุโรปได้มีคำวินิจฉัยคดีนี้แล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 โดยสรุปดังนี้
 

ประเด็นเรื่องข้อกำหนดของสหภาพยุโรปดังกล่าวขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ศาลยุติธรรมยุโรปเห็นว่าในส่วนที่เกี่ยวกับความตกลงระหว่างประเทศ มีเพียงบทบัญญัติบางส่วนของความตกลงเรื่องการเปิดน่านฟ้า (Open Skies Agreement) เท่านั้นที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้อง ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ มีหลักการที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องสามหลัก คือ อธิปไตยของรัฐเหนือน่านฟ้า การอ้างอธิปไตยเหนือท้องทะเลหลวงโดยมิชอบ และเสรีภาพในการบินเหนือทะเลหลวง      
 

ในประเด็นเรื่องข้อกำหนดขัดธรรมเนียมปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ศาลเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ได้บังคับถึงกรณีเครื่องบินที่บินเหนือทะเลหลวงหรือน่านฟ้าของประเทศสมาชิกหรือประเทศที่สาม แต่บังคับถึงเฉพาะกรณีที่สายการบินพาณิชย์มีเส้นทางบินจากหรือไปยังสนามบินที่ตั้งอยู่ในเขตแดนของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือประเทศอื่นที่อยู่ในบังคับของโครงการ Emission trading scheme เท่านั้น ข้อกำหนดนี้จึงไม่ขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว สำหรับ ประเด็นเรื่องข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ นั้น ในส่วนของความตกลง Chicago  Convention ซึ่งเป็นความตกลงเรื่องการบินระหว่างประเทศ ศาลเห็นว่าความตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันสหภาพยุโรป เพราะไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของความตกลงดังกล่าว สำหรับข้อ โต้แย้งที่อ้างว่า การกำหนดให้การบินต้องอยู่ภายใต้โครงการ EU ETS  มีผลเท่ากับเป็นการเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการขัดกับความตกลง Open Skies Agreement  ศาลเห็นว่า กรณีนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงระหว่างปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เครื่องบินแต่ละลำใช้กับค่าใช้จ่ายตาม โครงการ EU ETS  ที่สายการบินต้องรับภาระ  เพราะตามความเป็นจริงภาระของสายการบินตามโครงการ EU ETS ขึ้นอยู่กับการคำนวณตามกลไกตลาด และไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพดานที่ได้รับ
 

ในเรื่องนี้ประเทศไทยก็ได้ยื่นหนังสือถึงสหภาพยุโรปแสดงความไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวซึ่งก็คงไม่มีผลอะไรมากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ศาลยุติธรรมยุโรปจะมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ขัดต่อความตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศที่ได้รับผลกระทบยังคงหาทางต่อต้านคัดค้านต่อไป โดยอาจใช้มาตรการตอบโต้หรือฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป ว่า มาตรการเพื่อลดโลกร้อนและผลประโยชน์ของผู้ประกอบการอะไรจะเหนือกว่ากัน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ข้อกำหนดของอียู การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบ

view