เปิดคำให้การโต้งถอนหายใจเจอไล่ซักพรก.กู้เงิน
จาก โพสต์ทูเดย์
กรณ์-คำนูณชำแหละพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูย้ำไม่มีความจำเป็น‘กิตติรัตน์’โดนตุลาการไล่ซักถึงกับถอนหายใจยันไม่โอนภาระให้ประชาชน
องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องของนายกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ และ นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา และคณะ กรณีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบ บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ.2555 และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค1และ2 หรือไม่ ในวันที่ 22 ก.พ.เวลา 14.00น.
สำหรับการไต่สวนเพื่อฟังคำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยเริ่มที่นายกรณ์ ชี้แจงว่า สำหรับพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯยังไม่มีความจำเป็นอย่างชัดเจน เพราะรัฐสภาเพิ่งได้ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2555 ซึ่งในกฎหมายได้จัดสรรงงบประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทเพื่อชำระดอกเบี้ยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเอาไว้ จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแหล่งเงินมารับหนี้ เม็ดเงินจัดสรรไว้ในหมวดบริหารหนี้สาธารณะ
"การวัดระดับหนี้สาธาณะ วัดโดยรายได้ประเทศ ปัจจุบันเมื่อเทียบกับจีดีพี 41% ต่ำมากถ้าเทียบกับหลายๆประเทศ ที่สำคัญ คือ ในส่วนของรัฐบาลได้บริหารภายใต้กรอบการยั่งยืนทางการคลังไม่เกิน 60% ส่วนต่าง 20 % กู้ได้อีก2ล้านล้านบาทยังอยู่ในกรอบของความยั่งยืน รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้อยู่แล้ว ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพดานทางการคลัง โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นไม่ต้องซ่อนตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง"นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมของพ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทลักษณะนี้มีผลข้างเคียงหลายประเด็นมีจุดอ่อนตัวกฎหมายมีผลกระทบ ความมั่นคงเศรษฐกิจ คือ การลดการเรียกเก็บเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 0.01% จะส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่น โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์วิกฤตจะมีการดูแลอย่างไร รัฐบาลจะต้องค้ำประกันให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือไม่ เพราะตามหลักกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากควรมีอยู่ในระดับ 2 แสนล้านบาทซึ่งตอนนี้มีอยู่ 8 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าถ้ามีการลดการนำส่งเข้ามายังกองทุนคุ้มครองเงินฝากจะทำให้ยอดตัว เลขลดลง
"ปัญหาในระยะยาวภาระหนี้จะส่งต่อไปยังผู้กู้เงินในดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นผู้ประกอบการสูงง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับผู้มีเงินออม 60 ล้านบบัญชี มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยดลดลง ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในครัวเรือน" นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ ปรากฎว่ายังไม่มีความชัดเจนในแผนการใช้เงินว่าจะมีการลงทุนตามยุทธศาสตร์ อย่างไร โดยมีการให้สัมภาษณ์จาก นายสมิทธ ธรรมสโรช คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ว่าการเสนอแผนของกยน.เมื่อวันที่ 26 ม.ค. เช่นดียวกับ นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการกยน.ระบุเช่นกันว่าไม่มีแผนชัดเจน กยน.กรอบกว้างๆไม่มีความชัดเจนแท้จริง ไม่มีความชัดเจนใดๆ
นายคำนูณ ซึ่งได้ทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะพ.ร.ก.โอนหนี้ ชี้แจงว่า รัฐบาลยังไม่มีความจำเป็นต้องลดภาระดอกเบี้ยในหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อเพิ่มเพดานในการกู้เงินฟื้นฟูน้ำท่วมเพราะปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีมีวงเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยอยู่แล้ว หรือดำเนินการไปพลางก่อน ได้
สว.สรรหา กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว ประกอบด้วย งบประมาณการเยียวยาฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 6.6 หมื่นล้านบาทซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย รวมทั้งยังมีพ.ร.ก.ที่ผ่านรัฐสภาไปอีก 2 ฉบับก่อนหน้านี้ เท่ากับว่าให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณใช้ถึง 7 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอในการดำเนินการได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.ฉบับนี้แต่อย่างใด
"ในทางการเมืองรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ ดังนั้น การเสนอในสภาฯจึงกระทำได้ตลอด ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง" นายคำนูณ กล่าว
ต่อมา นายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้ถูกร้องได้ทำการชี้แจง ซึ่งในช่วงแรกนายกิตติรัตน์ อธิบายถึงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญมาตรา 184 เกี่ยวกับอำนาจในการตราพ.ร.ก.ปรากฎว่านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แย้งขึ้นมาทันทีว่า "ประทานโทษท่านรองนายกฯเพราะตอนนี้ประเด็นมันแคบเข้ามาแล้วหลังจากผู้ร้อง ได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้ ตอนนี้เป็นโอกาสชี้แจงของท่าน ไม่ต้องอธิบายรัฐธรรมนูญให้พวกเราได้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง นี่ไม่ได้เป็นการประท้วงในสภาฯครับ แต่เป็นการเตือนท่านเพื่อรักษาเวลาเท่านั้น กรุณาชี้แจงในส่วนของผู้ร้อง" ซึ่งนายกิตติรัตน์ เกิดอาการชะงักกลางคันก่อนจะชี้แจงต่อ
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยอมรับว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีประมาณ 4.2ล้านล้านบาท และสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นเพราะยังหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60%ของจีดีพี แต่ถ้าเราไม่มีการจัดการอะไรและมีความจำเป็นต้องกู้เงินอยู่จะส่งผลให้มี หนี้สาธารณะถึง 50% โดยในนั้นจะมีหนี้ส่วนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ คือ หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านบาท จึงเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีการจัดบริหารหนี้ส่วนนี้อย่างเป็นระบบ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีการบอกว่าจะลดหนี้ก้อนหนี้อย่างไร
"หนี้ส่วนนี้เป็นของประเทศไม่มีความประสงค์ยัดเหยียดให้เป็นหนี้ของหน่วย งานใดเพียงลำพัง ส่วนการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กระทรวงการคลังได้ปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยเล็งเห็นว่าสถาบันการเงินของไทยในเวลานี้มีความเข้มแข็งภายใต้การดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศจนเงินในกองทุนของสถาบันมีสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปกองเอาไว้ ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากก็ยังเปิดโอกาสให้สามารถกลับมาเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ได้อยู่แล้วในอัตราไม่เกิน 1%" นายกิตติรัตน์ กล่าว
จากนั้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซักถามว่า เมื่อมีการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ หนี้ส่วนนี้ยังไม่พ้นความเป็นหนี้สาธารณะใช่หรือไม่
นายกิตติรัตน์ ตอบว่า ยังเป็นหนี้สาธารณะ
นายวสันต์ ถามอีกว่า หมายความว่าการจะกู้เงินตามพ.ร.ก.สองฉบับที่ผ่านไปแล้ว (พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555) รวมไปถึงพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการ น้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาทด้วย จำเป็นต้องผลักภาระการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้พ้นก่อนถูกต้องหรือไม่เพื่อให้ภาระงบประมาณรายจ่ายในเรื่องนี้ลดลง
นายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2556 ต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดูแล และการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกจะเริ่มในวันที่ 31 ก.ค.2555 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีความพร้อมในการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมไปสมทบ กับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเพราะมีกองทุนเพื่อการ ฟื้นฟูฯมีทรัพย์สินที่ดูแลอยู่ส่วนหนึ่งและสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนในจำนวน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเอาไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายวสันต์ ถามอีกว่า ตามหลักฐานที่ปรากฎรัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เข้าสู่สภาฯในเดือนพ.ย.2554 หลังจากนั้นมีช่วงเวลาปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปจนถึงปลายเดือนธ.ค.ทำไมรัฐ บาาลไม่พิจารณาออกพ.ร.ก.ในช่วงนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าชิงออก พ.ร.ก.ทั้งๆที่สภาเปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงสภาปิดเสียงครหาจะน้อยกว่านี้
นายกิตติรัตน์ กล่าวพร้อมถอนหายใจบางช่วงว่า "เออ...ผมเองไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดทางการเมืองเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจ เรื่องของเงื่อนเวลาขอเรียนตามจริงว่าผมเองได้พูดต่อสาธารณชนหลายครั้งว่า การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำมีความจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินหลายแสน ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาความเสียหายจากการสำรวจของธนาคารโลกและสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น เรื่องเงื่อนเวลาจึงไม่คำนึงว่าถ้าจะไปเร่งตรงนั้นแล้วจะเกิดผลประโยชน์ที่ ดีกว่าในทางการเมืองอะไร"
นายวสัตน์ ถามเพิ่มเติมว่า ถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงปิดสภาฯจะมีข้อแก้ตัวได้แต่การที่มาออกพ.ร.ก.ทั้งๆที่สภา เปิดอยู่เหมือนไม่ให้ความเคารพฝ่ายนิติบัญญัติเลย ตรงนี้ทำไมไม่คิดออกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะอุทกภัยก็เห็นๆกันอยู่ กว่าจะถึงสิ้นปี 2554 น้ำในบางแห่งก็ยังไม่แห้ง ซึ่งเห็นสภาพความเสียหายและวิธีการป้องกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว กรุณาตอบตรงนีดนึงว่าทำไมตอนนั้นจึงไม่คิดในช่วงเดือนธ.ค.2554 ทั้งเดือน
นายกิตติรัตน์ ถอนหายใจและชี้แจงอีกครั้งว่า การดำเนินการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่าง ยั่งยืน (กยน.) ได้มีการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งการที่ทำให้เกิดกรอบที่ชัดเจนว่าเรามีความจำเป็นจะต้องลงทุนด้วยวงเงิน งบประมาณเท่าไหรมีความจำเป็นที่ต้องมีคำอธิบาย ถ้าเราเร่งดำเนินการอะไรถ้ายังไม่เกิดความแน่ชัดว่าจะเป็น3.5 แสนล้านบาท หรือตัวเลขอื่นๆ และเสนอตัวเลขสูงเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียความ เชื่อมั่นได้เพราะมองว่ารัฐบาลชุดนี้อยากจะใช้เงินฟุ่มเฟือย หรือ การเสนอตัวเลขต่ำไปและในที่สุดต้องมาแก้ไขในภายหลังย่อมจะสูญเสียความเชื่อ มั่นอีก
"เรื่องนี้ผมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที 27 ธ.ค.ไม่ได้มีความเข้าใจหรือความชำนาญในเรื่องของการเสนอในช่วงสภาปิดหรือสภา เปิดแต่อย่างใดด้วยความเคารพ" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ศาลรธน.คึกคัก 'กรณ์'ยังมั่นใจออกพ.ร.ก.ไร้เหตุผล
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
บรรยากาศศาลรัฐธรรมนูญคึกคัก "กรณ์" มั่นใจ พ.ร.ก.กู้เงินทั้งสองฉบับนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้พ.ร.ก.เพื่อกู้เงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศก่อนการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของส.ส.เพื่อให้ขอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญม.185 กรณี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (3.5 แสนล้านบาท) และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 (1.14 ล้านล้านบาท) และกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของส.ว.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามม. 185 กรณีและ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ
โดยมีผู้เข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะผู้แทนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แทนเสนอความเห็นต่อประธานสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้แทนผู้เสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภา
ทั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมชี้แจงอาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมี นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ฯลฯ ซึ่งมีสื่อมวลชนหลายสำนักเฝ้าติดตามการพิจารณากันอย่างคึกคัก
“กรณ์”ยังมั่นใจออกพ.ร.ก.ไร้เหตุผล
นายกรณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาชี้แจงแนวความคิดของตนเอง เพื่อให้ตุลาการฯพิจารณาต่อไป ส่วนของตนก็จะชี้แจงไปตามประเด็นที่มีความสำคัญในการพิจารณา ซึ่งมั่นใจตั้งแต่แรกว่าการตรา พ.ร.ก.กู้เงินทั้งสองฉบับนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินที่ยังมีปัญหาในหลายจุด โดยในส่วนของพ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ที่มีความชัดเจนว่า ผลของการโอนหนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในลักษณะเร่งด่วนจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาในการรับภารพดอกเบี้ยของหนี้การฟื้นฟู เพราะรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ และได้เผื่อไว้ในปีงบประมาณ2555 อยู่แล้ว ซึ่งสามารถจะรับดอกเบี้ยได้อย่างน้อยที่สุดคือถึงสิ้นปีงบประมาณ จึงไม่มีความจำเป็นต้องครากฎหมายนี้ในรูปแบบพ.ร.ก.
นายกรณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมานายกิตติรัตน์ ยังได้ออกมามีข้อสรุปว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารของรัฐ แต่กลับไม่คิดพิจาณานำค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปสมทบกองทุนค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์เพื่อชำระหนี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจ และไม่ได้คิดจะลดภาระหนี้ส่วนนี้เป็นภาระเร่งด่วนอย่างที่กล่าวอ้าง และมีผลในทางลบมากมาย ตนจะชี้แจงต่อศาลว่าควรมีการพิจารณากลั่นกรองในชั้นของสภาตามขั้นตอนฝ่ายนิติบัญญัติปกติ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลก็พูดว่าหากไม่สามารถออกพ.ร.ก.ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะยังสามารถวินิจฉัยออกเป็นพ.ร.บ.แทนได้ นี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าสามารถออกเป็นพ.ร.บได้ไม่เป็นปัญหา แต่รัฐบาลต้องการที่จะรวบรัด และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จึงเลือกพ.ร.ก.ที่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น ส่วนพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ นั้นยังมีคำถามว่าเร่งด่วนจริงหรือไม่ และอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศ
“รสนา”รอลุ้นนายกฯลาออก หากพรก.ขัดรัฐธรรมนูญ
ด้านน.ส.รสนา หนึ่งในกลุ่ม ส.ว. ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในกรณี พ.ร.ก. ดังกล่าว กล่าวถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับตกไปว่า ในเมืองไทยมีมาตรฐานจริยธรรมค่อนข้างต่ำ จึงหานักการเมืองรับผิดชอบได้ยาก อย่างกรณีของการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ก็ไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบ แม้จะมีประมวลจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผลบังคับ ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.ก.ตกไป ก็ควรต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่วันก่อนได้ยิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แล้วว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายก ฯ และ รมว. คลังไม่ต้องลาออก แล้วถามว่านายก ฯ จะลาออกหรือไม่ ทั้งนี้เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่มีข้อกฎหมายบอกว่านักการเมืองต้องรับผิดชอบอะไร มันเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องบีบ ถ้าสังคมเฉย ๆ ก็ทำอะไรไม่ได้
เปิด!ปากคำสองฝ่ายแจง'2พ.ร.ก.'ศาลนัดชี้ขาด22ก.พ.
