สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อ่างขาง ไม่จางลมหนาว

อ่างขาง ไม่จางลมหนาว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตลอดเส้นทางคดเคี้ยวร่วมสามชั่วโมงเศษ ในที่สุดก็ถึงยอดดอยอ่างขาง พื้นที่ตะเข็บชายแดนป่าฝิ่นที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีตวันนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้
 ด้วยความมึนงงจากฤทธิ์ยาแก้เมารถบวกกับอาการง่วงซึมเล็กน้อย ทำให้ฉันเกือบสะดุดตอนก้าวลงจากรถตู้ แต่พอได้สูดอากาศสดชื่นเข้าเต็มปอดทำให้ตาสว่างได้ในบัดดล แล้วสติก็เรียกตัวเองกลับเข้าร่างพร้อมกับสายตาที่ค่อยๆ ปรับความคมชัด มองเห็นวิวทิวทัศน์หมอกภูตรงหน้าก็รู้แล้วว่าการเดินทางที่เสี่ยงตายกับความพะอืดพะอมได้สิ้นสุดลงแล้ว


 หากเป็นคนอื่น การนั่งรถขึ้นเขาด้วยเส้นทางโค้งหักศอกเพียงไม่กี่ชั่วโมงอาจเป็นเรื่องชิลล์ๆ แต่สำหรับฉันมันเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อต้องขึ้นยอดภูยอดดอยทีไรเป็นต้องมีอาการคลื่นไส้ตามมา จึงต้องหาทางออกให้ตัวเองด้วยยาแก้เมาบ้างในบางโอกาส ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความอยากเที่ยวลดน้อยลงแม้แต่นิดเดียว ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้งที่ได้ขึ้นมาสัมผัสอากาศเย็นที่ ดอยอ่างขาง เรียกว่าหนาวจริงอะไรจริงอย่างที่ชาวกรุงหลายคนใฝ่ฝันถึง

ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร ซึ่งมีโครงการวิจัยพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาวมากมายหลายชนิด รวมถึงงานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมันต่างๆ และเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีบนพื้นที่สูงแก่เกษตรกรไทย ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก และพร้อมอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาชมความงามของธรรมชาติกันไม่ขาดสาย

-1-

จากที่พักเดินเท้าต่ออีกนิด ก็ถึงจุดชมวิวแห่งแรกที่สถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขาง วิวทิวเขาสลับสูงต่ำสวยงามท่ามกลางอากาศเย็นฉ่ำชวนให้จิตใจสงบ มีความสุข และสดชื่นไปพร้อมๆ กัน จนอดคิดไม่ได้ว่าที่ดินแดนที่เคยเป็นดงฝิ่นมาก่อนคือพื้นที่ตรงหน้านี่จริงหรือ? ไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้กลับถูกแทนที่ด้วยพืชนานาพรรณทั้งปลูกเพื่อประดับสวยงาม ทั้งปลูกเพื่อเป็นอาหาร กินได้อร่อยแถมปลอดสารเคมี

เราได้ข้อมูลคร่าวๆ มาว่าสถานีแห่งนี้เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักพระราชวังในนามมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นสถานีเกษตรหลวงแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2512 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ เลิกปลูกฝิ่นลดการทำไร่เลื่อนลอย แล้วหันมาปลูกพืชผักเมืองหนาวทดแทน ก่อนจะขยายการวิจัยและพัฒนาไปยังที่อื่นๆ อีก 38 โครงการ

"สถานีเกษตรตั้งอยู่แนวตะเข็บชายแดนทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เนื่องจากพื้นที่แถบตะเข็บชายแดนเป็นพื้นที่ที่ชาวเขานิยมปลูกฝิ่นกันมาก และยังใช้เป็นช่องทางในการขนส่งยาเสพติดให้เข้ามาบั่นทอนประเทศชาติ แต่เมื่อมีโครงการหลวงเข้ามา มีอาชีพให้เขาทดแทนตรงนี้ได้ ทำให้ชาวเขาไม่ปลูกฝิ่นทั้งในฝั่งไทยและประเทศใกล้เคียง" อาณัติ เจริญพงษ์ หัวหน้างานแพ็คบรรจุฝ่ายรวบรวมผลผลิต และหัวหน้ากลุ่มงานเผยแพร่งานวิชาการ เริ่มเล่าถึงที่มาในครั้งก่อน

อาณัติบอกอีกว่า พื้นที่ที่ใช้ปลูกผักเรียกว่าสวนอินทรีย์โดยถูกแบ่งสันปันส่วนไปให้ชาวบ้านทำกิน ส่วนใหญ่ปลูกชาเป็นหลักแล้วปลูกผักแซมเข้าไประหว่างต้นชา แต่พบว่าการปลูกชานั้นกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งเมื่อต้นชาโตขึ้นระยะห่างระหว่างต้นก็น้อยลง จึงปลูกผักไม่ได้ ต่อมาจึงจัดพื้นที่ให้ปลูกผักโดยเฉพาะเพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็ขยายแปลงปลูกไม้ผลเพิ่มเติม เช่น บ๊วย พีช พลับ พลัม สาลี่ กีวีและสตรอว์เบอร์รี

เนื่องจากเป็นดินแดนพื้นที่สูง ประชากรที่อาศัยในแถบนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นชาวเขา มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ ปะหล่อง มูเซอ จีนยูนนาน และไทยใหญ่ เมื่อเข้ามาเป็นเกษตรกรของโครงการหลวง ทำให้พวกเขามีรายได้อย่างมั่นคงจากพืชเมืองหนาว สามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ถึง 27 ชนิดในแต่ละปี ซึ่งผักที่โดดเด่นของดอยอ่างขาง ได้แก่ กะหล่ำปลีหัวใจ กะหล่ำหวาน ผักสลัด เบบี้ฮ่องเต้ ปวยเล้ง ผักกาดฮ่องเต้ หน่อไม้ฝรั่งขาว ฯลฯ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีรายได้เสริมจากการขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ชัดเจนโดยเฉพาะกับ ยอด ชาวเขาเผ่าปะหล่อง หนึ่งในเกษตรกรที่สร้างฐานะมั่นคงได้จากโครงการหลวง ย้ำว่าการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริทำให้เขาและครอบครัวมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงขึ้นได้จริง รวมถึงคุณภาพชีวิตและการเป็นอยู่ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ละบ้านมีรถเครื่องไว้เดินทางเข้าออกตัวเมือง มีทีวีไว้รับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอก

"เมื่อก่อนผมมีอาชีพปลูกฝิ่นอยู่ฝั่งพม่า ปลูกไว้กินและขาย เวลาเอาไปขายต้องเดินทาง 6 กิโลเมตร ทั้งไปและกลับ กว่าจะถึงบ้านก็ค่ำ รายได้ก็ไม่แน่นอน แต่พอมาทำงานกับโครงการหลวง ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น อย่างการรวมกลุ่มปลูกสตรอว์เบอร์รี 10 คน มีรายได้อยู่ที่ 5 แสนต่อปี หรือปลูกผักเพียง 4 ชุดก็สร้างรายได้ 2 แสนต่อปี"

 -2-

จากแบกฝิ่นเปลี่ยนมาแบกผัก กลายเป็นภาพน่ารักๆ แบบฉบับชาวเขาแห่งดอยอ่างขางที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาชมและกดชัตเตอร์กันอย่างเพลิดเพลิน ยังไม่นับเด็กชาวเขาแก้มแดงๆ ที่มาปรากฏตัวเมื่อไหร่ก็แย่งซีนผู้ใหญ่ได้เสมอ

มองเห็นชาวเขาทำมาหากินจนเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีกต่อไป ก็แอบภูมิใจอยู่ไม่น้อยที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย อย่างน้อยๆ ประเทศนี้ก็มีพืชพรรณธัญญาหารให้กินตลอดปี นึกอยากจะปลูกอะไรก็ปลูกขึ้น ไม่แร้นแค้นเหมือนบางประเทศ ที่สุดแล้วก็เป็นที่น่าภูมิใจของคนไทยทุกคนที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักพัฒนาอย่างแท้จริง และทรงพระปรีชาสามารถในการพลิกผืนแผ่นดินที่มีแต่ดอกฝิ่นให้เปลี่ยนโฉมเป็นแปลงดอกไม้สวยงาม และพืชผักที่ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ประเทศไทยมหาศาล ทั้งยังเป็นการฟื้นฟูแผ่นดินแห้งแล้งบนยอดเขาให้เป็นแหล่งต้นน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตได้ตลอดสายน้ำ

ในวันต่อมาเราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปชมพระอาทิตย์ขึ้นในเวลาย่ำรุ่งที่จุดชมวิวอีกแห่งใกล้ๆ ที่พัก แม้จะเป็นเวลาตีห้า แต่ผู้คนก็คึกคักหนาตา เสียงคุยโต้ตอบหยอกล้อกันลอยมาตามลมหนาวที่พัดมาเป็นระลอกๆ แต่น่าเสียดายที่เมื่อแสงแรกสาดส่องทะลุหมอกมากลับมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เป็นดวงกลม เพียงแต่มาเป็นแสงสีส้มระบายไปทั่วท้องฟ้า แล้วความสว่างก็ค่อยๆ คืบคลานมาตามไหล่เขา ถึงจะไม่เห็นดวงอาทิตย์แบบที่ตั้งใจแต่อย่างน้อยการตื่นเช้าก็ทำให้เราสดชื่นได้ตลอดวัน แถมยังได้เดินดูผักผลไม้ที่ชาวเขาเอามาขายแบกะดินที่มีมากมายหลากหลาย

หลังจากนั้นได้เดินทางไปชมตลาดชาวเขา โดยตลอดเส้นทางที่ผ่านมามีทั้งต้นพญาเสือโคร่งที่ได้ชื่อว่าเป็นซากุระเมืองไทย และต้นซากุระญี่ปุ่นออกดอกบานสะพรั่ง ป่าทั้งป่าดูมีสีสันขึ้นมาทันทีเมื่อมีสีชมพูเหล่านี้แต่งแต้มลงไปตามจุดต่างๆ ทั่วทุกพื้นที่

สิ่งที่เป็นสีสันอีกอย่างหนึ่งของดอยอ่างขางก็คือ วิถีชีวิตผู้คนบนดอย ซึ่งแต่ละเผ่าจะมีประเพณีวัฒนธรรม อาหารการกิน และการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมร้านรวงต่างๆ ดูผักผลไม้สดที่ตลาดเช้า รวมถึงลองดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ คลายหนาวสูตรเฉพาะของคนท้องถิ่นที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น นมสดน้ำผึ้ง ชาโสมน้ำผึ้ง หรือน้ำขิงน้ำผึ้ง ก็เลือกได้ตามชอบใจ

ในช่วงเย็นหากยังไม่อยากเข้าที่พักก็สามารถไปเที่ยวชมเมืองต่อได้ นอกจากร้านค้าขายผักผลไม้แล้ว ถัดไปเล็กน้อยมีตรอกเล็กๆ จะเรียกว่าถนนคนเดินก็คงไม่ผิด ถนนเส้นนี้มีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร โรงแรมเล็กๆ น่ารัก ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชมเลือกซื้อหรือแวะถ่ายรูปกับก๊วนเพื่อนได้ทุกมุม ดีไม่ดีอาจเจอะเจอกับแม่ค้าตัวน้อยที่ห้อยอยู่บนหลังคุณแม่ชาวเขามาเรียกลูกค้าเข้าร้าน ส่งยิ้มทักทายนักท่องเที่ยวแบบไม่เคอะเขิน ขอบอกว่ารู้มุมกล้องยิ่งกว่าดาราตัวจริงเสียอีก

 -3-

ก่อนจะลงจากดอย เราได้เดินทางไปชมแปลงสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 ซึ่งมีที่มาจากคำว่า 80 พรรษาของในหลวงและเป็นพันธุ์พระราชทาน โดยการปลูกนั้นจะใช้การปลูกแบบขั้นบันได หากมองจากมุมสูงทำให้เห็นแปลงปลูกทอดยาวไปสุดลูกหูลูกตาสวยงามตามธรรมชาติไปอีกแบบ

การได้มาชมแปลงผลไม้ชนิดนี้กับตาในครั้งนี้เองทำให้ฉันรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า "สตรอว์เบอร์รี" โดยแปลตรงๆ หมายถึงพืชตระกูลเบอร์รีที่เกิดจากฟางข้าว ซึ่งในเมืองนอกการปลูกพืชชนิดนี้เกษตรกรจะใช้ฟางข้าวคลุมดินเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต และรอจนต้นสตรอว์เบอร์รีออกผลสุกมาให้เก็บเกี่ยว ส่วนในไทยเองก็ใช้วิธีการดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่เปลี่ยนจากฟางข้างเป็นหญ้าแฝกแทนซึ่งก็ได้ผลดีเทียบเท่ากัน และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา 07.00 - 08.30 น. เท่านั้น จากนั้นแพ็คลงกล่องทันทีที่กระท่อมในแปลง แล้วส่งต่อไปที่โรงผลิตเพื่อคัดแยกและส่งขายต่อไป

หลังจากเดินชมเดินเก็บภาพอย่างเต็มอิ่มแล้วก็ได้เวลาลงจากดอย มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคล ในเมืองเชียงใหม่นี้มีวัดอยู่หลายแห่ง แต่ที่สะดุดตาสะดุดหูนักท่องเที่ยวเห็นจะเป็นวัดอุโมงค์ ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ หรือในซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากได้เข้าชมสถาปัตยกรรมของตัวอุโมงค์ และเข้าไปไหว้พระขอพรแล้ว วัดแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากในภาพยนตร์เรื่องอุโมงค์ผาเมืองด้วย

วัดอีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน คือวัดสวนดอก จุดเด่นอยู่ที่พระวิหารที่วิจิตรสวยงาม พระวิหารนี้สร้างเมื่อปี 2474 โดยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2478 นอกจากความสวยงามภายในวิหารแล้ว ภายนอกยังมีพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์สร้างแบบทรงระฆังด้วยศิลปะลังกาผสมสุโขทัย เห็นแล้วระลึกไปถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่คนไทยทุ่มเทให้กับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

หลังจากไหว้พระแล้ว ก็เดินทางต่อไปยังถนนนิมมานเหมินท์ ย่านท่องเที่ยวที่โด่งดังของเมืองเชียงใหม่ หากจะหาร้านกาแฟหรือเบเกอรี่อร่อยๆ รับรองว่ามาที่นี่ไม่ผิดหวังแน่นอน นอกจากนั้นยังมีโอกาสได้เข้าชมงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2554 ในช่วงกลางคืน โดยมีไฮไลต์คือสวนแสงแห่งจินตนาการ ที่มีการตกแต่งไฟประดับรูปร่างต่างๆ สวยงามเหมือนท่องไปในดินแดนมหัศจรรย์ และยังได้ชมงานจากมุมสูงด้วยกระเช้าราชพฤกษ์ ได้เห็นวิวทิวทัศน์จากด้านบนแบบ 360 องศา

มาเชียงใหม่คราวนี้ ถือว่าได้เติมพลังกลับไปเต็มๆ ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์และความสุขสงบบนดอยอ่างขาง จากที่เคยเร่งรีบตลอดเวลา ก็ช่วยให้ชีวิตได้ผ่อนคลายและรักษาระดับการหายใจให้ช้าลงบ้าง ที่สำคัญคือได้เห็นการพัฒนาการของเกษตรเมืองไทยว่าก้าวไกลไปแค่ไหนในฐานะครัวโลก

ท้ายที่สุด ก็ยังได้สนุกสนานไปตามสถานที่ต่างๆ ของเชียงใหม่ในทุกมุม ทุกมิติ ทั้งความสวยงามของวัดวาอาราม บ้านช่องและวิถีชีวิต รวมถึงสีสันของคนรุ่นใหม่ในย่านนิมมานเหมินท์ ทั้งหมดนี้หาไม่ได้ด้วยการใช้เงินซื้อ แต่ต้องเข้าไปถึงสถานที่แต่ละแห่ง เพื่อสั่งสมประสบการณ์ที่มีค่าเหล่านี้ด้วยสองขาของเราเอง

 การเดินทาง

จากเชียงใหม่ใช้เส้นทางสาย 107 เชียงใหม่-ฝาง เป็นเส้นทางผ่านแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ทางแยกเข้าดอยอ่างขางมี 2 เส้นทาง คือ แยกซ้ายที่ กม.79 โดยระยะทางจากแยกทางหลวงสาย 107 ไปจนถึงอ่างขางประมาณ 50 กม.  อีกเส้นทางคือแยกที่ กม.137 มีระยะทางถึงอ่างขางประมาณ 25 กม. เป็นเส้นทางที่สั้นแต่ชันมาก หากไม่แน่ใจให้จอดรถไว้ที่วัดที่ปากทาง กม.137  หรือสถานที่รับจอดรถอยู่ตรงข้ามกับปากทางเข้าดอยอ่างขาง ค่ารถจอดคันละ 50 บาท แล้วเหมารถขึ้นไป


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : อ่างขาง ไม่จางลมหนาว

view