จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
การเดินหน้าบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล 4 เดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าเปลี่ยนจุดยืนจากหน้ามือเป็นหลังมือกับสมัยเป็นฝ่ายค้าน
ขณะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน ได้สร้างวาทกรรมทางการเมืองโจมตีรัฐบาลในขณะนั้นว่า ดีแต่กู้สร้างหนี้ให้กับประเทศ พร้อมยังประกาศว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะล้างหนี้ให้คนไทยได้ลืมตาอ้าปาก ไม่จมอยู่กับกองหนี้ไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นรัฐบาลบริหารประเทศจริงๆ รัฐบาลไม่เขินอายที่จะกลืนน้ำลายตัวเองกู้ดะทั่วสารทิศเพื่อมาฟื้นฟูประเทศ หลังน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ส่วนหนึ่งมาจากภัยธรรมชาติที่ผันผวน และส่วนหนึ่งมาจากความผิดในการบริหารน้ำของรัฐบาลเอง
ถ้าพิจารณาจากยอดหนี้สาธารณะของประเทศ วันที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศอยู่ที่ประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท หรือ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี จากกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี
ขณะที่ด้านภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 11% จากที่กรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดไว้ 15% ของงบประมาณรายจ่าย
จะเห็นว่ารัฐบาลไทยมีช่องทางในการทำมาหาได้ หรือหากจะก่อหนี้เพิ่มก็ไม่ระคายผิว
เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ก็จะพาไปดูหนี้สาธารณะของประเทศ ถ้าวัดตามสัดส่วนของรายได้ของประเทศวันนี้อยู่ที่ประมาณ 40% ทางกระทรวงการคลังเขาขีดเส้นไว้ว่าไม่อยากให้สูงเกินกว่า 60%
หมายความว่า ถ้าพิจารณาจากยอดหนี้มันยังมีช่องที่รัฐบาลสามารถที่จะกู้ได้ในระยะยาวอีก 20%
ช่องว่างอยู่ 20% นี้ถือว่าเยอะมาก เพราะเป็น 20% ที่เทียบกับรายได้ของประเทศ หรือจีดีพีที่เป็นรายได้ของคนในชาติก็ประมาณ 10 ล้านล้านบาท 20% ก็ตกประมาณ 2 ล้านล้านบาท
เงินก้อนนี้เพียงพอในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจในยามคับขันแน่นอน
รัฐบาลสามารถตั้งงบปกติธรรมดาไปกู้เงินได้สบายโดยไม่ต้องวิตก
ทว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา และในอนาคตต่อไปนี้ แผนงานมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลต่างเป็นตัวเร่งทำให้หนี้ของประเทศโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นอันตรายต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลังทั้งสองตัว คือ หนี้พุ่งเกิน 60% และเป็นภาระการจ่ายชำระหนี้เกิน 15% ของงบประมาณรายจ่าย
รัฐบาลปูแดงจึงได้รื้องบประมาณปี 2555 ใหม่ โดยเพิ่มขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 3.5 แสนล้านบาท เป็น 4 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินไปฟื้นฟูน้ำท่วมในระยะสั้นเร่งด่วน
เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 2.38 ล้านล้านบาทนั้น และเป็นงบขาดดุลร่วม 4 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลเหลือเวลาในการใช้จริงแค่ 8 เดือนเท่านั้น หากขย่มเขย่าในการเบิกจ่ายไม่ทันเศรษฐกิจก็ยุ่ง ต่อให้เพิ่มเพดานการกู้ แต่หากจัดการไม่เป็นก็พับเพียบ...
ล่าสุด รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต ประเทศไทยอีก 3.5 แสนล้านบาท มีการออก พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กู้เงินประเดิมตั้งกองทุนอีก 5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ สร้างสาธารณูปโภค ระบบขนส่งโทรคมนาคม วงเงินจำนวนก้อนโต 2.27 ล้านล้านบาท โดยในวงเงินนี้จะเป็นการให้เอกชนลงทุน 1 ล้านล้านบาท ที่เหลืออีก 1.2-1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลจะกู้เงินมาลงทุน
ล่าสุด รัฐบาลแพลมออกมาว่าการทำงบประมาณปี 2556 ยังต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป คาดว่าขาดดุลไม่น้อยกว่าปี 2555 ที่ผ่านมา คือ ต้องกู้เงินทำงบประมาณอีกไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท
สุชาติ ธาดาธำรงเวช ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน และการกู้เงินตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย จะต้องใช้เงินกู้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่า “ไม่ได้กู้เกินตัว เพราะประเทศยิ่งลงทุนยิ่งโตเร็ว หากกลัวเอาแต่ประหยัด ประเทศไม่โต”
จากแนวทางการกู้เงินของรัฐบาล ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าหนี้ในอนาคตไม่ไกลจะเพิ่มเป็นกว่า 6 ล้านล้านบาท เกิน 60% ของจีดีพี และภาระการชำระหนี้ต่อเงินงบประมาณก็เกิน 15% ทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด ต้องหาทางปลดล็อกเป็นการด่วน
ที่ผ่านมารัฐบาลจึงปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลรับจ่ายเงินต้นและภาระดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มมากขึ้น โดยที่ภาระการชำระหนี้ต่อเงินงบประมาณไม่เกิน 15%
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลคิดจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปไว้ที่ ธปท. ซึ่งจะทำให้ลดหนี้สาธารณะลงได้ทันที 10% ของจีดีพี แต่ดำเนินการไม่สำเร็จ ได้แต่โอนภาระการจ่ายต้นและดอกเบี้ยไปให้ ธปท.ดูแลเท่านั้น ทำให้ลดได้แต่ภาระดอกเบี้ย แต่สัดส่วนหนี้ของสาธารณะยังอยู่เท่าเดิม
หรือแม้แต่การออกกฎหมายล้วงเงินคลังหลวงของ ธปท. มาจ่ายคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนัก จนต้องล้มแผนตัดไฟแต่ต้นลม
ล่าสุด รัฐบาลพยายามเล่นแร่แปรธาตุลดหนี้สาธารณะลงด้วยการไปลดสัดส่วนการถือหุ้น บริษัท ปตท. และบริษัท การบินไทย ให้กระทรวงการคลังถือต่ำกว่า 50% ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสองแห่ง ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ทำให้หนี้ประเทศลดลง 10% ทันที
ความพยายามต่างๆ นานาของรัฐบาลที่พยายามหาช่องใหญ่ช่องเล็ก ตกแต่งตัวเลขหนี้สาธารณะลดลง ถือว่าอันตรายกับเศรษฐกิจ เพราะหนี้โดยรวมของประเทศอยู่เท่าเดิม แต่ถูกนำไปซุกไว้ที่ต่างๆ แทน
ก่อนหน้าปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หนี้สาธารณะของประเทศกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ทำให้การบริหารหนี้ภาพรวมของประเทศขาดประสิทธิภาพ มีปัญหา
แต่หลังจากเกิดวิกฤตได้มีการนิยามหนี้สาธารณะให้ชัดเจน เพื่อรวมหนี้ของประเทศที่ซุกไว้ที่ต่างๆ มารวมอยู่ด้วยกัน ให้เห็นภาพสถานะชัดเจน เพื่อให้การบริหารเงินงบประมาณไปชำระหนี้เงินต้นดอกเบี้ยเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ
มาถึงวันนี้ดูเหมือนรัฐบาลกำลังย้อนเดินถอยหลังไปก่อนที่ประเทศจะเกิดวิกฤต
นอกจากนี้ การซุกหนี้ยังทำให้เกิดปัญหาใหม่แก้ไม่ตก อย่างกรณีของการโอนหนี้ไปที่ ธปท. และต้องไปเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินมาใช้หนี้ เป็นการสร้างต้นทุนให้สถาบันการเงิน ซึ่งจะถูกผลักภาระไปให้ลูกค้าของธนาคารในที่สุด ส่งผลให้คนฝากเงินได้ดอกเบี้ยน้อย และคนกู้เงินต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น รวมถึงค่าธรรมเนียมการบริการของสถาบันการเงินก็จะถูกเก็บยิบย่อยมากขึ้น
นักบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง มองว่าการกู้เงินเพื่อพัฒนาประเทศมีความจำเป็น แต่การที่รัฐบาลเทน้ำหนักการกู้ด้านเดียวทำให้เกิดความเสี่ยงการเงินการคลัง ในอนาคต ทำให้หนี้ท่วมตัว ชักหน้าไม่ถึงหลัง รัฐบาลจ่ายหนี้ไม่ได้ เป็นปัญหาบานปลายเหมือนประเทศยุโรป
การลงทุนมีความจำเป็นในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา แต่แหล่งเงินการลงทุนอันดับแรกน่าจะมาจากการเก็บภาษี หรือการหารายได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลนี้ทำเรื่องการหารายได้น้อยมาก หรือแทบไม่ได้ทำเลย
การปรับโครงสร้างภาษีที่ผ่านมาก็ทำแต่เรื่องการลดภาษี เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การออกมาตรการภาษี ลด แลก แจก แถม รถคันแรก บ้านหลังแรก ทำให้รายได้ไม่โตแล้วยังยุบหายไปอีก
นอกจากนี้ การขึ้นภาษีที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% หรือการเก็บภาษีบาป สิ่งแวดล้อม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลก็ไม่แตะ เพราะกระทบฐานเสียงและกลุ่มทุนทางการเมือง
การที่หวังให้รายได้โตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยไม่เพิ่มการเก็บภาษี ยืนยันแล้วว่าไม่ทันรายจ่ายของประเทศที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากที่รัฐบาลต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมา 10 ปี โดยที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้ การระดมกู้กระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล รัฐบาลก็ต้องดำเนินการใช้เงินอย่างคุ้มค่า ทำให้เศรษฐกิจโตมากที่สุด เพื่อที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ของประเทศลดลง
หากต้องกู้ลงทุนจำนวนมากในโครงการที่ไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีการคอร์รัปชันหักหัวคิวเป็นว่าเล่น 20% 30% หรือ 50% เศรษฐกิจแคระแกร็น แต่หนี้กลับบานฉ่ำ
การเดินหน้าลุยกู้ปั่นเศรษฐกิจสร้างชาติครั้งนี้เดิมพันสูงกว่าทุกครั้ง หากไม่เป็นไปตามที่วาดฝันไว้ เห็นทีเศรษฐกิจเอาไม่อยู่อาการสาหัสแน่นอน m
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี