สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 พรก.กู้เงิน ชี้ชะตาอนาคตปู

4 พรก.กู้เงิน ชี้ชะตาอนาคตปู

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เสถียรภาพรัฐบาลเริ่มสั่นคลอนหนักขึ้นเรื่อยๆ กับการเดินหน้าฝ่ากระแสต้าน ผลักดัน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและ สร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 2.พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 3.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 และ 4.พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 จนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และกำลังบานปลายกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของรัฐบาล

เพราะแค่ “ตั้งท่า” สารพัดเสียงค้านมาจากทุกทิศทุกทาง ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ล็อตนี้ของรัฐบาล ทั้งในแง่ความเหมาะสม ข้อสังเกตการซุกหนี้ เพื่อเปิดให้มีการสร้างหนี้ใหม่ ไปจนถึงการขาดรายละเอียดโครงการทั้งที่จัดเป็นงบก้อนมหาศาล

ปมเรื่องนี้นำมาสู่ความแตกแยกภายในรัฐบาล ถึงขั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ต้องปรับ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” พ้นเก้าอี้ รมว.คลัง ก่อนโยก กิตติรัตน์ ณ ระนอง มาสานงานต่อ

ความอึดอัดของ “ธีระชัย” ถูกระบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไม่กี่วันหลังหลุดเก้าอี้ และตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก. 4 ฉบับส่อขัดรัฐธรรมนูญ เพราะอ้างอิงสัดส่วนตัวเลขหนี้สาธารณะไว้ที่ 12% ทั้งที่ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ 9.33%

แถมตบท้ายว่า หากมีการตีความฉบับใดฉบับหนึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับติดขัดไปพร้อมกัน เพราะรัฐบาลได้เสนอหลักการและเหตุผลสำหรับ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกันผูกไว้ด้วยกัน

ไม่กี่วันหลังจาก พ.ร.ก.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ที่เคยประกาศจองกฐิน ต่อคิวรวบรวมรายชื่อ ยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยเฉพาะประเด็น “เร่งด่วนฉุกเฉิน” ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในเหตุผลนำโต้แย้งความถูกต้องเหมาะสมในการออก พ.ร.ก. เพราะเมื่อรายละเอียดที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนถึงขั้น ต้องเลี่ยงการตรวจสอบกลั่นกรองของสภาผู้แทนราษฎรจนถึงขั้นต้องออกเป็น พ.ร.ก.

ดูรายละเอียดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตรา พ.ร.ก.ให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ.ก็ได้

“การตรา พ.ร.ก.ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

ยิ่งดูเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับการออก พ.ร.ก. แล้วจัดเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่ต้องจับตา ทั้ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและ สร้างอนาคตประเทศ วงเงินกู้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกอง ทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหาร

การให้รายละเอียดใน พ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มีเนื้อหาเพียง 3 หน้ากระดาษ จนน่าเป็นห่วงทั้งเรื่อง “เร่งด่วน” และ “โปร่งใส” เพราะขาดรายละเอียดชี้แจง

ที่สำคัญสัญญาณจาก รมว.คลัง คาดว่าจะกู้เงินในปีนี้ตาม พ.ร.ก.แค่ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลสามารถไปใช้ช่องทางปกติตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 ได้ เพราะเพดานสัดส่วนเงินกู้ต่อหนี้สาธารณะยังสามารถเปิดช่องให้กู้ได้โดยไม่จำ เป็นต้องมี พ.ร.ก.

ไม่ต่างจาก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ไม่จัดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะในงบประมาณปี 2555 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภา ได้กำหนดวงเงินที่จะไปจ่ายให้กองทุนฟื้นฟูฯ แล้ว 6.8 หมื่นล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากไม่มีข้อบัญญัติห้ามสถาบันผลักภาระให้ประชาชนที่เป็นผู้ฝากและผู้ กู้ เท่ากับจะมีผลกระทบต่อประชาชน เพราะธนาคารพาณิชย์จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ เลย

ก่อนที่จะไปถึงการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับนี้จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์เตรียมจ้องขยายแผลประเด็นนี้ ในการพิจารณาของสภาวันนี้

ไม่แปลกที่ “เพื่อไทย” จะออกอาการชัดเจน ตั้งแต่ในที่ประชุมวิปรัฐบาล ซึ่งประชุมรับมือกันนานเป็นพิเศษ กำหนดกรอบวางทิศทางการอภิปราย พ.ร.ก. กู้เงิน 4 ฉบับ ตามด้วยการเรียก “กิตติรัตน์” เข้าไป “ติวเข้ม” บรรดา สส.ให้ข้อมูล อธิบายหลักการและเหตุผล พ.ร.ก.ร้อนทั้ง 4 ฉบับ สำหรับเป็นทิศทางการอภิปรายชี้แจงตอบโต้

แน่นอนว่าตามมารยาท เสียงส่วนใหญ่ของสภาคงจะพิจารณาเฉพาะ พ.ร.ก. 2 ฉบับ ที่ไม่ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คือ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

แต่เอาเข้าจริงฝ่ายค้านคงหยิบประเด็นสืบเนื่องจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและ สร้างอนาคตประเทศ และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกอง ทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เป็น “แผลใหญ่” มาร่วมอภิปราย

เพราะสุดท้ายแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาว่า พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีบทบัญญัติให้รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งยุบสภาและลาออก

การตอกย้ำความล้มเหลวการออก พ.ร.ก.ของรัฐบาล จึงเป็นอีกแรงเสียดทานสำคัญที่รัฐบาลกำลังจะต้องเผชิญ ยิ่งหากพลาดพลั้งตั้งรับไม่ดี ย่อมไปซ้ำเติมกับบรรดาเรื่องร้อนเวลานี้


เจาะอินไซด์ครม.วางหมากแก้เกมสภา

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย....ทีมข่าวการเมือง
  

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ใช้เวลาหารือนานเป็นพิเศษเพื่อเตรียมการรับมือการอภิปรายของฝ่ายค้านกรณี รัฐบาลออกพรก.การกู้เงินจำนวน 4 ฉบับ โดยเฉพาะกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรก. 2 ใน 4 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ครม.ได้วิเคราะห์ถึงขอบข่ายการออกพรก.ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านมุ่งโจมตี”ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่เข้าขอบข่ายกรณีเหตุฉุกเฉินที่ต้องออกพรก.ได้” ซึ่งครม.แสดงความมั่นใจว่า รัฐบาลมีอำนาจในการออกพรก.ได้ และไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต่อที่ประชุมว่า "เหตุ จำเป็นเร่งด่วนนั้น เราสามารถอธิบายได้ เนื่องจาก 3 เดือนจากนี้ สถานการณ์ภัยธรรมชาติอาจทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดอุทกภัยส่งผลกระทบประชาชน อีกทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับที่มีนัยยะสำคัญ ต้องรีบพร่องน้ำในเขื่อนออก ตรงนี้ก็เป็นคำตอบถึงความจำเป็น เร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องออกพรก.เพื่อนำงบประมาณมาเร่งดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟู ในระยะสั้น และระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น"

"รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงกับประชาชน ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนตรงนี้โดยถ่ายทอดสดการอภิปรายวันพรุ่งนี้( 1 ก.พ. ) ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  เพราะฝ่ายค้านตั้งเป้าแค่ประเด็นพรก.สองฉบับไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่าง เดียว   แต่เราจะอธิบายประชาชนถึงสถานการณ์อุทกภัย ที่ต้องเตรียมรับมืออย่างเร่งด่วน"รัฐมนตรีรายหนึ่ง กล่าว  

ทั้งนี้ นายกฯ แสดงความเห็นด้วย และเห็นว่าไม่ใช่แค่ชี้แจง พรก. 2 ฉบับที่ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ควรชี้แจง พรก.ทั้ง 4 ฉบับเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน จากนั้น นายกฯได้สอบถาม ครม.ถึงกระบวนการที่ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปถึงไหนแล้ว ซึ่งมีการแจ้งว่า เรื่องยังอยู่ที่ประธานสภา ยังไม่ไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อการหารือมาถึงตรงนี้ จึงมีเสียงสนับสนุนจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ถ่ายทอดสดให้ประชาชนทราบ ในที่สุด ครม.ได้มอบหมายให้ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข และ นายสุรวิทย์  คนสมบูรณ์  รมช.สาธารณสุขไปประสานกับวิปรัฐบาลภายในคืนนี้( 31ม.ค.) เพื่อแจ้งกับประธานสภา เปิดให้มีการอภิปราย พรก.ทั้ง 4 ฉบับตามที่นายกฯต้องการ

ด้านนายกิตติรัตน์  ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวมั่นใจว่า ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ประเด็นเดียว จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่  หากเป็นเช่นนี้ ตนเองมั่นใจว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงตอนนี้มีเสียงสนับสนุนจากครม.ด้วยว่า มั่นใจว่า พรก.ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาแน่นอน จึงไม่จำเป็นที่ครม.ต้องยกมือโหวต 

ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา  รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬาจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ฝ่ายค้านบอกว่า หาก พรก.สองฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกิตติรัตน์ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก  ตนเองเห็นว่า ไม่ต้องลาออก   เพราะเป็นเรื่องของการขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น 

ส่วนนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว. ต่างประเทศเสริมว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ออกพรก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ตอนนั้น พรรคเพื่อไทยโดยนายประเกียรติ นาสิมา ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ อภิปรายเช้า ยื่นบ่าย  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจฝ่ายบริหารทำได้  ดังนั้น ในกรณี พ.ร.ก. 2 ฉบับนี้คำวินิจฉัยคงจะออกมาเป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งจะไม่ทำให้การบริหารของรัฐบาลหยุดชะงักลง เพียงแต่ตอนนั้นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคุณชัช ชลวร  แต่ตอนนี้ เป็นคุณวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ 

ในที่สุด นายกฯย้ำถึงการเตรียมทีมการอภิปรายในสภาด้วยว่า มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ เป็นผู้ชี้แจงหลัก  หากมีการตอบโต้ประเด็นทางการเมือง มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ อภิปราย  ส่วนนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข และนายสุรวิทย์  คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข ทำหน้าที่ประสานงานกับวิปรัฐบาลและรัฐสภา

นายอนุสรณ์  เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมครม.ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาท้าทาย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  พรก.กู้เงิน 2 ฉบับ ขัดรัฐธรรมนูญขอให้นายกิตติรัตน์ แสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่ง  ก็ขอท้ากลับไปว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พรก.กู้เงิน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมลาออกจากตำแหน่งหรือไม่  


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : 4 พรก.กู้เงิน ชี้ชะตาอนาคตปู

view