จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ธีรยุทธ"ระบุเสนอแก้ม.112ปัจจัยวิกฤติใหญ่ให้เกิดคู่ขัดแย้ง"เสื้อแดงประชานิยมกับกลุ่มแนวคิดอิงสถาบัน"จี้ศาลเร่งทำคดีเหลือง-แดงลบครหา2มาตรฐาน
นายธีรยุทธ บุญมี อดีตอาจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ระหว่างพิธีมอบรางวัล SVN AWARDS 2554 ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 ขององค์กรเครือข่ายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เอเชีย (ประเทศไทย) หรือ SVN ตอนหนึ่งว่า ตนจะวิพากษ์แบบที่เคยทำในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เหตุที่หายไปนานเพราะเรื่องสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจคือหายใจขัด จึงไม่ได้มาวิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนเห็นว่า แม้จะผ่านความรุนแรงมาหลายเรื่อง แต่ความขัดแย้งในบ้านเมืองยังไม่คลี่คลาย และก็ยังไม่ถึงจุดที่บ่งชี้ว่าเหตุการณ์คลี่คลาย กลับกันมันเพิ่งปรากฏด้วยซ้ำ ดังนั้นก็คงต้องรอให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เพราะหากยังไม่ชัดก็คงจะอคติในการแสดงความเห็นเกินไป หรือกลายเป็นให้ท้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นายธีรยุทธ กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤติมามาก อาทิ ตนเอง ก็เจอครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ต่อมาคือ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งก็ว่าสถานการณ์รุนแรงแล้ว แต่ก็มาเจอ พฤษภาคม 2553 และขณะนี้ตนมองว่าคนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ตื่นตัวในการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้จะมีสิ่งที่จะตามมา และไม่มีทีท่าว่าจะหายไปจากความตื่นตัวในครั้งนี้ และทั้งหมดมันก็สะท้อนว่าสังคมไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับวิกฤติ หากถามว่าเรามีสติปัญญา ในการแก้ปัญหาหรือไม่ ผมคิดว่ามี อาทิ ในช่วงน้ำท่วมเราก็พอจะผ่านปัญหาไปได้ แต่ปัญหาที่มีอยู่กลับไม่มีทางที่จะคลี่คลายปัญหาอื่น โดยเฉพาะความขัดแย้งในระดับรากเหง้าของประเทศ ดังนั้นเราจึงอยู่ในภาวะหนักหน่วงที่สุดในความรู้สึกคนที่ห่วงใยบ้านเมือง
ปัจจัยส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดจากการที่กลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พูดได้ว่าเป็นความขัดแย้งระดับรากหญ้ากับระดับรากความคิด กล่าวคือในรากหญ้านั้น คือกลุ่มที่เป็นคนเสื้อแดง ชื่นชมกับความคิดประชานิยม ที่ต้องการอยากจะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย อีกกลุ่มคือรากความคิดเดิม ที่ชื่นชมศรัทธาในสถาบัน ความขัดแย้งในวันนี้ จึงไม่ใช่ความขัดแย้งพื้นฐานอีกแล้ว แต่เป็นความขัดแย้งในรากสังคมอย่างแท้จริง และไม่ใช่เรื่องจะบอกแค่ว่าฝ่ายหนึ่งจงรักภักดี อีกฝ่ายไม่ใช่
