จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สัมภาษณ์พิเศษ
วันนี้ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับปัญหาใหญ่ คือ มหาพิบัติภัยธรรมชาติที่สามารถกลืนทรัพย์สินบ้านเรือน ชีวิต เศรษฐกิจ ที่สร้างมานานครึ่งศตวรรษหายไปภายในเวลา 1-2 เดือน คนไทยประสบชะตากรรมนั้นมาแล้วจากมหาอุทกภัยปลายปี 2554 กว่า 60 จังหวัด
โจทย์ เรื่องนี้ "ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล" ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ล่าสุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเพิ่มอีกตำแหน่งคือ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาป่าต้นน้ำ
ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ให้สัมภาษณ์พิเศษเครือมติชนว่า พร้อมลงมือทำงานทันทีที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบภารกิจนี้ ขั้นแรก กำหนดโครงสร้างแล้วด้วยการตั้งทีมงาน ประกอบด้วยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เป็นรองประธาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา และกรรมการเข้าร่วมด้วย 4 ปลัดกระทรวง จากมหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คลัง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ขั้นที่ 2 ภายในกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปลงมือทำแผนโครงสร้าง แนวคิด ทางออก โดยนำต้นแบบปฏิบัติจริงในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 2,900 โครงการ มาใช้ได้เลย เพราะทุกโครงการสอนถึงการบริหารจัดการต้นเรื่องใหญ่สุดโดยมี "น้ำ" เป็นตัวตั้ง ซึ่งต้องแก้ไขพร้อมกันไปทั้งระบบ ทั้งการประเมินปริมาณ การใช้ในภาคเกษตรและครัวเรือน การหาตลาดสินค้ารองรับพืชเกษตร
เพราะ น้ำคือหัวใจสำคัญต่อเนื่องไปถึงการรักษาดินและป่าแหล่งต้นน้ำ ซึ่งชุบชีวิตเกษตรกร สร้างความเชื่อมโยงภาคการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งการเพาะปลูก พืชอาหาร ธัญพืช อาหารสัตว์ ปศุสัตว์ พลังงานหมุนเวียน ได้เป็นผลสำเร็จเกือบทุกแห่ง ทำให้ชุมชนอยู่กับธรรมชาติได้โดยไม่เดือดร้อนมาจนถึงทุกวันนี้
ทั้ง โครงการพระราชดำริ 2,900 แห่ง กำลังเสนอเพิ่มอีก 137 โครงการ บวกกับ โครงการปิดทองหลังพระที่กระจายอยู่ใน 12 จังหวัด 18 หมู่บ้าน เตรียมจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คือ ส่วนหนึ่งของต้นแบบการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของประเทศทั้งระบบได้ โดยมีต้นแบบครบตามลักษณะพื้นที่และภูมิประเทศแต่ละแห่งต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิง ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ
ภารกิจนี้ตามวิธีที่ถูก ต้องเพื่อจะให้สัมฤทธิ์จริง ต้องเริ่มทำจากระดับข้างล่าง คือ ชุมชนหมู่บ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกัน เพื่อส่งต่อขึ้นไปสู่ระดับบนในกลุ่มข้าราชการ ระดับอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารประเทศ เข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องอย่างเต็มที่ ทำม้วนเดียวให้จบไปเลย
ตัวอย่างแรก "โครงการปิดทองหลังพระ ณ หนองวัวซอ" เริ่มต้นเมื่อมกราคม 2554 เข้าไปแก้ปัญหาความยากจน โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ลงพื้นที่ทำโครงการ "บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านโคกล่ามและ บ้านแสงอร่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเดิมพื้นที่ทั้งหมดนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 6 แสนลูกบาศก์เมตร แต่ตลอดทั้งปีชาวบ้าน 200 ครัวเรือน กลับใช้น้ำได้แค่ 10% เพราะไม่มีท่อส่งน้ำ ประตูระบาย ไปยังแปลงนาของเกษตรกร
ตอนนี้ สามารถแก้ไขจนแล้วเสร็จทำให้ปลูกข้าวเพิ่มจาก รอบละ 35 ถัง เพิ่มเป็น 50 ถัง/แปลง สามารถปลูกพืชไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร และแบ่งขายตลาดได้ พลิกความเป็นอยู่ของชุมชนนี้ที่เคยมีหนี้อยู่ครอบครัวละ 1 แสนบาท จะสามารถปลดหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 6 ปี กลับมามีรายได้พร้อมกับภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้คนไทยกลับมาเป็นคนไทยแบบไทย ดีที่สุด เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรหมดแล้ว สังคมโลกวิบัติ การเงินล้มเหลว แนวทางที่ถูกต้อง สอนให้ทุกชุมชนลงแขกช่วยกันทำบ้านตัวเอง ประการสำคัญที่สุดต้องวางแผนเรื่อง "เงินออม" เพื่อรองรับกับเหตุการณ์จากภายนอกที่ช็อกความเป็นอยู่ได้ภายในพริบตา อย่างกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554
หรืออีกตัวอย่างคือ "โครงการปิดทองหลังพระ ณ บ้าน สะเกิน" ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน แรกเริ่มนั้น อ.สองแควมีพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระในหมู่บ้านยอด น้ำเกาะ ผาหลัก ต.ยอด ชาวบ้านในหมู่บ้านลุกขึ้นมาทำกันเอง โดยนำองค์ความรู้การพัฒนาแนวพระราชดำริมาใช้พัฒนาจนสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ ฟื้นฟูปรับปรุงคุณภาพดิน ส่งเสริมอาชีพเกษตร ปศุสัตว์ ป่าเศรษฐกิจ จนกลายเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (Social Lab) แนวตะเข็บแถบนี้ติดชายแดนไทย-สปป.ลาว มีชาวเขาเผ่าม้ง-เย้า แม้ว ทำการเกษตรกว่า 2,000 ไร่ และวันนี้สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการวางระบบช่วยกันซ่อมสร้างฝาย ซ่อมบำรุงเส้นทางเดินน้ำในลักษณะเหมืองฝาย ทำท่อส่งน้ำมาเก็บไว้บริโภค อุปโภค มีถังเก็บน้ำของหมู่บ้านสำรองไว้ใช้ตลอดปี สามารถจ่ายให้พื้นที่ทำเกษตรได้มากถึง 1 แสนไร่
โครงการในพระราชดำริ เกือบทั้งหมดเป็น "ป่าต้นน้ำ" ซึ่งพร้อมจะทำควบคู่ไปกับการกำหนดเส้นทางนำน้ำลงสู่เจ้าพระยาได้ โดยจะจัดหาพื้นที่ลุ่มน้ำไว้ 3 ขนาด คือ ขนาดกลาง ขนาดจิ๋ว และขนาดฝอย บวกกับพื้นที่แก้มลิง ทำไปตลอดทาง ส่วนบางพื้นที่ถ้าจำเป็นต้องทำถึงขนาด floodway ก็จะทำ ก่อนลงมือทำต้องคิดวิธีสร้างเพื่อป้องกันดินสไลด์ด้วย ต้นแบบรวมถึงหลักวิธีที่ใช้เหล่านี้ดัดแปลงมาจากการเข้าไปแก้ปัญหาให้ชาวเขา เลิกทำไร่เลื่อนลอย
ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวถึงแผนการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก พื้นที่ปลูกพืชอาหารในแต่ละพื้นที่กันไว้ 10% กลุ่ม 2 พื้นที่ปลูกป่า 90% ในกลุ่มนี้แบ่งย่อยเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.ป่าอนุรักษ์ 60% 2.ป่าปลูกพืชเศรษฐกิจ 20% เพื่อไว้เก็บขายนำเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต และ 3.พื้นที่ทำระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้
วิธี การทำงานต้องประสานความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 รัฐบาลกลาง ตั้งแต่อธิบดีไปจนถึงรัฐมนตรี ระดับ 2 ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ระดับ 3 ราษฎรในพื้นที่
กุญแจที่จะทำให้แผนบริหารจัดการน้ำ และการฟื้นฟู ป่าต้นน้ำไปถึงเป้าหมายความสำเร็จได้จะต้องพึ่งข้อต่อ 2 ข้อ คือ ข้อต่อบน ข้าราชการผู้รับผิดชอบดูแลอย่างปลัดอำเภอต้องลงไปคลุกคลีใช้ชีวิตกินนอนอยู่ กับชาวบ้าน ศึกษาปัญหาให้ถ่องแท้ ข้อต่อล่าง ชุมชนจะต้องเลือกพื้นที่มาเข้าร่วมโครงการทำอย่างจริงจัง
ม.ร.ว.ดิศ นัดดาทิ้งท้ายด้วยวรรคทองว่า กุญแจดอกสำคัญที่สุดคือ "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จะต้องสนับสนุนด้วยทุกเรื่องที่จะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจโจทย์เดียวกัน พูดจาประสาเดียวกัน ใช้เวลาปีเดียวก็รู้ผล ว่าจะเอาอยู่หรือไม่อยู่
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี