สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มติชน กับคำถามคาใจ

จาก โพสต์ทูเดย์

อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ "มติชนเปลี่ยนไป ความในใจ ฐากูร บุนปาน" จากจุลสารราชดำเนินของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

จุลสารราชดำเนินของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฉบับเดือน ม.ค. 2555 ซึ่งมี นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา เป็นบรรณาธิการ ได้ลงบทสัมภาษณ์พิเศษ “ฐากูร บุนปาน” ผู้จัดการทั่วไป บริษัทมติชนจำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ  “มติชนเปลี่ยนไป  ความในใจ ฐากูร บุนปาน” ถึงคำถามที่เครือมติชนถูกพาดพิง ถึงจุดยืนการนำเสนอข่าว ผลสอบอีเมล์ฉาวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งสัมภาษณ์ โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม และ ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์

จุลสารราชดำเนินฉบับมกราคม2555

“ราชดำเนิน” ระบุว่า  บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ มีขึ้นหลังจาก คณะอนุกรรมการสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกผลสอบกรณีอีเมล์นักการเมืองฉาวพันมายังคนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ  หนึ่งในนั้น พาดพิงมายัง เครือมติชน-ข่าวสดว่า  นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้งโน้มเอียงเป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย จนเกิดการตอบโต้จากเครือมติชน กระทั่งได้ถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ

0 การนำเสนอข่าวสารในภาวะวิกฤตความขัดแย้งปัจจุบัน บทบาทของสื่อที่ควรเป็น คืออะไร ควรเลือกข้างหรือไม่ หรือมีจุดยืนชัดๆ เรื่องหนึ่งเรื่องใดไหม 

ก็ต้องเลือกข้างนะ... เลือกข้างเป็นธรรม ข้างที่ถูกต้อง เอางี้...มีคนตั้งคำถามว่า เฮ้ย..เราแดงเปล่า  ผมก็บอกไม่รู้ คือ ถ้าไปทวงถามเรื่องคนตาย ถ้าทำหนังสือพิมพ์แล้วไม่รู้สึกสะเทือนใจกับการตายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะ คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เด็กอายุ 17 เดินมาที่ซอยรางน้ำ ถูกปืนส่องกบาลตาย แล้วใครรับผิดชอบถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ  เฮ้ย...ทำหนังสือพิมพ์ เราไม่ได้เป็นคนลากคอใครมาลงโทษ  เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือหาความจริง   ถ้าความจริงมันยังไม่เกิด คุณก็ต้องทวงไปเรื่อยๆ 

ตอน 14 ตุลา 6 ตุลา ผมยังไม่ได้ทำงาน แต่ช่วงพฤษภาทมิฬ เราก็ทำอย่างนี้  หนนี้เราก็ทำอย่างนี้ แต่เผอิญมัน  obvious ไปหน่อย   ความจริงเราพูดกันตั้งแต่ตอนพฤษภาทมิฬ จำได้ไหม หลังพฤษภาซัดกันเสียจน รัฐบาลอานันท์ ต้องออกกฎหมายว่า ต่อไปห้ามเอาทหารเข้ามาเพราะเราไม่ได้หมายความว่า ทหารตั้งใจจะมาฆ่าคน แต่เขาถูกฝึกมาอย่างนั้น โดยหลักการปืนต้องหันออกนอกบ้าน ไม่ได้เข้ามาในบ้าน   พอลั่นมามันก็ต้องถูกใครเข้าซักคน  ดังนั้น เริ่มต้นเราก็บอกว่า  หลักการมันผิดแล้ว ไม่  เอา อย่าทำอย่างนี้ 

คุณก็ต้องรู้ว่า เวลาเริ่มต้นมันจะฝุ่นตลบ มีคำถามเยอะแยะมากมาย พอผ่านไป 3-5 ปีกลับมาย้อนดูตัวเอง ถามว่า คุณอายตัวเองไหม ถ้าคุณเชื่อว่า คุณทำถูกต้องแล้ว ยึดถือหลักการ นี่ผมพูดแทน บก.นะ แต่ผมเข้าใจว่า เราคิดคล้ายๆ กัน

0 บทบาทในการนำเสนอข่าว ได้ถ่วงดุล มีสองด้านประกอบตามหลักวิชาชีพแค่ไหน เพียงไร

มันก็มีนะทุกวัน .... จะให้บอกอย่างไร ...อ่าว ลงภาพคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ลงคุณอภิสิทธิ์เลยหรือ ผลสอบที่ออกมาก็บอกว่า มันลงเท่ากัน อ่าว...มีคำถามว่า ทำไมต้องลงยิ่งลักษณ์เป็นภาพข้างบน ...ก็มันของใหม่ แล้วขายได้อ่ะ เป็นคุณทำไงหล่ะ  มันมีผลวิทยาศาสตร์ ตัวเลขสถิติมารองรับ ชัดเจนว่า เฮ้ย... มันของสด นี่มันจึงเป็นหลักปกติ สามัญสำนึกเลย

0 คิดอย่างไรกับ คำว่า สื่อต้องเป็นกลาง

กลางตรงไหนหล่ะ.....

0 หรือว่า มันนามธรรมเกิน

คือ พอเริ่มคิดมันก็ไม่กลางแล้ว ผมก็ไม่รู้จะบอกอย่างไรนะ คือคุณจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม มันต้องมีหลักยึดอยู่อันหนึ่ง ทีนี้ ค่านิยมของสังคมมันเลื่อนไหลได้ สมมติคุณบอกเกาะหลักอย่างนี้ (ยกปากกาขึ้นมา) วันหนึ่งสังคมอยู่อย่างนี้ เขาก็มองคุณว่า อ๋อ กลางดี พอสังคมมันเคลื่อนไปทางขวา  มันก็จะเห็นคุณเป็นซ้าย  พอมันสวิงกลับมาทางซ้าย มันก็เห็นคุณเป็นขวา เขาเคลื่อนมันไปเอง แล้ววันหนึ่งพอมันสวิงน้อยลงซึ่งมันเป็นธรรมชาติของสังคมทุกครั้ง สุดท้ายมันก็ปรับตัวเข้ามาหาความสงบ สันติ หรือ ตั้งสติกันซักพักก่อนมันจะมีปัญหาใหม่ ซึ่งเวลาทำหนังสือพิมพ์ เราก็จะเห็นว่า มันเป็นอย่างนี้ตลอดไม่เฉพาะที่เมืองไทยแต่มันทั้งโลก เพียงแต่ว่า หลังๆ นี้มันเร็วขึ้น แรงขึ้นด้วยผลประโยชน์ที่มันเยอะขึ้นและด้วยเทคโนโลยีที่มันติดต่อสื่อสาร ง่ายขึ้น

0 ช่วงหลังๆมติชนเล่นข่าวสีสันเยอะขึ้นไหม

ต้องถามบก.ผมว่า ถ้ากลับไปดูมติชนดั้งเดิม ตั้งแต่อยู่วัดราชบพิตร มติชนถูกคนเข้าใจไปเองว่า เป็นหนังสือพิมพ์การเมือง ก็ถือว่า ดี เป็นจุดขายที่ชัดเจนดี แต่ว่าไปแล้ว มันเป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นตัวแทนของปัญญาชนจำนวนหนึ่ง  คือ มันจะมีข่าวอะไรที่แปลกๆ กว่าคนอื่น เช่น ข่าวที่บางคนเขาไม่เล่นกัน ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องปกติที่กลับมาเล่นกัน เช่น ขุดค้นโบราณคดีที่ไหน  เศียรพระที่ไหน เพราะเราเชื่อว่ามีคนจำนวนหนึ่งอยากรู้ ความหลากหลายมันเป็นปัจจัยของชีวิต ฉะนั้นมันก็ควรจะเป็นปัจจัยของหนังสือพิมพ์ ด้วย ไม่ใช่บอกว่า คุณเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองแล้ว คุณเล่นอย่างอื่นไม่ได้  ขอโทษนะที่พูดล้ำเส้นบก.ไปหน่อย(หัวเราะ) 

0 เครือมติชนได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในใหม่ กระทบต่ออุดมการณ์เดิมๆของมติชนหรือไม่

เฮ้ย..การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มันไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์เลยนะ การเปลี่ยนแปลงมันทำให้องค์กรกระชับขึ้น ทำให้งานเดินไปราบรื่นยิ่งขึ้น  ส่วนอุดมการณ์อีกเรื่องนึงต่างหาก คุณจะมีบก.ชื่อ คุณ ก. หรือ คุณ ข. อุดมการณ์ก็อันเดิม  เหมือนอย่างที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ใช้ว่า “ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา”  ซึ่งไม่ว่า ใครจะไปใครจะมา หลักคิดมันไม่ได้เปลี่ยน

0 เรื่องการตลาดกับอุดมการณ์ บางคนบอกว่า เวลาเราทำสื่อมันขัดแย้งกัน การตลาดเราก็ต้องพุ่งพิงเรื่องธุรกิจ รายได้ ยอดขาย แล้วอุดมการณ์หล่ะ

มันไม่แย้งกันหรอก เพราะรายได้หลักของของหนังสือพิมพ์ มาจากสองส่วน คือ ยอดขายหนังสือพิมพ์ กับ ขายโฆษณา แต่ที่เป็นหลักจริงๆ คือ ขายหนังสือ  ทำไมไทยรัฐ โฆษณาเยอะกว่าคนอื่น ไปบีบบังคับเขาเหรอ ก็เปล่าๆๆๆ แต่คนมาลงเอง เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ค่าซีพีเอ็มต่ำสุด ค่าโฆษณาไทยรัฐแพงกว่าผมเป็นเท่า  แต่ซีพีเอ็มแล้ว เผลอๆ ต่ำกว่า  ฉะนั้นหลักก็คือว่า  คุณทำอย่างไรที่จะขายให้ได้เยอะที่สุด ไม่ได้หมายความว่า หกคะเมน ตีลังกายังไง เอาหวย รูปโป๋ยังไงอย่างนี้นะ คือ แต่ละเล่มมันก็จะมีความคาดหวังที่ไม่เหมือนกัน อย่างตะกี้คุณบอกว่า มติชน คือ ข่าวการเมือง แต่มันก็ยังเป็นข่าวการเมืองนำ แต่มันยังมีอื่นๆ มาประกอบให้มันครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ข่าวสดไม่ต้องพูดถึง เพราะมันเป็นหัวสี มันยังหกคะเมน ตีลังกา  สนุก ถ้ายังไม่ออกนอกกรอบ

ประเด็นคือ มันไม่ได้ขัดหรอก มันมีของดีตั้งเยอะในโลกนี้ที่ขายได้ ทำไมไอโฟน ไอแพดถึงขายได้และแพงด้วย  เบื้องต้นคุณต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อก่อนว่า ของคุณเป็นของดีจริง เป็นประโยชน์กับเขาจริงๆ อันนี้เป็นฝีมือแล้ว ผมเองก็ต้องดูหลายฉบับ ไทยรัฐ ทำไมทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ ทั้งที่บางค่ายเขาทำกัน พอคิดแล้ว ก็อ๋อ... มันมีเหตุผล ในการตัดสินใจแต่ละเรื่องอยู่

แต่อย่างแรกคือ คุณทำหนังสือพิมพ์ให้ขายได้ก่อนแล้วโฆษณามันมาเอง ให้คุณตั้งตนเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างไร แต่ถ้าหนังสือพิมพ์ขายไม่ได้ก็จบ

0 มันเป็นเรื่องอุดมคติไหม ถ้าเราจะทำสื่อหนึ่งแล้วต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ขุดคุ้ย ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งพาการขาย รายได้ ซึ่งก็ต้องมีกลุ่มทุน อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

(นิ่งคิด)...มันไม่ได้ขัดกันนะ คือ ถ้าตรวจสอบแล้วชาวบ้านเชื่อ ยอดขายมันเพิ่มขึ้น โฆษณามันก็มาเอง   มันไม่ใช่เรื่องขัดกันเลย มันเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ 

0 บางทีเราต้องไปกระทบกับผู้มีอำนาจรัฐโดยตรง

มันก็กระทบกันมาตลอดแหละ  ใครเป็นผู้มีอำนาจรัฐ เขาก็ต้องไม่ชอบหนังสือพิมพ์ นี่ไม่ได้หมายถึง มติชน ข่าวสด  อย่างสื่อก็ไม่มีทางที่จะไปพูดถูกใจเขาได้ 100% พอคุณพูดไม่ถูกหู 10% ก็เป็นเรื่องได้ แล้วส่วนใหญ่เรื่องที่เราพูดไม่ถูกหูเขาเนี่ย มันเยอะกว่า 10% เรื่องปกติ

0 ช่วงที่ผ่านยอดมติชนกับข่าวสดเป็นอย่างไร

ดี...เพิ่มขึ้น ข่าวสดเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในรอบปี นอกจากช่วงยันตระ แต่หลังจากนั้น ผมก็ไม่เห็นมันขึ้นอย่างนี้มาอีก คือ ปกติตอนหลังหนังสือพิมพ์ ยอดมันจะขึ้นแบบขึ้นบันได มันไม่มีแล้ว ที่จะขึ้นลิฟท์ เพิ่งมาปีนี้เพราะด้วยความแหลมคมของสถานการณ์ ด้วยความตื่นตัวของคนอ่าน แล้วก็ที่เราเห็นคือ ยอดขายที่เพิ่มขึ้น แปลว่า ชาวบ้านอ่านหนังสือพิมพ์เยอะขึ้น ยิ่งถ้าไปบวก คุณจะเห็นเรตติ้งเอเชียอัพเดท  ผมเข้าใจว่า เรทติ้งนี้มันสูสี หรือ เฉียดๆ ช่อง 5 เป็นรองแค่ 3,5,7,9

0 มติชนขายดีก้าวกระโดด

มติชนขึ้นประมาณ 10 กว่า% แต่นี่มันเป็นเรื่องของตลาดเลยนะ  เพราะว่า ความที่ข่าวสด เป็นหัวสี มันหกคะเมน ตีลังกา นอกกจากข่าวสถานการณ์แล้ว มันมีอื่นๆ ลูกเล่นแพรวพราว ส่วนมติชน คนอ่านก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นปัญญาชน ชนชั้นกลางขึ้นมาหน่อย โดยตัวตลาดมันก็จำกัดกว่า ข่าวสด อยู่แล้ว

0 อธิบายปรากฎการณ์การเพิ่มขึ้นของข่าวสด เพราะได้เปลี่ยนการนำเสนอ

อ๋อ..ไม่หรอก  ผมว่าเหตุผลเดียวที่ข่าวสดขึ้นก็เพราะ กัดไม่ปล่อย ถามทุกวัน ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า แต่ก่อนผมไม่ค่อยอ่านคุณนะ แต่วันนี้ผมต้องอ่านทุกวัน  เพราะอยากรู้ว่า 91ศพ ไปถึงไหน คุณเป็นฉบับเดียวคุณเขียนอยู่ได้ทุกวัน ทวงอยู่นั่น ผมก็เลยบอก...ครับ เพราะเรื่องนี้ก็ต้องว่าไปถึงที่สุด

0 เสียงวิจารณ์ ว่า เครือมติชนจับตลาดแดงเลยทำให้ยอดดีขึ้น

ไม่จริง ...ผมไม่รู้ว่า เราจับตลาดแดงหรือไม่ แต่เราก็ไม่ได้ทำอย่างอื่น ผมถึงถามไงว่า ถ้าเราทวงเรื่องคนตาย หรือ คนเจ็บแล้วเป็นแดง ผมก็ไม่รู้ว่า ผมจะอธิบายอย่างไรจะไปบอกว่า ผมแดงหรือไม่แดง ก็แล้วแต่คนแล้วกัน หรือ บอกว่า ถ้าผมถามเรื่องคนตาย คนเจ็บแล้วกลายเป็นว่า ผมเกาะตลาดแดง.... คือตอนที่พวกเราทำ เราก็ไม่ได้คิดว่า เอ้ย...มันขึ้น มันลงหรืออย่างไร  แต่ถามว่า มันเหมือนทุกเรื่องที่เราทำ มันควรทำหรือไม่ ต้องทำหรือไม่ (เน้นเสียง) ถ้ามันควร มันก็ตอบได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องอยาก และหลายๆ เรื่องที่เราทำไปแล้ว มันก็มีผลกระทบเรื่องอื่น แต่ทั้งหมด ของฟรีมันไม่มีอะไรในโลกหรอก

0 โฆษณาที่มาลงมีผลกระทบหรือไม่ กับการที่เครือมติชนนำเสนอข่าวในทิศทางเสื้อแดง

ก็เป็นไปได้ แต่ถามว่า แล้วมันทำให้เราต้องเลิกไหมหล่ะ คำตอบก็คือ ไม่..คือ ต้องทำต่อ มันยังไม่จบ

0 วิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้  หลายสื่อถูกตั้งคำถามเรื่องบทบาท การเลือกข้าง เครือมติชนอยู่ในมรสุมที่ท้าทายอย่างนั้นหรือไม่

ไม่รู้ซินะ แต่บทนำหลายๆ เล่มของเราเขียนชัดเจนว่า การเปลี่ยนรัฐบาล มันก็โอเคเปลี่ยนไปตามปกติ  ซึ่งเราสนับสนุนการเปลี่ยนรัฐบาลตามกลไกปกติของประชาธิปไตย เราไม่สนับสนุนการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งมันมีแต่จะสร้างปัญหาตามมา

เรายังคงทวงถาม เรื่องความเป็นธรรม ความจริง และความยุติธรรมอยู่ต่อไป และถ้าเราไม่ทำ เราก็มีปัญหาอีกแบบ และถ้าเราทำ ก็ถูกแล้ว เป็นหน้าที่  ขณะเดียวกัน มันก็มีปัญหาอื่นๆ ตามมา ผมว่า สุดท้ายทุกสื่อก็กลับไปทำหน้าที่เดิม ซึ่งจริงๆ ก็ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนหลังมีคนทำบ้าง ไม่ทำบ้าง สุดท้ายก็เป็นฝ่ายค้านตัวจริงของทุกรัฐบาล

0 คิดอย่างไรกับ ผลสอบของอนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ที่เครือมติชนถูกพาดพิง

หลักผมคืออย่างนี้ 1. คือ มันมีความขัดแย้งในตัวมันเอง  คุณบอกว่า คุณสอบเรื่องอีเมลล์ผิดไม่ผิด คนที่มีชื่อปรากฎ ผิดหรือไม่ ผลสอบบอกว่าไม่ผิด แต่หนังสือพิมพ์ผิด  หนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้เกี่ยวเลย คือ ข่าวสด ที่ถูกอ้างว่า พี่ชลิต รองประธานฯ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ข่าวสด ฉะนั้น ข่าวสดมันไม่ควรจะเกี่ยวกับการสอบสวน  แต่เฮ้ย..คุณเริ่มต้น คุณเริ่มฟาดที่ข่าวสดก่อนเลยนะ  อ่าวแล้วอย่างนี้... ประเด็น ก็คือ ถ้าเป็นกระบวนการพิจารณาของศาล   ศาลท่านไม่ทำ ท่านจะเรียกว่า พิจารณานอกฟ้อง หรือ เกินคำฟ้องไม่ได้ หรือ ลงโทษเกินคำขอไม่ได้ เพราะ 1.คุณไปลากคนที่ไม่เกี่ยวมาให้เกี่ยวจนได้ ทำได้ไงเนี่ย  2. ไอ้นี่ ไม่ผิด แต่องค์กรต้นสังกัดผิด อ่าว..แล้วยังไง... ผมก็งงๆ อยู่เหมือนกัน 3. ผมก็ต้องตั้งคำถามกับคนสอบ ว่า ที่ผ่านมา ถ้าผมบอกว่า มีหลักฐานว่า คุณเขียนจดหมายไปขอตำแหน่งจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วคุณมาสอบผม เอาผมให้ตาย และคนที่ขอตำแหน่งให้ ก็เป็นคนทำรายงานฉบับหนึ่งซึ่งให้คุณกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างนี้ 

ความจริงผมไม่อยากให้มันเป็นเรื่องการเมืองนะ แต่มันเป็นจริงๆ และเราก็ไม่นึกว่า มันควรจะเป็นเรื่องการเมือง  เราก็บอกสอบให้ชัดเจนไป ไม่ได้ขวาง ไม่อะไร แต่ว่า ถ้าออกมารูปนี้ผมว่า เดี๋ยวมันจะยุ่ง ยุ่งกันทั้งสภาการฯ ยุ่งอะไรกันเต็มไปหมด เพราะว่า ผมไม่แน่ใจ ผมถึงถามว่า เจตนาการสอบเพื่ออะไร เพื่อจะให้การปฏิบัติตัวทางจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ดีขึ้นหรือคุณมีเจตนา อื่น(เน้นเสียง) ก็วันนี้เอาแล้วนี่...คุณวิรัตน์  กัลยาศิริ (สส.พรรคประชาธิปัตย์) ก็บอกว่า จะเอาผลสอบอันนี้ไปยื่นกกต.ให้ยุบพรรคเพื่อไทย ก็ว่ากันไป  คือ ถ้าทุกอย่างมันตรงไปตรงมานะ มันถูก มันควร มันก็จะไม่มีคำถาม หรือปัญหาตามมา แต่ถ้ามัน....แหม...ประเภทปิดนิด ปิดหน่อย วับๆ แวมๆ แบบนี้ ให้ลุ้น มันชวนให้ตั้งคำถามว่า แล้วที่ปิดไว้ คืออะไร คุณเรียกร้องความโปร่งใสกับผม แต่ว่า วิธีการคุณไม่ดีเลย เจตนาน่าสงสัย

0 คณะอนุสภาการฯสรุปว่า พรรคเพื่อไทยมีการจัดการสื่ออย่างเป็นระบบ ถูกโยงเรื่องการขึ้นภาพหน้า1 ของนส.ยิ่งลักษณ์ 

เดี๋ยวก่อน... กรรมการนี้สอบในนามใคร หน้าที่หลักของสภาการหนังสือพิมพ์ คือ ควบคุมสมาชิกให้อยู่ในมาตรฐาน จรรยาบรรณ คุณไปตั้งข้อสังเกตุอะไรที่มันไกลมากเลยนะ คุณไปตั้งข้อสังเกตเรื่องการเมือง ที่ว่า พรรคเพื่อไทยจัดการสื่อเป็นระบบ ก็เป็นเรื่องของมันนะ เออ...ไม่ชอบเหรอ คนทำงานมีระบบ เขาทำงานมีระบบ ไม่ได้แปลว่า ผมต้องไปรับสินบนเขานะครับ หรือ คุณชอบอะไรที่ไม่มีระบบ  ผมถึงบอกไงว่า มันผิดฝา ผิดตัว ผิดเรื่อง เขาให้คุณสอบจริยธรรม จรรยาบรรณ คุณก็บอก คนที่คุณสอบ มันไม่ผิด (เสียงเข้ม) เลยซักคน แต่หนังสือพิมพ์ต้นสังกัดผิดอย่างมหันต์ เฮ้ย อย่างนี้ยุ่งแล้ว มันขัดกันเองในตัว  ตกลงจะเอาอย่างไรกัน

0 ประเด็นที่อนุสภาการหนังสือพิมพ์สรุปโดยเอาหนังสือพิมพ์ 5-6 ฉบับมาเรียง และดูภาพข่าวหน้า1 ชี้ว่า หนังสือพิมพไหนนำเสนอเป็นบวกเป็นลบกับบางพรรค 

 อันนั้น คุณตีความเองใช่ไหม เวลาจะลงความเห็นว่า ผมเลวไม่เลว ช่วยถามผมซักคำ เอาหล่ะ เขาถามสมาชิกเรา เราชี้แจง เราไม่ไปให้การ แต่ว่า เขาให้คุณสอบ 3 คุณไปพูดถึง 7 ถึง 8 ไอ้ 4-5-6-7 คุณถามเขาหรือยัง แต่คุณไม่ถามเขา คุณตั้งธง ตั้งสมมติฐานเอาเอง แล้วคุณก็มีข้อสรุปเอาเองว่า  4-5-6-7 มันได้ทำผิดไปแล้ว ถามว่า แฟร์ไหม ก็ประหลาดดี เป็นการสอบที่ประหลาดที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา

0 หลักการเรื่อง ความสด ขายได้

กลับกันเขาบอกว่า ผมลงรูปคุณยิ่งลักษณ์ กับ คุณอภิสิทธิ์ 31ต่อ 31 เท่ากันเลยในข่าวสด แต่ยิ่งลักษณ์อยู่ข้างบนมากกว่า สมมติว่า กลับกันนะ ภาพอภิสิทธิ์ ไปอยู่ข้างบนมากกว่า แต่มันเป็นรูปถูกประท้วง ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ถูกมั้ย  แล้วผมไปสั่งคนไปประท้วงเปล่าเนี่ย ไม่นะ ก็เหตุการณ์มันเป็นอย่างนั้น  แล้วเป็นเรื่องที่เราพูดกันตั้งนานแล้วนะว่า อย่าเชียว 1. อย่าฆ่าคน 2. ถ้ามีคนตาย คนเจ็บ ก็ควรดูแลเขาให้ดี เยียวยาเขาซะ 3. อย่าไปจับคนมั่ว คนผิด อย่าตั้งข้อหาเกิน ไอ้นี่ผมไม่ได้พูดนะ แต่คอป.ทั้งนั้นที่พูด ก็รัฐบาลไม่ทำเอง ทั้งที่คุณมีอำนาจ พอคุณออกไปยืนที่โล่ง เราก็บอกแล้วเดี๋ยวมันมาทุกทิศ เดี๋ยวพี่เทพ(สุเทพ) คุณอภิสิทธิ์ เดินถนนลำบากนะ

กลับกัน สมมุติ ผมเอารูปคุณอภิสิทธิ์ถูกประท้วงขึ้นบน ผมอาจจะถูกประท้วงอีกข้อหานึงว่า โอ้ยนี่ไงจงใจ(เสียงเข้ม) โห... ถ้ามันจะเอาผิดกัน อีท่าไหนก็เอาได้

0 ผลสอบโยงมาจากวิม (รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย) กรณีอีเมล์ฉาวอ้างว่า มีค่าจัดการให้สื่อลงรูปก็เลยไปดูรูปของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

แต่ในนั้นคุณเอง (อนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์) ก็บอกว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่มีพฤติกรรมเลย  คุณยืนยันเอง อ่าวแล้วยังไงหล่ะ

0 หนักใจแค่ไหน

ไม่หรอก...ผมบอกแล้ว ของฟรีไม่มีในโลก ก็... ฝุ่นมันยังตลบ ผมถึงบอกไงว่า ถ้าผ่านไป 3-5 ปี กลับมาดูกันใหม่ว่า อะไรมันเป็นอะไร ตอนที่อารมณ์น้อยลง ผลประโยชน์คุณน้อยลงแล้ว อย่างที่บอกหล่ะ  หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มันก็เกาะกันอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ผมคนเดียวด้วยนะ  อย่างไทยรัฐก็เกาะหลักกัน แต่เวลาน้ำพัดไปทางนู้น คนก็มองเราอย่าง น้ำพัดมาทางนี้ คนก็มองเราอย่าง ก็ไม่ว่า ไร รอจนคลื่นเบา แล้วคนก็จะเห็นเองว่า จริงๆมันไม่ได้ไปไหนเลยนี่หว่า  มันก็อยู่ของมันตรงนี้

0 ทิศทางของมติชนยังเป็นหัวหอก องค์ความรู้ต่อไปหรือไม่อย่างไร

มันก็กลับมาเรื่องเดิมคือว่า คุณได้ทำอะไรที่คุณควรทำหรือยัง หรือทำอะไรที่ต้องทำหรือยัง เมื่อนั้นคนเขาจะรักคุณเชื่อคุณ มันเป็นอย่างนี้ทุกองค์กร

0 หลายโพลบอกว่า ไม่อยากอ่านสื่อแล้ว เชื่อไม่ได้

ลองถามไทยรัฐซิ คนอ่านน้อยลงไหม ก็ไม่ใช่...ผมเห็นโพลบอกว่า หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย อ้าวแล้วทำไมหนังสือพิมพ์ผม ยอดมันขึ้น คุณก็ต้องดูข้อเท็จจริง มันเป็นอย่างไรแล้วก็ว่ากันไปตามนั้น

0 ข้อเท็จจริงกรณี ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ออกจากมติชน เป็นอย่างไร

เรื่องนี้มันไปห้ามคนคิดไม่ได้ แต่อย่างหนึ่งคือ เก๊ (ประสงค์) เขาก็.... แต่ตอนคุยกันว่าไม่อยู่แล้ว

ออกจากกันด้วยดี เก๊มันก็... คนอื่นพูดแทนเก๊หมดเลยนะ เก๊ยังไม่ได้พูดอะไรเลยนะ  เมื่อเก๊รักษามารยาท ผมก็รักษามารยาท พูดไม่ได้หรอก เราก็ตกลงกันว่า ถ้าออกไปแล้ว ก็ยังเป็นพี่เป็นเพื่อนเป็นน้องกันอยู่ และตัวเขาก็ไม่ได้พูด แต่คนอื่นช่วยพูดแทน 

แต่เรื่องนี้มันปกติ อย่างที่ผมว่า เขาอาจจะเป็นชื่อที่คนสนใจ มันก็เลยทำให้ดูว่า การเปลี่ยนแปลงมันใหญ่ ความจริงไม่หรอก เพราะโดยหลักการวันหนึ่ง ใครแก่กว่าอาวุโสกว่า มันก็ต้องไปเรื่อยๆ ประเด็น คือ ทำอย่างให้มีการทดแทน มันมีความสืบทอดต่อเนื่องไปได้มากกว่า โดยที่หลักยังเหมือนเดิม

0 ตามข่าวที่บอกคุณประสงค์ ถูกมติชนห้ามเขียน และแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจจนถึงที่สุดก็เจรจาให้ออกกัน

ไม่ใช่นะ ไม่ใช่เรื่องห้ามเขียนแน่ๆ... เรื่องออกของเก๊ เป็นความสมัครใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายมากกว่า มันดีกับทั้งสองฝ่ายด้วยกัน

0 บางคนก็ตั้งคำถามว่า คุณประสงค์ เป็นต้นแบบของนักข่าว ทำข่าวสืบสวน นักข่าวที่ทรงคุณค่าเป็นอดีตนายกฯสมาคมนักข่าวด้วย ทำไมมติชนไม่รักษาคนนี้ไว้

ความจริงเราก็มีอดีตนายกฯสมาคมฯหลายท่านนะ เดี๋ยววันหนึ่งแหละ...ผมว่า เวลามันไม่เหมาะมั้งที่จะ...และบางเรื่อง เราก็ตกลงกันไว้แล้ว ถ้าตกลงว่าจบก็ต้องเป็นจบ จะไปพิรี้พิไร เรื่องมาก มันก็ไม่ใช่ ใช่ไหม...แล้วจริงๆ อย่างที่บอกเก๊ก็ไม่เคยพูดอะไรเลย ฉะนั้น บริษัทก็ต้องให้เกียรติเขา ก็นั่นกันไปแล้ว จะไปอะไรกันนักหนา จะไปพูดกันตามหลัง เรื่องมันจะยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ รู้แต่ว่า ต่างคนต่างแฮปปี้ก็จบ

0 ขอถามข่าวลือเรื่องที่บอกจะมีการเพิ่มเงิน 5 พันบาทในเครือมติชน เห็นมีการพูดเยอะแยะเหตุผลต่างๆ มากมาย

หลักการเป็นอย่างนี้.... ถ้าราชการขึ้น เอกชนก็ต้องขึ้น ไม่งั้นมันก็กลับกัน คือ เงินเดือนไม่เท่ากัน ก็มีคนส่วนหนึ่งอยากไปอยู่ราชการอยู่แล้ว เพราะมันคำนวณสวัสดิการมาเสร็จ มันเยอะกว่าเงินที่เอกชนให้ ฉะนั้น คุณก็ต้องสู้เท่านั้นเอง ถ้าเขาขึ้นน้อยก็ดูตามความจำเป็น  ถ้าขึ้นมากก็ว่ากันไป ซึ่งเราก็ยินดี เต็มใจและเห็นด้วยว่า ค่าแรง 300 บาทต่อวันต้องขึ้น หรือ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งเราก็ต้องหามาให้

0 เงินเดือนที่จะเพิ่ม 5,000 บาทจะขึ้นทั้งเครือไหม

เราทำก็ต้องทำทั้งหมด แต่เรื่องนี้อย่าเพิ่งพูดอะไรเลย แต่หลักการเรายืนยันถ้าได้ก็ต้องได้ด้วยกันทั้งหมด

***************************

เครือมติชน ทิศทาง-พนักงาน-อนาคต

0 การปรับโครงสร้างของค่ายประชาชื่นภาพรวมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

มันมีเหตุผล2 อย่าง เราทุกคนรู้กันดีว่า หนังสือพิมพ์ในเมืองไทย มันยังโตต่อไปได้ ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ในสหรัฐ  อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่น ที่มันลดลง แต่มันก็ไม่ใช่แบบในจีนหรืออินเดียที่โตพรวดพราด  อัตราการโตที่ช้าลงในแง่ธุรกิจ  พอมันโตช้าลง ขณะที่คนต้องกินต้องใช้ เงินเดือนต้องขึ้นทุกปี คุณก็ต้องหาอะไรเป็นการเสริมธุรกิจหลัก ส่วนที่เสริมของเรา คือ งานใหม่ๆ ซึ่งเดิมก็เป็นงานที่ทำอยู่แล้ว แต่ก็ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น มีการจัดระบบจัดองค์กรที่ชัดเจนขึ้น ต่อยอดจากงานเดิม มันก็จะมีงาน 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ โรงพิมพ์ ที่รับงานพิมพ์ข้างนอกด้วยจากเดิมที่เราพิมพ์ข้างใน

2.ฝึกอบรม เดิมเราทำอบรมอาชีพอยู่แล้วของเส้นทางเศรษฐี  เทคโนโลยีชาวบ้าน มีตลาดอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เราจึงจะทำอย่างไรให้มันพัฒนาขึ้น มีคนรับผิดชอบ มีหน่วยงานดูแลชัดเจนวัดผลได้ แล้วก็ทำให้มันคุ้มค่าเหนื่อย ไม่ใช่ทำเสร็จแล้ว ไม่เหลืออะไรเลย เป็นงานการกุศล คนทำมันก็เหนื่อยเหมือนกัน  3. ส่วนที่เกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิคส์ทั้งหมด เว็ปไซด์ มือถือ หรือ ทีวี เพราะทันทีที่ 3จี มันมา ทั้งสามอันนี้เป็นเรื่องเดียวกัน พอมันเริ่มปรับก็มีการสลับคน บวกเข้ากับ มีผู้ใหญ่เกษียณบางท่าน มันมีก็เปลี่ยนระดับบรรณาธิการ

อย่างผมเปลี่ยนจากข่าวสด มาอยู่ที่นี่ มาทำงานธุรการทั่วไป ผู้จัดการทั่วไปก็กลายเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ เพราะกรรมการผู้จัดการคนใหม่  พี่หมาย (สมหมาย ปาริฉัตต์)อยู่ 2 วาระแล้ว 6 ปี   พอมันปรับมันก็ไล่ขึ้นๆไป  แต่ถ้าปรับน้อย มันยุ่ง เพราะมันจะเกิดคำพูดว่า เอ๊ะ นี่เด็กใคร อะไรหรือเปล่า ใครเส้นหรือเปล่า ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ถ้าปรับเยอะ มันก็เป็นเรื่องของงานตรงๆ  เพราะเราต้องเปลี่ยนเพื่อเตรียมจะเปลี่ยนไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า บางหน่วยเตรียมไว้สำหรับ 5-6 ปีข้างหน้า

ฉะนั้น ตอนนี้มันก็ยังเปลี่ยนอยู่ มันยังไม่จบ ทั้งหมดมันเป็นเรื่องธุรกิจ เราชอบพูดกันไม่ใช่เหรอ หนังสือพิมพ์เห็นนู้นๆ เห็นนี้อะไรเยอะไปหมด แต่คุณไม่เคยมี มาสเตอร์แพลนเลย   มีคนหนึ่งที่เป็นนักข่าวเก่า ชื่อ พี่ไชยันต์ ตอนหลังไปอยู่บีโอไอ แกพูด คำหนึ่งตอนผมเป็นนักข่าวเด็กๆ ว่า หนังสือพิมพ์เที่ยวไปสั่งสอนคนไปทั่ว แต่ตัวมันเอง ไม่เคยมีมาสเตอร์แพลนเลยว่า จะไปทางไหน5-10 ปีเอาอย่างไร องค์กร คน ความเป็นอยู่จะเป็นอย่างไร แต่ก่อนตอนนั้นเราคง....  แต่ที่ตอนนั้นเรายังทำไม่ได้เพราะหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยมันคล้ายๆ กันหมดคือ มัน แทบไม่พ้น เจนเนอเรชั่นเดียว มันเริ่มมี ไทยรัฐ  โพสต์มาก่อน แต่โพสต์เป็นองค์กรกึ่งๆ มหาชนมาตั้งแต่แรก มันก็เปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนมือ และปรับโฉมตัวเองมาเรื่อยๆ

แต่ผมเข้าใจ นับจากนี้อีก 5-10 ปี สื่อมันต้องเปลี่ยนใหญ่ เพราะ1.เทคโนโลยีมันเปลี่ยน2. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมันเปลี่ยน ถ้าคุณไม่เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ คุณไปเริ่มทำเอา 5-10 ปีข้างหน้า มันก็อาจจะช้าไป

0 ทิศทางของมติชนจากนี้ จะทำเคเบิล ทีวี หรือไม่ เห็นที่ผ่านมาไม่เคยสนใจตรงนี้มาก่อน

เราก็ยังยืนยันว่า เราไม่ทำอะไรที่เป็นสัมปทานของรัฐ เราไม่ไปงอนง้อขอสัมปทาน แต่ถ้าสมมติว่า ทีวีมันเกิดขึ้นได้ ไม่มีสัมปทาน มันก็อีกเรื่องนะ  เราอยากให้มี กสทช.จะตายเพราะจะได้ชัดเจนว่า 3จีจะเอาอย่างไร เพราะมันเกี่ยวกับการลงทุนนะ คุณขายหนังสือพิมพ์ คุณรองน้ำทีละหยด คุณลงทุนทีมันเหมือนตักน้ำใช้ทีละขัน จะซื้อแท่นก็กี่ร้อยล้านบาทก็ไม่รู้ สมมติคุณอยากจะทำทีวี โอโหเครื่องมือต้องลงเต็มร้อย และเมื่อลงแล้วก็ต้องแน่ใจว่า กติกามันต้องไม่เปลี่ยน มีความชัดเจน

0 เป้าหมายมติชนขยายตลาดมากยิ่งขึ้น

ผมตลกเมืองไทยนะ... ถึงวันนี้ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ส่วนกลาง ภูมิภาค ไทย จีน ฝรั่ง ขายรวมกันประมาณ 2.2 ล้านเล่มต่อวัน เรามีคนอยู่ 65 ล้านคน  สัดส่วนนี้ดีขึ้นมากแล้วนะคิดเป็นครอบครัว เฉลี่ยแล้ว 8 บ้านซื้อหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่ง ขณะที่เมื่อ 10กว่าปีที่แล้ว 10 บ้านซื้อ 1 เล่ม เรื่องนี้ไม่ต้องเทียบไกล อย่างญี่ปุ่น 2 คนซื้อ 1 เล่ม เทียบกับมาเลเซีย 3 บ้านซื้อ1เล่ม ผมไม่ขออะไรมาก  ขอให้เมืองไทยเป็นเหมือนมาเลเซียก็พอ ในเชิงธุรกิจนะแค่นี้  แต่ถ้ามันไม่ได้ก็ต้องคิดถึงอย่างอื่น ถามว่าคนจะอยู่เฉยๆไม่บริโภคข้อมูลเลยหรือ มันเป็นไปไม่ได้  แต่เขาจะบริโภคแบบไหน มาทางกระดาษ กระจก หรือ ลอยมากับอากาศ ก็ต้องคอยตามให้ดี

หน้าที่ของเราคือ ต้องให้คำจำกัดความตัวเองใหม่ ผมว่าหลายๆ ค่ายทำแล้ว เนชั่น โพสต์ ไทยรัฐ ก็ทำไปแล้วบางส่วน คือ คุณไม่ได้เป็นบริษัทหนังสือพิมพ์เพียวๆ ต่อไปแล้ว คุณเป็นบริษัทขายข้อมูล คุณก็มีหน้าที่บริษัทข้อมูลดีที่สุดเพื่อขาย เหมือนคุณเป็นบริษัทผลิตน้ำดื่ม คุณจะไปทำท่อ ขวด ใส่แก้ว หรือ แพ็กเกตอย่างไรก็แล้วแต่  สำคัญที่สุด  เราต้องทำน้ำให้สะอาด ลงรองลงคือ หาช่องทางในการกระจายน้ำให้ทั่วถึงที่สุด ส่วนบางคนชอบกินชาเขียว น้ำอัดลม ไม่ว่ากัน แล้วแต่คุณว่า ถนัดตรงไหน ทำได้หรือเปล่า

0 มติชนที่คุณขรรชัย บุนปาน เป็นกำลังหลักสำคัญเมื่อก่อน วันนี้มีคุณฐากูร บุนปาน

เฮ้ย...เขายังดูอยู่นะ ส่วนผม มาทำเรื่องธุรการนะ (หัวเราะ)

0 คุณฐากูรมาวางระบบอะไรต่างๆ อย่างไร

ไม่ๆๆๆ ผมไม่ได้ทำคนเดียวนะ ทั้งหมดนี้ 1. นี้มันบริษัทมหาชนนะ  มันมีบอร์ดบริหารซึ่งมาจากหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ทำด้วยกัน  ผมเป็นแค่เหมือน “ปลัดบัญชีทหารบก” จริงๆนะ แม่ทัพเขามีอยู่ เขามีหน้าที่รบชัดเจน ผมนี่เป็นปลัดบัญชีทหารบก คอยส่งกำลังบำรุง ใครจะเอาอะไรขอให้บอก เดี๋ยวจะส่งไปให้ ในฐานะที่เคยอยู่ในกองบก.มาด้วยกันมาก่อน ถ้าอันไหนเกินก็จะลด อันไหนขาด ก็จะใส่ให้เลยเดี๋ยวนี้ หน้าที่ของผมที่นี่มีแค่นี้

0 คอยประสาน

ใช่...เป็นตัวสำรอง เหมือนส่งผ้าเย็นตามสนามบอล

0 ความรับผิดชอบหนักไหม

ไม่หรอกครับ ... มันก็เป็นงานละเอียดเป็นส่วนใหญ่ แต่ตำแหน่งต่างๆ มันชัดเจนอยู่แล้ว กรรมการผู้จัดการ ก็จะดูเรื่องนโยบาย หรือ เรื่องทั่วไป อย่างงานแรกที่ผมเข้ามา คือ หาพี่ๆ เพื่อนๆน้องๆ บางคนไม่ได้เจอมาหลายปี อย่างบางคนบอกว่า พี่ๆแอร์ห้องหนูไม่เย็นเลย 3 เดือนแล้ว ผมก็บอกได้เลยครับ...เพราะอันนี้มันหน้าที่เรา

0 คนข้างนอกมองว่า คุณฐากูรมารับช่วงทำเครือมติชนแทน

เดี๋ยวๆๆๆ... คนที่ทำงานและเป็นตัวหลักจริงๆ  ก็จะมีบก.แต่ละส่วน หัวหน้าหน่วยงานแต่ละหน่วยอยู่แล้ว จะมีบก. ข่าวสด มติชน ประชาชาติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ก็มี กรรมการผู้จัดการบริษัทจัดจำหน่ายก็ยังมี ผอ.ฝ่ายผลิต ผู้จัดการสถาบันฝึกอบรม หรือพวกที่ทำออนไลน์ขยายงานใหม่เป็นสื่ออิเลคทรอนิคส์ทั้งหมด พวกนี้คือ แม่ทัพภาค อย่างผมเป็นผู้ช่วยเสธ.ส่งกำลังบำรุงก็ต้องคอยถามว่า คุณขาดอะไรหรือเปล่า ทุกองค์กรก็ต้องมีคนทำเรื่อง แบ็คออฟฟิศ  มันเดินลุยไปข้างหน้าอย่างเดียวไม่ได้หรอกครับ 

0 การปรับโครงสร้างของเครือมติชน คนในกองบก. มีความสุขในการทำงานหรือไม่ เพราะมีนักข่าวหลายคนก็ลาออกไป

สถิติออกเท่าเดิม ปกติเราก็จะมีปรับเปลี่ยนอย่างนี้อยู่แล้วทุกปี แต่ถ้าถามว่า มีความสุขมากขึ้นไหม ...อืม(ลากเสียง) ตอบยาก ตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ผมรู้สึกว่า คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า งานมันดีขึ้น  มันกระฉับกระเฉงขึ้น  ความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดมันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในภาพรวมทั้งหมด เพราะเมื่อคุณกระฉับกระเฉง คุณก็ช่วยกันทำ แล้วก็เกิดการตรวจสอบทัดทาน มันช่วยกันดูหลายตา มันมีระบบที่จะทำให้คนมาร่วมกันทำงานเยอะขึ้น มันจะไม่ผูกติดอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง หรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

0 ทำไมนักข่าวย้ายออกกันเยอะ เหมือนเกิดฝุ่นตลบในค่ายประชาชื่น 

เอ้ย..ย้ายนี่สำหรับผมเป็นเรื่องปกตินะ  อย่างผมย้ายเยอะ เปลี่ยนงานบ่อยที่สุดในบริษัท ผมยังไม่รู้สึกว่าเป็นฝุ่นตลบ  ส่วนเรื่องออกก็ไม่ได้เยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า อาจจะเป็นที่ตัวคน ที่อาจทำให้คิดได้ว่า ทำไมเป็นคนนั้นคนนี้ มันก็มีคำถามตามมา

0 แต่ที่ผ่านมา เครือมติชน ย้ายนักข่าวข้ามสายค่อนข้างมาก

ผมคิดว่า มันต้องทำให้ได้เกือบหมดนะ อย่างที่ข่าวสด ย้ายกันระเนระนาด ส่วนหนึ่งเพราะการที่ใครอยู่นานแล้วมันชิน มันตายเหมือนกันนะ มันต้องทำให้เกิดความกระตือรือล้นใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ๆ ซึ่งกับหลายๆ คนได้ผล และก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักข่าวข้างนอกนะ ข้างในก็เปลี่ยน  เมื่อ บก.เปลี่ยนได้ หัวหน้าข่าวก็ต้องเปลี่ยนได้ นักข่าวก็ต้องเปลี่ยนได้ หลักการมีแค่นี้ เพราะว่า มันไม่มีทางที่คุณจะขึ้นตรงกับใครคนใดคนหนึ่ง จากนี้จึงเป็นเรื่องของระบบ เรื่องของการทดแทน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และก็จริง ๆ มันไม่ได้เพิ่งมาทำตอนนี้ แต่เผอิญมันมาเป็นข่าวตอนนี้ ทั้งที่มันทำปกติมาตลอด ไม่ว่า ในมติชน ข่าวสด หรือที่ไหน การย้ายข้ามสายเป็นเรื่องปกติมากเลยของนักข่าว

เรื่องนี้ผมไปนั่งในใจคนลำบาก แต่ดูจากปริมาณงานและคุณภาพงานที่ออกมา จริงๆ น่าพอใจนะ มันมีแง่มุมที่แปลกขึ้น มันมองสถานการณ์เดิมด้วยสายตาใหม่ มองคนๆเดียวด้วยสายตาของคนใหม่ มันจะไม่เหมือนกัน เขาจะมีมุมใหม่ โอเคเรื่องความจัดเจนก็ต้องทำกันไป แต่ว่า โดยรวม ผมว่า มันคึกคักขึ้น และจริง ๆหนังสือพิมพ์มันต้องคึกคักตลอดเวลา มันนิ่งไม่ได้

ความจริงช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มันปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะนักข่าวภาคสนาม มันมีวิกฤติต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อน 2549 ฉะนั้นก็จะมีพวกหนึ่งที่แบบอยู่เต็มที่แล้ว มันจะเกิดประเด็นสองอย่าง ส่วนหนึ่งคือ เอ้ย..ข้างในหายไป รีไรท์ หัวหน้าข่าวที่ออกไปทำอย่างอื่น มันต้องมีคนเข้าและมีคนใหม่เข้าไปเสริมข้างใน ขณะเดียวกัน คนข้างนอกที่หายไปก็ต้องมีเต็มเท่านั้นเอง เผอิญที่ผ่านมา จังหวะมันไม่เชวนให้เปลี่ยน  คุณจะไปตอนม็อบกำลังตรึมๆ ว่า เอ้ย กลับมาเป็นรีไรท์ มันก็ไปกลับ

ความจริงเราอยากได้นักข่าวในสนามที่อยู่ยาวๆ แต่ไม่จำเป็นว่า ต้องอยู่ที่เดียว หรือ ถ้าจำเป็นก็อยู่ แต่ถ้าเป็นไปได้โดยหลักการ มันควรจะมีการทดแทนกันได้ ไม่งั้นขาดใครไปคนใดคนหนึ่ง ก็ลำบาก ยกตัวอย่าง วันที่บางกอกโพสต์ขาด เจ๊หยัด (บัญญัติ ทัศนียะเวช) หรือ เจ๊ยุ (นางยุวดี ธัญญสิริ) เป็นไงบ้าง จะบอกว่าไม่เหนื่อยเลย...เป็นไปไม่ได้

0 มติชนจะไปทางไหน

ต้องดูความเป็นไปได้ก่อน มันไม่ง่ายนะที่จะไปทำเรื่องที่คุณไม่รู้จักเลย คุณต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ มีหน่วยงานใหม่ทำ ทำอย่างไรจะเกาะติด หรือว่า ใช้ประโยชน์จากของที่มีอยู่เดิม อย่างในเครือทั้งหมด คุณมีนักข่าวตั้ง 500 คน คุณจะทำอย่างไร จะใช้ทั้ง 500 คนซึ่งแต่ละคนก็เป็นสรรพัญญูในเรื่องของตัวเองให้เป็นประโยชน์ที่สุด  มิฉะนั้น คุณก็ต้องถมคนเข้าไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งการที่เราทำช้าก็โชคดีที่ให้เห็นตัวอย่างจากในเมืองไทยและเมืองนอกที่ก็ มีปัญหา แต่มันก็ปรับ อย่างนิวยอร์คไทม์ แต่ก่อน กองบก. กับ หนังสือพิมพ์ กับออนไลน์แยกกันอยู่ ครั้งนี้ไม่เอาแล้ว ทุกออฟฟิศทำใหม่หมดเลย รื้อมานั่งคู่กัน ข่าวจะได้ไม่ตีกัน จะได้เสริมช่วยกัน แต่ละองค์กรก็จัดองค์กรไม่เหมือนกัน โพสต์ก็จัดอีกแบบ เนชั่นอีกแบบ ไทยรัฐก็อีกแบบ สมมติว่า  เราจะไปทำอย่างอื่นเพิ่มก็ต้องดูว่า เราควรจะจัดอย่างไรให้เหมาะกับงานของคนส่วนใหญ่

0 ในส่วนของประชาชาติข่าวว่าจะออกเป็นรายวัน พร้อมกับทีวีดาวเทียม

จะเป็นหรือไม่เป็น มันต้องดูปัจจัยเศรษฐกิจเป็นหลักก่อน ปัจจัยข้างนอกเป็นตัวกำหนด ส่วนเราอาจจะกำหนดคนละครึ่งว่า เราเองพร้อมไหม  การเปลี่ยนแปลงข้างใน การประสานงานที่จะเอาคนอื่นมาช่วย โอเคหรือยัง ไม่ใช่นึกอยากทำก็ทำ มันเปลี่ยนแล้วมันกลับมาไม่ได้ คุณก็ต้องแน่ใจว่า ถ้าเปลี่ยนแล้ว ต้องเดินต่อได้ แต่ถ้าคุณพร้อมและ ในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า สมมติขึ้นค่าแรง 300 บาทไม่ได้  หรือขึ้นได้ แล้วเกิดเจ๊งระเนระนาดกันทั่วประเทศ ถามว่า คุณควรเปลี่ยนไหม มันก็ต้องไปดูกันตอนนั้นอีกที ว่า เปลี่ยนแล้วมันจะดีหรือเสียอะไร หรือ มันยิ่งทำให้คนอ่านเราเยอะขึ้นเพราะมันเราเน้นเศรษฐกิจโดยตรง ก็ต้องดู  เรื่องนี้มันมีกำหนดเวลาคร่าวๆ อยู่ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ มันต้องเอาความเป็นความจริงเข้าจับ

0 ภาพรวมของสื่อสิ่งพิมพ์จากเทคโนโลยี3จีที่เข้ามาและกสทช.ที่มีขึ้น ต้องปรับตัวในทิศทางเดียวกันหรือไม่

ไม่แน่หรอก..อย่างไทยรัฐเขาก็ยังทำหนังสือพิมพ์เป็นหลักอยู่  แต่โอเคเขาก็ไม่ประมาท ตั้งบริษัททำเรื่องไอที หรืออะไรไป แต่อย่างที่บอก สัดส่วนมันน้อยมากสำหรับคนอ่านหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย แต่ผมก็ยังมีความหวังสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยนะ คือ ผมเชื่อว่า ข่าวสารข้อมูลบนเทคโนโลยีสมัยใหม่ มันจะเติบโตเร็วกกว่า แต่ก็ถึงกับว่า ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ตาย มันก็รอดูและอาศัยเวลานิด 

ผมมีทฤษฎีส่วนตัวเองว่า เด็กรุ่นนี้ที่โตมากับจอคอมพิวเตอร์ อายุ 40 กระจกตามันจะยงสู้เป็นอย่างไร มันยังอ่านเว็บนานๆ ได้อีกหรือไม่ หรือว่า มันก็ต้องกลับมาอ่านหนังสือ กระดาษหรือหนังสือเล่มอยู่ดี

0 ตอนนี้เว็บไซด์มติชนจะปรับอะไรเพิ่ม

ตอนนี้เขาก็คุยกันเยอะนะ ซึ่งเราเองก็ทำงานเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ ก็มีบางส่วนที่เว็บไซด์ทำเอง บางส่วนที่มาจากหนังสือพิมพ์ บางส่วนก็ช่วยกัน และก็มีส่วนที่ช่วยกันทำ

เฉพาะ 3 ฉบับ มติชน ข่าวสด ประชาชาติ ของเรามีนักข่าวทำเนียบรัฐบาลอยู่ 10 กว่าคน ข่าวมันเข้ามาแบบหลั่งไหล แต่เราก็ถามกันว่า  ต้องเพิ่มของออนไลน์ไปด้วยไหม ถ้าเพิ่มแล้วทำงานซ้ำกันจะคุ้มไหม หรือ จะขอความร่วมมือว่าถ้าเป็นข่าว ไม่ใช่ข่าวซีพ แต่เป็นข่าวรายวันทั่วไป ข่าวสดสามารถส่งข่าวอาชญกรรมมาให้ทางนี้ได้ไหม ส่วนมติชนเชี่ยวชาญข่าวการเมืองส่งมาให้ได้ไหม และก็มีคนช่วยดู ช่วยกรองเพราะถ้าลงเว็บแล้ว หากมีความผิดพลาดมา คนก็ฟ้องทันที เพราะยิ่งเร็วเท่าไร โอกาสมันผิดพลาดเท่านั้น  มันก็ต้องช่วยกันกรองมีฟิลเตอร์หลายๆ ตัว

คนอ่านของไทยคาดหวังเยอะมากนะ อ่านเว็บฟรีก็ยังด่าอีกว่า ทำไมสะกดการันต์ห่วย ช้าก็ตำหนิ เร็วแล้วออกไปไม่ถูกต้องก็ตำหนิ ฉะนั้น คุณก็มีหน้าที่เอาให้มันพอดีๆ อย่าช้า และต้องถูกต้อง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : มติชน คำถามคาใจ

view