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศาลรธน. ออกนั่งบัลลก์ ฟังคำชี้แจงกรณี'พ.ร.ก.กู้เงิน'พิจารณา'เหตุผลที่ต้องออก-ความเร่งด่วน'นัดฟังคำวินิจฉัย 22 ก.พ.นี้
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์รับฟังคำชี้แจงด้วยวาจากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับประกอบด้วยพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารการจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาทไว้พิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 หรือไม่
"กรณ์ - คำนูณ" เข้าชี้แจงฐานะผู้ร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้านายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้อง ได้เข้าชี้แจงด้วยวาจา ทั้งนี้มีนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ซึ่งอยู่ในซีกรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีนางสุมน สุตตะวิริยะวัตน์ ส.ว.เพชรบุรี นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา เดินทางมาร่วมรับฟังด้วย
ศาล ตั้ง2ประเด็น"เหตุผลที่ต้องออก-ความเร่งด่วน"
ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญโดยนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการผู้ทำหน้าที่ดำเนินการ ได้ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการให้ทราบว่า ศาลจะเปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องชี้แจงด้วยวาจาคนละประมาณ 30 นาที ประกอบด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช ในฐานะผู้แทน ส.ส.ที่เสนอความเห็น และนายคำนูณ สิทธิสมาน ผู้แทน ส.ว.ที่เสนอความเห็น และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาชี้แจง ซึ่งประเด็นจะชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ 2 ประเด็นคือ 1 เหตุผลที่ต้องออกพ.ร.ก. และ 2 เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่อย่างไร
"กรณ์"ระบุออกพ.ร.ก.ไม่ปรึกษาใคร
นายกรณ์ อดีตรมว.คลัง ชี้แจงว่า การออกพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหาร หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนออกพระราชกำหนด การตรากฎหมายฉบับนี้ไม่มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้แต่กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ไม่เห็นพ.ร.ก.จนมีมติครม.ออกมาแล้ว การตรากฎหมายลักษณะนี้ในเรื่องที่มีผลข้างเคียงทำให้มีจุดอ่อนในตัวกฎหมายมีผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องรับภาระหนี้ส่วนนี้เป็นของรัฐบาลเอง กฎหมายไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเมื่อกฎหมายมีผลแล้วกองทุนฟื้นฟูจะทำอย่างไรในสถานะที่อ่อนแอแล้วรัฐบาลต้องกลับมาช่วยดูแลกองทุนอีกหรือไม่ ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบโดยตราเป็นพรบ.จะแก้ไขปัญหาส่วนนี้ได้ดีกว่า ในร่างพรบ.งบปี 55 มีการจัดสรรงบ 6 หมื่นกว่าล้านเพื่อชำระภาระดอกเบี้ยจากกองทุนฟื้นฟูฯ
ชี้ไม่จำเป็นโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีเงินที่จัดสรรไว้แล้วในปี 2555 ที่จะชำระดอกเบี้ย จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมา และอยู่ในหมวดหนี้สาธารณะ ที่บอกจะเอาไปแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงไม่จริงแต่อย่างใดเพราะเงินส่วนนี้นำไปแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือที่รัฐบาลบอกต้องโอนภาระหนี้ออกไปเพื่อลดหนี้สาธารณะลงจะได้กู้เงินได้เพิ่มเติมจะได้เอาเงินมาแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ไม่เป็นจริง การวัดระดับหนี้สาธารระว่ามีมากหรือน้อยวัดจากรายได้จีดีพี ณ ปัจจุบันหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับจีดีพีอยู่ที่ 41 % ถือว่าค่อนข้างต่ำ ที่สำคัญทุกรัฐบาลได้บริหารภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่จะไม่ให้เกิน 60 % ดังนั้นรัฐบาลสามารถกู้ได้อีก 2 ล้านล้านบาทในส่วนต่าง 20 % เห็นได้ชัดว่าไม่จำเป็นต้องลดหนี้สาธารณะด้วยการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูออกไป
แจงยังกู้เพิ่มได้แม้ไม่ออก พ.ร.ก.
“ที่รัฐบาลอ้างเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการออกพ.ร.ก.อ้างว่าภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 12 % แต่ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ 9.33 % เทียบกับเพดาน 15 % หมายความว่ายังกู้ยืมเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องออกพ.ร.ก. ไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวที่คลาดเคลื่อนของรัฐบาลมาจากผู้มีส่วนร่วมในการตราพ.ร.ก.แต่แรกคือนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลังที่บอกไว้ในเฟซบุ๊คของตัวเอง ว่ารัฐบาลยังกู้ได้อีก 2 ล้านล้านบาทโดยไม่จำเป็นต้องซ่อนตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริงและยังบอกว่าตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณ ซึ่งนายกิตติรัตน์บอกว่ามี 12 % ข้อเท็จจริงแล้วคือ 9.33 % ทำให้เหตุผลความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง “นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า แนวทางการตรากฎหมายนี้มีจุดอ่อนในตัวกฎหมายจะมีผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหลายประการ คือ 1. ขาดความชัดเจนเรื่องภาระหนี้การโอนความรับผิดชอบไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ กฎหมายก็ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเมื่อถึงเวลากองทุนฟื้นฟูจะต้องทำอย่างไรต่อไปเช่นการออกพันธบัตรในสภาวะที่กองทุนจะอ่อนแอลงหลังมีการออกพระราชกำหนด 2.การให้ธปท.ไปจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ทำให้ธนาคารต้องส่งภาระต่อไปให้ลูกค้า ทำให้ระบบธนาคารมีผลทางลบที่จะไปผลักภาระให้ลูกค้าธนาคารเพราะธนาคารพาณิชย์จะมีต้นทุนสูงขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการจะสูงขึ้นมีผลต่อการแข่งขันหรือภาระดอกเบี้ย ส่วนผู้มีเงินออม 60 ล้านบัญชีก็จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากลดลง 3.ความไม่ชัดเจนในสถานะของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นการค้ำประกันเงินฝากของผู้มีเงินฝาก ถ้าเกิดสถานการณ์วิกฤติ
อัดรัฐบาลแทรกแซง ธปท.
4. มีการแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลกับธนาคารกลาง รัฐบาลมีการแทรกแซงการทำงาน ทั้งที่ธปท.ควรต้องดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจโดยอิสระ แต่รัฐบาลนี้พยายามแทรกแซงการทำงานด้วยการตรากฎหมายเพื่อจะเข้าไปแทรกแซงเห็นได้จากร่างแรกของพ.ร.ก.ที่ให้อำนาจรัฐบาลถึงขั้นใช้มติครม.สั่งให้ธปท.เอาทรัพย์สินหรือเงินสำรองของธปท.มาชำระหนี้แทนรัฐบาลได้แต่เมื่อมีการคัดค้านทำให้มีการแก้ไขพระราชกำหนดใหม่จากร่างแรก พรก.ฉบับนี้นอกจากไม่ได้สงผลต่อความมั่นคงทางเสรษฐกิจแล้วยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ชี้ยื่นตีความ เหตุไม่เห็นความพร้อมการใช้เงิน
นายกรณ์ ยังชี้แจงถึงพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัด การน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่ารัฐบาลมีหน้าที่ต้องเร่งรัดกำหนดและนำแผนไปปฏิบัติไม่ให้เกิดเหตุน้ำท่วมอีกในปีนี้ ประเด็นที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เรายื่นศาลก็คือ เราไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องกู้ยืมเงิน เรามองว่าความพร้อมของรัฐบาลในการใช้เงินไม่มี รัฐบาลไม่มีความพร้อมและความชัดเจนในการกู้ยืมเงินเป็นกรณีพิเศษโดยออกเป็นพ.ร.ก. เห็นได้จากจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนของแผนงานต่างๆ เช่นแผนฟื้นฟูลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีแผนปฏิบัติการบรรเทาและดูแลลุ่มน้ำต่างๆ การใช้เม็ดเงิน 3 .5 แสนล้านบาท ก็ไม่มีรายละเอียดใดๆ ไม่มีการกำหนดโครงการให้ชัดเจนว่าจะทำเมื่อไหร่อย่างไร
ยกคำสัมภาษณ์ กยน. ประกอบคำชี้แจง
นายกรณ์ กล่าวว่า ตนขอยกคำให้สัมภาษณ์ของกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน(กยน.)เช่น นายสมิทธ ธรรมสโรช ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่าแผนงานแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลไม่เป็นรูปธรรม การพิจารณาแผนงานก็ไม่มีการพิจารณาข้อเสนอจากฝายต่างๆ เช่นฝ่ายวิชาการแต่กลับใช้เวลาไม่กี่วินาทีเห็นชอบแผนงานใช้งบ 3.5 แสนล้านบาททั้งที่ ไม่มีแผนงานชัดเจนเช่นทางน้ำผ่านจะทำอย่างไร ไม่มีรายละเอียดของฟลัดเวย์ การผันน้ำจะไปทางไหน รวมถึงยังอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายปราโมทย์ ไม้กลัด หนึ่งในกยน.อีกคนหนึ่งที่บอกว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลไม่มีแผนชัดเจน แผนของกยน.ก็ไม่มียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม การเตรียมตัวรับมือ การแถลงแผนแม่บทแก้ปัญหาเป็นแค่แผนในกระดาษ ที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมอาจไม่ถาวร
ยันออกเป็น พ.ร.บ. ทันรับมือน้ำท่วม-แก้ศก.ได้
“รัฐบาลไม่ได้จริงใจในการจัดสรรเงินไว้แก้ปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด ทั้งที่ช่องทางตามกฎหมายงบประมาณก็เปิดช่องไว้แต่กลับไม่ใช่ตอนนี้ยังไม่สายเกินไป ยังมีทางเลือกอยู่สามารถออกพรบ.งบกลางปีให้สภาพิจารณาก็ยังทัน เป็นพรบ.งบกลางปี 1 แสนกว่าล้านบาทเพื่อไปกู้เงินได้ตามพ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ถ้าเริ่มทำตอนออกพรก.แล้วเสนอเข้าสภาก็ยังทันแม้ทำวันนี้เดือน มี.ค. ก็ยังทันเดือนมีนาคมที่จะเอางบประมาณแสนกว่าล้านไปใช้ในการฟื้นฟูลุ่มน้ำได้แล้วส่วนที่เหลือก็ไปออกพ.ร.บ.งบปี 56 ก็ยังทันการรับมือน้ำท่วมในช่วงปลายปีได้ทัน ไม่ได้ทำให้เสียเวลาและโอกาสในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ถ้าใช้ช่องทางนี้แทน จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจทางการเงินได้
“การที่ออกพ.ร.ก.แบบนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากถ้ารัฐบาลใดๆ สามารถตราพรก.แบบนี้ได้โดยไม่จำเป็นเร่งด่วนก็จะเปิดช่องให้ทุกรัฐบาลใช้วิธีนี้หลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภาและลิดรอนสิทธิหน้าที่ฝายนิติบัญญัติและกู้ยืมเงินเกินกรอบเพดานเงินกู้ที่กำหนดกรอบไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินของประเทศ “ นายกรณ์ กล่าว
"คำนูณ"แจงไม่ต้องเร่งด่วน เหตุมีงบกลาง1.2แสนล้าน
ขณะที่นายคำนูณ ชี้แจงว่า การตรา พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญม.184 วรรคสอง ที่ครม.ไม่มีเหตุอันถือได้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จนกระทั่งต้องเร่งให้มีการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว อันเป็นข้อยกเว้นในการตรากฎหมายของฝ่ายบริหาร โดยไม่ต้องทำเป็นพ.ร.บ.เพื่อเสนอต่อสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน แต่ครม.จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่าต้องมีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความปลอดภัยของประเทศ และสาธารณะ แต่ในท้าย พ.ร.ก.ฉบับนี้ครม.ได้ระบุถึงมีเหตุฉุกเฉินไว้ว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการฟื้นฟูประเทศ และการบริหารจัดการน้ำ จะต้องดำเนินการหลายแนวทางพร้อมกัน โดยแนวทางหนึ่งคือการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาเพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงิน ปี 2540 โดยต้องปรับปรุงการชำระหนี้ใหม่เพื่อไม่ให้กระทบงบประมาณของประเทศ ซึ่งคณะของตนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่รัฐบาลได้ชี้แจงว่า รัฐบาลต้องการลดภาระการชำระหนี้ลงไปปีละประมาณ 60,000ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในภารกิจอื่นในความจำเป็น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศในการลงทุน ซึ่งรัฐบาลได้จัดการการชำระหนี้ต่องบประมาณได้มากขึ้น และจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไปให้ขาดดุลน้อยลง
นายคำนูณ กล่าวว่า แม้ตนและคณะได้เห็นด้วยในท้ายพ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ตนและคณะไม่เห็นด้วยกับวิธีการออกพ.ร.ก. เพราะกรณีดังกล่าวยังไม่เป็นกรณีรีบด่วน ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง เนื่องจาก 1.รัฐบาลมีงบประมาณที่จะใช้ในการฟื้นฟูและบริหารจัดการน้ำ หรือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อยู่แล้ว หรือสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อนอยู่แล้ว เนื่องจากมีเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2555 เป็นงบกลางจำนวน 1.2แสนล้านบาท และเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น 66,000ล้านบาท และงบประมาณตามแผนงานทรัพยากรน้ำและความเสียหายจากภัยพิบัติ และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานของกระทรวง หรือกรมอื่นอีกจำนวนมาก เรื่องนี้ปรากฏตามพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2555 ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วรอเพียงการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และยังมีเงินนอกรายจ่ายประจำปี คือเงินจากการตรา พ.ร.ก.อีก 3 ฉบับที่ได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณใช้ถึง 7 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอในการดำเนินการได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.ฉบับนี้แต่อย่างใด
แจงพ.ร.ก. แค่ผลักภาระรายจ่ายประจำปี
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนข้อ 2 ในขณะที่ครม.ได้มีมติให้มีการตราพ.ร.ก.ฉบับนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2555 แล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค. โดยในพ.ร.บ.นี้ได้ระบุรายจ่ายของกระทรวงการคลังในการชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่รัฐบาลต้องการลดภาระการชำระหนี้ของกระทรวงการคลังไว้ทั้งหมดแล้ว และวุฒิสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบในเวลาต่อมา รัฐบาลจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณ หรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการชำระหนี้ของเงินกองทุนในพ.ร.บ.รายจ่ายฯได้อีก หากรัฐบาลต้องการนำเงินที่ต้องการชำระหนี้ของกระทรวงการคลังในพ.ร.บ.งบประมาณฯก็ต้องไปดำเนินการในพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2556 และการตราพ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะลดลงแต่ประการใด เพียงแต่เป็นการผลักภาระจากการตั้งจ่ายประจำปีเท่านั้น การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้จึงไม่ส่งผลให้รัฐบาลมีงบประมาณเร่งด่วนที่จะใช้ได้อย่างรวดเร็วแต่อย่างใด และครม.ยังมีเวลาเพียงพอในการออกในรูปแบบพ.ร.บ.ให้รัฐสภาเห็นชอบ เพราะขณะนี้อยู่ในสมัยสามัญนิติบัญญัติ และพ.ร.ก.นี้มีเพียง 13 มาตราเท่านั้น อีกทั้งในทางการเมืองรัฐบาลเองก็มีเสียงข้างมากในสภาการตรากฎหมายจึงจะทำได้โดยตลอด ไม่มีอุปสรรคใด
ยัน รัฐบาลยังกู้เพิ่มได้
นายคำนูณ กล่าวว่า ในประเด็นที่ 3 ในเฟชบุ๊คของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ก็ระบุว่า ปัจจุบันสัดส่วนภาระการชำระหนี้เงินกู้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีของงบประมาณปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.33 โดยเป็นการชำระหนี้เงินต้นจำนวนร้อยละ 1.97 และชำระดอกเบี้ย 7.36 ดังนั้นรัฐบาลจึงมีขีดความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ได้อีก 5.67 จึงจะครบสัดส่วนการเพดานการชำระหนี้เงินกู้ร้อยละ 15 ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลของรัฐบาล ที่นายกิตติรัตน์ แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่าสัดส่วนชำระหนี้ของรัฐบาลเหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างมีนัยยะ และข้อ 4 ก่อนหน้าการออกพ.ร.ก.นี้มีการเผยแพร่ร่างของพ.ร.ก.จนส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ว่าจะทำให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงสินทรัพย์ของประเทศ ส่งผลให้ธนาคารของประเทศไทยในฐานะธนาคารของประเทศขาดเสถียรภาพ ขาดความน่าเชื่อถือในความมั่นคงทางการเงิน จนเกิดมีการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี กับธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานกฤษฎีกา เป็นผลให้มีการแก้ไขความในพ.ร.ก.ดังกล่าว หลายมาตรา เมื่อพ.ร.ก.บังคับใช้แล้ว ยังมีเสียงทักท้วงจากสมาคมธนาคารไทยเนื่องจากจะเป็นการผลักภาระให้กับธนาคารพาณิชย์ของไทย และสูญเสียการแข่งขันการธนาคารต่างประเทศ และสูญเสียการแข่งขันกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ การเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากรัฐบาลตราพ.ร.บ.งบประมาณตามปกติ เพราะจะมีเวลา และเวทีสร้างความเข้าใจในขั้นตอนของรัฐสภา
"กิตติรัตน์" ยันครม. ตระหนักรักษาความมั่นคง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าว่า การอยู่ฝ่ายบริหารต้องบริหารรอบคอบ ตระหนักว่าการใช้ดุลยพินิจใดๆ ย่อมมีส.ส.และส.ว.จำนวนหนึ่มีความเห็นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อออกพ.ร.ก. คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญโดยได้ตระหนักถึงภารกิจในกรณีเพื่อรักษาความปลอดภัยจากภัยพิบัติและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ภาวะอุทกภัยที่ผ่านมาทำให้ตัวเลขสุทธิการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอย
ระบุหากไม่ทำอะไร หนี้สาธารณะเพิ่มถึง 50%
นายกิตติรัตน์ จึงได้ชี้แจงต่อว่า ยอมรับว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีประมาณ 4.2ล้านล้านบาท และสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นเพราะหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60%ของจีดีพี แต่ถ้าเราไม่มีการจัดการอะไรและมีความจำเป็นต้องกู้เงินอยู่จะส่งผลให้มีหนี้สาธารณะถึง 50% โดยในนั้นจะมีหนี้ส่วนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ คือ หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านบาท จึงเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีการจัดบริหารหนี้ส่วนนี้อย่างเป็นระบบ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีการบอกว่าจะลดหนี้ก้อนหนี้อย่างไร
แจงลดเก็บเงินเข้ากองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากปรึกษาธปท.
"หนี้ส่วนนี้เป็นของประเทศไม่มีความประสงค์ยัดเยียดให้เป็นหนี้ของหน่วยงานใดเพียงลำพัง ส่วนการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กระทรวงการคลังได้ปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยเล็งเห็นว่าสถาบันการเงินของไทยในเวลานี้มีความเข้มแข็งภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศจนเงินในกองทุนของสถาบันมีสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปกองเอาไว้ ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากก็ยังเปิดโอกาสให้สามารถกลับมาเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้อยู่แล้วในอัตราไม่เกิน 1%" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศ กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์ว่า อัตราการเรียกเก็บหากไม่เก็บเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมไม่เกิน 0.52%จะไม่มีผลกระทบจนทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเป็นเหตุให้กำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลงส่งผลให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย ซึ่งกรณีนี้เรียกเก็บเพียง 0.47%เท่านั้น
ยันพร้อมมีแผนงานรองรับ
"การดำเนินการตามงบประมาณ 2555และ2556 มีจุดประสงค์ลดการขาดดุลงบประมาณลงและดำเนินการจัดตั้งระบบป้องกันภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอาจใช้เวลายาวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ยืนยันว่าเรามีแผนงานแล้วโดยสอดรับแผนแม่บทลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตครอบคลุมการฟื้นฟูป่า เส้นทางผันน้ำ การดำเนินการสร้างฐานข้อมูล และการกำหนดพื้นที่รับน้ำเพื่อรองรับหากเกิดกรณีที่มีปริมาณน้ำฝนมากเท่ากับปี2554 ยอมรับว่าการดำเนินโครงการจนมีความสมบูรณ์ในเม็ดเงิน 3.5 แสนล้านบาทต้องใช้เวลาอยู่บ้าง บางโครงการใช้เวลามากกว่า 1-2 ปี ซึ่งตอนนี้มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างสิ่งต่างๆเพระาหน้าที่ของรัฐบาล คือ การสร้างความมั่นใจผ่านกระบวนการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมอีก " นายกิตติรัตน์ กล่าว
ตุลาการซักหากโอนหนี้เป็นหนี้สาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากนายกิตติรัตน์ ชี้แจงเสร็จ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามว่า เมื่อมีการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ หนี้ส่วนนี้ยังไม่พ้นความเป็นหนี้สาธารณะใช่หรือไม่และการจะกู้เงินตามพ.ร.ก.สองฉบับที่ผ่านไปแล้ว (พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยพ.ศ.2555) รวมไปถึงพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาทด้วย จำเป็นต้องผลักภาระการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไปให้พ้นก่อนถูกต้องหรือไม่เพื่อให้ภาระงบประมาณรายจ่ายในเรื่องนี้ลดลง
"กิตติรัตน์" แจงยังเป็นหนี้สาธารณะแต่รัฐไม่ต้องตั้งงบ
นายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า ยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ แต่จะ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2556 ต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดูแล และการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกจะเริ่มในวันที่ 31 ก.ค.2555 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีความพร้อมในการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมไปสมทบกับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเพราะมีกองทุนเพื่อฟื้นฟูฯมีทรัพย์สินที่ดูแลอยู่ส่วนหนึ่งและสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนในจำนวนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเอาไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
"ไม่มีข้อสมมุติว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องเอาผลกำไรจากการดำเนินงานของตัวเองมาสมทบในส่วนนี้ด้วย แต่ไม่เชื่อว่าจะมีเหตุผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องไปมุ่งแสวงหากำไรเพื่อมาลดหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ตุลาการซักทำไมออกพ.ร.ก.ช่วงเปิดสภา
นายวสันต์ ถามอีกว่า ตามหลักฐานที่ปรากฎรัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เข้าสู่สภาฯในเดือนพ.ย.2554 หลังจากนั้นมีช่วงเวลาปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปจนถึงปลายเดือนธ.ค.ทำไมรัฐบาลไม่พิจารณาออกพ.ร.ก.ในช่วงนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าชิง ออกพ.ร.ก.ทั้งๆที่สภาเปิดสมัยประชุมอยู่ เพราะถ้าออกพ.ร.ก.ช่วงสภาปิดเสียงครหาจะน้อยกว่านี้
"กิตติรัตน์" ย้ำทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำ
นายกิตติรัตน์ กล่าวพร้อมถอนหายใจบางช่วงว่า "เออ...ผมเองไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดทางการเมืองเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจ เรื่องของเงื่อนเวลาขอเรียนตามจริงว่าผมเองได้พูดต่อสาธารณชนหลายครั้งว่าการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำมีความจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินหลายแสนล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาความเสียหายจากการสำรวจของธนาคารโลกและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น เรื่องเงื่อนเวลาจึงไม่คำนึงว่าถ้าจะไปเร่งตรงนั้นแล้วจะเกิดผลประโยชน์ที่ดีกว่าในทางการเมืองอะไร"
"วสันต์"ถามออกพ.ร.ก.เหมือนไม่เคารพฝ่ายนิติบัญญัติ
นายวสันต์ ถามเพิ่มเติมว่า ถ้าออก พ.ร.ก.ช่วงปิดสภาฯจะมีข้อแก้ตัวได้แต่การที่มาออก พ.ร.ก.ทั้งๆที่สภาเปิดอยู่เหมือนไม่ให้ความเคารพฝ่ายนิติบัญญัติเลย ตรงนี้ทำไมไม่คิดออกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะอุทกภัยก็เห็นๆกันอยู่ กว่าจะถึงสิ้นปี 2554 น้ำในบางแห่งก็ยังไม่แห้ง ซึ่งเห็นสภาพความเสียหายและวิธีการป้องกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว กรุณาตอบว่าทำไมตอนนั้นจึงไม่คิดในช่วงเดือนธ.ค.2554 ทั้งเดือน
แจงทำตามกรอบเพื่อให้ชัดเจน
นายกิตติรัตน์ ชี้แจงอีกครั้งว่า การดำเนินการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) ได้มีการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งการที่ทำให้เกิดกรอบที่ชัดเจนว่าเรามีความจำเป็นจะต้องลงทุนด้วยวงเงินงบประมาณเท่าไหร่ความจำเป็นที่ต้องมีคำอธิบาย ถ้าเราเร่งดำเนินการอะไรถ้ายังไม่เกิดความแน่ชัดว่าจะเป็น3.5 แสนล้านบาท หรือตัวเลขอื่นๆ และเสนอตัวเลขสูงเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียความเชื่อมั่นได้เพราะมองว่ารัฐบาลชุดนี้อยากจะใช้เงินฟุ่มเฟือย หรือ การเสนอตัวเลขต่ำไปและในที่สุดต้องมาแก้ไขในภายหลังย่อมจะสูญเสียความเชื่อมั่นอีก
"เรื่องนี้ผมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที 27 ธ.ค.ไม่ได้มีความเข้าใจหรือความชำนาญในเรื่องของการเสนอในช่วงสภาปิดหรือสภาเปิดแต่อย่างใดด้วยความเคารพ" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ย้ำหากไม่ดูแลหนี้ส่งผลกระทบวินัยการคลัง
ด้านนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่า พ.ร.ก.เกี่ยวกับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯอยากทราบว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไรกับแผนบริหารจัดการน้ำ
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ได้ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เห็นว่าการที่พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 มีความล่าช้าและดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล 4 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่ต้องลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาทและกองทุนประกันภัยพิบัติ 5 หมื่นล้านบาท เรากำลังดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับงบประมาณ 2556 ที่เริ่มในเดือนต.ค.2555 และต้องกู้เงินตามความจำเป็น 1 ล้านล้านบาท ซึ่งการที่มียอดเงินสูง1 ล้านล้านบาทและมาเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มเติม หากไม่มีการดูแลหนี้สาธารณะเดิม 4.2 ล้านล้านบาทเพื่อให้ชำระหนี้ได้จะเป็นปัญหา และถ้าในปี2556 ดำเนินการล่าช้าจนนำไปสู่การตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้กับหนี้ 1.14ล้านล้านบาทอีกจะส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ถึงวินัยการเงินการคลังในเรื่องของความตั้งใจลดการขาดดุลง
ขณะที่นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่า การที่ระบุว่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 0.47% และชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อมารับภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งการที่ระบุว่าถ้าการจัดเก็บไม่ถึง 0.52%จะไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ฝากเงินและผู้กู้ ไม่สร้างความเดือดร้อนและเป็นภาระ จึงต้องการทราบตัวเลข 0.52%คำนวณจากอะไร และ การไม่ตั้งงบประมาณในปี 2556 เพื่อชำระดอกเบี้ยในหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯซึ่งและการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกจะเริ่มในวันที่ 31 ก.ค.2555 จึงสงสัยว่าถ้าเสนอเป็นพ.ร.บ.เข้ามาจะทันกับช่วงเวลาที่จะได้เงินค่าธรรมเนียมในเดือนก.ค.2555 หรือไม่
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้ข้อสมมติว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเงินฝากของธนาคารยังคงยืนอยู่จุดเดิม ซึ่งการจ่ายเงินค่าธรรมเนียม 0.47% สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กำไรก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจะลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรที่ลดลงเป็นจ่ายในอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% แต่ขณะนี้ในปี 2555 รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่าจะปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 23% ทำให้ผลกำไรสุทธิก็ยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นในอัตราของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.47%
"ผู้กู้ยังจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเดิม ผู้ฝากยังรับดอกเบี้ยเหมือนเดิม ผู้ถือหุ้นที่รอรับเงินปันผลจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำ ส่วนการกำหนดวันส่งเงินให้เริ่ม31ก.ค.เพราะการคำนวณฐานเงินฝากจะเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.ไปจนถึงมิ.ย.เพื่อให้เริ่มการส่งเงินในเดือนก.ค.ได้ และถ้ากระบวนการจัดทำพ.ร.บ.ต้องใช้เวลานานจนทำให้รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้องและนำไปสู่การตั้งงบประมาณปี 2556 เพื่อดูแลดอกเบี้ยในหนี้ 1.14ล้านล้านบาทต่อไปย่อมเกิดความสงสัยว่าหนี้ส่วนนี้จะไม่เป็นหนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณได้หรือไม่ ในทางกลับกันถ้าดำเนินการพ.ร.ก.จะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยส่วนนี้ในปีงบประมาณ 2556 " นายกิตติรัตน์ กล่าว
นัดฟังคำวินิจฉัย 22 ก.พ. 14.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการชี้แจงกว่า 3 ชั่วโมงนายบุญส่งได้แจ้งให้ทั้ง 2 ฝ่ายทราบว่าคณะตุลาการฯได้มีบันทึกถ้อยคำของผู้ชี้แจงไว้ทั้งหมดแล้ว และมีคำสั่งให้รับบันทึกที่นายกรณ์ นายคำนูณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอยื่นเพิ่มเติมรวมไว้ในสำนวนแล้ว
ส่วนที่นายกรณ์ขอให้ศาลเรียกพยานบุคคลเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมรวม 3 ปาก คือนายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายบรรเจิด สิงคเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และที่นายคำนูณขอให้เรียกเพิ่มเติม คือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ศาลเห็นว่าไม่ใช่การไต่สวนพยานจึงไม่จำเป็นต้องเรียกพยานตามที่ขอแต่รับบันทึกถ้อยคำของบุคคลเหล่านั้นไว้ ซึ่งหลังจากนี้ศาลจะพิจารณาคำร้องดังกล่าวและนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 22 ก.พ. เวลา 14.00 น.
'อภิสิทธิ์'ซัด'กิตติรัตน์'รับเองไม่กระทบหนี้สาธารณะ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ซัด"กิตติรัตน์" รับเองไม่กระทบหนี้สาธารณะจึงไม่เร่งด่วน ควรออกเป็นพ.ร.บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการพิจารณารับฟังคำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯให้สัมภาษณ์ว่า การชี้แจงของนายกรณ์ จาติกวณิช ต่อศาลถือว่าสมบูรณ์เพราะประเด็นที่พิจารณาไม่ใช่เรื่องว่าเป็นภารกิจหรือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นเรื่องว่า ถ้าไม่ทำแล้วจะกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ กระทบต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและกระทบต่อการป้องกันภัยพิบัติหรือไม่ และเป็นประเด็นทั้งหมดนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่
ซึ่งคิดว่า คำชี้แจงเราเห็นชัดเจนว่า แม้ไม่มี พ.ร.ก.2 ฉบับนี้ ก็ไม่กระทบต่อความปลอดภัย ความมั่นคงและไม่ใช่เรื่องความจำเป็นเร่งด่วน แต่อย่างใด หรือสรุปง่ายๆคือ แม้ไม่มีพ.ร.ก. 2 ฉบับนี้ ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลขาดแหล่งเงินในการที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อแผนเฉพาะหน้าของรัฐบาลในการบริหารจัดการให้เกิดความเร่งด่วนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับแผนในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และขอยืนยันว่า การออก พ.ร.ก.2 ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และถ้ารัฐบาลยังยืนยันจะใช้แนวทางควรต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) และมีกฎหมายนี้มีเพียง 13 มาตรา ซึ่งสามารถพิจารณาทันการต่อการดำเนินการทั้งหมดอยู่แล้ว
จี้ถามหาความรับผิดชอบต่อ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในคำชี้แจงของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.การคลังเองก็ได้ยอมรับแล้วว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ฯไม่ได้มีผลต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งก็ยิ่งชัดเจนว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าศาลชี้ว่า พ.ร.ก.2 ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับใช้ได้ตั้งแต่ต้นแล้ว และถ้าถามถึงความรับผิดชอบ ตนคิดว่าเป็นเรื่องมารยาททางการเมือง หาก ค.ร.ม.มีมติออกกฎหมายซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
เหน็บสำหรับ "เฉลิม" อะไรก็ไม่จำเป็น
เมื่อถามย้ำว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องรับผิดชอบนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับร.ต.อ.เฉลิม อะไรก็ไม่จำเป็นทั้งนั้น และตนก็ไม่ได้บอกว่าจำเป็น แต่บอกว่าเป็นเรื่องของมารยาท เป็นเรื่องของการระบบความรับผิดชอบทางการเมือง และไม่ได้มีอะไรที่จะไปคุกคามความเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่หากไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ก็จะทำให้ต่อไป เราก็เข้าสู่สภาพที่ว่า ค.ร.ม.ออกกฎหมายอะไรมา เมื่อขัดรัฐธรรมนูญ ทำผิดแล้วมีคนจับได้ ก็สามารถทำใหม่ได้ และทำให้ ค.ร.ม.ไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งไหนผ่านไปได้ก็ผ่าน หรือสิ่งไหนถูกจับได้ว่าผิด ก็ทำใหม่ได้อย่างนั้นหรือ
ดักทางอย่าอ้างเรื่องพลาดทางเทคนิค เหตุเจตนาชัดจงใจเบี้ยว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่รัฐบาลเตรียมแผนสองไว้ว่าหากถูกชี้ว่าพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับขัดรัฐธรรมนูญก็จะออกเป็นพ.ร.บ.แทนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากจะออกเป็นพ.ร.บ.ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่เป็นคนละประเด็นกับเรื่องที่ว่า ควรจะมีความรับผิดชอบโดยมารยาทหรือไม่ อย่างไร
เมื่อถามอีกว่า จะเกิดผลกระทบกระเทือนทางสังคมที่จะกดดันกับรัฐบาลหรือไม่ หากไม่แสดงความรับผิดชอบนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคงตอบแทนสังคมไม่ได้ ส่วนกรณีที่อาจจะมีการอ้างว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค และไม่ได้มีเจตนานั้น เรื่องนี้ก็เคยได้ทักท้วงไปแล้ว และเจตนาของรัฐบาลชัดเจนมากขึ้น จากการที่มีการไปพิจารณาควบคู่กับเรื่องอื่น ๆ เช่น ขณะนี้ล่าสุดแม้จะเก็บเงินจากธนาคารรัฐเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้เอามาช่วยในเรื่องน้ำท่วม ไม่ได้เอามาใช้หนี้ใดๆ แต่กลับเอาไปทำกองทุนพัฒนาประเทศแทน
'กิตติรัตน์'ปัดตอบลาออก หากศาลชี้พ.ร.ก.ขัดรธน.
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"กิตติรัตน์" แจงศาล ออก พ.ร.ก. ทำถูกต้อง ปัดตอบสปิริตลาออก หากศาลชี้ขัดรัฐธรรมนูญ โยนรอเวลาตัดสิน คุยมาถูกทางหลังยังไร้ผลกระทบทางลบ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนได้ชี้แจงว่า มั่นใจในกระบวนการใช้ดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี ที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการออกพระราชกำหนดทั้ง4ฉบับ และรวมถึงกองทุนส่งเสริมการทำประกันภัยพิบัติด้วย โดยที่ตนชี้แจงนั้นเป็นประเด็นที่จะต้องลงทุนอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีกการวางระบบบริหารการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีการพิจารณาเป็นพระราชกำหนดในวันนี้ และการตั้งกองทุนส่งเสริมการทำประกันภัยพิบัติจำนวน 5 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 4 แสนล้านบาททั้งนี้จำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่างบประมาณขาดดุลในปี 55 ที่ผ่านสภามา ใช้วินัยการคลังระดับเดียวกันกับรัฐบาลเดิมและในงบประมาณปี 56 ตนก็หลีกเลี่ยงที่ชี้แจงตัวเลขแต่ยืนยันว่าจะขาดดุลน้อยลงแน่ ซึ่งการดำเนินนโยบายการคลังที่วางงบประมาณให้ขาดดุลน้อยลง ก็คงจะปรากฏตัวเลขระดับหลายแสนล้านบาทเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อรวมเป็นตัวเลขเงินที่ต้องกู้ก็เกินกว่า 1ล้านล้านบาทที่จะต้องดำเนินการ
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เรามีตัวเลขของหนี้สาธารณะอยู่ที่ 4.22 ล้านล้านบาท แต่การที่จะเริ่มเข้าไปใกล้เพดานร้อยละ 60 มากขึ้นเรื่อยๆ เราต้องตอบให้ชัดเจนว่าหนี้เก่าที่เป็นหนี้สาธารณะเดิมที่มีระดับถึง 1.14 ล้านล้านบาทนั้น เราจะต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วว่า เมื่อดำเนินการตามนั้น งบประมาณปี 56 ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งให้แล้ว ดังนั้นการดำเนินนโยบายขาดดุลน้อยลง มีวินัยเข้มแข็งขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้ แล้วก็ใครจะมาซักไซ้ไล่เรียงว่ามีหนี้เก่าไม่ดูแล ก็ไมจริง เพราะมันชัดเจน ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยยืนยัน อย่างไรก็ตามหนี้สาธารณะนั้น ใช้เวลาอีกเพียงกว่า20ปีก็หมดลง แต่ความจริงแล้วไม่ต้องถึงขนาดหมดลงเลยก็ได้ ให้มันลดลงเรื่อยๆและอยู่ในสายตาผู้คน ก็ย่อมดีกว่า จะไม่ลดลงเลย และตอบใครไมได้ แล้วมาตั้งงบประมาณทุกปีละ6หมื่นล้าน เหตุนี้ตนจึงพยายามชี้แจงว่าอะไรเป็นสิ่งฉุกเฉิน เพราะช้าไปก็ต้องไปตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยปี56อีก สุดท้ายงบประมาณขาดดุลปี56 ก็ไม่ลงอีก ความไม่เชื่อมั่นในเรื่องอื่นๆ ก็ตามมาอีก
“เป็นเรื่องที่ระมัดระวัง อะไรที่ระวังได้ก็ควรระวัง ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆถ้าผิดจนทำให้สังคมและประชาคมโลกไม่ยอมรับ หุ้นต้องตก แต่การที่ตลาดหุ้นไม่ตอบสนองในทางลบจากการที่รัฐบาลดำเนินการมา ตั้งแต่ตอนเป็นข่าวออกมาช่วงธันวาคม 54 ถึงมกราคมที่ผ่านมา ที่มีการพิจารณาแล้ว ก็เป็นสิ่งที่บอกว่ามาถูกทางในการมา แต่ก็ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ”นายกิตติรัตน์กล่าว
เมื่อถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีดุลยพินิจไม่ตรงกับที่คณะรัฐมนตรีมองจะเป็นอย่างไร นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ไปล่วงล้ำ ขอเรียนว่ารัฐบาลดำเนินการตามมาตรา184 เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะและรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และ ครม.ก็พิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน รีบด่วน อันมิอาจหลีกลี่ยงได้ หมายถึงการพิจารณาเรื่องอื่นมีความเนิ่นนานและอาจนำไปสู่การตั้งงบปี56 ที่ไม่แน่นอน ว่าจะมีการดำเนินการในส่วนลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และระดับหนี้สาธารณะจะลดอย่างไร ทำให้เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ตนก็เรียนเหตุผลที่ครม.ใช้พิจารณา ก็คงต้องรอผล
เมื่อถามว่า หากศาลตีความว่าการออก พ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต้องแสดงออกอะไรหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ไปสมมติ
เมื่อถามย้ำอีกว่า ผู้ที่รับผิดชอบจะเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ก็รับผิดชอบด้วยกัน ก็ทำงานไปตามกฎหมาย ก็จะบริหารประเทศไปตามที่ควรเป็น อย่าไปตั้งข้อสมมติ เพราะการสมมติจะเป็นการไม่เคารพในดุลยพินิจที่จะออกทางหนึ่งก็ได้ เราก็ทำงานทั้งระบบ ก็พยายามทำงานที่ดีที่สุด ส่วนในเรื่องการที่ศาลติดใจซักถามในเรื่อง พ.ร.ก. โอนหนี้ ถึงความจำเป็นเร่งด่วนนั้น ตนมองเป็นเรื่องดี เพราะทำให้มีโอกาสในการอภิปราย และตนก็ได้อธิบายอย่างเป็นเหตุผลที่ ครม.ใช้ดุลยพินิจ
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี