สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลไกตลาดเสรี

กลไกตลาดเสรี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สำหรับผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่สอนกันในมหาวิทยาลัยเช่นผมนั้นจะมองว่ากลไกตลาดซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันโดยเสรีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสูงดีอยู่แล้ว กล่าวคือ หากเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดให้น้อยที่สุดก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุดนั่นเอง ข้อสรุปของอดัม สมิทธ์ เกือบ 350 ปีที่กล่าวว่า การแข่งขันโดยเสรีของผู้ผลิตที่จะผลิตสินค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรสูงสุดกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าดีราคาถูกเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อันสูงสุดนั้น เป็นผลดีในการขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ โดยการระดมทุนและจัดสรรทรัพยากรไปในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม กล่าวคือ ความเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวในระบบตลาดเสรีกลับเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ข้อสรุปดังกล่าวถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นอุดมการณ์ที่ใช้คัดค้านความเชื่อที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ที่เข้ามาบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ระบบการผลิตและการพัฒนาประเทศที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมากนั้น จะสามารถปล่อยปละละเลยให้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านธรรมดาๆ คิดเองทำเองและตัดสินใจกันเอง
 

แนวคิดของอดัม สมิทธ์ นั้น มีจุดอ่อนและถูกโจมตีมาโดยตลอดในหลายร้อยปีที่ผ่านมา และโดยรวมแล้วหากกลับไปพิจารณาอดีตก็จะเห็นว่า อดัม สมิทธ์ วิเคราะห์ได้ถูกต้องว่า ชาวบ้านที่มีอิสรเสรีจากการกำกับดูแลของภาครัฐจะสามารถร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจที่มีการสั่งการลงมารัฐบาลส่วนกลาง การต่อสู้กันในเชิงของอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายที่นิยมตลาดเสรี (ซึ่งมีอีกชื่อที่ฟังดูแล้วเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน คือ ระบบนายทุน) ในช่วง 1950-1990 นั้นเห็นผลแล้วว่า ระบบนายทุนมีประสิทธิภาพในการนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้กับประชาชนและประเทศสูงกว่าระบบสังคมนิยมอย่างมาก แม้ว่าระบบนายทุนจะเน้นให้ต่างคนต่างคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ในขณะที่ระบบสังคมนิยมจะเน้นให้มุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
 

ประเทศเกาหลีเหนือที่อ้างตัวว่าเป็นประเทศสังคมนิยมและไม่ยอมรับระบบทุนนิยม มีความเจริญทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีเพียงหนึ่งในสิบของเกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่เป็นชาวเกาหลีเหมือนกัน ดังนั้น ความแตกต่างของ “ผลงาน” ทางเศรษฐกิจจึงต้องมาจากระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก เยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตกก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปโดยเสรีดีกว่าการกำกับดูแลจากส่วนกลางใกล้ตัวเรานั้นพัฒนาการของประเทศไทยที่อาศัยกลไกตลาดเสรีเป็นหลักกับประเทศพม่าที่ยึดติดกับระบบสังคมนิยมก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเปิดโอกาสให้ประชาชนรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้ามาแทรกแซงมากนัก
 

แต่รัฐบาลทุกรัฐบาล (ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ) มักจะมีแนวคิดว่าตนมีความสามารถที่จะทำให้เกิดผลที่ดีกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามกลไกตลาด กล่าวคือ บางครั้งก็มีนโยบายว่าสินค้านี้ราคาถูกไป (ข้าว) หรือสินค้านี้ราคาแพงไป (ก๊าซเอ็นจีวี) ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซง ทำให้ราคาสินค้าบางชนิดสูงขึ้นและสินค้าบางชนิดถูกลงโดยมักจะนึกว่าตัวเองสามารถฝืนกฎของตลาดได้ คือ สินค้าใดที่ราคาถูกก็จะมีคนใช้มากขึ้นและสินค้าใดที่ราคาถูกก็จะมีคนอยากซื้อน้อยลง เช่น เมื่อผลักดันให้ราคาข้าวสูงมากๆ ก็จะทำให้ขายข้าวได้ยากขึ้น แต่กลับจะมีผู้อยากปลูกข้าวมากขึ้น ดังนั้น ก็จะเสี่ยงกับการมีข้าวเหลือเกินความต้องการ ในขณะเดียวกัน หากกดราคาให้ก๊าซมีราคาถูกกว่าราคาพลังงานอื่นๆ ก็ทำให้มีคนหันไปใช้ก๊าซเป็นจำนวนมากจนต้องขาดทุนและนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ผลิตภายในประเทศก็ไม่อยากผลิตเพิ่ม (หรือแม้แต่สร้างปั๊มขายก๊าซเพิ่ม) เพราะทำไปแล้วไม่คุ้มทุน
 

การเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดราคา โดยรัฐบาลให้ต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาที่กำหนดตามกลไกตลาดเสรีนั้น มักจะมีความตั้งใจดีหวังจะทำประโยชน์ให้กับประชาชนและเกิดจากความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีอำนาจที่จะชี้นำกลไกตลาดได้ เช่น ในกรณีของข้าวก็คงจะยังเชื่อว่าหากสามารถฮั้วกับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่นๆ ได้ก็คงจะผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้นในตลาดโลกได้ แต่ข้าวนั้นมีผู้ผลิตจำนวนมากและสามารถปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวได้ในเวลา 4-6 เดือน ดังนั้น ผู้ผลิตจึงน่าจะสามารถเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่สินค้าที่ต้องใช้เวลาผลิตที่ยาวนาน (เช่น ยางพาราและน้ำมันดิบ) ผู้ผลิตก็ยังไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้ โอเปคนั้นเคย “รุ่ง” มากเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันก็มีส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงอย่างมาก แต่ก่อนเคยมีองค์กรควบคุมการผลิตและค้ายางพารา แต่ก็ล้มเหลวและต้องปิดตัวไป เป็นต้น
 

ความหวังดีที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการก็เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอีกเช่นกัน จริงอยู่ทุกคนอยากให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างที่สูง กล่าวคือ วัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทำให้เกิดการขาดแคลนของแรงงาน แต่การขาดแคลนที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็นการขาดแคลนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การขาดแคลนเทียม สมมติว่ารัฐบาลเปิดเสรีให้เศรษฐกิจมีลู่ทางในการลงทุนในหลายสาขาและสมมุติว่ามีการเปิดเสรีให้มีต้นทุนในการกู้ยืมจากธนาคารและระดมทุนจากตลาดหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่จะตามมา คือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (เช่น ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 1987-1990) เมื่อมีการลงทุนอย่างมาก (สร้างเครื่องจักรและโรงงาน ก็เท่ากับการทำให้แรงงานขาดแคลนเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องจักรและโรงงานที่ได้สร้างเพิ่มขึ้น) สิ่งที่ตามมาคือนายจ้างต้องการแรงงานมากขึ้น ทำให้ต้องยอมจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้น (และจะต้องอบรมลูกจ้างให้มีทักษะในการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย)
 

แต่หากออกกฎหมายให้นายจ้างต้องปรับเงินเดือนขึ้นก็จะมีความเป็นไปได้สูงว่านายจ้างจะเก็บลูกจ้างที่มีฝีมือเอาไว้ แต่ปลดลูกจ้างที่มีประสบการณ์น้อยออกไปเพื่อมิให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และหากต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ก็จะซื้อเครื่องจักรที่ลดจำนวนคนงานลงไปอีก สิ่งที่จะตามมา คือ ผู้ใช้แรงงานที่มีประสบการณ์ต่ำและมีรายได้น้อยจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะตกงานทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยากจนและมีทางเลือกน้อยอยู่แล้ว ในหลายกรณีบริษัทต่างๆ ก็อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น ซึ่งจะปิดโอกาสของผู้ใช้แรงงานที่มีประสบการณ์น้อยและฐานะยากจน
 

การแทรกแซงกลไกตลาดและการกำหนดราคาที่ผิดเพี้ยนไปจากที่กำหนดโดยตลาดเสรี จึงมักจะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : กลไกตลาดเสรี

view