สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระบบตลาดล่วงหน้าของประเทศจีน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.พีรพล ประเสริฐศรี



การก้าวเข้ามาเป็นระบบเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกของจีนปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศในปี ค.ศ.1979
ช่วงปลายปีที่แล้ว ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET ได้รับการติดต่อและมีโอกาสให้การต้อนรับ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ Dalian Commodity Exchange (DCE) ตลาดซื้อขายล่วงหน้าของจีน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อเกี่ยวกับศักยภาพของตลาดล่วงหน้า การพัฒนาสินค้าใหม่ ความคืบหน้าในการดำเนินงานของทั้ง 2 ตลาด รวมถึงประเด็นในเรื่องของบทบาทหน้าที่ของตลาดสินค้าล่วงหน้าในสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างในปัจจุบัน
 

รายงานล่าสุด (ปี 2553) ของธนาคารโลก จีนมีขนาดเศรษฐกิจตามที่วัดโดย Gross Domestic Product (GDP) ประมาณ 5.93 ล้านล้านดอลลาร์ นับเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา (GDP อยู่ที่ 14.59 ล้านล้านดอลลาร์) และแซงหน้าอันดับ 2 ผูกขาดอย่างญี่ปุ่น (GDP อยู่ที่ 5.46 ล้านล้านดอลลาร์) มาได้
 

การก้าวเข้ามาเป็นระบบเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกของจีนปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศในปี ค.ศ.1979  โดยเริ่มจากระบบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเงิน การคลัง การธนาคาร การกำหนดราคา และแรงงาน อีกทั้งมีการพัฒนาและจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปีต้นทศวรรษที่ 1980 ผลพวงจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในเรื่องของการผ่อนปรนจากนโยบายการควบคุมราคาสินค้าในจีน ทำให้ระบบตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้มีการพัฒนาขึ้น โดยเริ่มจากการที่รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้เอกชนจัดตั้งตลาดได้ในปี ค.ศ.1988 ทำให้ในช่วง ค.ศ.1993-1994 มีการจัดตั้งตลาดสินค้าล่วงหน้าในประเทศจีนกว่า 30 แห่ง ด้วยบริษัทโบรกเกอร์ 2,500 ราย และมี 35 รูปแบบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขาย อาทิเช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ทองคำ โลหะพื้นฐาน พลังงาน ปิโตรเคมี พันธบัตรรัฐบาล
 

ในช่วงเวลานั้น สินค้าที่ซื้อขายกันกระจัดกระจายในแต่ละตลาด เช่น มีอยู่ 3 ตลาดที่เปิดให้ซื้อขายโลหะพื้นฐาน (Shanghai, Shenzhen, และ Jinpeng) มีอยู่ 7 ตลาดที่เปิดให้ซื้อขายธัญพืช มีอยู่ 3 ตลาดที่เปิดให้ซื้อขายพลังงานและปิโตรเคมี และมีตลาดศูนย์กลางนั่นคือ Beijing Commodities Exchange ของรัฐบาล ซึ่งเปิดให้ซื้อขายล่วงหน้าสินค้าแทบทุกประเภทข้างต้น แต่การมีปัญหาเรื่องการใช้ข้อมูลภายในอย่างผิดกฎหมาย ประกอบกับกฎระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลที่ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร ทำให้ในช่วงปลายปี ค.ศ.1994 ผู้กำกับดูแลหรือ ก.ล.ต.ของจีน ชื่อว่า China Securities Regulatory Commission (CSRC) (ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลทั้งในส่วนของหลักทรัพย์ และตราสารประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุพันธ์ทางการเงิน อนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ อนุพันธ์สินค้าเกษตร) ได้เข้มงวดกับการซื้อขายสินค้าล่วงหน้ามากขึ้น ด้วยการสั่งห้ามเปิดตลาดสินค้าล่วงหน้าเพิ่มขึ้น และได้สั่งการให้ปิดตลาดสินค้าล่วงหน้าในจีนหลายแห่ง และ/หรือ บังคับให้ปรับโครงสร้าง หรือให้ไปรวมกับตลาดอื่น ทำให้เหลือตลาดสินค้าล่วงหน้าในจีนในปี ค.ศ.1995 เพียง 15 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ ต่อมาในปี ค.ศ.1994-1997 ก็ได้มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้าในจีนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

โดยเฉพาะเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้าพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบการเงินทั้งระบบของจีนได้ ทำให้ CSRC จึงมีมาตรการเด็ดขาดในการจำกัดการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าในประเทศ โดยห้ามซื้อขายล่วงหน้าสินค้าทางการเงินทุกประเภท รวมถึงเริ่มกระบวนการควบรวมตลาดล่วงหน้าของจีนให้เหลือเพียง 3 ตลาดในปี ค.ศ.1999
 

ทั้งนี้ 3 ตลาดที่เหลืออยู่ในปี ค.ศ.1999 ทางการอนุญาตให้ซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น  ได้แก่ Zhengzhou Commodity Exchange (ZCE) Dalian Commodity Exchange (DCE) และ Shanghai Futures Exchange (SFE)  โดย CSRC จะไม่อนุญาตให้เปิดซื้อขายสินค้าซ้ำประเภทกัน ทำให้เห็นรูปแบบการแบ่งกลุ่มรับผิดชอบของทั้ง 3 ตลาด เห็นได้จาก ตลาด Zhengzhou จะรับผิดชอบสินค้าจำพวกข้าวสาลี ฝ้าย และน้ำตาล ขณะที่ตลาด Dalian รับผิดชอบสินค้าพวกข้าวโพด ถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม สำหรับสินค้าจำพวกตลาดอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น ทองแดง เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ยางพารา สังกะสี จะอยู่ในความรับผิดชอบของตลาด Shanghai โดยปัจจุบันมีสินค้าโภคภัณฑ์ 25 ชนิดที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดนี้
 

นอกเหนือไปจาก  ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั้ง 3 ข้างต้นแล้ว CSRC ยังได้อนุญาตให้จัดตั้งตลาดสำหรับซื้อขายอนุพันธ์ทางการเงินขึ้นชื่อว่า China Financial Futures Exchange (CFFEX) ในเดือน ก.ย.2549  โดยเปิดให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าชนิดที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นดัชนีหุ้น CSI 300 Index Futures  (ซึ่งนับเป็นอนุพันธ์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นดัชนีทางการเงินเพียงชนิดเดียวที่ซื้อขายกันในจีน) ทำให้ปัจจุบัน ประเทศจีนมีตลาดซื้อขายล่วงหน้าอยู่ 4 แห่ง โดย 3 แห่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ และ 1 แห่งเป็นตลาดอนุพันธ์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นดัชนีทางการเงิน เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยปกติแล้ว นักลงทุนจากต่างประเทศจะไม่สามารถเข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าทั้ง 4 นี้ได้ เพราะนโยบายการควบคุมเงินตราของธนาคารกลาง ทำให้กลุ่มลูกค้าของตลาดล่วงหน้าส่วนใหญ่ จะเป็นลูกค้าประเภทรายย่อยในประเทศ (Domestic Retail) ทั้งประเภทซื้อขายด้วยตนเองและประเภทร่วมทุนกันเป็นกองทุน
 

ขณะที่บริษัทผู้ประกอบการและกองทุน ETF ในประเทศก็เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดด้วย (แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ Retail) เช่นเดียวกัน โดยตลาด CFFEX นั้น CSRC อนุญาตให้ กลุ่มลูกค้าสถาบัน เช่น บัญชีซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ เข้าซื้อขายได้แต่ไม่อนุญาตให้ซื้อขายในกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์
 

การจัดระเบียบตลาดซื้อขายล่วงหน้าดังที่ได้กล่าวมา ถือได้ว่า เป็นการสร้างปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ผู้บริหารของจีนไม่ได้ละเลยมองข้ามไป (นอกเหนือไปจากระบบตลาดเงินและตลาดหุ้น) สมกับเป็นผู้บริหารประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ณ ขณะนี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ระบบตลาดล่วงหน้าของประเทศจีน

view