"ส่วนตัวแล้วเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการเหล่านั้น แต่ไม่ขอพูดในรายละเอียด แต่อยากบอกแง่คิดว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดคงจะสะท้อนและช่วยพัฒนาการ หรือช่วยคลี่คลายให้กับปัญญาชนส่วนหนึ่ง และเชื่อมโยงไปถึงรากหญ้า แต่กับความคิดแบบดั้งเดิม ที่ฝั่งทั้งรากหญ้าและประชาชนทั่วไปที่ยังยึดถือ ก็เป็นเรื่องที่สามารถเคลื่อนตัวไปสู่ความรุนแรงหรือมากกว่า และใหญ่กว่ามหาศาลได้"นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ทางออกในขณะนี้คงไม่เสนอเรื่องการประนีประนอม หรือสมานฉันท์แล้ว เพราะปัญหามันเกิดขยายใหญ่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ มีทั้งกว้างและลึกมากจนสะท้อนด้วยคำพูดไมได้ จะคิดว่าทุกฝ่ายเข้าใจกัน เข้าหากันคงไมได้ คงต้องอาศัยการคลี่คลายด้วยตัวเองเป็นช่วงๆ สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก็คงต้องมองปัญหานี้แบบภววิสัย หรือแบบที่เป็นจริงๆ ปราศจากอคติของตัวเองทั้งหมด จะใช้หลักกาลามสูตรอะไรทางศาสนาก็ได้ แต่ต้องตัดให้หมด ศึกษาเข้าไปในปัญหาจริงๆ เผื่ออาจจะช่วยเปิดทางให้เรามองเห็น อาจจะเป็นภาพรวมกว้างๆ แต่ก็น่าจะคลายปัญหาได้ส่วนหนึ่ง การจะคิดแล้วบอกต้องแก้ยังไงคงไม่ได้ ก็คงต้องใช้เวลาผ่อนกำลังลงไปเอง จะไปคาดหวังสูงไม่ได้ และในที่สุดจึงต้องเริ่มแบบไม่มีอคติ ถ้าเริ่มแบบนี้ได้คงเริ่มได้เยอะ หวังว่ากองเชียร์เหลืองแดงต้องเริ่มแบบนี้ เพื่อมองอีกฝ่ายอย่างชัดเจนขึ้น
"อยากชี้ให้เห็นว่าโจทย์สำคัญที่มันเป็นเช่นนี้ เพราะเรามองปัญหาอย่างผิดพลาด คือกลุ่มชนชั้นนำมองเรื่องนี้ผิดพลาด กล่าวคือ 1.ไปมองประชาธิปไตย การเมืองแบบพิมพ์เขียว หรือสำเร็จรูปเหมือนในตำรา พอไม่มีเหมือนในตำราก็โกรธที่ไม่เป็นไปตามอย่างที่ว่า ขอบอกว่าระบบการเมืองของทุกประเทศเกิดจากการต่อสู้ของกลุ่มคนในประเทศนั้นๆ มีแผนที่ที่ไม่ซ้ำกัน คงไม่มีประชาธิปไตยใดที่เป็นอุดมคติ แต่จุดสำคัญคือการต่อสู้ของคนในประเทศนั้นๆ ต่อสู้แบบไหนการเมืองก็เป็นแบบนั้น ดังนั้นถ้าพูดชัดๆ ก็คือว่าถ้าไม่ต่อสู้ สิ่งที่บ่นก็ไม่ถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์จะบ่น ดังนั้นต้องทำ 2.ในการปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ ลอยๆ แต่กว่าที่คนไทยจะมีเสรีภาพ ก็ต้องเกิดเหตุการณ์ก่อน อาทิ 14 ตุลาฯ ก่อน และแต่ก่อนเราอาจจะวิจารณ์ทหารไม่ได้ หนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์ก็ถูกทุบแท่น แต่เหตุ 14 ตุลาฯ ก็ช่วยเปิดเสรีภาพในจุดนี้"นายธีรยุทธ กล่าวย้ำ
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า เสรีภาพของสังคมไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับชนชั้นกลาง มีเสรีภาพ มีการศึกษา แต่กับกลุ่มอื่นในสังคมอาจจะน้อยหรือไม่เท่าเทียม อาทิ ชาวบ้านอาจจะรู้สึกได้เป็นครั้งคราว ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ต้องการเสรีภาพในรูปแบบต่างกัน อาทิ แม่ค้าที่เป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ต้องการเสรีภาพ ที่อาจจะไม่ใช่เสรีภาพแบบอุดมคติแบบชนชั้นกลาง
ทั้งกรณีปิดสุวรรณภูมิ และเผาราชประสงค์ แม้ตัวแทนทุกฝ่ายจะบอกถึงความจำเป็น แต่ผลกระทบสูงมาก และเป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้กลายเป็นข้อกล่าวหาถึง 2 มาตรฐาน ตนเข้าใจความรู้สึกของผู้ชุมนุมดี เพราะตนก็เคยนำการชุมนุม เสี่ยงต่อการถูกจับ และถูกยิงเป้า โดนข้อกล่าวหาต่างๆ ดังนั้นคนที่ชุมนุมคงไม่อยากติดคุก แต่คนจำนวนมากเหล่านั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าจะแก้ไขในจุดนี้ คือระบบของเราต้องดีพอ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา ต้องดำเนินคดีทั้ง 2 ส่วน และรีบด้วย อาทิ ศาลต่างประเทศเคยเร่งทำคดีในช่วงกีฬาโอลิมปิกอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบกับการแข่งกีฬาโอลิมปิก เพื่อสร้างความมั่นใจ มิเช่นนั้นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ก็จะรักษาไมได้ กลายเป็นถูกวิพากษ์ซ้ำเติม
"ถ้าผิดจริงและจำเป็น กระบวนการทางศาลต้องตัดสินให้รวดเร็ว ดังนั้นการแทรกแซงศาลในเรื่องจำเป็น และประเด็นที่เกิดประโยชน์ ก็สามารถทำได้ ถ้ารู้จักทำเพื่อแก้ไขปัญหา" นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ กล่าวว่า อย่างกรณี มาตรา 7 นักวิชาการส่วนหนึ่งบอกทำไมได้ เพราะเป็นการให้อำนาจพระมหากษัตริย์ยุ่งการเมือง อีกฝ่ายให้มายุ่ง ตนกลับมองว่าปัญหานี้คนร่างไม่ต้องกำหนดไว้ เรื่องแบบนี้มันเป็นธรรมชาติที่องค์พระประมุขสามารถมาคลี่คลายปัญหาได้อยู่แล้วในทุกประเทศรวมทั้งไทย เช่น 14 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ที่สถาบันมาช่วยคลี่คลาย ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ไม่ใช่หลักกฎหมาย สิ่งที่เห็นชัดๆ เรื่องนี้คือการนิรโทษกรรมนักโทษทุกปี เช่นนี้คือการทำให้พระมหากษัตริย์คลี่คลายปัญหาให้อ่อนลง เป็นการปฏิบัติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือเราแข็งเกินไป เพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง เราต้องระวัง นำไปสู่จุดที่พอดีๆ
"ทุกอย่างมันมาจากการต่อสู้ ไม่มีใครประสิทธิประสาทให้การต่อสู้ของเราคือคนส่วนหนึ่ง ทั้งที่มาจากทหารและพลเรือน เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดึงอำนาจจากกษัตริย์มาเป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรืออย่าง 14 ตุลาฯ ก็มีประชาชน อย่างไรก็ตามทั้งหมดเกิดจากกลุ่มคนที่มีทุน ขณะที่คนไม่มีธุรกิจก็ไม่มีส่วนร่วม คือถ้าเราอยากจะได้อย่างที่คนต้องการ เราต้องลงทุนทางการเมือง ทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรม"
นายธียุทธ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาธิปไตยบ้านเราอาจมีมุมความขัดแย้ง ตนอยากเสนอว่าในช่วงหลังจากปี 53 มีแนวคิดประชาธิปไตยที่ถูกเสนอจำนวนหนึ่ง แบ่งเป็น 3 - 4 ส่วน คือ 1.ประชาธิปไตยเชิงเสรีนิยม แบบที่นายอานันท์ ปันยารชุน เสนอคือเน้นหลัก Good Governance 2.แบบชุมชนนิยม คือแบบนพ.ประเวศ วะสี 3.ประชาธิปไตยแบบประชานิยม ซึ่งเป็นแนวทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเสื้อแดง ที่มีนโบายที่เอื้อประโยชน์ของชาวบ้านรากหญ้า และชาวบ้านชอบ แต่อาจส่งผล 4.ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม โดยเอากษัตริย์เป็นศูนย์ของการแก้ปัญหาเป็นทิศทางทั้งหมดของประเทศ ซึ่งตนก็ว่าไม่ใช่ เพราะสถาบันควรจะอยู่ในสถานะที่เหมาะสม ตรงนี้ต้องหาความพอดี เพื่อยุติจากอคติทั้งปวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปาฐกถาของนายธีรยุทธครั้งนี้ ไม่ได้ใส่เสื้อกั๊กตามที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวแต่อย่างใด
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี