2540 …2555 วิกฤติทางการเงินที่ควรระวัง
โดย : ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผมได้มีโอกาสซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านใน AMAZON ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่จะพูดคุยกันในครั้งนี้
ชื่อหนังสือก็แปลกดี “What The Hell is Going on with … The Greek Financial Crisis” โดย Stephen Dove หรือแปลเป็นภาษาไทย (ภาษาสุภาพ) ว่า "มีอะไรเกิดขึ้นกับวิกฤติของกรีซกันเนี่ย" โดยผู้เขียนได้เปรียบเทียบหลายๆ อย่างน่าสนใจ โดยผมจะเล่าเนื้อหา และนำเอามุมมองของผมเข้าไปประกอบเชิงเปรียบเทียบให้ดูกันครับ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 หรือ ปี ค.ศ. 2001 เป็นปีที่เริ่มต้นของการเริ่มใช้เงินยูโร ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมเงินยูโรทั้งสิ้น 17 ประเทศ โดยการเริ่มต้นดำเนินการใช้เงินสกุลหลัก หรือ ยูโร เป็นการเริ่มต้นโดยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแปลงค่าของเงินแต่ละสกุล อาทิเช่น จากเงินมาร์คเยอรมัน ฟรังก์ฝรั่งเศส อิตาเลี่ยนลีล่า ไปเป็นเงินยูโร และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผนึกกำลัง ของการจัดการทั้งด้านทรัพยากร นโยบาย และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อหวังจะเป็นการดำเนินเขตเศรษฐกิจที่เป็นหลักที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก
การดำเนินการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และการเริ่มต้นการใช้เงินสกุลกลาง คือ ยูโร (EUR) มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับราคาอ่อนค่าลงในการแลกเปลี่ยน 1 ยูโร ต่อ 0.85 ดอลลาร์ หรือ แข็งค่าเป็น 1 ยูโร ต่อ 1.45 ดอลลาร์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน มีการเปลี่ยนแปลงที่ปรับขึ้นลงอยู่ตามสภาพความแข็งแรงของแต่ละประเทศ ถ้าแข็งแรง ค่าเงินก็จะแข็ง ถ้าอ่อนแอค่าเงินก็จะอ่อน (ก็เป็นปกติไม่ใช่หรือ)
มีการตั้งคำถามหลายๆ คำถาม ทั้งจากผู้เขียนหรือบุคคลทั่วๆ ไป ว่าปัญหาวิกฤติของกรีซมีความสำคัญอย่างไร หรือ มีต้นเหตุมาจากไหน แต่ก่อนที่จะไปในส่วนนั้น ผมขอกล่าวถึงความสำคัญของกรีซก่อน ทุกท่านคงจำได้ว่ากรีซ เป็นประเทศที่มีความสวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางจากทุกมุมโลกไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากไทย สหรัฐอเมริกา หรือที่อื่นๆ กรีซเป็นประเทศแรก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ สิ่งในประวัติศาสตร์ เช่น การเริ่มต้นของกีฬาโอลิมปิก และนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน รายได้ที่เกิดขึ้นของกรีซ ส่วนใหญ่เป็นรายได้การการให้บริการ และการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากนอกประเทศ หากการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงวันนี้
คำถามแรก คือ ปัญหาหนี้สินที่กรีซมีในปัจจุบัน หากต้องชำระคืนจะดำเนินการอย่างไร สมมติฐานที่น่าสนใจคือ จากการที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินอ่อนค่าลง และแข็งค่าขึ้นของยูโรในปัจจุบัน เป็นผลส่วนหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ มีการเดินทางไปประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นน้อยลง
ลองจินตนาการว่า จากเดิมที่ค่าห้องพักในโรงแรมในมิลาน จากเดิมมีการกำหนดราคา 100 ยูโรต่อคืน หรือประมาณ 135 ดอลลาร์ต่อคืน จากเดิมที่มีราคาน้อยกว่า 100 ดอลลาร์ต่อคืนเมื่อเริ่มต้นใช้เงินยูโรในปี 2544 หากพักมากกว่าอาทิตย์ เงินที่ต้องใช้ในการเที่ยวหรือพักในประเทศนี้ก็จะต้องใช้มากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือ นักท่องเที่ยวก็จะเข้าไปพักน้อยลง หรือเลือกที่จะไม่ไปเลย และไปประเทศอื่นๆ แทน
จากจุดเริ่มต้นของการใช้เงินสกุลกลาง และการดำเนินเขตเศรษฐกิจใหม่ของทางยุโรป ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นผลตามที่ได้คาดการณ์ไว้ สิ่งที่สำคัญและเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจนั้นมีด้วยกันหลายมุม ไม่ว่าจะเป็น อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเพียงปัญหาเดียวที่ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบันหรือเปล่า และปัญหาด้านโครงสร้างรายได้ของประเทศที่เกิดจากกิจกรรมทางการค้านั้นเป็นอีกหนึ่งปัญหาหรือเปล่า แล้วจะทำอย่างไรต่อไป
จากการเริ่มต้นปัญหาที่เราเจอในอาเซียน ประเทศไทยของเราเปรียบเสมือนประเทศที่เริ่มต้นของความตื่นตัว และเป็นผลให้การจัดการ และการปรับเปลี่ยนในการนโยบายทางการเงินการคลังของหลายประเทศ ประเทศในอาเซียนต้องเปลี่ยนแปลงจัดการในหลายๆ ประเทศ แล้วเรื่องที่เกิดขึ้นกับกรีซ จะเป็นการจุดชนวนในการจัดการ หรือการตื่นตัวหลายๆ ประเทศในยุโรปหรือไม่
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ปัญหาของหลายๆ ประเทศในยุโรปปัจจุบัน ไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งพบวันนี้ แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่หลายๆ ประเทศ มีการคุยกันอย่างต่อเนื่อง หลายๆ คนบอกเล่าว่า การเข้าสู่การเป็นสมาชิกของเงินยูโร ผลที่เกิดขึ้น เป็นผลดีให้กับหลายๆ ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตสินค้าขาย เพราะกรีซ มีรายได้จากการให้บริการ (ท่องเที่ยว) มากกว่าการผลิต
ที่น่าสนใจคือ การให้ความช่วยเหลือขององค์การสากล มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสภาพวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น แต่ยังไม่เป็นผล ข้อมูลที่ดูจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การดำเนินการทำไม่ได้ อาทิเช่น กว่า 1 ใน 4 ของประชากรกรีซนั้นรับราชการ (ได้มีการเจรจาลดปริมาณพนักงานราชการลง แต่ไม่สามารถดำเนินการในเชิงปริมาณได้ตามที่ต้องการ) และกว่า 1 ใน 3 ของการเก็บภาษีไม่สามารถดำเนินการได้ (มีเรื่องเล่าในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่น่าสนใจ คือ ในกรีซมีการเก็บภาษีเจ้าของสระว่ายน้ำ ซึ่งมีการระบุว่าจำนวนสระว่ายน้ำที่เสียภาษีในบริเวณกรุงเอเธนส์นั้นมี 324 สระ แต่หากขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจจะพบว่าจำนวนสระน้ำจริงในบริเวณดังกล่าวมีถึง 16,974 สระ)
ปัญหาของกรีซนี้ หากเปรียบเทียบกับปัญหาที่เราเจอในปี 2540 นั้น หลายๆ คนอาจคิดว่าปัญหาไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะขนาดเศรษฐกิจของกรีซนั้นยังมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับยุโรปประเทศอื่นๆ อาทิ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี แต่หากถามว่าแล้ว ความสามารถในการชำระคืนของเงิน จะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าจะเป็นปัญหาที่ตอบยากมาก เพราะเปรียบเทียบประเทศที่มีปัญหาในวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้จากทั้งการผลิต และการให้บริการ และประเทศทั้งหมดมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการคลัง และการเงิน และใช้เวลากว่า 10 ปี ในการทำให้กลับคืนสู่สภาพ
แต่สำหรับประเทศที่มีหนี้สินมาก รายรับไม่เหมาะสมกับรายจ่ายในภาพใหญ่ก็จะแก้ปัญหาได้ไม่ง่าย กอปรกับปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากนี้ คือ การคอร์รัปชันที่อาจมีการดำเนินการอยู่หลายๆ จุด ก็จะเป็นผลให้บั่นทอนความสามารถในการพัฒนาและดำเนินการในประเทศได้ หากเราดูพัฒนาการการจัดการตั้งแต่ที่เกิดปัญหามา ดูเหมือนว่าปัญหายังไม่จบง่ายๆ และเราจะเห็นว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ธนาคาร อีกหลายๆ แห่งที่มีฐานหลักที่ยุโรป ในการลงทุนหรือดำเนินกิจการในประเทศอื่นๆ นอกยุโรปในอนาคต
ข้อสำคัญที่เราเรียนรู้แน่ๆ คือ การดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาประเทศนั้น รายรับ และประเภทของรายจ่ายที่เกิดขึ้น (การจ่ายเงินเพื่อให้เกิดโครงสร้าง และพัฒนา จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แต่จ่ายเงินเพื่อใช้ในกิจกรรมประจำวัน จะเป็นการใช้ที่หมดไปในแต่ละวัน) จะมีผลระยะยาวต่อความมั่นคงของครองครัว หรือประเทศนั้นๆ ยังไม่มีใครรู้แน่ว่าผลสุดท้ายจะสรุปแนวทางการจัดการอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาทางเศรษฐกิจที่เราคงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเตรียมรับมือ
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี