สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไป หรือ การเมืองไทยไม่เปลี่ยน

ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไป หรือ การเมืองไทยไม่เปลี่ยน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังจากได้อ่านสกู๊ปพิเศษ (กรุงเทพธุรกิจ) “คิดใหม่วันอาทิตย์” เมื่อ 29 ม.ค. 2555 ของคุณอดิศักดิ์ ได้เขียนถึงสถานการณ์
ว่า “ทะเลาะกันเรื่องอะไร? ร้อนถึงขั้นจะฆ่ากันอีกแล้ว ?” โดยมีรายละเอียดและเอ่ยถึงเรื่องที่โหรใหญ่ทายกันไว้ว่า ใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะมีเหตุการณ์ขัดแย้งกันรุนแรงจนมีการเข่นฆ่ากันเลือดนองแผ่นดินยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์  และเนื้อหาได้อ้างถึง การเริ่มมีกลุ่มคนออกมาชุมนุมหน้า ม.ธรรมศาสตร์ เผาหุ่น อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติฯ ที่เป็นหัวขบวนคณะนิติราษฎร์ที่รณรงค์ ให้แก้ไขประมวล ก.ม.อาญา ม.112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ แล้วยังมีข่าวหน้าแรกว่า “นิติ มธ.2501 จี้ปลดกลุ่มวรเจตน์” ซึ่งคนนนอกและคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ความลึกตื้นหนาบาง แล้วยิ่งน่ากลัวกันไปใหญ่ที่คอลัมน์แกะลอย วันที่ 1 ก.พ. 2555 จั่วหัวว่า "กลิ่นคาวเลือดกลางธรรมศาสตร์"
 

ผมขอออกตัวว่า ผมเป็นคนธรรมศาสตร์ รุ่น เอื้องฟ้า 04 (คณะบัญชีปี 2504) แม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่ด้วยได้เคยมีประสบการณ์เคยเจอกับเรื่องคล้ายกันนี้มากก่อนแล้ว ในสมัยเป็นคณบดี ในช่วงก่อนวิกฤติ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการปราบปรามนักศึกษา และมีการเสียชีวิตเลือดเนื้อกันด้วย
 

ผมอยากเรียนว่า ผมไม่เชื่อโหรเท่าใดนัก แต่คล้ายจะมีประสาทสัมผัสที่ 6  ที่มักจะทายเหตุการณ์บ้านเมืองได้ถูกต้องหลายครั้ง เนื่องจากเข้าและเห็นธรรมศาสตร์ตั้งแต่อายุ 16 และแม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่ก็ยังพอทราบถึงรากเหง้าของปัญหากับการทำอะไรๆ ของคน มธ. ที่เกี่ยวโยงกับภายนอกด้วย
 

แท้จริงแล้ว ธรรมศาสตร์ คือ ดินแสนแห่งเสรีภาพ ที่ทุกคนมีความเสมอภาค และอยู่กันด้วยเหตุผลอย่างมีภราดรภาพ โดยผู้ใหญ่ของธรรมศาสตร์ในอดีต ตั้งแต่ท่านผู้ประศาสน์การ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ชาวธรรมศาสตร์ที่แท้ เช้าขึ้นขอให้ตักน้ำล้างหน้าและดูตัวเองในกระจก หากมีอะไรผิด บกพร่องให้แก้ไขให้ถูกต้องก่อน ก่อนที่จะไปช่วยคนอื่นหรือช่วยสังคมได้”
 

สะท้อนว่า คนธรรมศาสตร์ จะถือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสำคัญ แต่ก็จะรู้ถึงบทบาทหน้าที่และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดและทำอย่างแจ้งชัด โดยรักษาจุดยืนและความเห็นของตนแจ้งชัดเช่นกันรวมทั้งรู้จักแยกแยะจากส่วนรวม โดยไม่ชักนำหรือแอบเอาเปรียบ ใช้ประโยชน์จากสถาบัน ซึ่งการทำเช่นนี้ คนธรรมศาสตร์ถือว่าเป็นคนที่มีเกียรติ น่านับถือ พร้อมกับรักษาปกป้องหลักการที่ว่านี้ โดยกล้าแสดงออกและไม่ให้เกิดการคุกคามข่มขู่ใดๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็เคารพต่อการแสดงออกและความเห็นของฝ่ายอื่นด้วยเหตุผลและการพยายามมีความเข้าใจที่ดีต่อกันด้วย
 

ที่ผ่านมา การเมืองภายนอกมักแยกไม่ออกจากกันและได้พยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นธรรมดาของลักษณะธรรมชาติของบางคนอยู่แล้ว แต่เมื่อมองจากภายในก็มองเห็นได้ว่า ได้มีบางคน โดยเฉพาะที่เป็นอาจารย์หรือศิษย์เก่า ที่มีจุดยืนไม่ชัดเจน และเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีประโยชน์ทับซ้อน หรือ มุ่งเอาเปรียบโดยตรงก็มาก
 

บางคนจงใจนำเอาการเมืองเข้ามาโยงกับสถาบันผ่านตน บ้างตั้งใจหรืออิงแอบเอาชื่อธรรมศาสตร์ไปแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเอง เช่น รับงาน Jobs ส่วนตัว หรือ ชอบแถลงเรื่องต่างๆ โดยอ้างอิงใช้ชื่อส่วนตัวหรือชื่อรุ่นมาใช้ จงใจทำให้คนนอกเข้าใจผิด และ ก่อปัญหาทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นสถาบันเสียหาย บ่อยมาก ซึ่งมีมาก่อนหน้ามากมาย จนรวมมาถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย
 

ในแง่นโยบายบริหารที่มีมาตลอด ผู้บริหารธรรมศาสตร์ทุกคน ต่างรู้หน้าที่และรู้รับผิดชอบที่จะต้องรับใช้ชาติ ในการต้องทำการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ความสามารถซื่อสัตย์ต่อหน้าที่กับวิชาชีพ ด้วยการประสานร่วมมือกับรัฐบาล ที่ให้งบประมาณมา หรือแม้แต่การพูดจากันเพื่อความเข้าใจตรงกันและให้เกียรติระหว่างกัน พร้อมกับการให้มีเสรีภาพทางวิชาการในกรอบของสถาบัน และเพื่อแยกความรับผิดชอบจากกันให้ชัดแจ้ง กระบวนการของผู้บริหารที่พยายามทำคือ การขอให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองและการทหาร ไม่ให้เข้ามามีตำแหน่งเป็นกรรมการถาวรในสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองประการนี้ เริ่มมีการพัฒนาที่ชัดเจน เมื่อผ่านเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516  ที่ทางรัฐบาล จะไม่มีการส่งคนที่เป็นตัวแทนรัฐบาล ที่มีอำนาจเข้ามาควบคุมจนเสรีภาพถูกคุกคาม
 

ผมเชื่อและเห็นความจริงใจและตั้งใจของสองฝ่ายมาตลอด ทั้งผู้บริหารหัวก้าวหน้าทุกสมัย และ รัฐบาลที่มีความเข้าใจและใจเปิดกว้าง ทำให้บรรยากาศออกมาดี และมีความหวังว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างมากและดีขึ้น
 

แต่เหตุการณ์เป็นไปไม่นานนัก หลังเกิดเหตุ 6 ต.ค. 2519 ได้เกิดช่องว่างขึ้น แล้วปัญหาของมหาวิทยาลัยก็เริ่มพัฒนาไปในทางที่เสื่อมลง
 

ที่ชัดเจนมี 2 พฤติกรรมและรูปแบบ 2 ประการคือ
 

1. มีอาจารย์บางคน หรือ กลุ่ม ที่แถลงทำการสร้างเรื่อง จงใจให้เกิดการเข้าใจผิด เอาชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้ เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยจงใจให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องของนักวิชาการแต่ละคนหรือกลุ่ม โดยสถาบันมิได้เกี่ยวข้องสนับสนุนหรือคัดค้านใดๆ พูดง่ายๆ คือ อาจารย์หลายคน ไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่มีธาตุแท้ของนักวิชาการ ที่กล้าจะระบุชัดถึงเชื่อและเรื่องนั้นๆ ว่าเป็นของตนเองอย่างไร แต่กลับจงใจเอาคราบของอาจารย์ไปมุดอยู่ใต้รักแร้ของสถาบัน โดยเอาชื่อสถาบันมาครอบคลุมสวมใส่ และจงใจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่คนทั่วไป
 

2. มีศิษย์เก่าและคนนอกหลายคนที่เคยและหรือกำลังเป็นนักการเมือง ที่มีอำนาจหน้าที่ เข้ามามีที่นั่งเป็นกรรมการในสภา โดยอ้างถึงความเป็นศิษย์เก่า ที่จะเข้ามาช่วยทำประโยชน์ให้ แต่ในความเป็นจริงก็ยังอิงแอบแนบชิด ไม่ยอมออกจากการเมือง หรือยังมีตำแหน่งในพรรค เรียกว่า สาบการเมืองติดตัวมาแค่ไหน ก็ดูจะไม่แคร์ใครๆ แล้วที่น่าเกลียดยิ่งกว่าคือ การเอาสถาบันแลกประโยชน์กับพลังทุนเอกชนภายนอก ก็มีไม่น้อย
 

กรณีกลุ่มนิติราษฎร์ ของ อาจารย์วรเจตน์และคณะนั้น ขอให้ออกมาปรากฏให้เห็นและแยกตัวเองชัดจาก ม.ธรรมศาสตร์ เช่นที่แล้วมา จะมีการออกชื่อสมาชิกกลุ่ม และส่วนมาก จะไปใช้เวทีข้างนอก เช่น โรงแรมรัตนโกสินทร์ แถลงข่าว  ออกความเห็นต่อสื่อ
 

ส่วนกลุ่มนิติ 01 ที่รวมตัวกันขับไล่กลุ่มนิติราษฎร์ออกไปจากธรรมศาสตร์ หรือเรียกร้องให้อธิการลงโทษอาจารย์นั้น นับว่ายิ่งก่อความขัดแย้งและขาดเหตุผลมากขึ้น เพราะ นิติ 01 คือ นักศึกษานิติศาสตร์ รุ่นคุณชวน หลีกภัย กับ นายสมัคร สุนทรเวช (ก่อนจะมีการสอบเข้า) ที่บางคนยังไม่เลิกจากการเมือง แต่ก็ยังกล้านั่งเป็นกรรมการสภาฯ ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน นิติฯ รุ่น 2505 ผ่านศิลปศาสตร์รุ่นแรก ที่ยังเสียดายเก้าอี้กรรมการสภาฯ มธ. และยังคงนั่งทับซ้อนกันต่อไป
 

เพียงแค่นี้ก็ยังไม่แก้ไข แล้วจะไปให้ประชาชนแยกแยะ สถาบันกับนักวิชาการออกจากกันอย่างไรได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างจงใจ ให้เกิดโดยไม่แคร์ต่อหลักความโปร่งใส หรือ แสดงความมีเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง  ที่จะแสดงความเห็นหรือดำเนินเรื่องด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล ตามระบอบประชาธิปไตย และช่วยให้ไม่ต้องเอาสถาบันมาใช้บังกายหรือเสี่ยงต่อการถูกคนเข้าใจผิดจนเกิดความเสียหายอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 

เพราะ หากปล่อยเหตุการณ์ไปเช่นนี้ ก็จะเป็นเสมือนสมัยก่อนที่ผ่านมา ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ซ้ายเซ่อกับขวาซ่าซ์” ที่หากแน่จริง ก็น่าจะใส่ภาพและชื่อจริงของตัวเองทุกครั้ง และกลุ่มนิติ 01 ถ้าจะไล่กลุ่มนิติราษฎร์มิให้มาระคายเคืองธรรมศาสตร์แล้ว ตัวเองก็ควรลาออกจากกรรมการสภา อย่าไปครอบงำหรือนั่งทับซ้อนเป็นเครื่องมือของใคร ที่ชอบแต่จะใช้ธรรมศาสตร์ ไปหาประโยชน์ไม่หมดสิ้นสักที
 

ถ้าไม่ทำให้ชัดเจนแล้ว ธรรมศาสตร์จะเจริญได้อย่างไร และคุณภาพการศึกษากับประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน ได้หรือไม่
 

ต่อกรณีข่าวอธิการคนปัจจุบัน ได้ออกมาห้ามมิให้กลุ่มนิติราษฎร์ใช้ชื่อ สถานที่ของ มธ.นั้น ถือว่าเป็นการใช้อำนาจที่ถูกต้อง และจะเป็นผลดีที่จะได้เริ่มสร้างความโปร่งใสของทั้งสองฝ่ายให้ปรากฏ
 

คือ ฝ่ายอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ที่จะแสดงตนโดยรับผิดชอบตนเองตามหน้าที่และอาชีพได้เต็มที่ และฝ่ายบริหารคืออธิการ ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของกระบวนการได้มาของตำแหน่งอธิการจากกลุ่มสมาชิกต่างๆ  ทราบว่าทำกันอย่างไร เพราะ ที่ผ่านมาดูจะมีกระบวนการสรรหา กับการตรวจสอบภายในที่ไม่ได้ทำให้โปร่งใส ที่จะมาเสริมการใช้อำนาจของสถาบันอย่างมีความชอบธรรมและการยอมรับในอำนาจกันแค่ไหน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไป การเมืองไทยไม่เปลี่ยน

view