สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบต่อการลงทุน

ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบต่อการลงทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมที่สำคัญๆ คือ การประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FOMC
มีความโปร่งใสของนโยบายการเงินที่มีความชัดเจน ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงต่ำในระดับผิดปกติ (ระดับ 0-0.25%) ออกไปอีกจากเดิมอีกระยะหนึ่งจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า สหรัฐอเมริกาจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในกลางปี  ค.ศ. 2013 ออกเป็นปลายปี 2014 นอกจากนี้แล้ว จากคำแถลงของนายเบอร์นันเก้ ประธานคณะกรรมการกลางยังไม่ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ของการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบพิเศษ (QE-3) หากมีความจำเป็น และจะเริ่มมีนโยบายขายสินทรัพย์ในปี 2015 (ดึงเงินออกจากระบบ) ซึ่งเป็นการเริ่มใช้นโยบายแบบเข้มงวดจากเดิมที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์ในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา  
 

จากภาพดังกล่าวจึงทำให้เห็น แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลก และผลตอบแทนของพันธบัตรของประเทศอุตสาหกรรมหลัก (yield) จะอยู่เกณฑ์ต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง การที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่ำและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกเลื่อนออกไปอีกเกือบ 3 ปีจึงเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะทองคำที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าการถือพันธบัตรรัฐบาล ราคาทองคำจึงปรับตัวขึ้นอยู่ระดับ 1,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมีคาดการณ์ว่าจะเห็นราคาทองคำอาจจะปรับตัวขึ้นไปถึง 2,000 ดอลลาร์ ในปีนี้
 

การยืนยันการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปของสหรัฐอเมริกา  จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นตัวดีขึ้น เพราะนักลงทุนกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกมาให้สัญญาณอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ได้สะท้อนถึงคาดการณ์ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาว่าจะเติบโตในระดับต่ำกว่าแนวโน้มปกติต่อไป ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีประกาศตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาออกมา แต่ก็เป็นที่คาดกันว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเติบโตในระดับประมาณร้อยละ 2 ในปี 2555 นี้ เมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 1.7 ในปีที่ผ่านมา (อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งหลังปี 2554) แสดงถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง (อัตราการเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาสแรกเป็น 1.3% เป็น 1.8% และ 2.8% ในไตรมาสที่ตามลำดับ)
 

การประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำของธนาคารกลางสหรัฐเองก็คงไม่สามารถจะประกันได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นแต่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองประการ คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าระดับแนวโน้มปกติ และอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 2% (จากเดิม 1.7-2.0%) แต่ถ้าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จากเหตุปัจจัยการชะงักงันของการผลิต หรือการปรับขึ้นของราคาอาหารจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายได้ และสอง หากเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวในอัตราที่ดีกว่าและเร็วกว่าคาดการณ์ของธนาคารกลาง สหรัฐก็อาจจะพิจารณาทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ยได้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้สูง และเร็วหมายถึงว่าอัตราการว่างงานก็จะลดลง ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกามิได้กำหนดเป้าหมายอัตราการว่างงาน
 

การเลื่อนการปรับขึ้นของอัตราอ้างอิงของสหรัฐอเมริกาย่อมจะเป็นตัวชี้นำถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่ประหลาดใจที่คณะกรรมการนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศ (กนง.) ในการประชุมในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงอีก 0.25% ลงมาสู่ระดับ 3.00% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะปรับลดได้อีกหากพิจารณาว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของไทย ยังสูงกว่าของสหรัฐอเมริกาอยู่ถึงเกือบ 3% 


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ผลกระทบต่อการลงทุน

view