ปชช.แน่นนิติฯ มธ. ฟัง “สยามประชาภิวัฒน์” ชำแหละทุนการเมือง
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ปชช.แน่นห้องแอลที 1 นิติฯ มธ. ร่วมฟังเสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ” จัดโดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ “ศ.ดร.อมร” ประเดิมปาฐกถา ชี้ชัดการเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการโดยนายทุนพรรคการเมือง
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้จัดเสวนาทางวิชาการ “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 12.30 น. ปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจมาร่วมงานจำนวนมากจนล้นห้องประชุม ทั้งนี้ การเสวนาเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. โดยนายศักดิ์ณรงค์ มงคล นักวิชาการอิสระ กล่าวรายงานผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ และเปิดการเสวนา หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้ปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” ซึ่ง ศ.ดร.อมรระบุว่า การเมืองไทยขณะนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการผูดขาดโดยนายทุนพรรคการเมือง
หลังจากนั้น เวลา 14.00 น.จะเป็นการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ” โดยนักวิชาการกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาจารย์ ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, อาจารย์คมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดำเนินการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ โดยการเสวนาครั้งนี้จะสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 16.30 น.
“ดร.อมร” ชำแหละเผด็จการนายทุนพรรคใช้ช่องโหว่ รธน.ยึดอำนาจรัฐเพื่อคอร์รัปชัน
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“ศ.ดร.อมร” ชำแหละการเมืองไทยภายใต้เผด็จการนายทุน หลัง รธน.บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค นายทุนใหญ่เห็นช่อง กระโดดเข้าลงทุน ซื้อเสียงเข้าผูกขาดอำนาจรัฐแล้วคอร์รัปชัน ทำการเมืองไทยตาบอดสนิท เชื่อ นักการเมืองไม่ยอมแก้ เพราะได้ประโยชน์ ประชาชนต้องช่วยกันคิดคนไทยควรทำอย่างไร
วันนี้ (6 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.45 น.ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” ในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” จัดโดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้จัดเสวนา ซึ่ง ศ.ดร.อมร ระบุว่า การเมืองไทยขณะนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการผูกขาดโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยเมื่อดูตัวบทรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น มาเรียงจะเห็นว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเราค่อยๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งกลายเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลนั้น ขึ้นอยู่กับ 1.สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิการรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งบุคคลทุกคนต้องมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค 2.พรรคการเมือง ใครจะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้ และประการที่ 3 เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎรมีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองในการบริหารประเทศ ตามมโนธรรมของตนเอง ไม่ใช่ว่าได้รับเงินมาแล้วต้องตามคำสั่งของเจ้าของพรรคการเมือง
รัฐธรรมนูญของเรา ตั้งแต่ปี 2475 เริ่มจากฉบับที่ 2 เราเดินตามหลัก Principal of Democracy คือ ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ คำปฏิญาณตนก็จะอยู่ในแนวทางเดียวกัน ฉบับที่ 3 จนถึงฉบับที่ 8 ก็ยังคงเดิม จนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ฉบับที่ 10 เริ่มการบังคับสังกัดพรรค ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย มาถึงฉบับที่ 13 บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค แต่บอกว่าถ้าจะเปลี่ยนพรรค หรือถูกพรรคไล่ออก สามารถไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้ เป็นบทบัญญัติเริ่มต้นของการบังคับให้สังกัดพรรคแต่ยอมให้เปลี่ยนได้ เริ่มเป็นต้อหิน คือบอดไป 1 ใน 4 รัฐธรรมนูญปี 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 หลังพฤษภาทมิฬ กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.สังกัดพรรค พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ ทำให้เราตาบอดสนิท หมายความว่า มีอำนาจผูกขาดเผด็จการโดยพรรคการเมือง นายทุนถ้าลงทุนแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้
มาถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เติมบทบัญญัติลงไปว่า ส.ส.เมื่อยุบสภาแล้ว เปลี่ยนพรรคไม่ได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วัน หมายความว่า นายทุนต้องมีอำนาจเด็ดขาด และบทบัญญัติเช่นนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เหมือนกัน ส.ส.ให้อิสระไม่อยู่ภายใต้ผูกมัดใดๆ ทั้งที่ในตัวบทพรรคการเมืองมีอำนาจปลด ส.ส.
ถ้าย้อนไปดูจากปี 35 พรรคการเมืองที่มาต่อสู้ในสภาเป็นพรรคการเมืองนายทุนทั้งสิ้น ระยะแรกจะเป็นพรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น แย่งกันจับขั้วกันเอง และแย่งกันเป็นนายกฯ หลังจากนั้นมา นายทุนระดับชาติมา ร่วมลงทุนด้วยและใหญ่กว่านายทุนท้องถิ่น จึงซื้อทั้งผู้สมัคร ส.ส.ซื้อผู้ที่เป็น ส.ส.แล้ว และซื้อพรรคการเมือง ซึ่งจะเห็นว่า นายทุนท้องถิ่นระดับชาติกระโดดเข้ามาในระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ เพราะระบบรัฐสภาของเราคือใครคุมเสียงข้างมากในสภา คนนั้นเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงซื้อเสียงเข้ามา และผูกขาดอำนาจพรรค และคอร์รัปชั่น และเอาเงินไปซื้อเสียงกลับเข้ามาอีก
“ผมอยากสรุปว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาประเทศไทย ต้องแก้ที่ระบบสถาบันการเมืองก่อน เพราะว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ ก็คงไม่มีใครแก้เนื่องจากเขาได้ประโยชน์ และไม่มีใครแก้ ดังนั้นขอให้ช่วยกันคิดว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ระบบสถาบันการเมือง คนไทยจะทำอย่างไร” ศ.ดร.อมร กล่าว
คำต่อคำ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด
“ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่ให้โอกาสผมมาชี้แจงว่าตาม ความเห็นของผม ขณะนี้ระบอบการปกครองของเราเป็นระบอบอะไร ในเอกสารที่ท่านมีอยู่ในมือจะเห็นว่ามีบทความอยู่ ซึ่งไม่ยาวนัก ของผมอยู่ 2 บทความ ความจริงถ้าท่านมีโอกาสไปอ่านบทความนี้ ท่านก็จะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงได้กลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรค การเมืองนายทุน
ผมเองกำลังนึกว่าจะทำยังไงให้ท่านมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การแตกแยกก็ดี การผูกขาดอำนาจก็ดี มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด จะพยายามอธิบายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ผมจะพยายามอธิบายเหตุผลของการที่ประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตย ทำไมจึงกลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนได้ โดยจะใช้เวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะย่อได้ แล้วท่านก็กรุณาไปอ่านบทความเองนะ ที่อยู่ในมือของท่าน
ความจริงแล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเพาเวอร์พอยท์ ซึ่งจริงๆ เป็นสี แต่ผมเข้าใจว่าท่านผู้ไปจัดพิมพ์ จัดพิมพ์น้อยเกินไป เพราะฉะนั้นก็จะมีบางท่านที่มีเพาเวอร์พอยท์ที่เป็นสีอยู่ในมือ บางท่านก็จะไม่มี
ในบทความอันหลังที่สุดที่ผมได้เขียนไว้ ถ้าหากท่านดูจากหัวข้อในเอกสารที่ท่านมีอยู่ในมือ ท่านจะเห็นว่าบทความบทแรกเราตั้งชื่อไว้ว่า จากระบอบประชาธิปไตย 2475 มาเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาในปัจจุบัน
ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา เราเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ขนาดยังไม่รู้ว่าทำไมในปี พ.ศ.2535 มันเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมจึงกลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนไปได้ ดังนั้นเพื่อที่จะให้ท่านมองเห็นตรงนี้ เราก็จะเอาตัวบทของรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาให้ท่านดูว่าหลักเกณฑ์ของความเป็น ประชาธิปไตยนั้นเป็นยังไง แล้วทำไมในปี 2535 เราจึงกลายเป็นระบบเผด็จการไปได้
ในตอนแรกเราจะเห็นว่าขณะนี้เรามีประเด็นเรื่องความปรองดอง ข้างหน้านี่ก็อาจจะมีพระราชบัญญัติความปรองดองแห่งชาติ โผล่ขึ้นมา ผมถึงบอกว่าความปรองดองนั้นมันไม่ใช่เรื่องออกกฎหมาย บังคับให้คนต้องกอดกัน แต่ความปรองดองนั้นมันเกิดขึ้นด้วยการทำถูกให้เป็นถูก ทำผิดให้เป็นผิด
แต่ตรงนี้เราไม่ได้พูดเรื่องความปรองดอง วันนี้เรามาพูดเรื่องว่าเราเป็นเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตย ผมจะเริ่มต้นว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ทำไมผมจึงว่าอย่างนั้น ดังนั้นเราจะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญมาเรียงให้ท่านดู ว่าทำไมจากประชาธิปไตยดีๆ ปี 2535 เรากลายเป็นเผด็จการไปได้ ดังนั้นตรงนี้ผมก็จะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญของเราตั้งแต่ต้น มาเรียงจนกระทั่ง ณ ปัจจุบัน แล้วดูซิว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเราค่อยๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งกลายเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนเต็มรูปแบบได้ยังไง
เพื่อที่จะให้ย่อเข้ามา ผมก็จะเอารัฐธรรมนูญต่างประเทศ ที่เราถือว่าเป็นประชาธิปไตย มีตัวบทอะไรบ้างที่สำคัญๆ เอามาให้ท่านดูก่อนว่าระบอบประชาธิปไตยของสากลเขาถือหลักอะไรบ้าง จริงๆ แล้วการเลือกตั้งนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 1. สิทธิการเลือกตั้ง 2. สิทธิการรับสมัครเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นสิทธิการเลือกตั้งของเรา เป็น Universal Suffrage คือบุคคลทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งได้ ยกเว้นแต่เด็กที่ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบ แต่สิ่งที่นักวิชาการ หรืออาจารย์ของเราลืมไปก็คือ สิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง
สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งนั้น ที่เป็นประชาธิปไตย บุคคลทุกคนต้องมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค
ประการที่ 2 พรรคการเมือง ใครจะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้ และประการที่ 3 ก็คือ เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎรนั้น มีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองในการบริหารประเทศตามมโนธรรมของตนเอง ไม่ใช่ว่าได้รับเงินมาแล้วต้องตามคำสั่งของเจ้าของพรรคการเมือง
ผมอยากจะให้ท่านผู้ฟังนึกดูว่า มีประเทศไหนบ้างที่เวลาจะตั้งรัฐมนตรี คนต้องบินออกไปนอกประเทศ ออกไปปรึกษานายทุนพรรคการเมือง เห็นไหมครับนี่เป็นสิ่งผิดปกติแล้ว
ประการที่ 2 มีที่ไหนบ้างที่ ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมือง พอมีตำแหน่งว่าง ให้ภรรยาหัวหน้าพรรคเป็น โดยสมาชิกพรรค ส.ส.บอกว่าข้าพเจ้าไม่เป็น ถามว่าทำไมเขาถึงไม่อยากเป็น นึกดูให้ดีนะครับ เหตุการณ์เหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น มันแสดงความผิดปกติของระบบสถาบันการเมืองของเรา ทำไมถึงไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ทำไมถึงเกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญของไทยนั้น ระบบบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ระบบให้พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ แล้วยังเขียนว่า หัวหน้าพรรคเท่านั้นที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
สามบทบัญญัตินี่ล่ะครับเป็นบทบัญญัตของรัฐธรรมนูญของไทยประเทศเดียวในโลก แต่ท่านอย่าเพิ่งนึกไปไกล ถามว่าทำไมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเราไม่สอน ถามตรงนี้สิครับ อาจารย์มหาวิทยาลัยทำไมไม่สอน เราเรียนรัฐธรรมนูญมา 80 ปี แต่ไม่มีใครสอน แล้วแถมยังมาบอกว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย นี่ผมบอกให้ท่านคิดนะครับ ทำไมเหตุการณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้น แล้วทำไมอาจารย์ของเราไม่สอน เพราะอะไร ก็เพราะว่าการสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยของเรานั้นไม่ได้มาตรฐานสากล
คราวนี้เราดูซิว่ามาตรฐานสากลมียังไง เมื่อกี้ผมบอกแล้วว่า การเลือกตั้งมีสิทธิอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ สิทธิมาออกเสียงเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่งก็คือสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีอิสระในการไม่สังกัดพรรค พรรคการเมืองต้องตั้งได้โดยเสรี และเมื่อได้เป็นผู้แทนมาแล้ว ต้องสามารถใช้มโนธรรมของตนบริหาร ออกเสียงบริหารประเทศได้ นี่คือหลักประชาธิปไตย
ก่อนที่เราจะมาดูวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ผมอยากจะให้ท่านดูรัฐธรรมนูญต่างประเทศ ว่าหลักนี้พอออกมาเป็นตัวบทแล้วมันเป็นยังไง ซึ่งความจริงอันนี้เราได้พิมพ์อยู่แล้วในเอกสารที่ท่านแจกไป แต่บังเอิญมันไม่เป็นสี ฉะนั้นถ้าท่านดู เราจะเรียงลำดับ จะเห็นสีชัดเจน เราจะเห็นว่าในเฟรมแรกที่อยู่บนจอ จะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ท่านเห็นไหมครับ 2 ตัวบทนี้ ในมาตราแรก เราจะเห็นว่า ส.ส.นั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตน
ในวรรค 2 ท่านเห็นไหมครับ ตัวแดง ทุกอย่างจะต้องมี Democratic Principal ถามว่า Democratic Principal อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ผมบอกนี่ไงครับ เสรีภาพในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการที่จะใช้มโนธรรมของตนในการใช้สิทธิในการเป็น ส.ส.ในการโหวตรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โหวตตามคำสั่งของนายทุนพรรคการเมือง
ในช่วงแรกเราจะเห็นว่าจะมีบทบัญญัติ ท่านสังเกตกรอบนะครับ กรอบสีแดงจะเป็นกรอบของกฎหมายต่างประเทศ พอจบกรอบสีแดงแล้วก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของไทย เพื่อที่จะดูว่ารัฐธรรมนูญไทยได้บิดเบือนหลักการของความเป็นประชาธิปไตย อย่างไร
ต่อไปเฟรมที่ 2 จะเป็นรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส เห็นไหมครับ สีแดงในตอนท้าย เขาบอกว่า จะต้องเคารพ Principal of Democracy เราไม่มี ข้างบนนั้น มาตรา 27 ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ใครสั่งมาก็ไม่ได้ แต่ของเรานี่ได้รับซองมา เราสั่งได้
เราจะเห็นว่าบทบัญญัติหลักของประเทศที่สำคัญที่สุดในยุโรปคือ ฝรั่งเศส กับเยอรมัน เขาเขียนอย่างนี้ แล้วลองดูว่าในประเทศอื่นๆ เขียนอย่างไรบ้าง
จากรัฐธรรมนูญของเยอรมัน กับฝรั่งเศส ต่อไปก็เป็นรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ใกล้ๆ เรานี่เอง เราจะเห็นนะครับ ตัวสีน้ำเงิน ว่า ส.ส.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรมของตนเอง
ต่อไปก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรม แล้วก็ใครจะมาให้ Direction ใดๆ ไม่ได้ รวมทั้งผู้ที่เลือกตั้งมาด้วย
ต่อไปก็เป็นรัฐธรรมนูญของสเปน เราจะเห็นว่า หลักของ Democracy ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญสำคัญๆ ทั้งนั้น อันนี้เฟรมเปลี่ยนสีแล้ว แสดงว่าจบสำหรับต่างประเทศ ขณะนี้ท่านเข้าใจแล้วว่า Democratic Principal หรือ Principal of Democracy คืออะไร
ดูซิว่า รัฐธรรมนูญของเราเคารพต่อหลักการของความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ผมก็บอกว่าต่อไปนี้เราจะดูรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เรียงตามลำดับนะครับ ตั้งแต่ปี 75 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ถ้าท่านดูเฟรมสีเขียว ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐธรรมนูญไทย ผมจึงเริ่มต้นด้วยฉบับที่ 2 ทำไมไม่เริ่มต้นด้วยฉบับที่ 1 แต่ท่านจะรู้ว่าทำไมผมไม่เริ่มต้นด้วยฉบับที่ 1 ก็พลิกไปอ่านสิครับ อยู่ในเอกสารของท่านนะครับ เพราะในฉบับที่ 1 นั้น เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรา ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ร่าง
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เมื่อปี 75 เขาเรียกคณะรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการราษฎร เขาไม่ได้เรียกว่าคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ใช้อยู่ได้ราว 6 เดือน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญที่เรารู้กัน คือที่รัชกาลที่ 7 ได้มาเขียนให้ พระราชทานให้มา
ท่านรู้ไหมครับว่าในสมัยนั้น รัฐธรรมนูญที่เรียกฝ่ายบริหารว่าเป็นคณะกรรมการราษฎรนั้น คือรัฐธรรมนูญของประเทศไหน ท่านอาจจะไม่รู้ เพราะไม่มีการสอน รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่เรียกคณะรัฐมนตรีว่าเป็นคณะกรรมการราษฎรนั้น มาจากรัฐธรรมนูญประเทศรัสเซีย รัสเซียนี่รัฐธรรมนูญปี 1918 เรียกคณะมนตรีว่าคณะกรรมการราษฎร คือ People's Commissar รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรามาเปลี่ยนนิดหน่อยก็คือว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรานั้นยังมีพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าท่านจะรู้หรือไม่รู้ ขณะนี้ ผมอยากจะพูดว่า สิ่งที่ผมเขียนลงไปในนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรานั้นเรียกคณะรัฐมนตรี ว่าคณะกรรมการราษฎรนั้นมาจากรัสเซีย ผมเชื่อว่านี่เป็นเอกสารฉบับแรกที่เขียนถึง
เพราะฉะนั้นเราตัดออกไป เราจะดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 ในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 นี้ ถ้าท่านดู ถ้าท่านมีเอกสารที่เป็นสี ท่านจะเห็นว่าเฟรมของรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนสีไป ในเฟรมรัฐธรรมนูญช่วงแรกนั้นมี 6 ฉบับ ฉบับที่ 2 ท่านดูนะครับ เราจะเห็นว่าเราเดินตามหลัก Principal of Democracy คือ ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ คำปฏิญาณตนก็จะอยู่ในแนวทางเดียวกัน ลองดูสิครับว่าหลักเกณฑ์นี้ Principal of Democracy เปลี่ยนเมื่อไร
ต่อไปครับ ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 เราจะเห็นว่าคงเดิม ฉบับที่ 4 เราก็จะเห็นว่ายังคงอยู่ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกพันแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ ต่อไปเราก็จะเห็นว่าฉบับที่ 5 ก็ยังเหมือนเดิมอยู่ ฉบับที่ 6 เราก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2495 ก็ยังเหมือนเดิม เพราะว่าเอามาจากปี 75 ต่อไปรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 ปี 11 เราก็จะเห็นว่าสถานภาพกับคำปฏิญาณยังคงเหมือนกัน
ต่อไปท่านจะเห็นว่าเฟรมเปลี่ยนสีแล้ว เราจะเห็นว่าจนกระทั่งถึงฉบับที่ 8 เรายังคงยึดหลัก Principal of Democracy ถ้าคุณดูต่อมา ท่านก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ฉบับที่ 10 ท่านรู้ไหมครับรัฐธรรมนูญฉบับ 17 เริ่มการบังคับสังกัดพรรค ความจริงผมยังเขียนบทความไม่จบ เพราะถ้าเขียนบทความจบ ท่านจะเห็นเลยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการบังคับสังกัดพรรคเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่าลืมนะครับ การบังคับสังกัดพรรคนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นตามหลักของความเป็นประชาธิปไตย
เราจะเห็นว่า ในฉบับแรก การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นถูกตัดออกจากสถานภาพ ไม่มีแล้ว แต่มาเขียนไว้ในคำปฏิญาณ นี่คือ ฉบับแรกนะครับ ฉะนั้นในฉบับแรกกฎหมายของรัฐธรรมนูญของเราบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค แต่บอกว่าถ้าจะเปลี่ยนพรรค หรือถูกพรรคไล่ออก สามารถไปหาพรรคการเมืองใหม่เป็นสมาชิกต่อไปได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติเริ่มต้นของการบังคับให้สถานะ แต่ยอมให้เปลี่ยนได้ เริ่มเป็นต้อหิน คือบอดไป 1 ใน 4 เป็นฉบับที่ 13
อันที่ 8 ท่านดู ไม่เหลือแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีแล้ว เรื่องสถานภาพ และในคำปฏิญาณ เพียงแต่บอกให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแก่คนที่จ่ายเงิน ตัวบทมันฟ้อง รวมทั้งฟ้องอาจารย์ของเราด้วยที่ไปช่วยเขียนรัฐธรรมนูญ
ตรงนี้ถ้าท่านไปดูตัวบท รัฐธรรมนูญบอกว่า พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ออกได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเป็นต้อหินเต็มตาแล้ว
แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ตรงนี้เราจะเห็นว่า ปี 34 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 สังเกตดูดีๆ ผมไม่ได้บอกว่า รัฐธรรมนูญอันนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เท่าไหร่ของประเทศไทย เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่เขียนใหม่ เรียงมาตราใหม่ แต่อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเรานับไม่เป็น คือไม่นับ เหตุที่ไม่นับคือ บังเอิญมีหนังสือ 1 เล่มเขาไม่นับ เราเลยไม่นับไปด้วย แสดงให้เห็นว่า อาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราไม่เคยสังเกต
ในเอกสารเขียนว่า ที่เราถือว่ารัฐธรรมนูญเราขณะนี้มี 18 ฉบับนั้นผิด มี 19 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนใหม่ ชื่อว่า แก้ไขเพิ่มเติมแต่มาตราไม่ตรงกัน อาจารย์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่รู้ว่ามาตราไม่ตรงกันแล้วจะอ้างได้อย่างไร
ดังนั้น ตรงนี้ ก่อนมาถึงเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ผมมีข้อสังเกต เราจะเห็นว่าก่อนตรงนี้ เราจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 โดยมีรัฐประหารแล้วยกร่างเป็นรัฐธรรมนูญปี 34 ปี 34 ท่านจำได้ไหมว่าเราเคยมีคณะรัฐมนตรี 1 คณะอยู่เพียง 6 เดือน ได้เติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 34 หลังพฤษภาทมิฬว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง อะไรเกิดขึ้น ผมชี้ให้เห็นแล้วว่า เราไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะเรา ส.ส.สังกัดพรรค พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ คนที่เติมอันสุดท้ายลงไปว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้เราตาบอด หมายความว่า คนที่ผูกขาด เป็นอำนาจผูกขาดเผด็จการโดยพรรคการเมือง นายทุนถ้าลงทุนแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้
เราจะเห็นว่า ตลอดเวลาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 34 ที่มาเติมว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยเป็นเผด็จการไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราบอดสนิท หายจากการเป็นต้อหิน เราจะเห็นว่า พอเราเป็นต้อหินแล้ว ตาบอดสนิทแล้ว ก็จะมาถึงรัฐธรรมนูญปี 40 นอกจากบอดสนิท ถ้าท่านจำได้เราได้เติมบทบัญญัติลงไปว่า ส.ส.เมื่อเวลายุบสภาแล้ว เปลี่ยนพรรคไม่ได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วันก่อนเปลี่ยน หมายความว่า นายทุนต้องมีอำนาจเด็ดขาด และบทบัญญัติเช่นนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก และคิดว่าขณะนี้ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นปี 50 ก็เหมือนกัน สังเกตดูให้ดีว่า ไม่มีสีน้ำตาล แต่มีสีน้ำเงินเพิ่มมา ไม่อยู่ในความผูกมัด ทำไมถึงมี ทั้งที่ตัวบทไม่ได้แก้เลย หมายความว่า คนร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องการหลอกนักวิชาการต่างประเทศว่าเราเป็นประชาธิปไตย โดย ส.ส.ให้อิสระไม่อยู่ภายใต้ผูกมัดใดๆ ทั้งที่ในตัวบทพรรคการเมืองมีอำนาจปลด ส.ส.แสดงให้เห็นถึงถึงความไม่เป็นกลางของความเป็นนักวิชาการที่ไปเขียนรัฐ ธรรมนูญเหล่านี้ขึ้น
ดังนั้น คิดว่า ขณะนี้ท่านมองเห็นวิวัฒนาการจากตัวบทจริงๆ ส่วนข้างหน้าท่านจะคิดว่าเราจะแก้ไขอย่างไร จะมีท่านที่ร่วมอภิปรายต่อถึงระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ก่อให้เกิดอะไรขึ้น ถ้าย้อนไปดูจากปี 35 พรรคการเมืองที่มาต่อสู้ในสภาเป็นพรรคการเมืองนายทุนทั้งสิ้น ระยะแรกจะเป็นพรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น แย่งกันจับขั้วกันเอง และแย่งกันเป็นนายกฯ ลองย้อนไป ผมจะไม่เอ่ยชื่อใครทั้งนั้น ลองนึกว่า จากปี 34 - ปี 42 พรรคการเมืองนายทุนท้องถิ่นสลับขั้วกันอย่างไร หลังจากนั้นมา นายทุนระดับชาติมองเห็น ร่วมลงทุนมากหน่อย ใหญ่กว่านายทุนท้องถิ่น จึงซื้อทั้งผู้สมัคร ส.ส.ซื้อผู้ที่เป็น ส.ส.แล้ว และซื้อพรรคการเมือง ซึ่งจะเห็นว่า นายทุนท้องถิ่นระดับชาติกระโดดเข้ามาในระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ เพราะระบบรัฐสภาของเราคือใครคุมเสียงข้างมากในสภา คนนั้นเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงซื้อเสียงเข้ามา และผูกขาดอำนาจพรรค และคอร์รัปชั่น และเอาเงินไปซื้อเสียงกลับเข้ามาอีก
ท่านมองเห็นปัญหาได้ ทำไมขนาดนี้ไม่มีนักการเมืองใดที่บอกว่า เขาเป็นเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เพราะเขาได้ประโยชน์ เขาแข่งขันเพื่อมาคอร์รัปชัน แต่การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่ เราต้องสร้างจากพื้นฐานจริงๆ ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ 1.ข้าราชการประจำต้องเป็นกลาง 2.ระบบการกระจายอำนาจต้องดี 3.กระบานการยุติธรรมต้องดี ถ้าถามว่า 3 พื้นฐานของการปกครองประเทศ เราจะพัฒนาได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาจากคณาจารย์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบคนตาบอดคลำช้าง
อาจารย์ประเภทคนตาบอดคลำช้าง เขาตาบอด เมื่อเขาไปคลำตรงใหนก็สอนตรงนั้น เขาไม่เคยรู้จักเลยว่าช้างตัวใหญ่ รูปร่างเป็นอย่างไร และมันเดินได้อย่างไร พระมหากษัตริย์อยู่ส่วนใหนของช้างยังไม่รู้เลย
ผมอยากสรุปว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาประเทศไทย ต้องแก้ที่ระบบสถาบันการเมืองก่อน เพราะว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ ก็คงไม่มีใครแก้เนื่องจากเขาได้ประโยชน์ และไม่มีใครแก้ ดังนั้น ขอให้ช่วยกันคิดว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ระบบสถาบันการเมืองคนไทยจะทำอย่างไร ผมจึงขอขอบคุณ และจบการบรรยายเพียงเท่านี้ครับ
สยามประชาภิวัฒน์ย้ำต้านเผด็จการพรรค เตือนไม่หยุดทุนผูกขาดรัฐประหารอีกแน่
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ประกาศจุดยืนชัดเจน 5 ข้อ เน้นคุณค่าสถาบันกษัตริย์ สนับสนุนปฏิรูปการเมือง ขจัดนายทุนผูกขาดอำนาจ วิกฤตเสรีภาพ ศีลธรรมและจริยธรรม “จรัส” เผยสภาพสังคมไทยอยู่ในภาวะแย่งชิงและหักหลัง นักการเมืองดีแต่สร้างภาพ “บรรเจิด” แปลกใจระบอบประชาธิปไตย แต่ครอบครัวตระกูลเดียวมีนายกฯ ถึง 3 คน “สุวินัย” ชี้ หากระบบทักษิโณมิกส์ยังดำเนินต่อไป ประเทศชาติจะพบกับหายนะ ส่วน “คมสัน” ฉะนโยบายของรัฐบาลยิ่งทำให้เกิดความแตกแยก ถ้าหยุดไม่ได้สุดท้ายก็ถูกรัฐประหาร
เมื่อเวลา 13.30 วันนี้ (6 ก.พ.) ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” โดยมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากจนแน่นหอประชุม ทั้งนี้ นายศักดิ์ณรงค์ มงคล นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ว่า กลุ่มประชาภิวัฒน์ขอประกาศอุดมการณ์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการสู่สังคม โดยยึดมั่นการคุ้มครองปักเจกบุคคลตามหลักนิติรัฐ การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ภาคใต้หลักภราดรภาพและความมั่นคงของสังคม รวมทั้งส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่ไม่เปิดช่องให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสังคมไทย
ทั้งนี้ เพื่อบรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว กลุ่มประชาภิวัฒน์ ได้กำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้ 1.สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมืองไทย 2.สนับสนุนการปฏิรูประบอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย เพื่อขจัดอิทธิพลของเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน 3.ขจัดวิกฤตเสรีภาพที่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตจนนำไปสู่สังคมแบบอ นาธิปไตย 4.ขจัดความคิดและความเชิ้อที่ว่าสูตรสำเร็จของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง เท่านั้น และ 5.ขจัดวิกฤตในด้านศีลธรรมและจริยธรรม ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจและการทุจริตคอรร์ปชั่นอย่างกว้างขวาง
ต่อมา ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ปาฐกถาในหัวข้อ รัฐธรรมนูญของประเทศไทย จาก “ระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2535 มาเป็น ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” ว่า จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้แสดงให้เห็นความล้มเหลวของคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญให้แก่นักศึกษา โดยที่ไม่สามารถให้ความรู้แก่นักศึกษาและคนไทย ให้มองเห็นและเข้าใจเหตุการณ์และสภาพความแตกแยกของคนไทยที่เกิดขึ้น ได้อย่างมีตรรกและมีเหตุมีผล
ทั้งนี้ ความปรองดองที่นักการเมืองพยายามอ้างถึงนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะความปรองดอง เพราะการปรองดองคือการเอาคนผิดมาปรองดอง หรือกอดคอกับคนถูก หรือเอาคนที่คอร์รัปชันมารวมกับคนสุจริต เพื่อบริหารประเทศ โดยผู้สุจริตก็คอร์รัปชั่นไป แต่การปรองดองจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่วิธีการ ที่จะทำให้เกิดความปรองดอง คือ ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยเอาคนดีมาปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ความครอบงำของการปกครองระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภานั่นเอง
“การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องมีหลักการว่าด้วยการใช้สิทธิการเลือกตั้ง และสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง แต่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับไม่เอาเรื่องสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งโดย สิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง หรือเสรีภาพทางการเมือง โดยทุกประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีเสรีภาพทางการเมือง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้โดยอิสระ โดยที่ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองก็สามารถสมัครได้ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่บังคับให้ ส.ส.ทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมืองและทำตามมติของพรรคนั้นๆ” ศ.ดร.อมร กล่าว
ศ.ดร.อมร ยังกล่าวเปรียบเทียบตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่ พัฒนาแล้วว่า ตำราของไทยสอนให้นักศึกษาเข้าใจในส่วนรายละเอียดปลีกย่อย แต่ไม่ได้เสนอระบอบประชาธิปไตยทั้งระบบ ต่างจากตำรากฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วที่สอนให้นักศึกษารู้หลักการของความ เป็นประชาธิปไตย รูปแบบของรัฐบาล ก่อนที่จะสอนกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังใช้ในปัจจุบัน
(อ่าน คำต่อคำ ปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์)
จากนั้นได้มีการเสวนาทางวิชาการ “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ” โดยนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ประกอบไปด้วย ศ.ดร.จรัส สุวรรณเวลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ นายคมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมี ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในตอนนี้อยู่ในรูปแบบการแย่งชิงและหักหลัง เป็นสภาพที่ทุกๆ คนในประเทศเอาภาษีไปรวมกันและก็อยากที่จะเอาเงินกองกลางเข้าสู่กระเป๋าตัว เอง ทั้งนี้ ยังมีทฤษฎีการหักหลัง ซึ่งก็มีจากการให้ของประชาชนที่ให้ตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศแทน แต่คนเหล่านั้นก็กลับหักหลังประชาชน หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยนักการเมืองจะสร้างภาพลวงตาขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำเพื่อประชาชน แต่แท้จริงแล้วต้องการเข้าถึงแหล่งทุนมากกว่า ดังนั้น ประชาชนจะต้องออกมาแฉความจริง
ทั้งนี้ สังคมไทยปัจจุบันแทนที่จะคุยกันในเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราควรที่จะคุยกันในเรื่องปฎิรูปทางการเมืองมากกว่า ว่า จะมีการออกจากระบบการผูกขาดอำนาจและมีการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ปกครอง กันเองได้อย่างไร ส่วนตัวตนไม่ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ตนทราบผู้ที่ต้องการแก้ไขไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ต้องการยกระดับการโกงกินให้มากขึ้น ในตอนท้าย ตนอยากจะเสนอหลักการปฎิรูปเบื้องต้น ประชาชนต้องมีอำนาจและการออกมาเปิดเผยความจริง โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ให้นักการเมืองเข้าไปควบคุมตำแหน่งของฝ่ายบริหาร หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ
รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า วันที่ 21 ส.ค.2544 เป็นวันที่มีการอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่เป็นส่วนที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญของไทยถูกหักยอด เพราะมีคนๆ หนึ่งที่ใหญ่กว่าศาล จนกระทั่งเข้าสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งในวันนี้ระบบเดิมๆ ก็กำลังย้อนกลับมาสู่วังวนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองต้องถูกเรียกว่า บริษัททางการเมือง เนื่องจากกฎหมายของไทยระบุเอาไว้ว่า ผู้ใดที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองก็เป็นสมบัติส่วนบุคคลไปคุมระบบนิติบัญญัติ และบริหาร ซึ่งเป็นการควบคุมทั้งสองอย่างอยู่ที่คนๆ เดียว และตอบสนองให้คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง โดยที่ประเทศในยุโรปไม่มีทางเข้าใจประเทศไทย เห็นได้จากคงไม่มีประเทศไหนที่ 1 ครอบครัว มี 3 นายกรัฐมนตรี โดยตนไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร แต่คงไม่แปลกหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีเหนือ แต่สำหรับประเทศไทยปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การมีเสื้อคลุมประชาธิปไตยอยู่บนบ่า แต่เนื้อในเป็นเผด็จการ
ขณะที่ รศ.ดร.สุวินัย กล่าวว่า ระบบความคิดของทักษิณ หรือ ทักษิโณมิกส์ ที่ถูกถ่ายทอดมายัง รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่ายต่างๆ จะนำภาประเทศไปในทิศทางใด แต่ถ้าให้ตนสรุปตอนนี้ ก็คือ การนำพาประเทศไปสู่ความหายนะ ที่ทำให้สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ไม่มีเม็ดเงินสดอยู่ในกำมือที่จะนำไป บริหารประเทศเลย แต่กลับต้องพยายามกู้เงินจากต่างชาติ และการปรรูปรัฐวิสหากิจอย่าง ปตท.ให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อก่อให้เกิดการผู้ขาดอำนาจของประเทศ และมีการหลวงลวง ปกปิด และการทำลายความน่าเชื่อถือของการคลัง ประเทศไทยในอนาคตจะมีสภาพไม่แตกต่างจากประเทศอาร์เจนตินา หรือกรีซ ที่คนบริหารประเทศพยายามที่จะซุกหนี้ของประเทศ และการพยายามสร้างอัตราการเจริญเติบโตของประเทศที่เป็นเท็จ โดยขณะนี้ความหายนะกำลังเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ
ส่วน นายคมสัน กล่าวว่า ธุรกิจที่สร้างเงินได้มากที่สุด ก็คือ ธุรกิจการเมือง ที่หากินกับประชาชน ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับคนสามคนในตระกูลใดๆ ก็ตาม แต่ตนคิดว่าคนทั้งสามคนต่างหาที่มีปัญหากับประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย รวมไปถึงการกระทำชำเรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความแตกแยกของประชาชนในชาติ และปัฐหาที่กำลังเกิดขึ้นก็มาจากการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอาญา มาตรา 112 การขายหุ้นของ ปตท.และการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มที่เผาบ้านเผาเมืองที่อ้างว่าเพื่อ เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งระบบผูกขาดในประเทศตอนนี้ หากไม่มีใครตั้งใจที่จะหยุดปัญหาตรงนี้ สุดท้ายก็ต้องมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าถึงเวลานั้นจะยังมีกองทัพหรือไม่
คำต่อคำ : จรัส สุวรรณมาลา
สวัสดีครับ ผมเหมือนกลับมาบ้าน เพราะว่าผมเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่นี้ ผมมาเพื่อที่จะช่วยกันตั้งโจทก์ปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ทุกท่านช่วยหาคำตอบ คนพูดอาจจะไม่มีคำตอบ แต่วอนให้ทุกท่านช่วยกันคิด คือผมกำลังเขียนหนังสืออยู่ 1 เล่ม ชื่อ “การคลังภาครัฐว่าด้วยการแย่งชิง หักหลัง และสุ่มเสี่ยง” ฟังชื่อแล้วเหมือนหนังแอคชั่นสืบสวนสอบสวน ในหนังสือเล่มนี้เป็นการมองการเมืองในบริบทของการคลัง เป็นเรื่องของการแย่งชิง หักหลัง คำว่าแย่งชิง มาจากทฤษฎีทางวิชาการ (Common Pool) แปลว่า เป็นสภาพที่เราทุกคนในสังคมเอาภาษีไปรวมกันเป็นกองเดียว โดยธรรมชาติการเมืองเมื่อเอาภาษีไปกองรวมกัน ทุกคนจะพยายามแย่งชิงเข้ากระเป๋าตัวเองมากที่สุด คือทฤษฎีการแย่งชิง
ส่วนทฤษฎีการหักหลัง เป็นทฤษฎีว่าด้วยเรื่อง ที่ประชาชนมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ปกครองประเทศ เรียกว่า(Principal Agent) ในทฤษฎีหลังคือ ในสังคมประชาธิปไตยเรามีตัวแทนที่เราจ้างเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศให้เรา มีคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ นักการเมือง เลือกเป็น ส.ส.แล้วหวังว่าจะเป็นตัวแทนให้เรา อีกกลุ่มคือ ข้าราชการ ซึ่งเป็นคนที่เราไม่ได้เลือก แต่มีระบบการจ้างเข้ามา เป็นลูกจ้างของเราเหมือนกัน ให้เขาทำหน้าที่รับใช้เราอย่างซื่อสัตย์ ปัญหาของการหักหลังคือว่า ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ มักจะรวมหัวกันหักหลังประชาชน
ความจริงผมไม่ได้ตั้งทฤษฎีขึ้นมาเอง ทฤษฎี Common Pool กับทฤษฎี Principal Agent เรียนกันในวิชารัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมือง มานาน บางคนได้รางวัลโนเบล ไพรซ์ จาก 2 ทฤษฎีนี้
ทั้ง 2 เรื่องความจริงไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องการแย่งชิง เป็นธรรมดาที่ นึกถึงเวลาไปงานบุฟเฟ่ต์ พอเจ้าภาพบอกว่า เชิญทุกท่านรับประทานอาหาร แย่งกันตัก คนที่ไปก่อนจะตักชนิดที่ว่า กินหมดไม่หมดขอให้ตักไว้ก่อน คนที่ไปที่หลังจะไม่มีอะไรกิน เพราะฉะนั้นเจ้าภาพต้องหาอาหารมาเสริม ปัญหาคือ จะเกิดการบานปลาย เจ้าภาพต้องไปหาอาหาร การแย่งชิงแบบนี้เป็นการแย่งชิงแบบไร้ระเบียบ ถ้าเราเปิดโอกาสให้สังคมแย่งชิง ในสังคมจริงๆ เราคงฆ่ากันตายแน่ๆ ในสังคมประชาธิปไตยเลยต้องมีการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ให้เราไม่แย่งกัน คือเราแย่งกันโดยสัญชาตญาณ แต่ต้องทำให้เราเข้าที่เข้าทางไม่ให้เราต้องแย่งกัน คือมีการจัดระเบียบให้เราต้องแบ่งปันกัน จากสังคมการแย่งชิง เราเป็นประชาธิปไตยเพื่อเปลี่ยนสังคมเป็นสังคมแบ่งปัน ปัญหาคือ ประชาธิปไตยบ้านเรายังเป็นสังคมแย่งชิง บ้านเราเป็นสังคมใครใหญ่กว่าแย่งได้มากกว่า แล้วเอาไปทั้งหมด ส่วนพวกที่แพ้ถูกตัดสิทธิ์ปรับแพ้ไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะได้ต้องยอมไปอยู่กับกลุ่มที่เขาชนะ หรือไม่ต้องยอมจ่ายเพื่อให้ได้ส่วนแบ่ง แต่การแย่งชิงอย่างนั้นเป็นสังคมหมู่โจร ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย
วันนี้คนที่แย่งชิงแล้วชนะในสังคมแบบบ้านเราจะเอาเงินกองกลาง คือภาษีที่เราเก็บรวมกัน เอาไปกองไว้ทั้งหมด เอาไปเก็บไว้คนเดียว คนที่ชนะในสังคมแบบนี้ คือ เจ้าของพรรคการเมืองที่มีทุนหนุนหลัง และสมคบกับข้าราชการบางกลุ่ม ผมอยากเรียกว่า วันนี้เรามีสังคมการปกครองแบบระบอบเผด็จการทุน อำมาตย์ ผูกขาด
เรื่องการหักหลัง เรารู้อยู่ว่าคนที่หักหลังเรามี 2 พวก คือ นักการเมืองที่เราเลือกเข้าไป กับข้าราชการที่เราจ้างเข้าไปทำหน้าที่ให้บริการกับเรา คนทั้ง 2 กลุ่มจะรวมหัวกันฉ้อราษฎร์บังหลวง เราจะปฏิรูปการเมืองอย่างไร ผมคิดว่า แทนที่เราจะมานั่งคุยว่า จะแก้รัฐธรรมนูญไหม จะมี ส.ส.ร.ไหม หรือจะให้ใครบางกลุ่มมาจัดการ ผมว่าเป็นเรื่องเล็ก ปัญหาคือ เราแก้รัฐธรรมนูญไม่รู้กี่สิบครั้ง แต่เราไม่เคยปฏิรูปการเมืองได้เลย ปัญหาหลักของเราจึงเป็นปัญหาหลักของเราจึงเป็นปัญหาปฏิรูปการเมืองที่ไม่เคย สำเร็จ ตั้งคำถามใหม่จะดีไหม อย่าตั้งคำถามว่าจะมี ส.ส.ร.ไหม จะปฏิรูปการเมืองทำให้เรื่องการแย่งชิงหักหลังหมดไปได้อย่างไร จะดีกว่าไหมครับ
ผมเสนอแค่ 2 ประการ คือ ประการที่ 1 เราจะออกจากระบบการผูกขาดรวมศูนย์แบบนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าทฤษฎีการผูกขาด คือ ทฤษฎีการรวมอำนาจไว้ที่หนึ่งที่ใด รวมสตางค์ไว้ที่หนึ่งที่ใดแล้วให้คนหนึ่งใช้ที่เหลือไม่ได้ใช้ ตรงกันข้าม ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ง่ายนิดเดียว คือต้องกระจายอำนาจ ต้องให้คนในพื้นที่ได้ปกครองตนเอง ให้เขาได้ใช้เงินที่เขาเก็บภาษีมาเอง แล้วรัฐบาลจะเหลือเงินเท่าไหร่ก็ตามใจ เป็นส่วนที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาของส่วนรวม ช่วยลดตะกร้าที่ใหญ่แล้วคนมาแย่งกันได้เยอะ คิดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าถ้าเราสามารถ ถ้ารัฐบาลมีเงินในกระเป๋า 1 ล้านล้าน ตอนนี้มี 2.3 ล้านล้าน เอาสัก 1 ล้านล้านให้รัฐบาลกลางใช้ ที่เหลืออีก 1.3 ล้านล้าน หรือมากกว่า ให้พื้นที่ ให้จังหวัด ให้ท้องถิ่นเขาใช้จะดีกว่าไหม จะแก้ปัญหาการผูกขาดได้
คนที่ค้านกระจายอำนาจ หัวเด็ดตีนขาดมาตลอดประวัติศาสตร์ คือ นักการเมืองและข้าราชการ เพราะเขากุมอำนาจอยู่
สรุปสั้นๆ ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมือง ผมเข้าใจว่า อ.อมร คงพูดถึงจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เราเจอปัญหาวันนี้ แต่ผมเข้าใจว่า ท่านคงไม่ตั้งใจจะบอกว่า ต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่คิดว่าจะแก้อะไร หรือจะแก้ไปทำไม หรือโจทก์คืออะไร ผมว่าท่านคงพูดถึงโจทก์ไว้เยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะตั้งโจทก์เรื่องการปฏิรูปการเมือง แล้วจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้ค้านว่าต้องไม่แก้ ถ้าจะแก้โดยทำให้เราลดปัญหาการผูกขาดอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร นั่นคือคำถามที่ 1
อันที่ 2 เรากลับไปที่เรื่องการหักหลัง เรารู้ว่านักการเมืองเข้าสู่อำนาจ ใช้อำนาจเพื่อหากิน ทำธุรกิจการเมือง ที่สำคัญสร้างภาพลวงตา ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ศรัทธาว่า กำลังหาเงิน หาโครงการลงในพื้นที่ แต่แอบกินหัวคิว 30-35% บางคนสร้างภาพ ทุ่มทุนสร้างทีมฟุตบอลจังหวัด ในขณะเดียวกันหาช่องทางทำธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงตลาดต่างประเทศ โดยอาศัยการเจรจาระหว่างประเทศ ผมเข้าใจว่า มีเสนาบดีคนหนึ่งวันนี้ที่เคยไปทำธุรกิจต่างประเทศแล้วถูกแบล็กลิสต์ ก็ทำนองนั้น พอถึงเวลาอาศัยการเจรจาไปหาตลาดใหม่ สร้างตลาดธุรกิจใหม่ นักการเมืองได้ก้อนเนื้อชิ้นใหญ่ โยนกระดูกให้ประชาชนแย่งกันแทะ ผมไม่อยากเปรียบมันไม่ค่อยจะเพราะ แต่ปรากฎการณ์ภาพลวงตาจะอยู่ได้มันต้องอยู่ในมุมมืด ต้องเห็นลางๆ เห็นด้านเดียวคือด้านดีๆ ภาพลวงตาสามารถสร้างเป็นเงาออกมาได้ ถ้าเราส่องสปอร์ตไลท์เห็นทุกทิศทุกทาง ภาพลวงตาจะหายไป
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะแก้ภาพลวงตา จะปฏิรูปการเมือง ต้องใช้วิธีการหลายอย่างเช่น แฉควบคู่กับบอยคอต ประณาม แล้วปฏิเสธไม่เอานักการเมืองและพรรคการเมืองทำนองนี้ ไม่เอาข้าราชการ พนักงานของรัฐที่มีคนประเภทนี้อยู่ ทีนี้ใครจะแฉ ใครจะปฏิเสธรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้เคยมีและเคยทำก็ไม่เคยทำได้ พวกเราเป็นภาคประชาชนนี่แหละที่จะทำ
การปฏิรูปการเมืองให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เป็นเรื่องที่ ความจริงรัฐธรรมนูญ 50 พยายามทำ แต่หลายคนปฏิเสธว่า ตรงนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ คืออำนาจเป็นปัญหา เรื่องของอำนาจเป็นเรื่องที่ เขาเรียกว่า เป็นเกมที่เมื่อรวมกันแล้วเท่ากับ 1 หมายความว่า ถ้าเราให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากอีกฝ่ายหนึ่งจะมีอำนาจน้อยลง เพราะรวมกันแล้วต้องเท่ากับ 1 ประเภทว่าคนหนึ่งได้คนหนึ่งก็ต้องเสีย เมื่อเราให้ภาคประชาชนมีอำนาจมาก พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องมีอำนาจลดลง แน่นอนว่าใครไม่ชอบ คนที่เสียอำนาจนักการเมืองไม่ชอบ
เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการเมืองให้ภาคประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบ ในการแฉ ในการบอยคอต และการประณามการคอร์รัปชันการทุจริต จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งประเด็นว่าจะปฏิรูปอย่างไร หลักๆ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจภาคประชาชนในการแฉโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะตอนนี้แฉปุ๊บเขาหาว่า เราละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ต้องปิดประตูไม่ให้นักการเมือง ข้าราชการรวมหัวกันได้ เช่น ต้องประท้วงการซื้อขายตำแหน่ง ไม่ให้นักการเมืองล้วงลูกการโยกย้ายข้าราชการ และไม่ให้นักการเมืองเข้าไปกินตำแหน่งฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญปี 50 ป้องกันไม่ให้กินตำแหน่ง แต่นักการเมืองชุดนี้บอกว่า ทำให้นักการเมืองมีประตูลดลง ช่องทางการทำมาหากินลดลง เลยจะไปแก้
เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้สมบูรณ์ จำเป็นต้องปรับปรุง แต่ผมเข้าใจว่า เท่าที่ได้ยินมา คนที่อยากแก้ และคนที่จะเข้ามาแก้ในอนาคต เขาไม่ได้ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ โจทก์ของเขาในการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่โจทก์เรื่องการปฏิรูปการเมืองแบบนี้ เขาต้องการเข้ามาแก้เพื่อยกระดับการกินรวบให้กว้างขวางมากขึ้นต้องการให้ เข้มแข็งมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญแบบนั้น จะมี ส.ส.ร.หรือไม่มีก็ตามใจ ถ้าแก้แบบนั้นเท่ากับว่า ยิ่งแก้รัฐธรรมนูญยิ่งเดินเข้าไปติดกับปัญหาเดิมๆ
คำต่อคำ : ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
กราบนมัสการพระคุณเจ้า วิทยากร รวมทั้งพี่น้องที่รักทั้งหลาย ท่ามกลางความสิ้นหวังเราต้องมีความหวังอยู่เสมอนะครับ
เมื่อกี้ อ.จรัส บอกว่า สถานการณ์แบบนี้มันมีทางเดียวก็คือการแฉและเปิดโปง ผมก็ต้องแฉและเปิดโปง แต่แฉและเปิดโปงบนฐานของงานวิจัยและวิชาการ เพื่อที่จะเป็นจุดประกายให้เห็นว่า บางครั้งสิ่งที่เรามองข้ามไปก็คือจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ มันจะเป็นจุดไคลแม็กซ์บางอย่าง หรือจุดเกิดเหตุของปัญหาในระบบการเมืองก็ได้
ตอนนี้เราพยายามหาข้อสรุปว่าอะไรคือปัญหาของการเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่ผมตกใจ พี่น้องบางคน หลายๆ ครั้งลองสังเกตนะครับ ในหลายๆ จังหวัดเราพบว่าตัวแทนของแต่ละจังหวัดมันมีเพียงไม่กี่ตระกูล มันเกิดกลายเป็นประชาธิปไตยแบบกรรมพันธุ์ขึ้นมา ถ้าพ่อแม่เป็นเบาหวาน ถ้าพ่อแม่เป็นมะเร็ง ลูกมีโอกาสเป็น แล้ววันนี้ สังคมนี้ ประเทศนี้ ถ้าพ่อแม่เป็น ส.ส. พ่อแม่เป็น ส.ว.ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเป็น เรากำลังอยู่กับสภาวะความผิดปกติจนเป็นปกติ
เรากำลังอยู่ภาวะผิดปกติ จนเป็นปกติ ผมเริ่มเลยนะครับ ผมก็คิดเห็นเหมือนกันว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 จุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญปี 40 เจตจำนงของรัฐธรรมนูญปี 40 มีเจตจำนงหลักอยู่ 3 ประการด้วยกัน 1.ต้องการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง 2.ต้องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 3.ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง และหลักการสำคัญก็คือการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งตรงนี้ที่ผมคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดเหตุบางอย่างของวิกฤตการ เมืองไทย
ผมเห็นด้วยแน่นอนต่อการกระจายอำนาจ ผมเห็นด้วยแน่นอนต่อหลักการนี้ เพราะมันเป็นการกระจายผลประโยชน์ การตัดสินใจ และเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีสิทธิ์กำหนดชะตากรรมชีวิตตัวเองในท้องถิ่น
แต่หลักการนี้สุดท้ายถูกบิดเบือนไปสู่หลักการที่เรียกว่า กระบวนการสัมปทานอำนาจในท้องถิ่น
ซึ่งกระบวนการสัมปทานอำนาจในท้องถิ่นมันก็เปิดช่องให้คนที่มีความพร้อมและมีทรัพยากรมากกว่าในท้องถิ่น เท่านั้นเอง
ผมเชียร์นิสิต นักศึกษา บอกเอาสิ คุณจบปริญญาตรีแล้วลงสมัคร อบต. ลงสมัครนายก อบต.กัน ลองสมัคร ส.จ.นิสิตบอกว่า อาจารย์ครับ กฎหมายเป็นเพียงแค่มายาคติ คือสมัครได้ แต่โอกาสได้นั้นแทบไม่มี
นี่คือข้อเท็จจริงนะครับ ข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้นจากงานวิจัยที่ผมพยายามบอกว่า กระจายอำนาจนั้น เรามาถูกทางแล้ว แต่เราจะต้องนิยามการกระจายอำนาจเสียใหม่ เพราะว่าวันนี้กระบวนการการกระจายที่ติดอยู่แต่ตัวองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้น ตกไปอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่นที่มีความพร้อมมากกว่า มีโอกาสมากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า บนหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้ง
ถามว่าผมคัดค้านการเลือกตั้งไหม ไม่ใช่ครับ การเลือกตั้งคือวิถีทางที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับถ้าผมเลือกใครคนใดคนหนึ่งเป็นภรรยา เราตัดสินใจแต่งงานกันแล้ว แน่นอนบางอย่างมันอาจไม่ลงล็อกลงร่อง เราก็ต้องปรับตรงนั้น ไม่ใช่เลิก
ผมตกใจมากครับ ผมเป็นนักวิชาการชายขอบ ผมเห็นนักวิชาการในบางกรอบบอกว่า ถ้าไม่เอาประชาธิปไตย ก็เอาเผด็จการ ผมว่าตรรกะนี้มันไม่ใช้ไม่ได้ ตรรกะนี้มันใช้ไม่ได้ในความเป็นจริง ในเมื่อเราบอกว่านี่คือหนทางที่ดี แต่มันมีปัญหา เราก็ต้องค่อยปรับค่อยจูนกันไป ค่อยเรียนรู้กันไป ใช่ไหมครับ
แล้วถามว่ามันมีปัญหาตรงไหน หลังจากคนเหล่านี้ กลุ่มตระกูลเหล่านี้ สามารถผูกขาดอำนาจภายในจังหวัด ผ่านเวทีองค์กรปกครองท้องถิ่น ก็ยอมรับความจริงว่านับตั้งแต่ปี 40 เป็นต้นมา มี พ.ร.บ.แผนขั้นตอนกระจายอำนาจ ปี 42 ซึ่งแผนนี้มีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการ 1.การกระจายงบประมาณไปสู่ท้องถิ่น ที่ อ.จรัส บอกว่า ต่อไปถ้าเรากระจายเงินไปได้ในท้องถิ่น มันดีแน่นอน ก็คือการแบ่งตะกร้าที่รวมศูนย์กระจายไปสู่ท้องถิ่น
2.การกระจาย หรือเรียกว่าการถ่ายโอนภารกิจ 3. การถ่ายโอนบุคลากร คือพูดง่ายๆ นะ ท้องถิ่นจะมีงานที่มากขึ้น มีเงินที่มากขึ้น และมีคนที่มากขึ้น เวทีการเมืองระดับชาติส่วนหนึ่งถูกผลักเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น ปัญหาการเมืองระดับชาติที่ตกอยู่ในหล่มของธุรกิจการเมือง เกิดระบบธุรกิจการเมืองในท้องถิ่น ลงทุนกันมหาศาล นายก อบจ.บางจังหวัด เลือกตั้งใช้เงินเกือบ 100 ล้าน ล่าสุดลูกศิษย์ผมลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน หมดเงิน 1 ล้านบาท ยังแพ้ครับ
ปัญหาของประเทศเรา ณ วันนี้ คือ ตั้งคำถามต่อคุณภาพของประชาธิปไตย เราเน้นแต่ตัวรูปแบบและวิธีการ แต่เราไม่ดูสาระสำคัญของคุณภาพ คุณภาพประชาธิปไตย คุณภาพการเลือกตั้ง ตอนนี้เรากำลังเอาเสียงข้างมากเป็นตัวตั้งกำหนดนั้น ผมคิดว่าเราน่าจะมีปัญหา
ประการต่อมา หลังจากระบบนี้ได้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็มาเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ ยังไง มันก็มาเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติที่พรรคการเมืองเรานั้นมันไม่ได้เป็น พรรคการเมือง แต่ผมเรียกว่ามันเป็น “องค์กรอาชญากรรมทางการเมือง”
เป็นองค์กรอาชญากรรมทางการเมืองที่ทำร้ายประเทศไทย ไม่แพ้เครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด
พรรคการเมืองไทยสร้างสำนึกจอมปลอม พยายามจะเป็นตัวแทนของคนทุกชนชั้น แต่พอดูจริงๆ แล้วเป็นปิศาจในคราบนักบุญเท่านั้นเอง
พรรคการเมืองไทยมีหลายชื่อนะครับ นั่นก็คือนามแฝงในเฟสบุ๊คเท่านั้นล่ะครับ แต่ชื่อจริงๆ ที่มาจากบรรพบุรุษก็คือพรรคนายทุน แต่มีหลายชื่อ ปัญหาอยู่ตรงไหนครับ ปัญหาก็คือ หลังจากการเมืองไทยเล่นอยู่กับเกมของตัวเลข ก็คือเอาเสียงข้างมากให้ได้เพื่อจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องเอาคนที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งในท้องถิ่น มันเลยเกิดข้อต่อตรงนี้เกิดขึ้น
ผมได้บอกให้นิสิตผมหลายคน ว่าขอให้ลาออกจากการเป็นยุวพรรคใดพรรคหนึ่ง หลอกให้ลูกศิษย์ผมไปติดโปสเตอร์ทั้งปี แล้วบอกว่านี่คือการสร้างประชาธิปไตย อนาคตคุณอาจจะได้เป็นตัวแทนของพรรค แต่สุดท้ายก็ไปเลือกใครไม่รู้ที่เป็นนายทุนพรรคทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ลูกชาวนาที่เป็นลูกศิษย์ผม นี่คือปัญหาที่ผมเห็นนะครับ
ประการต่อมา การสรรหาตัวแทน สุดท้ายแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้จะต้องเลือกคนอยู่ 3 ประเภท คือ 1.ตัวแทนของกลุ่มทุน เราดูได้ทุกพรรคนะครับ จะมีลูกหลานของกลุ่มทุนอยู่ในพรรคทั้งสิ้น แล้วอ้างว่านี่เป็นพรรคของมวลชน นี่คือปัญหาพรรคการเมืองไทยไร้อุดมการณ์
ประการที่ 2 พรรคการเมืองไทยมักจะเป็นพันธมิตรที่ดีกับกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุให้การเมืองไทยเป็นระบบการเลือกตั้งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบพันธุกรรม ที่ผมบอก
ประการต่อมา หลังจากนี้ มันเชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่วิกฤตร้ายแรงไปกว่านั่นคือการจัดตำแหน่งคณะ รัฐมนตรี ผมพูดจากบ้านนอกถึงทำเนียบฯ แล้วนะครับ
ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยหลักการสำคัญ คือ หาคนที่มีความรู้ความสามารถในการเข้ามาจัดการบ้านจัดการเมือง แต่วันนี้สังคมบ้านเราเอาใครก็ได้ ถ้าได้ 5 ที่นั่ง เอาไป 1 ที่นั่ง ผมว่าประเทศนี้กำลังอยู่ในภาวะผิดปกติ จนเป็นปกติ
นอกจากรัฐมนตรีและโควตาแล้ว ประการต่อมาผมจะพูดประเด็นสุดท้าย ง่ายๆ เลย ผมคิดว่าการเมืองไทยนอกจากปัญหาที่มันมาจากวิกฤตการณ์ระดับรากหญ้า เชื่อมร้อยโยงจนถึงในวิกฤตการณ์ของการเมืองระดับชาติ สิ่งหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าปัญหาการเมืองไทยมีอยู่ 3 ประการ คือ ตัวนักการเมือง นักการเมืองกำลังอยู่ในร่องปัญหา 3 ประการ คือ 1.นักการเมืองไทยไร้อุดมการณ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง 2.นักการเมืองไร้จริยธรรมสุด 3.นักการเมืองไทยเห็นแก่ผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง
คำต่อคำ : บรรเจิด สิงคะเนติ
นมัสการพระคุณเจ้า พี่น้อง ประชาชน ที่รักความเป็นธรรมทั้งหลาย วันนี้ผมถือว่าได้กลับมาถิ่นเดิม เคยอยู่ถิ่นนี้ด้วยความอบอุ่น และมีเหตุที่ต้องไปตั้งสำนักใหม่ สำนักนิด้าเป็นสำนักที่พยายามจะออกแบบเรื่อง โครงสร้างรัฐธรรมนูญของไทย ผมเรียนพี่น้องในเบื้องต้นว่า ตามที่ท่านอาจารย์อมรได้พูดไปแล้ว ได้ปูพื้นฐานในทางประวัติศาสตร์ให้เรา ปี 2535 เป็นจุดแบ่งของระบบเผด็จการ ก่อน 35 ขึ้นไปถึง 2490 เป็นระบบที่ทหารเข้ามามีบทบาท แต่หลังจาก 35 ถึงวันนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาของระบบทหารอีกต่อไปแล้ว เป็นระบบโดยพรรคการเมืองนายทุน
เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ผมอยากจะตอบพี่น้องตามชื่อหัวข้อของการเสวนาวิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ ผมอยากจะตอบตรงนี้ว่า แน่นอนว่าเกี่ยวโยงกับระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน แต่ผมอยากจะชี้วันเวลา สถานที่ ว่า วันเวลา สถานที่ใดเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้เกิดวิกฤตในวันนี้ ซึ่งวันที่ 21 สิงหาคม 2544 วันนี้คือวันที่มีการอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้น จึงอยากจะเรียนพี่น้องว่า ทำไมวันนี้คือวันที่รัฐธรรมนูญไทยถูกหัก เพราะรัฐธรรมนูญไทย 240 เราเอารูปแบบการปฏิรูประบบการเมืองมาจากประเทศเยอรมนี เพราะประเทศเยอรมนีเป็นระบบนาซี มีการปฏิรูปการเมืองก่อนประเทศไทย 50 ปี และองค์กรที่เขาเอามาถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมาก คือ ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้ศาลที่ถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมากของประเทศ เยอรมนี ประสบความสำเร็จจนวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีอายุ 60 กว่าปี เป็นองค์กรพิทักษ์กติกาประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ดุลยภาพของประชาธิปไตยของประเทศเยอมนีมีดุลยภาพจนถึงวันนี้ และเป็นผู้นำของสหภาพยุโรปในวันนี้ แต่ของไทย 2540 เราตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาครั้งแรก เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการพิทักษ์ถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมาก แต่ 74 ปีหลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญถูกหักยอด
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญถูกหักยอดในคดีซุกหุ้น เพราะมีคนคนหนึ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ถามว่า หลังจากวันนั้นเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย เพราะฉะนั้นผมอยากจะเรียนพี่น้องว่า ในคดีนี้ 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยผิดกระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมอยากจะให้เราติดตามทวงถาม เรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ไปถึงใหน แล้วใครเกี่ยวโยงบ้าง เพราะนี่คือสัญลักษณ์ของการหักยอดมงกุฎ เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่คุ้มครองรัฐธรรมนูญ แต่ถูกหักยอด มีการทำลายรัฐธรรมนูญในเชิงเนื้อหาและนำมาสู่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 และนำมาสู่จุดวิกฤตอีกจุดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จุดวิกฤตจึงไม่ใช่ 19 กันยายน แต่เป็น 21 สิงหาคม 2544 และถูกฌาปนกิจในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะฉะนั้นนั้นคือรูปธรรมของวิกฤต ซึ่งเกิดมาจากตัวระบบที่ท่าน อ.อมร ได้ปูพื้นเรามาตั้งแต่ปี 2535 มาเสร็จสมบูรณ์ 40 มาดำเนินการหักยอด 2544 มาฌาปนกิจ 2549 และวันนี้ระบบนั้นก็วนกลับมาอีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และวันนี้ยังกลับมาสู่วังวนเดิม
ผมอยากจะเรียนอีกนิดเดียวใช้เวลาไม่มาก เพื่อชี้ให้พี่น้องให้เห็น ขยายความที่ท่าน อ.อมรได้พูดไปแล้ว การผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า พรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองในที่นี้ คือ บริษัททางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บริษัทตามกฎหมายแพ่ง แต่เป็นบริษัททางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไทยบอกว่า ใครจะเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองต้องมีพรรคการเมือง แต่ขออภัยครับ พรรคการเมืองในความหมายที่เราเรียกว่าพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายตะวันตกที่เขาพูดกันอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อพรรคการเมืองไม่มีอยู่ในระบบการเมืองจะเรียกหาสิ่งที่เรียก ว่า ประชาธิปไตยได้หรือไม่
ผมอยากจะเรียนว่า เมื่อพรรคการเมืองเป็นสมบัติส่วนบุคคล ระบบการเมืองจะเป็นประชาธิปไตยได้หรือ เพราะเมื่อเป็นสมบัติส่วนบุคคลจึงสามารถถือรีโมตได้ เมื่อพรรคการเมืองนั้นเข้าไปกุมนิติบัญญัติบริหาร คนที่เป็นเจ้าของจริงรีโมทคือรีโมททั้งนิติบัญญัติและบริหารได้
เพราะฉะนั้นตรงนี้เองกลไกทั้งหลายทั้งปวงจึงตอบสนองคนที่เป็นเจ้าของ เพราะพรรคการเมืองเป็นสมบัติส่วนบุคคล ผมอยากจะเรียนพี่น้องประเด็นนี้ว่า นี้คือประเด็นที่ตะวันตกไม่มีความเข้าใจประเทศไทย เพราะว่าเขาเข้าใจว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันในทางประชาธิปไตย แต่นี้คือสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ ไปดูว่าในยุโรปมีพรรคการเมืองอยู่ 3 กลุ่มพรรคการเมือง คือ อนุรักษ์ ฝ่ายเสรี และฝ่ายซ้าย ทุกพรรคมีฐานอุดมการณ์ ทุกพรรคมีสมาชิก ทุกพรรคมีประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง จึงอยากจะเรียนถามว่า หนึ่งครอบครัว 3 นายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
ถ้าพี่น้องจะนึกถึง คงจะนึกถึงประเทศเกาหลีเหนือ ถ้าระบบอย่างนั้นเราไม่ข้องใจ แต่สิ่งที่เข้าใจยาก คือมีเสื้อคลุมของประชาธิปไตย แต่เนื้อในเป็นเผด็จการ พี่น้องครับ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องยากของสยามประชาภิวัฒน์ ที่จะแจงให้ประชาชนเข้าใจว่า ในเสื้อคลุมของประชาธิปไตยที่ซ่อนรูปอยู่นั้นภายในคือการรีโมทของเจ้าของ พรรค
ประเด็นที่ท่านอาจารย์อมรได้แจงให้พวกเราเห็นถึงพัฒนาการต่างๆ ผมจึงอยากชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมนิดเดียว และให้พี่น้องได้ไตร่ตรองดูว่าจะเป็นอย่างไร ในรัฐธรรมนูญไทย บอกว่า ส.ส.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่ถ้าเกิดมีการเขียนใบลาออกไว้ล่วงหน้า และใครฝืนมติพรรค คนนั้นต้องพ้นจากการเป็นสมาชิก อยากจะถามว่า การเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย กับการเป็นตัวแทนเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของพรรค หัวหน้าพรรค เขาจะเลือกอะไร
ผมยกตัวอย่าง สมมติว่า ใครก็ตามทื่ไม่เห็นด้วยกับมติในการที่จะนิรโทษกรรม คุณพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ผมถามจริงๆ ว่า เขาจะเลือกอะไร ระหว่างการเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย กับการตอบสนองผลประโยชน์ของหัวหน้าพรรค ตรงนี้มันทำให้คนคนเดียวสามารถมีอำนาจเหนือตัวแทนของประชาชนที่มาจากการ เลือกตั้งได้ ระบบแบบนี้เราจะเรียกว่าระบบอะไร ตรงนี้คือแง่เงื่อนที่ อ.อมร บอกว่า เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีระบบแบบนี้อยู่
ผมอยากจะเรียนว่า ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น เราจะเห็นได้ว่า ในวันที่เราเป็นประชาธิปไตยขึ้นไปนั้น เราจะเห็นบทบาทของ ส.ส.ในการสู้กับระบบเผด็จการทหารจนถึง จอมพลถนอมจึงต้องปฏิวัติตัวเอง เพราะ ส.ส.นั้นต่อสู้เพื่อที่จะสู้กับระบบเผด็จการทหาร จอมพลถนอมจึงต้องปฏิวัติตัวเอง วันนี้เราเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ พี่น้องเห็นบทบาท ส.ส.หรือไม่ ซึ่งระบบแบบนี้เกิดขึ้นเพราะเรามีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เราไม่เคยเห็นบทบาทของ ส.ส.ที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าย้อนกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบเรายังเห็นบทบาทของ ส.ส.สู้กับเผด็จการของทหาร แต่วันนี้เราไม่เห็น
สุดท้ายนี้ ระบบอุปถัมภ์ อย่าลืมว่า สังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ที่หนักแน่นมาก ระบบอุปถัมภ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ระบบอุปถัมภ์โดยทุนการเมือง เพราะฉะนั้นระบบอุปถัมภ์โดยทุนการเมืองทำให้ประชาธิปไตยไทยจึงเป็น ประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือก เพื่อที่จะให้ระบบประชาธิปไตยอย่างนี้ดำรงอยู่ได้ จึงนำมาสู่การทุจริตเชิงนโยบายต่างๆ นำมาสู่การทำให้เกิดนโยบายประชานิยม นำมาสู่ทำให้เกิดหนี้สาธารณะ วันนี้เรื่องกำลังเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จะกู้ 3-5 หมื่นล้าน 3-5 แสนล้าน ตรงนี้ต้องการหล่อเลี้ยงให้ระบบแบบนี้ดำรงอยู่ได้ ซึ่งเราไม่อาจจะปล่อยให้สังคมไทยดำรงอยู่ในสภาวะอย่างนี้ได้ยืนยาว ก่อนที่ประเทศไทยจะมีหนี้สินล้นตัว ก่อนที่ประเทศไทยจะมีหนี้สาธารณะเกินตัวที่จะดำรงอยู่ได้
เพราะฉะนั้น สรุปในตอนท้ายว่า นี่คือ สภาพปัญหาวิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ พี่น้องมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ที่สำคัญคือว่า เราจะต้องออกพ้นไปจากวังวนนี้ วันนี้เรายังไม่ได้ร่วมกันที่จะนำเสนอแนวทางออก แต่ตอกย้ำให้พี่น้องเห็นว่า วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ ขอบคุณครับ
คำต่อคำ : สุวินัย ภรณวลัย
พี่น้องครับ การจะตอบโจทย์ที่ว่าใครคือตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤตประเทศไทยนั้น ผมคิดว่าการมีความเข้าใจในวิธีคิดของคุณทักษิณ หรือทักษิโณมิกส์ ที่ครอบงำวิธีคิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่นั้น มันน่าจะช่วยให้เราทราบว่า คุณทักษิณ และเครือข่ายของเขา จะนำพาประเทศไทยไปสู่จุดจบใดในอนาคต
ถ้าให้ผมสรุปแบบรวบยอดตั้งแต่ตอนนี้ ผมคงต้องบอกว่า เส้นทางที่คุณทักษิณและเครือข่ายของเขาจะนำพาประเทศไทยไปนั้น จะเรียกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากเส้นทางหายนะ
ผมมีเหตุผลหลักๆ อยู่ 2 ประการที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น เหตุผลประการที่ 1 สถานะทางการเงินของรัฐบาลชุดนี้ อยู่ในสภาวะที่ไม่มีกระแสเงินสดมาลงทุน เนื่องจากภาระหนี้สินในอดีต โดยเฉพาะหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท และหนี้สาธารณะของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีเงินสำหรับไปใช้ตามนโยบายประชานิยม ที่ตัวเองได้เร่ขายฝันจนชนะการเลือกตั้งมาได้
นี่จึงเป็นที่มาของความพยายามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป โดยการตกแต่งบัญชีด้วยการพยายามใช้กองทุนวายุภักษ์ไปซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.และบริษัท การบินไทย จำกัด ในส่วนที่กระทรวงการคลังถือเกินร้อยละ 50 เพื่อให้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 และพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และยังมีผลพลอยให้รัฐบาลสามารถลดสัดส่วนของหนี้สาธารณะ ทำให้สามารถกู้เงินเพิ่มได้อีกด้วย
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นแนวคิดของทักษิณ หรือทักษิโณมิกส์ มาโดยตลอด ยังไม่เคยแปรเปลี่ยน ก็คือ การมุ่งขายกิจการรัฐวิสาหกิจให้กลุ่มนายทุนพรรคพวกตนมาซื้อเอาไปเป็นสมบัติ ของพวกตน แล้วกลับมาผูกขาดประเทศผ่านระบบอุปถัมภ์ในการเลือกตั้ง
ตรงนี้นะครับที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเรามองว่าจะเป็นหายนะของชาติโดย แท้จริง แล้วจะทำให้ประเทศไทยเป็นเหมือนอาร์เจนตินา หรือกรีก ในอนาคตอันใกล้
โดยที่บัดนี้กระบวนการไปสู่ความหายนะนี้มันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว นับตั้งแต่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี ที่แล้ว ภายใต้การกำกับโดยตรงของคุณทักษิณ ชินวัตร
การมุ่งขายกิจการรัฐวิสาหกิจให้ตกอยู่ในกำมือของเอกชนที่เป็นกลุ่มนายทุน พรรคพวกคุณทักษิณ โดยใช้ข้ออ้างบังหน้าว่า ต้องการลดระดับหนี้สาธารณะ เพื่อสามารถกู้เงินเพิ่ม และนำไปใช้ฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าจะโดยผ่านการบังคับโอนหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปชำระแทนก็ดี หรือการจะให้กองทุนวายุภักษ์มาถือหุ้นบางส่วนของ ปตท.แทนกระทรวงการคลังก็ดี ล้วนเป็นความพยายามที่จะหลอกลวง ปกปิด และทำร้ายประเทศ โดยการทำลายความน่าเชื่อถือทางการคลังของประเทศนี้ทั้งสิ้น
ในขณะเดียวกัน เมื่อรัฐวิสาหกิจตกเป็นของกลุ่มทุนพรรคพวกคุณทักษิณ กระบวนการสู่ความมั่งคั่งของประเทศเข้าสู่กระเป๋าพวกพ้องคุณทักษิณ บนความยากลำบากทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ และกระบวนการผูกขาดอำนาจในสังคมของกลุ่มทุนผูกขาดที่มีพรรคการเมืองเป็นของ ตนเอง ก็จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยปริยาย
ขณะนี้มีความพยายามที่จะซุกหนี้ประเทศ ด้วยการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ในกระเป๋าซ้าย ไปใส่กระเป๋าขวา 1.14 ล้านล้านบาท โอนขายหุ้น ปตท.และการบินไทย ให้เป็นเอกชน เท่ากับปกปิดหนี้อีก 1 ล้านล้านบาท และยังพยายามสร้างอัตราขยายตัวเทียมอีก 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากต้องการผลาญเงินประเทศเพื่อประโยชน์ของพวกตนเอง นั่นเอง แต่ผู้ที่จะเจ๊ง ก็คือ ประเทศไทย และคนไทยทั้งประเทศ
เรียกว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกกระทำถึง 3 ต่อ จากแผนการแบบทักษิโณมิกส์ของคุณทักษิณในครั้งนี้เลยทีเดียว กล่าวคือ 1.ถูกทำลายความน่าเชื่อถือทางการคลังของประเทศ ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการล้มละลายของประเทศในอนาคร 2.ถูกสูบความมั่งคั่งของประเทศเข้ากระเป๋ากลุ่มนายทุนพรรคพวกคุณทักษิณ บนความชอกช้ำทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ 3.กระชับกระบวนการผูกขาดอำนาจในสังคมของระบอบทักษิณเพื่อการครอบงำประเทศนี้ อย่างถาวร
หากเป็นแบบนี้ต่อไป ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ จะไม่เป็นเหมือนกับอาร์เจนตินาในอดีต หรือกรีกในปัจจุบันได้อย่างไรเล่า เพราะแนวคิดของคุณทักษิณ และสิ่งที่เครือข่ายอำนาจของระบอบทักษิณกำลังทำอยู่ในขณะนี้ ล้วนไปในทิศทางเดียวกับที่ประเทศเหล่านั้นได้เคยเดินมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งก็คือเส้นทางหายนะนั่นเอง
และด้วยความตระหนักถึงวิกฤตประเทศไทยในน้ำมือเผด็จการพรรคนายทุนอย่างระบอบ ทักษิณนี่เอง จึงเป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวก เราต้องปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อยังยั้ง และผลักดันให้ประเทศไทยของเราเบี่ยงเบนออกจากเส้นทางหายนะนี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะสายเกินไป
เหตุผลประการที่ 2 ที่ผมมองว่านี่คือเส้นทางหายนะ หากเราแลไปอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า เราจะตระหนักได้เลยว่า หายนะภัยจากภาวะโลกร้อนจะรุนแรงกว่าปัจจุบันนี้มาก และจะนำโลกของเราเข้าสู่ยุคแห่งการขาดแคลนอาหารและพลังงานอย่างแน่นอน
ผมคิดว่าทุนโลกาภิวัตน์เองก็คงตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงมุ่งเน้นที่จะเข้ามาฮุบกินประเทศไทยในฐานะที่เป็นครัวของโลก และเป็นแหล่งพลังงานใต้ทะเลที่ยังไม่ได้ขุดเจาะมาใช้ โดยทุนโลกาภิวัตน์กำลังร่วมมือกับทุนผูกขาดภายในประเทศ อย่างกลุ่มนายทุนพรรคพวกคุณทักษิณ รุกคืบเข้ามาถือครองที่ดินเกษตรจำนวนมหาศาล รวมทั้งมุ่งยึดครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งพลังงานใต้ทะเลไทยมาเป็นของพวกตน
ผมคิดว่านี่คือโจทย์ที่ท้าทายประเทศไทยและคนไทยเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ เพราะในปี 2558 ซึ่งการเปิดเสรีตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเริ่มมีผลบังคับใช้นั้น สิ่งที่คงจะเกิดขึ้นเป็นแน่ก็คือ ธุรกิจของทุนไทยที่ไม่ได้พึ่งพาความได้เปรียบจากฐานทรัพยากรธรรมชาติภายใน ประเทศ แทบทุกอุตสาหกรรม คงจะแข่งขันสู้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ทุนไทยเหล่านี้จำต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์หันมามุ่งครอบครองทรัพยา ธรรมชาติภายในประเทศ เพื่อเป็นฐานรายได้ใหม่ หรือไม่ก็ต้องเข้าไปร่วมมือกับทุนต่างชาติ ที่มีความได้เปรียบ เข้ามาฮุบประเทศไทยเสียเลย ซึ่งผมคิดว่าแนวโน้มที่ทุนไทยกลุ่มต่างๆ จะหันไปร่วมมือกับทุนต่างชาติ หรือทุนโลกาภิวัตน์ ฮุบกลืนประเทศไทย จะสูงขึ้นกว่าปัจจุบันนี้มากเลย
และนี่ก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยถลำลึกลงไปในเส้นทางหายนะ อย่างยากที่จะถอนตัวขึ้นมาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกจากเส้นทางหายนะอยู่ที่ใด และภารกิจทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเราคืออะไร
พี่น้องครับ ผมคิดว่าในวันที่เปิดตัวกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา แถลงการณ์ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเราที่ประกาศอุดมการณ์เพื่อสร้าง องค์ความรู้ทางวิชาการสู่สังคม โดยยึดหลักนิติรัฐในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภายใต้หลักภราดรภาพและความมั่นคง เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ไม่เปิดช่องทางให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสังคมนั้น เป็นคำประกาศอันกึกก้องอย่างบรรลือสีหนาท
เป็นคำประกาศอันกึกก้องอย่างบรรลือสีหนาทที่สะท้อนจิตวิญญาณประชาชาติในท่าม กลางความมืดมนของยุคสมัย ความมืดมิดของรัตติกาล และความมืดบอดทางความคิดในปัจจุบันเลยทีเดียว
พี่น้องครับ ในความมืดมนของยุคสมัย ใครเล่าจะเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้แก่บ้านเมืองนี้ พี่น้องครับ ในความมืดมิดของรัตติกาล แม้เพียงฟ้าแลบเพียงชั่วพริบตาเดียว ก็ยังพอทำให้มองเห็นเส้นทางข้างหน้าได้บ้าง แล้วอะไรเล่าคือปัญญาแห่งสายฟ้านั้น พี่น้องครับ ในความมืดบอดทางความคิดของผู้คน ท่ามกลางความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคม การมีความรู้สึกตัวแม้เพียงชั่วครู่ ก็สามารถทำให้เกิดความสว่างโล่งขึ้นมาในจิตใจได้ แล้วสิ่งใดเล่า จะทำให้เกิดสติเยี่ยงนั้นได้
พี่น้องครับ การก่อเกิดของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเราในห้วงยามแห่งความมืดมนของยุค สมัย และในห้วงยามแห่งความมืดบอดทางความคิดของผู้คนนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอก ภารกิจทางประวัติศาสตร์และเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มประชาภิวัฒน์ ของพวกเราก็คือ การเป็นตะเกียงแห่งความรู้ ชี้ทางสว่างให้แก่บ้านเมือง รวมทั้งเป็นเทียนสองทางธรรมให้แก่ผู้คน อีกทั้งยังเป็นผู้เตือนสติให้แก่สังคมเพื่อขจัดความมืดบอดทางความคิด ทางปัญญา และทางจิตใจของผู้คนในเวลาเดียวกัน
เพราะฉะนั้น มาเถอะครับพี่น้อง เรามาร่วมพลังกันกับกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเรา เพื่อร่วมกันออกแบบประเทศไทยกันใหม่ ข้ามพ้นการแบ่งพรรคแบ่งพวกทางการเมือง รวมทั้งข้ามพ้นความเป็นพรรคการเมือง เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศนี้ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ ด้วยความรัก และด้วยความตระหนักรู้อันยิ่ง ร่วมกับกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์กันเถิด เพื่อบรรลุภารกิจทางประวัติศาสตร์ และภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ดังที่เพิ่งกล่าวไปแล้วข้างต้น
มันจะเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ vision ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเราก็คือ การต้องเติบโตใหญ่ไปเป็นสำนักคิดแบบสหวิทยาการ หรือแบบบูรณาการ รวมทั้งต้องเป็นคลังสมองเชิงยุทธศาสตร์และเชิงนโยบายของภาคประชาสังคมในเวลา เดียวกัน เพื่อที่จะบูรณาองค์ความรู้ทุกๆ เรื่องที่ครอบคลุมทั้งเรื่องจิต เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องกฎหมาย เรื่องวัฒนธรรม และเรื่องธรรมชาติ ไว้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาใหญ่ๆ ของบ้านเมืองทุกเรื่อง และเพื่อความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนของประชาชนทั้งประเทศ โดยที่หลักการในการพัฒนากลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเราหลังจากนี้ไป ก็คือ 1. เข้าร่วมสร้างสรรค์ความรู้ด้วยจิตอาสาของเครือข่ายนักวิชาการทั่วทั้งประเทศ และ 2. การให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยการแบ่งปัน แบบเป็นแหล่งความรู้ที่เปิดกว้างและฟรี ที่ไม่ว่าใคร กลุ่มใด องค์กรใด หรือพรรคการเมืองใด ก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ต่างๆ ของเครือข่ายกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ของพวกเราที่จะพัฒนาและบูรณาขึ้นหลังจาก นี้ไป
เพราะมีแต่ความรู้ที่มีคุณสมบัติแบบ Non-Exclusive ที่ให้เท่าไรก็ไม่หมด นี่เท่านั้นแหล่ะที่จะทำให้เราสามารถเอาชนะเงินที่มีลักษณะ Exclusive ที่ให้แล้วหมดไป และยังสามารถข้ามพ้นระบอบธนาธิปไตย อันเป็นที่มาของเผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด ซึ่งเป็นตัวการที่แท้จริงของวิกฤตประเทศไทยในปัจจุบันนี้ได้
คำต่อคำ : คมสัน โพธิ์คง
เราฟังกันมาเยอะแล้วทั้งเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องท้องถิ่น ผมอยากโยงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ปัจจุบันเราถูกกระทำ ทุกท่านกำลังถูกกระทำให้เป็นไก่ในเล้าปิด รีดไข่ รีดเนื้อออกมาให้หมดจนกว่าจะตายไป เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังเป็นไก่ในเล้าปิด เราคงต้องตื่นขึ้นมาบอกว่า ฉันไม่ใช่ไก่ในเล้าปิด ในสภาพปัจจุบันถ้าเรากลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2550 เราได้ฟังวาทะกรรมหลายอย่างในทางการเมือง เช่น 2 มาตรฐาน เราได้ฟังวาทกรรมหลายอย่าง เช่น การรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ไม่พูดเลยคือ นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เราไม่เคยมีประชาธิปไตยเลย โดยระบบกฎหมายของเรา สร้างระบบทุนผูกขาด ขึ้นมาโดยอาศัยพรรคการเมืองเป็นฐาน เพราะการก่อเกิดของพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ ก่อเกิดขึ้นมาภายใต้หลักคิด วิธีการของคนที่เป็นนายทุน ธุรกิจไหนหาเงินได้มากที่สุด คือ ธุรกิจการเมือง และหากินกับอะไร หากินกับพวกท่าน ภายใต้หลักการที่จะเอาทรัพยากรทุกอย่างจากประชาชนไปสู่กลุ่มธุรกิจเพื่อความ มั่งคั่งเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น
อ.นนธวัชร์ พูดถูก ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับ 3 คนในตระกูล แต่คน 3 คนนั้นมีปัญหากับประเทศชาติ คน 3 คนสร้างปัญหาให้ประเทศชาติจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การฆาตกรรมรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังจากนั้นชำเราศพมาเรื่อยจนกระทั่งถูกรัฐประหาร ฌาปนกิจในปี 2549 กระทำการชำเราเรื่องอะไรบ้าง เช่น แทรกแซงองค์กรอิสระ ออกกฎหมายหรือหลักเกณฑ์บางอย่างขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เอาทรัพย์สมบัติชาติไปแปรรูปขายให้กับเอกชนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมคิดว่า ประชาชนจำนวนมากตื่นรู้ เพราะฉะนั้นวาทกรรมที่พูดกันมาในอดีตว่า 2 มาตรฐาน ประเทศไทยถูกรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 และมีรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย และมีการเรียกร้องกลับไปสู่รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งถูกฆาตกรรมหรือถูกชำเราศพมาแล้ว เราถูกหลอกหรือเปล่าในวาทกรรมเหล่านี้
ในแง่หลักการถ้าเราดูจะเห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันเราพบว่ามีสถานการณ์เกิดขึ้น 2-3 ประการ สำหรับในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันที่ 1 คือ เกิดปัญหาเรื่องความแตกแยกของคนในชาติ ถ้าเมื่อไหร่คนในชาติรวมตัวได้ใครพัง ที่แน่ๆ คือ นักธุรกิจการเมืองทั้งหลายไม่ได้ประโยชน์จากการที่คนในชาติสามัคคีกัน
ต่อมาเชิงหลักการที่เราพูดถึงกันมาทั้งหมด วิกฤตต่อมาเห็นได้ชัดว่า นอกจากวิกฤตทางสังคมที่มีความแตกแยกแล้ว เรายังมีวิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะคนที่มีเงินมากอยู่เบื้องหลังกระบวนการแตกแยกของบุคคลในสังคม และพยายามแบ่งคนออกเป็นหลายฝ่าย เพื่อลดทอนอำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่จะต่อสู้กับทุนผูกขาดทางการ เมืองโดยพรรคการเมือง
วิกฤตต่อมา คือ วิกฤตทางจริยธรรมทางวิชาการของนักวิชาการ ทำไมกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ก่อเกิดขึ้นมา เพราะปัญหาสำคัญคือ มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งกำลังละเมิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรง มีการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการแบบตัดตอน เหมือนฆ่าตัดตอน ฆาตกรรมวิชาการ หลักการสำคัญบางอย่างไม่พูดถึง ปัญหาสังคมที่มีอยู่ไม่วิเคราะห์ นำเสนอรูปแบบที่ตนต้องการและเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม และกล่าวว่าหลักการนั้นเรียกว่า ประชาธิปไตย เมืองไทยมีปัญหาหลักการประชาธิปไตย เราถูกตั้งคำถามว่า เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่
เล่าประวัติปวดหลัง สมัยก่อนผมเคยอยู่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกตั้ง อยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี ไปช่วยราชการ สมัยเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรก ที่โดนแขวน 78 คน จริงๆ ฝ่ายสอบสวนเสนอไป 150 จาก 200 คน แต่หลักฐานชัด กกต.ลงได้แค่ 78 ข้อมูลตั้งแต่ปี 2543 ต่อมา 2544 กกต.ชุดแรก สอบสวนวางฐานไว้เป็นร้อย ปรากฏว่า ชุดใหม่ 3 หนา 5 ห่วงรู้สึก 4-5 คดี เปลี่ยนหน้ามือกับหลังเท้า สะท้อนถึงปัญหาสำคัญในทางการเมืองไทยให้เห็นว่า การเลือกตั้งที่เราพยายามคาดหวังว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตย เมืองไทยยังห่างไกลอีกมาก การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า จะเป็นได้อย่างไร คนอีก 2 ล้านกว่าคนถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากการเลือกตั้งนอกเขตของ กกต.ผมคิดว่าสภาพการณ์ปัจจุบันถ้าเรามองแล้ววิกฤตเรื่องการเลือกตั้งที่เรา พูด มีคนพยายามบอกว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นประชาธิปไตยที่สุด หน่วยใดก็แล้วแต่จะเพิกถอนเจตนารมณ์ประชาชนในการเลือกตั้งไม่ได้ นักวิชาการบางคนพูดอย่างนี้ ไม่ว่าจะมาจากการทุจริตหรือไม่ก็ตาม ผมถามว่า วิปริตในเชิงวิชาการไหม แล้วยังต่ออีกว่า การหันคูหาออก ยังบอกว่า การหันคูหาออกซึ่งขัดหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนว่า การเลือกตั้งต้องกระทำโดยลับ ก็เพิกถอนเจตนารมณ์ประชาชนไม่ได้ ผมคิดว่าปัญหาตรรกวิชาการมีคำถามเยอะเหมือนกันว่า เหตุใดจึงคิดได้เช่นนั้น
ภายใต้บริบทสังคมปัจจุบัน และภายใต้เหตุการณ์ปัจจุบัน เราพบว่ามีเหตุการณ์ที่หลายท่านอาจจะต้องพิจารณาและร่วมกันขบคิดอย่างน้อย 5-6 เรื่อง เรื่องที่ 1 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังจะเริ่ม เดี๋ยวเราจะคุยกันอีกรอบว่าเป็นอย่างไร เรื่องที่ 2 การกู้เงินโดยพระราชกำหนด 4 ฉบับ จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทยและภาพการเมืองปัจจุบัน ต่อมาคือ การแปรรูปที่พยายามจะเกิดขึ้นโดยอ้างเรื่องการกระจายหุ้นไปยังกองทุน วายุภักษ์ ในกรณีของการบินไทย และ ปตท.โดยเลี่ยงบาลีมาตรา 84 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องการเยียวยา 7.7 ล้าน ปัญหาตามมาคือ สังคมไทยกำลังทำอะไร นิ่งเฉยกับเรื่องเหล่านี้ นักวิชาการท่านหายหัวอยู่ที่ไหน มีความเสมอภาค เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า ในแง่ของประเด็นเหล่านี้ หรือเป็นการยอมรับว่า การที่เผาบ้านเผาเมืองคือการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตย นี่เป็นวิกฤตของประเทศไทย มีความเพ้อเรื่องสิทธิเสรีภาพจนไม่รู้ว่า จุดยุติของสิทธิเสรีภาพอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกัน รัฐเป็นผู้สนับสนุนต่อการใช้สิทธิเสรีภาพเกินสมควร
ประเด็นสุดท้ายคือ การทำลายเกราะคุ้มกันประเทศไทย ด้วยการทำให้สถาบันประมุขกลายเป็นสัญลักษณ์ ด้วยการแก้ไขมาตรา 112 และข้อเสนอของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรากลับไปดูข้อเสนอนักวิชาการบางกลุ่ม จะพบว่า สิ่งเหล่านี้ผูกโยงกับที่ท่านอาจารย์หลายท่านพูด คือ กลับไปสู่ธุรกิจทางการเมืองซึ่งผูกขาดและมีข้อเสนอเอื้ออำนวยต่อฝ่ายการ เมือง โดยบริษัทพรรคการเมือง จำกัด เป็นผู้ครอบงำทั้งหมด จะเห็นได้ว่า เริ่มตั้งแต่การให้สถาบันประมุขของรัฐ ต้องสาบานตนต่อรัฐสภา
ประเด็นต่อมา ให้ศาลหรือตุลาการ ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา และเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสนอเหล่านี้ เราคิดในทางวิชาการว่า เหมาะหรือไม่ ประชาชนรู้ทันได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นได้ว่า ทำไมจึงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 แม้รัฐธรรมนูญ 50 จะไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างที่ท่าน อ.อมร ว่า และผมเป็นส่วนหนึ่งที่ไปร่าง และได้ฉายาว่า กรรมาธิการเสียงข้างน้อยตลอดกาล คือเสนออะไรก็เป็นข้างน้อยตลอด ไม่ค่อยเป็นเสียงข้างมาก แต่สิ่งที่พูดไว้ตอนร่างรัฐธรรมนูญ มันเกิดเกือบทุกเรื่อง ถ้าหลายท่านได้ติดตามจะพบว่า เกิดทั้งนั้นสิ่งที่พูดไว้ในตอนนั้น ทำไมถึงต้องพยายามต้องเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วทำไมต้องพยายามแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างที่มีการกล่าวโดยนักวิชาการหลายท่าน แต่ข้อสำคัญคือ รัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้การหายกินของบริษัทพรรคการเมือง จำกัด ทำได้ยากขึ้น คือ ถ้าหากินมากไปจะถูกยุบพรรค ถ้าได้มาซึ่งอำนาจโดยการปกครองโดยกระบวนการของการซื้อขายกันเหมือนซื้อลูก หมาในตลาด โดยการเลือกตั้ง เราจะบอกได้อย่างไรว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แล้วจะถูกยุบพรรคได้เช่นเดียวกัน แถมโดนตัดสิทธิ์การเมืองอีก 5 ปี ในบริษัททั่วๆ ไป เวลาทำการทั้งหลาย บริษัททั่วไปมีความรับผิดชอบ ผู้บริหาร กรรมการบริหาร มีความรับผิดชอบ แต่บริษัทพรรคการเมือง จำกัดของประเทศไทย ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหลักการเหล่านี้ผมคิดว่ามันต้องคุยกันเยอะในแง่ของรัฐธรรมนูญ
ต่อมาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้การหากินเป็นไปโดยสะดวก เช่น กรณีมาตรา 190 เรื่องของสนธิสัญญาทั้งหลาย ถ้าไม่มีมาตรา 190 การแบ่งปันผลประโยชน์ในทะเลเรียบร้อยแล้วครับ แต่ที่ได้ไม่ใช่เรา เรายังได้รับผลจากราคาพลังงานที่เราเห็นในปัจจุบัน ในสภาพที่ขึ้นไปเรื่อยๆ มีคำถาม ไม่รู้ ปตท.ตอบคำถามประชาชนหรือยังว่า การซื้อขายพลังงานระบบอนุพันธ์ ซึ่งคงราคาไว้ ที่ประมาณ 50-60 เหรียญ ผู้บริหาร ปตท.รู้หรือเปล่าว่าซื้อราคานี้ เวลาราคาขึ้นไปแล้วราคาการซื้อขายไม่ขึ้นทำไมขึ้นราคาน้ำมันบ้านเราด้วย เป็นคำถามที่ตั้งมาในระบบนี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การเคลื่อนของสภาพสังคมในปัจจุบันที่เป็นปัญหาที่เราเห็น การแปรรูป ปตท.ซึ่งพยายามผ่านกองทุนวายุภักษ์ ด้วยการซื้อหุ้นออกไปอีก 2% เพื่อลดสัดส่วนลงมาให้อยู่ในรูปแบบของการบริหาร ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ ละเมิดหลักการตามมาตรา 84(10) และ(11) ของรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เป็นการทำมาหากินของทุนผูกขาดระดับชาติและระดับโลกทั้งสิ้น ผมคิดว่าเราคงต้องตื่นรู้และทันว่า ระบบการเมืองไทยขณะนี้เราอยู่ภายใต้เผด็จการทุนผูกขาดโดยพรรคการเมืองอย่าง สมบูรณ์ ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ วันที่ 9 ที่มีการเสนอ สำคัญกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรับข้อเสนอเข้าไป เมืองไทยจะเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ และแก้ไขใดๆ ไม่ได้เลยในอนาคต นอกจากรัฐประหารเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนั้นกองทัพจะเหลือไหมที่จะให้รัฐประหาร ผมว่าคงไม่มีแล้ว เพราะว่าภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพต้องอยู่ภายใต้พรรคการเมือง ผมไม่ได้พูดให้รัฐประหาร แต่กำลังจะบอกว่า ข้อเสนอที่วิปริตแบบนี้มันสร้างวิกฤตประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
ตอนนี้เราต้องตื่นรู้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ชูธงนำ ข้อ 1.คือต่อสู้เผด็จการพรรคการเมือง ทุนผูกขาด เราจะให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในสภาพสังคมปัจจุบัน ทุกคนติดตามประเด็นการเคลื่อนไหว ตอนนี้กลุ่มหนึ่งบอก ไม่เอาข้อเสนอบางอันเรื่องแก้ มาตรา 112 แต่อีกกลุ่มบอกว่า แก้รัฐธรรมมนูญเอา แล้วเอาข้อเสนอนั้นด้วย สับขาหลอกซ้ายทีขวาที เต้นไปข้างหน้าทีถอยหลังที เราก็งงไม่รู้เต้นทางไหนไล่จับไม่ทัน แต่จุดสุดท้ายเราต้องกลับไปดูภาพรวมที่สำคัญ คือ เป็นการเคลื่อนไหวของทุนผูกขาด ที่พยายามจะมีอำนาจเพื่อผูกขาดการเมืองนำไปสู่การได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และใช้การเมืองเป็นเครื่องมืออำนาจ สุดท้ายวงจรอุบาทว์ไม่ใช่แบบเดิม วงจรอุบาทว์ปัจจุบันคือ ทุนผูกขาด ได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และอำนาจเอื้อทุน ทุนกลับไปสู่เรื่องการผูกขาด เอาเงินกลับมาใหม่ นี่คือ วงจรอุบาทว์การเมืองไทยในปัจจุบัน
นายทุน-รัฐธรรมนูญ"ตัวแปรความขัดแย้ง
จาก โพสต์ทูเดย์
ส่องทัศนะวิกฤตการเมืองไทยในงานเสวนาวิชาการ "วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?"
โดย.......ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์
ตลอด 5 ปีกับวิฤติทางการเมืองในประเทศไทย สร้างความแตกแยกให้กับสังคมจนเกิดความร้าวฉานถึงที่สุด ทำให้ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” ได้จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
“อมร จันทรสมบูรณ์” อดีตเลขาธิการกรรมการกฤษฏีกา และผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญ สะท้อนภาพให้เห็นว่า การปกครองของประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ยังมีเผด็จการนายทุนเข้ามาแทรก ผูกขาดอำนาจ ระบบเผด็จการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 จะเห็นว่าขณะนี้มีประเด็นเรื่องความปรองดอง แต่ความปรองดองไม่ใช่การออกกฏหมายให้คนกอดกัน ต้องทำถูกให้เป็นถูก ผิดให้เป็นผิด ดังนั้น ประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นผเด็จการระบอบนายทุนในรัฐสภา
ทั้งนี้ ระบบต่อประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อยู่ที่การเลือกตั้งว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คือ 1.สิทธิการเลือกตั้ง 2.สิทธิของการรับสมัครเลือกตั้ง วันนี้สิ่งที่นักวิชาการลืมไป คือ สิทธิของการรับสมัครเลือกตั้ง บุคคลต้องมีสิทธิเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองใครจะตั้งก็ได้ และเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว สส.จะใช้ดุลพินิจบริหารประเทศ ตามมโนธรรม ออกเสียงได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่โหวตตามคำสั่ง
“มีประเทศไหนบ้างที่คนจะเป็นรัฐมนตรี ต้องบินออกนอกประเทศ เพื่อออกไปปรึกษานายทุน หรือถ้าพรรคการเมืองไม่มีหัวหน้าพรรค ก็ให้ภรรยาเป็นหัวหน้าพรรค เหตุการณ์เหล่านี้แสดงความผิดปกติในการเมืองของเรา และคนที่เป็นหัวหน้าพรรคต้องเป็นนายกรัฐมนตรี นี่คือทบัญญัตเดียวบนโลกนี้”
อย่างไรก็ดี ระบบการเมืองไทยเป็นต้อหิน ตาบอดสนิทไปแล้ว เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่เป็น ประชาธิปไตย โดยเฉพาะให้สส.ในพรรคการเมืองปฏิบัติหน้าที่โดยไม่บริสุทธิ์ใจตั้งแต่ต้น เช่น การที่ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วันก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น สส.จึงตกอยู่ใต้อาณัติของนายทุนพรรค ขาดความเป็นอิสระ สส.จะปฏิบัติหน้าที่ตามซองที่ได้รับ จากเจ้าของพรรค
จึงเห็นได้ว่าสส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค จะมีพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ พรรคการเมืองในรัฐสภาในโครงสร้างนี้ จึงเป็นพรรคนายทุนทั้งสิ้น เริ่มจากพรรคท้องถิ่น ต่อมาก็เป็นระดับชาติ เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และซื้อเสียงในสภา คอรัปชั่น และกลับไปซื้อเสียงให้เลือกตั้ง นักการเมืองจึงแข่งขันกันเพื่อมาคอรัปชั่น การแก้ปัญหาการเมืองไทยจะต้องมีระบบข้าราชการที่ดี กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ นักวิชาการที่เสนอกฏหมายต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ไม่ใช่สอนแบบตาบอดคลำช้าง สถานบันพระมหากษัตริย์อยู่ส่วนไหนของช้างยังไม่รู้เลย ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมุ่งแก้ที่สถาบันการเมืองเสียก่อน
“จรัส สุวรรณมาลา” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การบิรหารประเทศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ นักการเมือง และข้าราชการ ซึ่ง 2 ส่วนมักร่วมมือกันหักหลังประชาชน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก และเปรียบได้กับไปงานบุฟเฟ่ต์ ซึ่งการแย่งชิงดังกล่าวเป็นการไร้ระเบียบ และหากให้โอกาสสัมคมเป็นในลักษณะนี้ คนมีการฆ่ากันตายแน่ๆ
ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงออกระเบียบเพื่อให้ไม่แย่งกัน และจึงเปลี่ยนสังคมให้เป็นการแบ่งปัน แต่ปัญหาคือ ประชาธิปไตยบ้านเรา หากใครใหญ่กว่าก็สามารถแย่งได้มากกว่า ส่วนผู้แพ้ถูกตัดสิทธิไม่ได้อะไรซักอย่าง เพราะฉะนั้น อยากจะได้ก็ต้องไปอยู่กับกลุ่มผู้ชนะ หรือยอมจ่ายให้ได้ส่วนแบ่ง แต่การแย่งชิงแบบนั้นเป็นกลุ่มโจร ไม่ใช่ประชาธิปไตย
“วันนี้คนแย่งชิงแล้วชนะในสังคมบ้านเรา เงินกองกลาง คือ ภาษีเรา เก็บไปกองทั้งหมด คนที่ชนะในสังคมแบบนี้ คือ นักการเมืองที่มีทุนและสมคบกับข้าราชการบางกลุ่ม และวันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมการปกครองที่มีระบอบเผด็จการทุนอำมาตย์ผูกขาด”
ส่วนจะปฏิรูปการเมืองอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ คิดว่าเป็นเรื่องเล็กมาก ที่ผ่านมามีการแก้ไขหลาย 10 ครั้ง แต่ไม่เคยมีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี อยากเสนอ 2 ประการ คือ 1.เราจะออกจากการผูกขาดรวมศูนย์แบบนี้ได้อย่างไร คิดว่าเรื่องดังกล่าวต้องกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ปกครอง และใช้เงินที่เก็บภาษีมาเอง และรัฐบาลจะเหลือเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปจัดการปัญหาเอาเอง จะช่วยลดการแย่งผลประโยชน์ได้เยอะ
“ตอนนี้รัฐบาลมีเงินในกระเป๋า 1.1 ล้านล้านบาท ที่เหลือให้จังหวัดและท้องถิ่นใช้ เป็นการแก้ปัญหาการผูกขาดได้ และที่ผ่านมาคนที่ค้านการกระจายอำนาจ คือ นักการเมือง และข้าราชการ เพราะเขากุมอำนาจอยู่ และการแก้รัฐธรรมนูญผมไม่ได้คัคค้าน แต่จะลดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร”
วิธีการแก้ เช่น แฉ ประนาม และก็ปฏิเสธไม่เอานักการเมืองหรือพรรคการเมืองทำนองนี้ ข้าราชการ และพวกเราในฐานะภาคประชาชนที่จำเป็นต้องทำ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 50 พยายามจัดการเรื่องดังกล่าว หลายคนปฏิเสธ มองว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะถ้าให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป อีกฝ่ายต้องลดลง เมื่อให้ประชาชนมีอำนาจมาก พรรคการเมืองก็ต้องลดลง แน่นอนว่าฝ่ายการเมืองคงไม่ชอบ
ดังนั้น ต้องให้อำนาจหรือกฎหมายกับประชาชนในการแฉ ต้องปิดประตูไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการรวมหัวกันได้ เช่น ซื้อขายตำแหน่ง หรือการโยกย้ายข้าราชการ และไมให้นักการเมืองเข้าไปกินตำแหน่งฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรธน. 50 ก็ทำ
“เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการปรับปรุง แต่คนที่จะเข้ามาแก้ไม่ได้ต้องการมาทำแบบนี้ ซึ่งโจทย์ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเมือง แต่ต้องการแก้เพื่อยกระดับกินรวบให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะฉะนั้น ยิ่งพยายามแก้โดยมีส.ส.รหรือไม่ ก็เท่ากับว่าไปติดกับปัญหาเดิมๆ”
“บรรเจิด สิงคะเนติ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสต บอกว่า การเมืองไทยหลัง ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันเป็นระบบเผด็จการพรรคนายทุน และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดปัญหาการเมืองมาจนวันนี้ ซึ่งชัดเจนขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2554 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ถูกหักและปัญหายังบานปลายจนถึงวันนี้
ในช่วงก่อนปี 2535 นั้น อำนาจทหารมีอย่างมากในสังคมไทย แต่เมื่อมีพรรคการเมืองนายทุน อำนาจก็ถูกเปลี่ยน พรรคการเมืองจึงกลายเป็นบริษัทการเมืองตามรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนตามความหมายแบบตะวันตก กลายเป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งนายทุนสามารถกดรีโมตบังคับได้ อาทิ อำนาจนิติบัญญัติ ผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงจะได้รับจึงตอบสนองที่ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคการ เมืองเท่านั้น
“ปรากฎการณ์ 1 ครอบครัว 3 นายกรัฐมนตรี อธิบายการครอบครองพรรคจากนายทุนได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ควบคุมพรรคเหล่านี้ มีเสื้อคลุมประชาธิปไตยแต่ข้างในเป็นเผด็จการ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องแจงให้เข้าใจว่าในประชาธิปไตยที่ซ่อนรูป มีเจ้าของพรรคที่กดรีโมต ทั้งนี้ สังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ที่หนาแน่น ถูกอุปถัมภ์โดยทุนการเมือง ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไทยจึงมีเพียงเปลือก แต่ข้างในเป็นเผด็จการ และเราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศไทยทำแบบนี้ได้ยืนยาว ก่อนที่ประเทศไทยจะมีหนี้สิน หนี้สาธารณะที่เกินตัวและเราจะต้องพ้นออกไปจากวังวนนี้”
อำนาจทุนผูกขาดได้แทรกซึมสังคมไทยทุกระดับ รวมทั้งแวดวงนักวิชาการ เห็นได้จากความพยายามที่จะให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐ เป็นเพียงสัญญลักษณ์ ด้วยการแก้มาตรา 112 หากดูข้อเสนอนักวิชาการกลุ่มนี้ จะเห็นว่าเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจผูกขาดเข้าสู่การเมืองตั้งแต่การเสนอให้พระ มหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภา และการเสนอให้ฝ่ายตุลาการได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา
“แม้รัฐธรรมนูญ 50 จะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองทำได้ยาก เพราะทำแล้วอาจจะต้องถูกยุบพรรค เราควรต้องตื่นรู้ว่าจะยอมอยู่ใต้ระบบทุนเผด็จการผูกขาดอย่างสมบูรณ์หรือไม่ เพราะถ้ามีการแก้เมื่อไร สังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้ทุนเผด็จการผูกขาดที่จะไม่มีอะไรแก้ไขได้นอกจากการ รัฐประหาร ซึ่งถึงขณะนั้นกองทัพก็อาจจะไม่เหลือแล้ว เพราะต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ”
“โอฬาร ถิ่นบางเตียว” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะผิดปกติ จนเป็นปกติ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปี 40 ต้องการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพการเมือง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การมีส่วนร่วม กระทั่งการกระจายอำนาจสู่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นถูกบิดเบือน เราทุกคนสนับสนุนหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่กระบวนการนี้ถูกบิดเบือนจนเป็นการจัดสรรอำนาจในท้องถิ่นไปอยู่กับชนชั้น นำ ที่มีความพร้อมมากกว่า มีทรัพยากรพร้อมมากกว่าบนหลักการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ แม้การเลือกตั้งเป็นวิถีสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อคนบางกลุ่มผูกอำนาจในท้องถิ่น ในทางหนึ่งก็กลายเป็นอาชญากรการเมืองที่ทำร้ายสังคม พรรคการเมือง ได้เช่นกัน และหนีไม่พ้น 3 ประการ คือ 1.ตัวแทนกลุ่มทุน ที่อ้างว่าเป็นของมวลชน 2.ประชาธิปไตยแบบพันธุกรรม ที่พ่อเป็นผู้แทน ลูกก็มีโอกาสเป็น และนำไปสู่การจัดตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ แต่เป็นการต่อรองเก้าอี้ผ่านจำนวนสส. และ3.นักการเมืองไทยเห็นแก่ผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง
“คมสันต์ โพธิ์คง” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า เราได้ยินแต่ว่าการรัฐประหารเป็นความเลวร้ายในระบบประชาธิปไตย แต่ถามว่าตั้งแต่ปี35 เราเคยมีประชาธิปไตยจริงๆหรือไม่ เพราะการก่อเกิดของพรรคการเมืองมาจากหลักคิดของคนที่เป็นนายทุนธุรกิจการ เมือง ภายใต้การเอาทรัพยากรประเทศไปให้ความมั่งคงกับคนบางกลุ่ม และคนในตระกูล มีการฆ่ารัฐธรรมนูญ ชำเรารัฐธรรมนูญโดยการแทรกแซงองค์กรต่างๆ เอาสมบัติชาติไปเร่ขายให้กับต่างชาติ อีกทั้ง การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้พิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ การเลือกตั้งที่พยายามคาดหวังว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยยังห่าง ไกล
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี