จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง
หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตีกลับกรอบเงินเฟ้อที่กระทรวงการคลังได้ทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ปลายปี จนป่านนี้ก็ยังไม่มีการเสนอกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเข้าไปขออนุมัติจาก ครม.อีกเลย
ภารกิจนี้ได้ดีดกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ก่อนหน้านี้เป็นคนเบรกกรอบเงินเฟ้อในที่ประชุม ครม.ด้วยตัวเอง เพราะกระทรวงการคลังและ ธปท.อธิบายเหตุผลไม่ชัดในการขยายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้
กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่นี้เปลี่ยนให้กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.5-3% มาเป็นใช้เงินเฟ้อทั่วไป คือ 1.5-4.5%
อย่างไรก็ดี แม้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แต่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือจะต้องกลับไปใช้รูปแบบเดิม คือ เงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 0.5-3% เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างแน่นอน
ฉะนั้น ในวันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมนัดแรกของปี 2555 เชื่อว่า กนง.จะตัดสินใจยากในการที่จะลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลอยากเห็น และเป็นปัญหาขัดแย้งเชิงนโยบายมาตลอดระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท.
ที่ กนง.จะตัดสินใจยากในเรื่องดอกเบี้ย ก็เพราะปัจจัยหลายประการไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระชากค่าครองชีพลงของรัฐบาลในปีที่แล้ว และมาออกผลกลายเป็นกระชากค่าครองชีพขึ้นในปีนี้
ตัวอย่างของประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยคือ
1.นโยบายประชานิยมและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงที่จะเริ่มในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะทยอยเข้มข้นขึ้นในระยะต่อไป
2.การขึ้นเงินเดือนข้าราชการแรกเข้า 1.5 หมื่นบาท และสุดท้ายก็คือ การปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการยกแผง
3.การทยอยปรับเพิ่มราคาพลังงานทั้งแอลพีจีภาคขนส่งและเอ็นจีวี ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจะปรับขึ้นต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 12 เดือน
4.ราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า และมีแนวโน้มจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งยังอาจมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าวในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นโดยผลจากโครงการรับจำนำข้าวในราคา สูง
5.ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวสูง จากความตึงเครียดทางการเมืองในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่
แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 อาจขยายตัวได้ในอัตรา 4-5% แต่ก็เป็นการเติบโตขึ้นในสภาพที่ไม่ค่อยปกติ การเติบโตเกิดจากเม็ดเงินที่ใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากมหาอุทกภัย ทำให้ประชาชนหลายล้านครัวเรือนมีภาระการใช้จ่ายผุดขึ้นมากมายโดยมิได้คาด หมายมาก่อน และทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับไม่เข้ม แข็งนัก
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวอย่างแรงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปจะรุนแรงเพียงใด หรือจะบานปลายกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกหรือไม่
แต่ก็ชัดเจนว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอนในปีนี้ ซึ่งจะมีผลกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยในระดับหนึ่ง
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ธปท.ต้องคิดหนักว่าจะลดดอกเบี้ยดีหรือไม่ แต่โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แทบจะปิดประตูไปเลย
แต่การที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งแรกของปีนี้เป็นไปได้หรือไม่
คำตอบน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่จะนำไปสู่คำว่า “ไม่”
อย่างไรก็ดี แม้นักธุรกิจและลูกหนี้ที่สะบักสะบอมจากมหกรรมน้ำท่วมแห่งชาติ อยากจะให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบาย
แต่ไม่มีความจำเป็นที่ กนง.จะต้องเร่งรีบลดดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปี ที่มองไปข้างหน้าก็เห็นแต่หนามกุหลาบและความขรุขระ มีแต่อุปสรรคต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งสิ้น
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยในตลาดจะลดลงตามไปด้วย
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการแย่งชิงเงินออมจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้กู้รายใหญ่ที่จะกู้เงินมาใช้ฟื้นฟูประเทศหลายแสนล้านบาท
เงินที่จะกู้มาใช้ก็มาจากในประเทศนี่เอง เมื่อมีความต้องการก็ต้องมีการเตรียมเงินไว้ตอบสนอง แนวโน้มการกู้เงินของรัฐบาลนั้น ธนาคารพาณิชย์เองก็มองเห็น หากรัฐบาลไม่กู้จากธนาคารพาณิชย์ หรือกู้จากตลาดเงินด้วยการออกพันธบัตรขาย
ทางเลือกอื่นก็คือ กู้จากธนาคารของรัฐ ซึ่งธนาคารของรัฐก็จะหันกลับมาระดมเงินฝากจากตลาดเงิน เป็นตัวการดึงให้ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
หากภาวะเศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้อยู่ ดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ในปีนี้ก็คงจะอยู่ในภาวะทรงตัว คือ ไม่ขึ้น และ ไม่ลด
จะเห็นภาพชัดๆ ว่า ธปท.จะลดหรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคงจะต้องผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว จนกว่าภาพเศรษฐกิจจะชัดเจน
และเชื่อว่าหาก ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย แรงกดดันทางการเมืองที่จะต้องเจอก็คงจะมีอยู่ต่อไป
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี